การอนุรักษ์ฟื้นฟูโบราณสถานโดยใช้พิธีกรรม กรณีศึกษาวัดปงสนุก จ.ลำปาง

ในอดีตวัดปงสนุกเป็นวัดที่ได้รับการอุปถัมภ์จากเจ้าหลวงเมืองลำปาง แต่เมื่อนานวันความสำคัญของวัดในฐานะวัดเก่าแก่ของเมืองก็ลดลงจนแทบไม่มีใครรู้จักว่า วัดตั้งอยู่ส่วนของเมือง จนปี พ.ศ. 2547 ชาวบ้านต้องการจะบูรณะวิหารเก่าที่ตั้งอยู่บนเนินเขากลางวัด จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงาน จากนั้นวัดปงสนุกก็เริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป
 
เมื่อคุณยายป่วยไข้

รศ.ดร.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้รู้ที่เข้ามาช่วยทำการบูรณะวิหารเล่าให้ฟังว่า เดิมชาวบ้านอยากจะรื้อหลังคาเก่าของวิหารบนเนินเขา หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดบน” ออก โดยไม่มีความรู้ว่า จะนำหลังคาออกอย่างไร ออกมาแล้วจะเอาไปไว้ไหน? แล้วหลังคาใหม่จะออกแบบอย่างไร?



อาจารย์ในฐานะที่ปรึกษา จึงอธิบายให้เข้าใจว่า วิหารที่เห็นไม่ใช่เพียงตัวอาคารเท่านั้น แต่อาคารเหล่านี้ก็มีชีวิต มีวัฏจักร มีเกิด มีอยู่ และมีไม่สบาย ขณะนี้อาคารวิหารที่สร้างมานานก็เหมือนกับคุณยายที่กำลังจะไม่สบาย เรา (ชาวบ้าน) อยากจะรักษาให้คุณยายหาย แต่ถ้าไม่ศึกษาเรียนรู้ว่า คุณยายไม่สบายตรงไหน แล้วจะรักษาคุณยายอย่างไร เราอาจทำให้คุณยายบาดเจ็บมากกว่าเดิม การศึกษาอาการเจ็บป่วยของคุณยายจึงเป็นสิ่งจำเป็นสิ่งแรกที่ควรทำ ดังนั้นการสำรวจและศึกษาโครงสร้างอาคาร และรายละเอียดของวิหารจึงเป็นสิ่งที่ทำในลำดับต้นๆ
 
เปิดขุมทรัพย์คุณยาย

เมื่อสำรวจโครงสร้างอาคาร และรายละเอียดของวิหาร ทำให้คณะทำงานซึ่งประกอบด้วยคนในชุมชน และคนนอกชุมชน ทั้งนักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ นักวิจัยในหลากหลายสาขา พบว่าภายในอาคารวิหาร  มีข้าวของมีค่ามากมายซุกซ่อนอยู่ อาทิ พระแผงที่อยู่บริเวณคอสอง พระพุทธรูปไม้ ผ้าพระบฏ สัตภัณฑ์  การสำรวจครั้งนั้นนำไปสู่การทำทะเบียนวัตถุอย่างเป็นระบบ การทำความสะอาด และจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้หยิบยืมข้าวของเหล่านั้นไปใช้ได้ เพราะคณะทำงานเชื่อว่า การนำวัตถุสิ่งของไปใช้เท่ากับคืนชีวิตให้กับข้าวของ อีกทั้งยังสร้างการสืบทอดให้ทราบถึงบริบทการใช้ของวัตถุสิ่งของนั้นไปสู่คนรุ่นหลังด้วย




