คืนชีวิตซากปรักหักพัง...ภูมิใจเช่นฉะนี้

สิ่งที่หลงเหลือตกทอดมาถึงปัจจุบันในภูมิภาครัวร์ (Ruhr) คือ แหล่งอุตสาหกรรมและแหล่งแร่ที่ทิ้งร้างในมุมมืดของวันวาน สถานที่เหล่านี้กลายมาเป็นบทเรียนในการฟื้นวิญญาณของสถานที่ ความร่วมมือระหว่างประเทศในโครงการ International Bauausstellung Emscher Park (IBA) เกิดจากความร่วมมือของชุมชน 17 แห่งบนเส้นทางของแหล่งอุตสาหกรรมที่ลากผ่านพื้นที่ดังกล่าว และกลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและงานวัฒนธรรม
 


 

1) รูหร์ ลุ่มน้ำของเยอรมนีตะวันออก มีชื่อเสียงในการเป็นแหล่งแร่ของเยอรมนีและอยู่ใจกลางดินแดน Rhenanie-Westphalie 


ถ้าต้องกำหนดสีที่เป็นภาพแทนของแคว้นรัวร์ คงจะไม่พ้นสีเทาเข้มที่เชื่อมโยงกับชีวิตลำเข็ญของชาวเหมือง การใช้ การทำลาย และการสร้างมลพิษต่อธรรมชาติ รวมถึงความสิ้นอาลัยต่อการล่มสลายของงานอุตสาหกรรม สตรีสองท่าน ผู้เติบโตมาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เป็นเพื่อนร่วมเดินทางในการมาเยือนของข้าพเจ้า พวกเธอเป็นเช่นประจักษ์พยานในความเป็นไปของรัวร์ แม้กระทั่งในช่วงความเจริญสูงสุดของแคว้น พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นพื้นที่ที่เราท่านจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว หากสามารถปิดหู ปิดตา ปิดปากได้ เราคงจะต้องทำอย่างแน่นอน รัวร์กลายเป็นแดนดินที่บอบช้ำและว่างเปล่า ที่ที่เราจะไม่มีวันหยุดหันหลังมามอง รัวร์เปรียบเหมือนกับคำพ้องของการใช้ทรัพยากรอย่างหนักหน่วงที่ยาวนานถึง 150 ปี การใช้ทรัพยากรดังกล่าวส่งผลให้แม่น้ำเอมเชอร์กลายเป็นสายน้ำที่เน่าเหม็นของนรกภูมิ หากถามว่าสิ่งใดที่เป็นตัวการ คำตอบคือ อุตสาหกรรมถลุงถ่านหินและแร่เหล็กเช่นนั้นหรือ
 
ตั้งแต่ 10 ปีที่ผ่านมา คำที่สร้างความหวังสู่อนาคตได้ถือกำเนิดขึ้น ไอ บี เอ (IBA - Internationale Bauausstellung Emscher Park) เป็นคำที่ยิ่งใหญ่ “สร้างความหวัง” สิ่งที่โครงการดำเนินการเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม และเป็นหนึ่งในโลกก็ว่าได้ ข้าพเจ้าจะไม่แสดงความเห็นต่อผลพวงจากการดำเนินงาน ข้าพเจ้าไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับอุปสรรคในการดำเนินการ ความไม่พึ่งพอใจของผู้คนบางหมู่เหล่า ความสำเร็จทางการเมืองที่เกี่ยวข้อง ปัญหาและอุปสรรค ผู้ได้และผู้เสียผลประโยชน์ หากแต่ว่าสิ่งที่ข้าพเจ้าจะนำเสนอต่อไปนี้มาจากสิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน และได้อ่าน ด้วยความยินดีและตื้นตันต่อสิ่งที่ ไอ บี เอ ได้สรรค์สร้าง กล่าวได้ว่ามันสร้างความประทับใจ และเป็นเสน่ห์ของพื้นที่แห่งร่องรอยของการทำลาย โครงการสร้างความภูมิใจเช่นฉะนี้

       ruhr_3.jpg (10986 bytes)

2) และ 3) ภาพในอาคารสองหลังของ เหมืองนอร์ดชเตร์นที่ติดตั้งผลงานศิลปะเพื่อการรำลึกถึงคนงาน

