ทำสิ่งที่ยากให้ง่ายได้หรือไม่ การให้ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ด้วยวัตถุพิพิธภัณฑ์

ความสนใจต่อสาธารณชนในประเด็นกระบวนการและหลักการอนุรักษ์ที่เพิ่มมากขึ้น นำไปสู่โครงการนการให้ความรู้จำนวนมาก ซึ่งถือได้ว่าเป็นงานของนักอนุรักษ์ รวมถึงสถาบันและองค์กรในสายงานการอนุรักษ์ เช่น สถาบันเพื่อการอนุรักษ์งานศิลปกรรมและประวัติศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา(American Institute for Conservation of Historic and Artistic Works - AIC) จากความสนใจดังกล่าวนี้ พิพิธภัณฑ์ เจ. พอล เกตตี้ (J. Paul Getty Museum) จัดนิทรรศการแบบโต้ตอบ (interactive exhibition) ภายใต้ชื่อ “สงวนไว้ซึ่งอดีต” (Preserving the Past) นิทรรศการมาจากความร่วมมือระหว่างส่วนงานงานต่างๆ ทั้งส่วนการอนุรักษ์ของโบราณ (Antiquities Conservation) ส่วนงานการศึกษาและวิชาการ (Education and Academic Affairs) และส่วนงานภัณฑารักษ์ (Antiquities Curatorial departments) จากวัตถุประสงค์หลักของนิทรรศการในการให้ความรู้เบื้องต้นกับผู้เข้าชมในเรื่องหลัก กิจกรรม และแผนการอนุรักษ์ “สงวนไว้ซึ่งอดีต” แสดงให้เห็นการดำเนินงานต่างๆ ในด้านการอนุรักษ์งานสะสมของพิพิธภัณฑ์และวัตถุโบราณ นิทรรศการแบ่งเป็นประเด็นได้แก่ จริยธรรมและหลักการอนุรักษ์ การตรวจสอบและวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ ปฏิบัติการต่อวัตถุ และการควบคุมสิ่งแวดล้อม (รวมถึงการเตรียมการการจัดแสดงวัตถุภายใต้สภาวะของแผ่นดินไหวจากแบบจำลอง) ห้องนิทรรศการมีเจ้าหน้าที่ประจำทุกส่วน ซึ่งได้รับการอบรมเป็นพิเศษจากเจ้าหน้าที่การศึกษาของพิพิธภัณฑ์ เราเรียกพวกเขาเหล่านั้นว่า “เจ้าหน้าที่ให้ความรู้” (Facilitators) ผู้ทำหน้าที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมจากที่คำอธิบายในนิทรรศการ ผู้ดำเนินการกิจกรรม และให้คำแนะนำผ่านสิ่งจัดแสดง เมื่อจบนิทรรศการที่จัดแสดง 7 เดือน มีจำนวนผู้ชมประมาณ 12,000 คน บทความนี้อธิบายการทำงานในการวางหลัก และแนวทางที่เป็นจริงและเป็นไปได้ในการนำเสนอหัวข้อที่ดูซับซ้อน เช่น การอนุรักษ์ สำหรับผู้ชมที่มีความรู้ ความสนใจ แต่ถูกจำกัดด้วยเวลา ด้วยเหตุนี้ ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ การวางแผนนิทรรศการ แนวคิด การออกแบบและติดตั้ง การประเมินรูปแบบนิทรรศการท้ายสุด และผลกระทบที่ส่งต่อผู้ชม
 