การสำรวจข้าวของในวิหารทำให้เกิดโครงการวิจัยย่อยๆ ขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเมื่อพบข้าวของแล้ว ไม่รู้จัก ก็ต้องมีการศึกษาเพื่อให้คณะทำงานมีความรู้ที่จะดูแล บูรณะสิ่งของต่างๆ เหล่านั้น ดังนั้นวัตถุที่พบไม่เพียงแต่จะทำให้รู้ว่า วัดปงสนุกมีข้าวของมากมายขนาดไหน แต่ยังทำให้รู้ว่า วัดมีประวัติความเป็นมาอย่างไร ข้าวของแต่ละชนิดคืออะไร ต้องการการดูแลรักษา บูรณะ หรืออนุรักษ์อย่างไร ทำให้คณะทำงานมีองค์ความรู้เกี่ยวกับวัตถุสิ่งของเป็นจำนวนมาก อาจกล่าวได้ว่า ข้าวของที่พบสร้างทั้งความรู้ ความชำนาญในการดูแลรักษาวัตถุให้กับคนทำงานด้วย
 
เทวดาคุ้มครองทุกสิ่ง     
ก่อนทำงานทุกครั้ง คณะทำงานจะประกอบพิธีกรรมขอขมา บอกกล่าวเทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครองโบราณสถาน โบราณวัตถุที่อยู่ในวัดทุกครั้ง เพราะคนทำงานเชื่อว่า “ทุกอย่างที่อยู่ในวัด ท่านมีเทวดารักษา เราจะทำอะไร ต้องบอกกล่าว และต้องระวัง” เมื่อมีความเชื่อเช่นนี้ก่อนจะทำงาน ไม่ว่าจะเป็น การสำรวจวิหาร สำรวจวัตถุ การเคลื่อนย้ายวัตถุ การทำความสะอาดวัตถุ หรือขัดล้างวิหาร ซ่อมแซมต่างๆ ต้องทำพิธีบอกกล่าว ขอขมาให้เทวดาที่ปกปักรักษาวัตถุนั้น หรือสถานที่นั้นได้รับรู้

ในทางกลับกันเมื่อทำการบูรณะหรือซ่อมแซมเสร็จ ก็จะทำพิธีรับขวัญ บอกกล่าวเทวดาที่คุ้มครองวัตถุ หรือสถานที่นั้นอีกครั้ง ทั้งนี้ในแง่จิตใจ สร้างความสบายใจให้กับชาวบ้านและคนทำงาน ขณะที่อีกด้าน พิธีกรรมก็สร้างพื้นที่การมีส่วนร่วม พื้นที่ของการเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ พื้นที่ของความภาคภูมิใจให้กับชาวชุมชนในโครงการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุของวัดด้วย





คณะทำงานในโครงการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุของวัดปงสนุก ยังมีแนวคิดว่าเมื่อตนเองมีความรู้เรื่องการอนุรักษ์แล้ว ก็ควรถ่ายทอดความรู้นั้นไปสู่คนอื่น เพื่อให้ความรู้ต่างๆ ได้แตกยอดออกผล เพราะเมื่อคนอื่นรู้ สามารถนำไปใช้และทำได้ ก็เท่ากับการทำงานของคณะฯ ไม่สูญเปล่า ดังที่ รศ.ดร.วรลัญจก์ กล่าวทิ้งท้ายไว้น่าฟังว่า

“...ขณะนี้วัดปงสนุกเหมือนพี่ที่พร้อมจะเอาความรู้ (ที่มี) ไปช่วยเหลือน้องๆ (วัดอื่นในลำปาง) เพื่อให้เราสามารถก้าวเดินไปได้พร้อมกัน....”

หมายเหตุ:
เรียบเรียงมาจากการเสวนาเรื่อง “กระบวนการทำงานอนุรักษ์โบราณสถานและโบราณวัตถุภายในวัดปงสนุกโดยใช้พิธีกรรมสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์และสร้างความเข้าใจกับชุมชน” โดยอาจารย์อนุกูล ศิริพันธ์ ตัวแทนจากชุมชนวัดปงสนุก และรศ.วรลัญจก์ บุณสุรัตน์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2555 ณ เวทีกลางกรุง งานเทศกาลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นครั้งที่ 3 ภูมิรู้ สู้วิกฤต

 

วันที่เผยแพร่ครั้งแรก: 01 ตุลาคม 2557
วันที่แก้ไข: 01 ตุลาคม 2557