เหมืองแร่ รวมทั้งการคงวิญญาณของอาคารในรูปแบบโบเฮาส์

 
เหมืองไรน์เอลเบที่เกลเซนเคียร์เช่น (la mine Rheinelbe a Gelsenkirchen)
5 นาทีจากสถานีรถไฟหลัก ภาพที่ปรากฎคือ สวนสาธารณะ บ่อน้ำขุดที่เก็บกักน้ำฝน ไม้ป่า และเป็ด หากมองให้ดีจะเห็นหน้าอาคารที่ออกแบบอย่างทันสมัย ประกอบด้วยแก้ว อาคารมีความยาวกว่า 300 เมตรในสวนวิทยาศาสตร์ (Wissenchaftspark) นับได้ว่าเป็นตัวอย่างการออกแบบสถาปัตยกรรมเชิงนิเวศ พลังงานไฟฟ้าในอาคารมาจากแผงเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ที่อยู่บนหลังคา สวนวิทยาศาสตร์กอปรขึ้นจากเครื่องมือ อุปกรณ์ และเครื่องใช้ ที่เป็นนวัตกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ของวันพรุ่งนี้
 
ลึกเข้าไปในสวนยังปรากฎอาคารหลายหลังของเหมืองแร่ไรน์เอลเบ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์และซ่อมแซมตามหลักของการก่อสร้างเชิงนิเวศ (la construction ecologique) และการติดตั้งอุปกรณ์เก็บรวมน้ำฝน อาคารเหล่านั้นในวันนี้เป็นที่ตั้งของสำนักงาน ไอ บี เอ ศูนย์การอบรม ศูนย์การเรียนรู้ในสำนักงานของเจ้าหน้าที่จัดการป่าไม้ ที่ทำหน้าที่ในการดูแล “ป่ามหัศจรรย์” แห่งนี้ โดยชื่อที่เจ้าหน้าที่เรียกขานกันคือ “เถื่อนไพรอุตสาหกรรม” ต้นบูโล (bouleau) ขึ้นในช่วงแรก จากนั้นพืชพรรณอื่นผลิดอกใบออกมากลายเป็น “ความต่อเนื่องของธรรมชาติ” เราสามารถพบพืชและสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ เรียกได้ว่าเป็น “ธรรมชาติเขมือบอารยธรรม” ธรรมชาติเป็นสิ่งสำคัญของสถานที่แห่งนี้ ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ร่องรอยของเหมืองค่อยๆ เลือนหาย คงกล่าวได้ว่า สำหรับมนุษย์ในอรุณรุ่งของศตวรรษที่ 21 ป่าจะกลายเป็นสิ่งที่สัมพัทธ์ต่อสิ่งต่างๆ ผลงานศิลปกรรมของแฮร์มันน์ ปริกานน์ (Hermann Prigann) สะท้อนให้เห็นยุคสมัยหนึ่งของรอยทางงานอุตสาหกรรม ศิลปะติดตั้งขนาดใหญ่ที่มาจากส่วนประกอบของธรรมชาติและเศษชิ้นส่วนของแหล่งอุตสาหกรรม ผลงานยังประกอบด้วยแหล่งขุดค้นโบราณคดี จัตุรัสพรรณไม้ และบันไดแห่งสวรรค์ เรียกได้ว่าเป็นความลงตัวอย่างที่ศิลปะควรจะเป็น ผู้คนที่พำนักในบริเวณใกล้เคียงเข้ามาใช้พื้นที่แห่งนี้ ทั้งในฐานะที่เป็นแหล่งธรรมชาติและวัฒนธรรม เป็นพื้นที่ของการพักผ่อนหย่อนใจ และสถานที่เพื่อการเรียนรู้ธรรมชาติไปพร้อมกัน
 