เกริ่นนำ
ในช่วงที่ผ่านมา ความสนใจของผู้คนต่อการอนุรักษ์ทั้งที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมมีเพิ่มมากขึ้น นักอนุรักษ์ทำงานสนองตอบต่อความต้องการดังกล่าว และถือเป็นโอกาสในการให้ความกระจ่างต่อผู้คนในเรื่องงาน และหลักการทำงานของสาขาอาชีพ ดังนั้น ข้อคำนึงหลักของสถาบันการอนุรักษ์ผลงานศิลปกรรมและประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ในปัจจุบันได้แก่ การเพิ่มความสนใจของสาธารณชนต่อประเด็นการอนุรักษ์และประโยชน์ที่พึงได้รับ การดำเนินการไม่ใช่เพียงการให้ความรู้ต่อบุคคลทั่วไป หากแต่เป็นการเพิ่มจำนวนผู้ที่สนใจการอนุรักษ์มากขึ้น ทั้งในภาครัฐแลเอกชน คนเหล่านี้ย่อมมีแนวโน้มที่จะให้การสนับสนุนด้านการเงินมากขึ้นเช่นกัน และเมื่อสาธารณชนในระดับกว้างมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการอนุรักษ์ งานสะสมไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชนย่อมได้รับการเอาใจใส่มากขึ้น แน่นอนว่า งานอนุรักษ์สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้บางคนก้าวเข้าสู่อาชีพต่อไปในอนาคตอีกด้วย
 
จากความพยายามในการสร้างให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ ส่วนการอนุรักษ์โบราณวัตถุของพิพิธภัณฑ์ เจ. พอล เกตตี้ ด้วยความร่วมมือของส่วนงานการศึกษาและวิชาการ และส่วนงานภัณฑารักษ์ สร้างสรรค์งานนิทรรศการเรื่อง สงวนไว้ซึ่งอดีต ที่มีเนื้อหาแสดงหลักการอนุรักษ์และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานสะสมศิลปโบราณของพิพิธภัณฑ์ การทำงานของพิพิธภัณฑ์ไม่มีทางสำเร็จได้บุคคลคนเดียว รวมทั้งนิทรรศการที่จะต้องมาจากพรสวรรค์และความสามารถที่หลากหลาย จึงผลักดันให้การเตรียมงานนิทรรศการมาจากการวางแผนของคณะทำงานจากส่วนงานต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์   เพื่อวางเป้าหมายและส่วนประกอบของนิทรรศการ
 
อนึ่ง การทำงานยังได้รับความร่วมมือของส่วนงานโสตทัศนศึกษา งานเตรียมการ งานพิมพ์ และงานภาพถ่าย จากจุดเริ่มต้นสู่การเปิดนิทรรศการต่อสาธารณชนเป็นการดำเนินงานเบ็ดเสร็จหนึ่งปี งบประมาณมาจากส่วนงานการศึกษาและวิชาการ หน้าที่เริ่มแรกของคณะทำงานคือ การแปลหลักพื้นฐานของงานอนุรักษ์ และเลือกสิ่งที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเด็นสำหรับการดำเนินการ คำถามหลักได้แก่ สิ่งใดที่ผู้คนต้องการรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ สิ่งใดที่คณะทำงานปรารถนาที่จะบอกกล่าวกับผู้คน และจัดลำดับประเด็นต่างๆ ตามความสำคัญ แผนงานขยายออกไปอย่างรวดเร็วและความซับซ้อนของเนื้อหาเพิ่มมากขึ้น ภายใต้เงื่อนไขของพื้นที่และเวลาที่จำกัด การนำเสนอขบวนการทำงานของนักอนุรักษ์ในลักษณะที่ให้ความรู้และเข้าถึงผู้ชมได้ง่ายเป็นสิ่งที่ยากและมีความเสี่ยง ความท้าทายจึงเป็นการสร้างสรรค์การจัดแสดงที่เป็นมากกว่าการบอกเล่างานที่นักอนุรักษ์ทำทุกวัน (เพราะคงต้องเป็นเรื่องน่าเบื่อ) กับผู้ชมหลากหลายประเภท ดังนั้น คณะทำงานจึงตัดสินใจทำให้ผู้ชมตระหนักในสิ่งที่เขากำลังพินิจมอง หรือสิ่งที่เขาไม่เคยนึกถึงมาก่อน
 