เหมืองนอร์สแตร์นที่เกลเซนเคียร์เช่น (la mine Nordstern a Gelsenkirchen)
ด้วยลักษณะการจัดการพื้นที่ สวนสาธารณะนอร์สแตร์นก่อตัวจากความงามที่ตรงข้ามและป่าที่คงความดิบของไรน์เอลเบ ในปี 1997 การจัดนิทรรศการระดับชาติเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เนื้อหาเกี่ยวกับการจัดการภูมิทัศน์ในแหล่งอุตสาหกรรมเดิม หรือเหมืองนอร์สแตร์นที่เกลเซนเคียร์เช่น ในวันนี้ทุ่งดอกไม้หายไป แต่กลับปรากฏพื้นที่สีเขียวที่งดงาม เส้นทางเชื่อมต่อจากสะพานถึงน้ำพุ จากน้ำพุสู่พื้นที่ของการละเล่น สถาบันผลิตภัณฑ์ความงามจัดตั้งขึ้นในบริเวณดังกล่าว สถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นใหม่มีความงดงาม สอดรับกับพื้นที่ของบริการเครื่องดื่มในร้านอาหาร ผลงานการออกแบบดังกล่าวแสดงให้เห็นแนวคิด “การทำงานในสวน” อันเป็นแนวคิดหลักของ ไอ บี เอ
 
ส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานเหมืองแร่เป็นสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งได้รับการออกแบบใหม่โดยสถาปนิกนามชุปป์ (Schupp) และเครมเมอร์ (Kremmer) ในรูปแบบของเบาเฮาส์ (Bauhaus) อาคารสองหลังของ “อดีตนครต้องห้าม” กลายเป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถเข้าไปใช้บริการ เข้าไปเยี่ยมชม อาคารดังกล่าวเป็นโรงละครกูนส์ทกลางรูม (KunstKlangRaum) และเป็นผลงานที่สร้างสรรค์โดยดานี คาราวาน (Dani Karavan) และฮันส์ อุลริคช์ ฮุมแปร์ต (Hans Ulrich Humpert) แนวคิดในการสร้างอาคารเป็นการร้อยรัดสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ และการจัดแสดงวัตถุที่ค้นพบและประติมากรรมเสียง เพื่อเป็นการไว้อาลัยต่อ “ชาวเหมืองถ่านหิน” สถานที่แห่งนี้จึงเป็นทั้งอนุสรณ์สถานของอดีต และเชื่อมโยงต่อปัจจุบันด้วยงานสร้างสรรค์ทางศิลปกรรม…
 
 
เหมืองซอลล์แฟไรน์ที่เอสเซ่น (la mine Zollverine a Essen)
เหมืองซอลล์แฟไรน์เคยเป็นแหล่งแร่ที่มีความสมบูรณ์ของเขตแคว้น และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ในปี 1986 ด้วยความยิ่งใหญ่ เหมืองจึงได้รับการขนานนามว่าเป็น “วิหารแห่งงาน” แต่ทุกวันนี้เหมืองมิได้มีความหมายพ้องกับมลพิษทางเสียง อากาศ และความป่วยไข้อีกต่อไป “สัตว์ร้าย” กลายร่างเป็น “ราชันย์” เหมืองกลายเป็นเหมืองที่ “งามสุดของโลก” ประโยชน์ใช้สอยมิได้มีเพียงความงามเชิงสถาปัตยกรรม
 
ชุปป์และเครมเมอร์ ออกแบบซอลล์แฟไรน์ในรูปแบบเบาเฮาส์ จนกลายเป็นศูนย์รวมของความเป็น “หลังอุตสาหกรรม” (post-industrial) เป็นทั้งศูนย์กลางการออกแบบในระดับภูมิภาค ภัตตาคารชั้นนำ หอศิลป์ร่วมสมัย แหล่งประวัติศาสตร์ สวนธรรมชาติ สวนการฝึกอาชีพ สนามประสบการณ์ นิทรรศการขนาดใหญ่ที่ว่าด้วยเรื่องของประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของพลังงาน สถานปฏิบัติการของศิลปิน โรงละครนาฏศิลป์ และ “ศิลปกรรมพื้นที่” (l’art “landmark”)
 
ณ ศูนย์การออกแบบ การจัดตกแต่งภายในเป็นการอนุรักษ์เครื่องจักรที่เคยใช้งานและสิ่งที่ติดตั้งในอาคารเช่นที่เคยเป็น ผสานกับงานออกแบบใหม่ เรียกว่าเป็นจุดรวมของสิ่งที่สร้างความอยากรู้อยากเห็น ประหลาดใจ และก่อเกิดความหมาย นอกจากนี้ ในวันที่ข้าพเจ้าเข้าชมศูนย์ฯ มีการจัดเลี้ยงที่ครบครันไปด้วยผ้าเช็ดปากสีขาว ภาชนะเครื่องเคลือบ แก้วเจียระไนอย่างดี ขาดก็เพียงบรรดาแขก “เลิศหรู” ที่ยังมาไม่ถึง แน่นอนว่า บรรยากาศดังกล่าวทำให้ข้าพเจ้าถึงกับมึนงงไปได้เหมือนกัน เหมืองที่ได้รับการจัดการใหม่นี้ยังเปิดให้เป็นสถานที่จัดเลี้ยง ซึ่งถือเป็นกิจกรรมหารายได้เข้าองค์กร คนทั่วไปสามารถลิ้มรสอาหารในบรรยากาศโรงงานที่หรูหราในขณะที่รอชมนิทรรศการ “อาทิตย์ จันทร์ และดารา” ในช่วงตะวันยอแสง ต่อช่วงอาทิตย์ลาลับขอบฟ้าไป
 
นิทรรศการดังกล่าวนำเสนอในบรรยากาศที่น่าตื่นตาตื่นใจ โรงงานถ่านหินที่มีความยาว 600 เมตร เตาเผา 304 แห่ง และท่อนำไอร้อนสูง 100 เมตร จำนวน 6 ท่อ ทั้งนี้ โรงงานยังคงสภาพเช่นเดิม สิ่งอำนวยความสะดวกติดตั้ง เท่าที่จำเป็น (ไฟฟ้า แสงสว่าง บันได ทางออกฉุกเฉิน ห้องน้ำ) สำหรับเป็นพื้นที่จัดนิทรรศการและต้อนรับกลุ่มผู้ชมจำนวนมาก เริ่มต้นจากรถไฟขบวนเล็กที่จะนำผู้ชมยังสะพานที่มีหลังคาคลุมอยู่ชั้นเหนือสุดของโรงงาน จากนั้น เป็นทางลงสู่ชั้นใต้ดินจำนวน 7 ชั้น ตลอดเส้นทางผู้ชมจะพบเครื่องจักร และร่องรอยของถ่านหิน นิทรรศการมีประเด็นที่น่าสนใจ โดยใช้แนวทางจัดแสดงศิลปะที่ศิลปินหลายคนเข้ามาตีความ และสร้างสรรค์ชิ้นงานที่แตกต่างกันไป ชั้นบนสุดเป็นส่วนที่ว่าด้วยเรื่องของความฝัน อุดมคติ และเรื่องเล่าปรัมปราที่เกี่ยวข้องกับจักรวาล อาทิตย์ในฐานะของแหล่งกำเนิดพลังงาน ส่วนอื่นๆ อธิบายการสังเคราะห์แสงและชีวิตของพืช ที่ผ่านกาลเวลานับแสนนับล้านปีจนกลายตัวเป็นถ่านหิน นิทรรศการนำเสนอถ่านหินในภาพของสิ่งสั่งสมพลังงาน เป็นสายสัมพันธ์ของพลังจักรวาล ตลอดจนอธิบายเงื่อนไขสภาพวัฒนธรรมการใช้งาน ในท้ายที่สุด อาทิตย์ จันทร์ และดารา เล่าเรียงเรื่องถ่านหินสู่วิถีทางข้างหน้า พลังงานทดแทนในอนาคต อันได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ (ด้วยค่าเข้าชมประมาณ 15 มาร์คเยอรมัน หรือ 7.70 ยูโร ผู้เข้าชมจะมีส่วนเป็นเจ้าของร่วม แต่ละเซลล์ของแผงพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาอาคารโรงงาน)
 
จากการชมนิทรรศการทางเดินภายนอก ผู้ชมสามารถเข้าชมภายในผ่านเส้นทางของเตาเผาสู่ปล่องนำควัน ในตอนเย็น แสงประดับอาคารสีแดงเรืองสะท้อนภายนอก ทำให้ผู้ชมย้อนนึกถึงการเผาถ่านหินในอดีต เรียกได้ว่าเป็นงานสร้างสรรค์ด้วยแสงที่น่าประทับใจเป็นอย่างยิ่ง ผลงานดังกล่าวเป็นของ “สถาปนิกประดับไฟ” ชาวอังกฤษ โจนาทาน สเปียร์ และ มาร์ค เมเจอร์ (Jonathan Speirs & Mark Major)         

 
     ruhr_5.jpg (18795 bytes)