จากการสำรวจของพิพิธภัณฑ์เกตตี้ โดยทั่วไป ผู้ชมใช้เวลาเฉลี่ย 2-3นาทีในแต่ละห้องจัดแสดง ด้วยข้อมูลเบื้องต้นเช่นนี้ คณะทำงานวางแผนว่าการจัดแสดงในครั้งนี้จะต้องสร้างความสนใจ และตรึงผู้ชมให้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับส่วนงานอนุรักษ์โดยสังเขป จึงนำไปสู่การสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบโต้ตอบ พร้อมไปกับการคงแนวทางการตีความแบบเดิม เช่น ป้ายคำอธิบาย ทั้งนี้ คณะทำงานระลึกเสมอว่า การถ่ายทอดความรู้สามารถทำได้หลายวิธี เมื่อพิจารณานิทรรศการโดยภาพรวม ข้อมูลจัดแบ่งออกเป็นหลายส่วน ท่วงทีและรูปแบบสื่อความรู้มีลักษณะที่ไม่เป็นทางการ ผู้ชมสามารถเข้าชมนิทรรศการได้อย่างเป็นอิสระในแต่ละประเด็นที่ตนสนใจ
 
นอกจากวิธีการการสร้างชิ้นงานแบบโต้ตอบแล้ว วิธีการหนึ่งในการสร้างความน่าสนใจให้กับนิทรรศการคือ   การอบรมเจ้าหน้าที่ให้ความรู้ ซึ่งวิธีการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากส่วนงานการศึกษาและวิชาการ เจ้าหน้าที่นำชมประจำ อยู่ในแต่ละส่วนของนิทรรศการ พวกเขามีหน้าที่หลักในการปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม ทั้งการอธิบายให้ผู้ชมเข้าใจการเรียนรู้จากชิ้นงานแบบโต้ตอบ การตอบคำถามหรือให้ความรู้เพิ่มเติมต่อผู้ชม รวมทั้งการตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของชิ้นงาน เจ้าหน้าที่ให้ความรู้เข้าฟังบรรยายหัวข้อต่างๆ เกี่ยวกับการอนุรักษ์ โดยมีเจ้าหน้าที่จากส่วนงานการอนุรักษ์เป็นผู้บรรยาย การบรรยายเป็นการให้ความรู้พื้นฐาน วัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์ ด้วยเหตุนี้ ผู้ให้ความรู้จึงสามารถตอบคำถามเบื้องต้นเกี่ยวกับงานอนุรักษ์และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ให้ความรู้จึงทำให้ข้อมูลที่ซับซ้อนสามารถเข้าใจได้ง่ายมากขึ้น พวกเขายังได้รับรายนามหนังสือ สิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวข้อง และสามารถหาซื้อได้ที่ร้านขายหนังสือของพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งรายชื่อหลักสูตรการศึกษาที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ ผู้ชมสามารถขอรายละเอียดเพิ่มเติมต่างๆ เหล่านี้ได้ หากมีความสนใจเป็นพิเศษ
 
ประโยชน์ของการเน้นถึงการอนุรักษ์วัตถุโบราณตามเนื้อหานิทรรศการคือ การสร้างความเข้าใจทั้งเรื่องหลักปรัชญาพื้นฐานการทำงานและเทคนิคการอนุรักษ์ และสร้างประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับงานอนุรักษ์ ที่เป็นการสร้างความชัดเจนว่า งานอนุรักษ์เป็นการพยายามสงวนสภาพที่เป็นของสิ่งต่างๆ   มากกว่าการเข้าไปจัดการ ซ่อมแซม เรียกได้ว่าเป็นการ “เข้าไปสอดแทรกให้น้อยที่สุด” เท่าที่จะทำได้
 
นิทรรศการ สงวนไว้ซึ่งอดีต จัดแสดงในห้องนิทรรศการที่เชื่อมต่อกับห้องจัดแสดงของโบราณ พื้นที่จัดแสดงดังกล่าวย่อมกระตุ้นให้ผู้ชมนำสิ่งที่เพิ่งได้ชมไปใช้ จากนี้จะเป็นการกล่าวถึงนิทรรศการส่วนต่างๆ อันได้แก่ เกริ่นนำ การตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ การปฏิบัติการ และสภาพแวดล้อม
 
เกริ่นนำในนิทรรศการ
ส่วนเกริ่นนำของนิทรรศการอธิบายถึงวิชาชีพงานอนุรักษ์ เนื้อหาดังกล่าวสร้างกรอบแนวคิดและให้ความรู้พื้นฐาน เพื่อทำความเข้าใจกับส่วนที่เหลือของนิทรรศการ ข้อพิจารณาและข้อท้าทายในจรรยาบรรณของนักอนุรักษ์ปรากฏทั้งในส่วนนี้และส่วนอื่นของนิทรรศการเช่นกัน
 