4) และ 5) ภาพในอาคารเหมืองโซลเวอรายที่แสดงให้เห็นเครื่องมืออุตสาหกรรมที่ไม่ได้ใช้งานซึ่งกลายมาเป็นศูนย์การออกแบบและที่จัดแสดงนิทรรศการ ภายในโรงงานถลุงแร่

 
 ruhr_6.jpg (19185 bytes)     ruhr_7.jpg (20557 bytes)

6) และ 7) ภาพแสดงโรงงานถลุงแร่เหล็กและถ่านหิน(7) ในปัจจุบันสร้างเป็นสวนเพื่อการพักผ่อนตามอัธยาศัย ในภาพแสดงกิจกรรมของนักปีนเขาที่ปีนกำแพงจากถ่านหิน
 

แหล่งผลิตก๊าซของโอเบอร์เฮาร์เซ่น (Gasometer Oberhausen)
แหล่งผลิตก๊าซที่เมืองโอเบอร์เฮาร์เซ่น เป็นแหล่งผลิตก๊าซเก่า และเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมอุตสาหกรรมของเยอรมัน รวมทั้งเป็นสัญลักษณ์สำคัญของสมัยฟื้นฟูวัฒนธรรมของรัวร์ จากแหล่งที่ถูกทิ้งร้างและอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม แหล่งผลิตก๊าซได้รับเยียวยาไว้ได้ในวินาทีสุดท้าย ในปี 1993 พื้นที่ขนาด 3,500 ตารางเมตรต้อนรับงานนิทรรศการในปี 1994 - 1995 ภายใต้หัวข้อเรื่อง “Feuer und Flamme” (ไฟและเปลวเพลิง) นิทรรศการเรื่องแรกของ ไอ บี เอ ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์สังคมและอุตสาหกรรมของรัวร์ จากนั้น ยังมีนิทรรศการอย่างต่อเนื่อง และการติดตั้งผลงาน “The Wall” กำแพงอันกอปรขึ้นด้วยน้ำมัน 13,000 ตัน งานติดตั้งดังกล่าวเป็นการดึงจุดเด่นคือ ความยิ่งใหญ่ของอาคารให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน แต่มีคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์และสังคมน้อยกว่า “Feuer und Flamme” ด้วยเหตุนี้ หากพิจารณาภาพทั้งหมดของ ไอ บี เอ จะเห็นว่า ยังขาดการเสนอภาพรวมทางประวัติศาสตร์ ที่กล่าวถึงบริบทของการสร้างอีกครั้งใหม่ๆ ในท้องถิ่น (le contexte a la restructuration recente) แม้ว่าเนื้อหาประวัติศาสตร์ที่นำเสนอ สะท้อนภาพวัฒนธรรมอุตสาหกรรมไว้หลายแห่ง แต่ยังคงปราศจากการนำเสนอความเป็นไปของ ไอ บี เอ
 
โรงงานเหล็กและถ่านหินธูสเซ่นในดุยส์บวร์ก-ไมเดอริคช์ (l’usine d’acier Thyssen ? Duisburg-Meiderich)
“Landschaftspark” (อุทยานภูมิภาค) ขนาด 200 เฮคเตอร์ ทางเหนือของดุยส์บวร์ก ล้อมรอบโรงงานเหล็กและถ่านหินธีสเซน (ณ เมืองไมเดอริคช์) ซึ่งปิดตัวลงในปี 1985 พื้นที่นี้กลายเป็นแหล่งการเรียนรู้เพื่อการสำรวจที่สมบูรณ์แบบ อุทยานประกอบด้วยพื้นที่งานอุตสาหกรรม สนามการละเล่น ห้องอาหาร พื้นที่เพื่อการแสดง หนังกลางแปลง ผลงานศิลปกรรมพื้นที่ โถงจัดแสดงนิทรรศการ “ซากปรักเพื่อการเช่า” ฯลฯ ทุกสิ่งที่กล่าวมานี้สามารถพบได้บนธูสเซ่น แต่เมื่อพินิจมองอีกครั้งคงต้องรู้สึกแปลกใจ เมื่อมีนักกีฬาปีนเขาใช้กำแพงจากปล่องเตาถ่านหินเดิม และนักประดาน้ำที่ดำดิ่งในแอ่งก๊าซเดิม
 
ภายในศูนย์การเรียนรู้ตามอัธยาศัยแห่งนี้ ผู้ชมจะได้ชมเตาเผาขนาดมหึมาของโรงงานถลุงถ่านหินและเหล็กธูสเซ่นในอดีต ด้วยโครงสร้างทางวิศวกรรมของทางเดิน ผู้ชมสามารถเดินชมภายในและรอบเตาเผาเฉกเช่นเขาวงกตเมื่อใดที่สายันต์ได้ย่างเข้าสู่บริเวณโรงงาน ไฟประดับอาคาร ซึ่งออกแบบโดยโจนาธาน ปาร์ค ผู้สร้างสรรค์งานชาวอังกฤษ จะสะท้อนความงามของอาคารเสมือนประติมากรรมยิ่งใหญ่ของวัฒนธรรมอุตสาหกรรม เหมือนกับอาคารหลายหลังของเหมืองโซลเวอราย (Zollverein) ที่ถูกทิ้งร้าง ด้วยเหตุนี้ หากต้องเข้าไปจัดการกับพื้นที่ทิ้งร้าง ควรเป็นการดำเนินการที่ไม่ใช่การบูรณะปรับปรุงทั้งหมด แต่เป็นการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้สาธารณชนสามารถเข้าไปชมสถานที่ที่น่าฉงนใจ
 
ศิลปกรรมพื้นที่ (Art “Landmark”)
จาก “อุทยานมหัศจรรย์” และ “วิหารแห่งงาน” จนถึง “พีระมิด” รวมทั้ง “ศิลปกรรมพื้นที่” ผลงานเหล่านี้สร้างจุดเด่นให้กับพื้นที่เช่นอุทยานเอมเชอร์ (Emscher Park) โครงการของ ไอ บี เอ มาจากการสร้างสรรค์งานจากศิลปินหลายประเภท ในการรังสรรค์งานให้เป็นมรดกของยุคอุตสาหกรรม และภูมิประเทศบริเวณนี้กลับเป็นจุดสนใจอีกครั้งหนึ่ง ผลลัพธ์ของโครงการที่สร้างมาจากความร่วมมือในระดับภูมิภาค ทำให้พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นสายใยสัมพันธ์ความภาคภูมิใจจากอดีต ปัจจุบัน สู่อนาคต ซากปรักหักพังที่ทับถมปรับเปลี่ยนสู่สัญลักษณ์ใหม่ในการสร้างอัตลักษณ์
 
แม้ว่าเนื้อหาที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงประสบการณ์ตัวอย่าง แต่ยังพอสะท้อนให้เห็นภาพของความยิ่งใหญ่ของโครงการ ไอ บี เอ คำถามที่ตามมาคือว่า ทุกอย่างดำเนินการได้อย่างไร และการจัดการเรื่องงบประมาณเป็นไปในลักษณะไหน
 
ตอบต่อคำถามแรกคือ โครงการ ไอ บี เอ กำเนิดมาจากความต้องการของคนในท้องถิ่น และกลายมาเป็นโครงการความร่วมมือของฝ่ายต่างๆ ในเขตนอร์ไฮน์-เวสท์ฟาเลน (Nordrhein-Westfalen) และโครงการต่างๆ ดำเนินการด้วยงบประมาณประจำปี คำถามที่ตามมาคือ แล้วเอาแรงกำลังจากไหนมาสร้างโครงการใหญ่เช่นนี้ คำตอบที่ได้กลับเป็นคำตอบที่คุ้นเคยคือ ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และความสนใจ คาร์ล กานเซอร์ (Karl Ganser) นักภูมิศาสตร์และข้ารัฐการชั้นสูง คนหัวแข็งและมองไปข้างหน้า พวกยืนหยัดและเป็นวิญญาณของอุทยานเอมเชอร์ กานเซอร์มีความรู้เป็นอย่างดีกับระบบงบประมาณทั้งหมด เงื่อนไขในการจัดการ และความซับซ้อนของงานบริหารรัฐกิจ และยังด้วยความที่เป็นคนประสานสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องที่แตกต่างหลากหลายได้อย่างลงตัว รวมถึงเสน่ห์ ความหลงใหล ความกระตือรือร้น… ด้วยทีมงาน 30 ชีวิต ภายใต้ความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงท้องถิ่น สร้างชีวิตให้กับภูมิทัศน์ ชะเอาความแห้งแล้งของอุตสาหกรรม สร้างอัตลักษณ์ใหม่ สร้างความหวัง และพัฒนาอย่างยิ่งยืน เพื่อทำให้พื้นที่เอมเชอร์เป็นผลงานชิ้นโบว์แดง
 