จุดหลักของนิทรรศการส่วนนี้ ในฐานะเป็นประเด็นหลักของนิทรรศการทั้งหมดคือ วีดิทัศน์ความยาว 6 นาทีในชื่อ “เบื้องหลังฉาก” วีดิทัศน์ดังกล่าวจัดทำโดยส่วนงานโสตทัศนศึกษา และใช้เวลาร่วมปีในการผลิต ภัณฑารักษ์ส่วนงานสะสมโบราณวัตถุ เจ้าหน้าที่ฝ่ายศิลปกรรม และเจ้าหน้าที่ฝึกงานของพิพิธภัณฑ์ แสดงงานปฏิบัติการที่หลากหลาย ทั้งการอุดช่องว่าง การเติมสี การทำความสะอาดหิน สำริด และเครื่องกระเบื้อง ส่วนนิทรรศการฉากจำลองแผ่นดินไหวเป็นการทดสอบให้เห็นวิธีปฏิบัติภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว วีดิทัศน์แสดงให้เห็นการทดสอบโดยใช้วัตถุจำลองประติมากรรมกรีกในศตวรรษที่ 5 ทั้งนี้ ระดับแรงสั่นสะเทือนเทียบเท่ากับแผ่นดินไหวที่เกิดทางใต้ของแคลิฟอร์เนีย ในการจัดทำวีดิทัศน์ คณะทำงานยังคำนึงถึงผู้ชมที่ใช้ภาษาสเปนในการสื่อสาร ดังนั้นวีดิทัศน์จึงปรากฏบทบรรยายที่เป็นภาษาสเปนด้วย ท้ายที่สุด เมื่อคณะทำงานศึกษาปฏิกิริยาของกลุ่มผู้ชม วีดิทัศน์สามารถตรึงและดึงดูดให้ผู้ชมสนใจเนื้อหา และเป็นโอกาสที่ผู้เข้าชมได้มองเห็นการทำงานของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเขาไม่เคยเห็นมาก่อน
 
การตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ 
ส่วนที่สองของนิทรรศการกล่าวถึงความสำคัญของการตรวจสอบวัตถุทางวิทยาศาสตร์ ก่อนการลงมือปฏิบัติการใดๆ นิทรรศการต้องการให้ผู้ชมมีส่วนร่วมและได้ลงมือปฏิบัติการพอเป็นสังเขป เพื่อเพิ่มประสบการณ์ ภาพขยายจากกล้องจุลทัศน์ (Wentzscope) เป็นสิ่งจัดแสดงที่ผู้ชมสามารถทดลอง และสังเกตภาพที่ปรากฏ ทั้งตัวสีและองค์ประกอบวัสดุของวัตถุสะสม (ภาพที่ 1) ตัวอย่างอื่นๆ เกี่ยวกับการใช้สื่อภาพและการตรวจสอบในระดับจุลภาคในรูปแบบสไลด์ ยังปรากฏภาพถ่ายขยายใหญ่ที่จัดแสดงบนผนังแสดงให้เห็นการทำงาน ของนักวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ ในการตรวจสอบอิเลกตรอน เรียกว่าเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นเครื่องมือ ที่ซับซ้อนในงานวิเคราะห์วัตถุ ทั้งนี้ สมุดบันทึกประกอบการชมจะให้รายละเอียดและภาพแสดงเกี่ยวกับการ ตรวจสอบเครื่องประดับทองโบราณ ควบคู่ไปกับการชมนิทรรศการ

   1) ผู้ชมมีโอกาสในการชม ภาพขยาย จากกล้องจุลทัศน์
                                        ในส่วนนิทรรศการการ   ตรวจสอบ ทางวิทยาศาสตร์