องค์กร ไอ บี เอ มิได้มีโครงการของตนเอง แต่กลับทำหน้าที่สร้างแรงบันดาลใจ ริเริ่ม กระตุ้น อำนวยความสะดวก ให้คำปรึกษา สิ่งที่ ไอ บี เอ ให้เอาไว้ในโครงการคือ การประสานแผนการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาภูมิภาค ด้วยสถานภาพที่เป็นอิสระจากโครงสร้างการบริหารที่มีอยู่ ไอ บี เอ นำชุมชน 17 แห่งตามลำน้ำเอมเชอร์ มาร่วมโครงการ ผู้คนประมาณ 2 ล้านคนที่อาศัยในพื้นที่ 784 ตารางกิโลเมตร หมู่บ้านที่เกี่ยวข้องได้แก่ แบร์กคาเม่น (Bergkamen) โบคุ่ม (Bochum) บ็อทท์ร็อบ (Bottrop) คาสทร็อป-เราเซล (Castrop-Rauxel) ดอร์ทมุนด์ (Dortmund) ดุยส์บวร์ก (Duisburg) เอสเซ่น (Essen) เกลเซนเคียร์ชเช่น (Gelsenkierchen) กลัดเบ็ค (Gladbeck) แฮร์เนอ (Herne) แฮร์เท่น (Herten) คาเม่น (Kamen) ลือเน่น (L?nen) มึห์ลไฮม์ (M?hlheim) โอเบอร์เฮาร์เซ่น(Obserhausen) เร็คลิงเฮาเซ่น (Recklinghausen) และ วัลโทรป (Waltrop) ชื่อที่ปรากฎเหล่านี้เป็นกลุ่มบ้านอุตสาหกรรมที่กอปรขึ้นเป็นเขตเมืองในวันข้างหน้า ซึ่งในอดีตเขตเหล่านี้ไม่เคยมีการพัฒนาเมืองอย่างแท้จริง
 
โครงการครอบคลุมพื้นที่ทางเหนือของภูมิภาครัวร์ ซึ่งส่วนพื้นที่ที่มีการปิดตังลงของโรงงานอุตสาหกรรมในช่วงทศวรรษที่ 1960 ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา แหล่งอุตสาหกรรมดังกล่าวกลายเป็นพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ที่สำคัญ โครงการทั้งหมดของ ไอ บี เอ ใช้เงินประมาณ 5 พันล้านมาร์ค (หรือประมาณ 2.5 พันล้านยูโร) 3 พันล้านเป็นงบประมาณแผ่นดิน (60% มาจากท้องถิ่น 20% มาจากสหภาพยุโรป 20 % มาจากเทศบาลต่างๆ) 2 พันล้านมาจากเอกชน (ส่วนใหญ่มาจากบริษัทรายใหญ่) งบประมาณแผ่นดินมาจากเงินที่คงอยู่ประจำ ด้วยเหตุนี้ ตามความเห็นของกานเซอร์ ไอ บี เอ จึงเป็นเช่น “เครื่องจักรมหึมาที่ดึงงบประมาณ” นอกจากโครงการระยะยาวที่อ้างถึง ไอ บี เอ มีโครงการขนาดย่อม ที่เป็นการจัดกิจกรรมหมุนเวียน 120 โครงการ เป็นทั้งกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับนิเวศวิทยาและสังคม รวมทั้งมีโครงการย่อยที่ไม่เป็นทางการเพื่อฟื้นคืนชีวิตให้กับภูมิภาค ที่ไม่ได้อยู่ใน ไอ บี เอ แน่นอนว่างานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกลา กิจกรรมเฉพาะกาลสร้างความตื่นตัวเคลื่อนไหว แต่สิ่งใดเล่าที่ทิ้งไว้ให้กับผู้อาศัย นั่นคือ อุทยานต่างรูปแบบ สำหรับพักผ่อน พักอาศัย ทำงาน และหย่อนใจ เป็นแนวคิดของการ “ใช้ชีวิตในอุทยาน”

อุทยานธรรมชาติ :
จัดการระบบน้ำของเอมเชอร์และลำน้ำสาขา
“นำธรรมชาติคืน” สู่พื้นที่อุตสาหกรรมเดิม
จัดการท้องถิ่นและภูมิทัศน์
พัฒนาการท่องเที่ยว
 
อุทยานพักอาศัย :
ก่อสร้างที่พักอาศัยบนผิวพื้นรีไซเคิล
สถาปัตยกรรมเชิงนิเวศ
ที่พักอาศัยราคาถูกสำหรับลูกค้าที่ไม่มีทุนมากนัก
สงวนรักษาและอนุรักษ์ย่านเก่าของกรรมกร
 
อุทยานที่ตั้งหน่วยงาน :
หน่วยงานเทคโนโลยีชั้นสูงและงานบริการ
หน่วยงานทางวัฒนธรรม
ที่ปรึกษาการจัดตั้งหน่วยงาน
พัฒนาการเศรษฐกิจ
 
อุทยานประวัติศาสตร์ :
สงวนรักษาสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม
นำแหล่งอุตสาหรรกรรมเหล่านั้นมาสร้างกิจกรรมทางวัฒนธรรม
พัฒนาการท่องเที่ยว
 
ถ้า ไอ บี เอ เปลี่ยนคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ คงต้องถามต่อไปว่าความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้แปลเปลี่ยนฐานคิดของนักบริหาร นักการเมืองหรือไม่ ในความเห็นของ คาร์ล กานเซอร์ หลังจากการลงทุน 5 พันล้านมาร์ค และ 10 ปีของการดำเนินงาน บุคคลากรกว่า 10,000 คน โครงการ 120 โครงการ คำตอบต่อคำถามมิได้เป็นไปในทางบวกแต่อย่างใด ไอ บี เอ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกปัญหา แต่องค์กรยังพยายามหาทางให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้เป็นจริงได้มากที่สุด
 
สิ่งที่เป็นไปได้คือ การจัดการและคืนชีวิตแก่สายน้ำที่เป็นพิษ ไม่ว่าจะย่ำแย่สักเพียงใด
สิ่งที่เป็นไปได้คือ การเปลี่ยนแหล่งอุตสาหกรรมให้เป็นอุทยาน
สิ่งที่เป็นไปได้คือ การเปลี่ยนเตาเผาและอาคารอุตสาหกรรมอื่นๆ เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม
สิ่งที่เป็นไปได้คือ การก่อสร้างที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
ไอ บี เอ แสดงให้เห็นว่า อนาคต “หลังยุคถ่านหินและเหล็ก” สามารถเกิดขึ้นได้ วันนี้สีสันแห่งพื้นที่เอมเชอร์ส่องสว่างขึ้น อาจจะเรียกได้ว่าเป็นผลงานการประดับไฟของโจนาธาน พาร์ค หรืออย่างไร (!)
 
แปลและเรียบเรียงจาก
Andrea Hauenchild, “En ruine . . . et fiere de l’etre”,
la Lettre de l’OCIM, No. 73, 2001.
 
หมายเหตุ ผู้เขียนขอขอบคุณผู้ร่วมเส้นทางวิชาการที่กำลังศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ในการแก้ไขการการถอดเสียงนามต่างๆ ในภาษาเยอรมัน เพื่อการออกเสียงให้ใกล้เคียงมากที่สุด

ผู้เขียน :ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ

วันที่เผยแพร่ครั้งแรก: 08 เมษายน 2557
วันที่แก้ไข: 08 เมษายน 2557