ปัญหาการตรวจสอบความจริงแท้ของวัตถุเป็นประเด็นที่ทั้งสื่อมวลชนและผู้คนทั่วไปให้ความสนใจ โดยที่การทำงานเป็นการบอกรูปพรรณและที่มาของวัตถุ ดังนั้น นิทรรศการเปิดโอกาสให้ผู้ชมทำความเข้าใจเกี่ยวกับความสามารถและข้อจำกัดของการสืบสวน ทั้งทางวิทยาศาสตร์และเทคนิค การจัดแสดงเป็นการใช้แจกันเครื่องเคลือบดินเผา 2 ใบ ใบหนึ่งเป็นแจกันโบราณ และอีกใบหนึ่งเป็นแจกันที่ผลิตขึ้นใหม่ ประกอบการตั้งคำถามต่อผู้ชมในสิ่งที่พวกเขาเห็นและสังเกตได้ โดยเชื่อมโยงว่ามีสิ่งที่บ่งชี้ว่าชิ้นใดเป็นของจริง และชิ้นใดที่ลอกเลียนแบบ ในการนี้ สมุดบันทึกประกอบการชมให้คำตอบต่อคำถามและคำอธิบายเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังมีการอธิบายเทคนิค thermoluminescence รังสีอุลตราไวโอเลต และเครื่องฉายรังสีเอกซ์-เรย์ในการตรวจสอบเช่นกัน
 
การปฏิบัติการอนุรักษ์ 
ส่วนที่ว่าด้วยการปฏิบัติการเริ่มต้นด้วยการเชื้อเชิญให้ผู้ชมประกอบภาชนะดินเผาที่แตกหัก และให้ชื่อแจกันตามแผนภาพแสดงรูปทรงแจกันสมัยกรีก คณะทำงานเห็นว่ากิจกรรมการมีส่วนร่วมเช่นนี้จะทำให้ผู้เข้าชมเข้าใจถึง ความอดทนพากเพียรที่นักอนุรักษ์ต้องมีในการปฏิบัติงาน แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นคือ การเชื่อมโยงแง่มุมทั้งหมดของสิ่งจัดแสดง กิจกรรมไม่ใช่เพียงการทำให้ผู้ชมตระหนักถึงวิธีการอนุรักษ์หม้อเก่าใบหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นวิธีการที่จะทำให้ผู้ชมสนใจในเนื้อหาวิชาการของนิทรรศการโดยภาพรวมด้วย
 
กิจกรรมอนุรักษ์แจกันเกริ่นนำการจัดแสดงเกี่ยวกับการอนุรักษ์เครื่องเคลือบ ซึ่งเป็นการอธิบายกระบวนการทำงานของนักอนุรักษ์ในการประกอบแก้วดื่มไวน์สมัยกรีกที่แตกหักเป็นลำดับ ขั้นตอนการทำงานประกอบเรียงตามลำดับในแนวนอน เริ่มต้นด้วยการที่ผู้ชมสังเกตชิ้นส่วนของแก้วไวน์บนแผ่นกระดาษตีตาราง จากนั้น แก้วในกระบะทรายได้รับการประกอบด้วยตัวเชื่อมที่สามารถชะล้างออกได้ เพื่อเป็นการย้ำว่างานซ่อมแซมทั้งหลายจะต้องสามารถแก้ไขได้ในอนาคต ชิ้นงานยังประกอบด้วยส่วนของหูจับและขาที่ทำมาจากวัสดุทดแทน ทำให้ชิ้นส่วนมีความสมบูรณ์ และขณะเดียวกันเป็นการแสดงให้เห็นชิ้นส่วนที่หายไป การประกอบชิ้นส่วนเพิ่มเติม กระทำได้ต่อเมื่อมีหลักฐานประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ การจัดแสดงจบลงที่ถ้วยไวน์ที่มีสมบูรณ์แบบ แม้ว่าส่วนที่เติมเต็มจะมีการระบายสีให้ใกล้เคียงกับสีผิวภาชนะ แต่ยังสามารถแยกความแตกต่างจากผิวเดิมได้ นักวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์จะจดบันทึก ขั้นตอนการอนุรักษ์ สำหรับการประเมินผลและการศึกษาในอนาคต เนื้อหาและแนวคิดในการจัดแสดงส่วนดังกล่าวสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้เข้าชมเป็นอย่างมาก

  2) ผู้ชมจับต้อง ทดลอง สร้างประสบการณ์ด้วยตนเอง
                                                    ในส่วนนิทรรศการ งานปฏิบัติการอนุรักษ์

 
การปฎิบัติการอนุรักษ์เครื่องสำริดและหินอ่อนโบราณนำเสนอด้วยภาพเปรียบเทียบ ก่อนและหลังการปฏิบัติการ พร้อมคำอธิบายที่กล่าวถึงแนวคิดและกระบวนการอนุรักษ์ คำอธิบายและภาพเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคนิคการทำความสะอาดสามารถ อ่านได้จากสมุดบันทึกประกอบการชม ที่วางใต้ชั้นที่จัดแสดงตัวอย่างการอนุรักษ์วัตถุ (ภาพที่ 2)    
 
ผู้คนทั่วไปสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์จากการแสดงภาพก่อนและหลังการปฏิบัติการ วิธีการสื่อสารดังกล่าวสามารถดึงดูดความสนใจของผู้ชม แต่กลับไม่สามารถทำให้ความรู้นั้นๆ คงอยู่กับผู้เข้าชมได้ หากเปรียบไปแล้วความสัมพันธ์ระหว่างนักอนุรักษ์กับวัตถุก็ไม่ต่างไปจาก ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับคนไข้ การตัดสินใจลงมือแก้ไขแล้วทำให้สิ่งที่ “ป่วยไข้” ฟื้นกลับดีขึ้นคงเหมาะกับการเขียนเป็นนิยายมากกว่า เพราะการปฏิบัติการที่ควรเป็นไปน่าจะเป็นให้คำแนะนำในเรื่องอาหารและสุขภาพ โลกในปัจจุบัน การป้องกันดูจะเป็นวัคซีนที่น่าสนใจกว่าการแก้ไขในภายหลังทั้งในทางการแพทย์และทางศิลปะ ด้วยเหตุนี้ ในนิทรรศการ คณะทำงานจึงพยายามลดการให้ความสำคัญของบทบาทแพทย์-นักอนุรักษ์ และเพิ่มสิ่งที่ควรคำนึงถึงในการสงวนป้องกันที่ทันสมัย
 
สภาพแวดล้อม 
การจัดแสดงตัวอย่างการควบคุมบรรยากาศของนิทรรศการด้วยการใช้ประติมากรรมขนาดย่อม เพื่อแสดงให้เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม (ภาพที่ 3) ตัวอย่างแสดงให้เห็นมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน-การสงวนรักษาหลายปัจจัย ที่ช่วยให้สิ่งแวดล้อมคงที่และอยู่ภายใต้การควบคุม แท่นรองแสดงให้เห็นว่าประติมากรรมได้รับการจัดวางอย่างไร ถาดวัสดุดูดความชื้น (Celica gel) และเครื่องวัดความชื้นในระบบดิจิตอลแสดงให้เห็นการทำงาน สมุดบันทึกประกอบอธิบายรายละเอียดความสำคัญของการติดตั้งเครื่องมือควบคุมความชื้น ระดับความเข้มของแสง และระดับรังสีอัลตร้าไวโอเลต ตัวอย่างแสดงไม่สามารถสร้างความสนใจต่อผู้ชมได้มาก เท่ากับวีดิทัศน์ และแบบทดลองการประกอบแจกัน แต่ผู้ชมใช้เวลาไม่น้อยในการพิจารณาเนื้อหาเกี่ยวกับการสงวนรักษา และการทำงานที่ต่อเนื่องในการดูแลงานผลงานศิลปะในการจัดแสดงและในคลังวัตถุ การจัดแสดงดังกล่าวนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ เช่นกัน

  3) สิ่งจัดแสดงสาธิตตัวอย่าง การควบคุมสิ่งแวดล้อม ของนิทรรศการ
                                                    ในส่วนที่ว่าด้วย สภาพแวดล้อม

 
ในประเด็นที่ว่าด้วยเรื่องของไขมันและฝุ่นสะสม การจัดแสดงนำเสนอชิ้นหินอ่อนสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 4 นิ้ว ซึ่งคณะทำงานได้นำชิ้นวัตถุให้คนทั่วไปสัมผัสเป็นเวลา 1 ปีก่อนการเปิดนิทรรศการ ตัวอย่างแสดงให้ผู้ชมเข้าใจว่าด้วยเหตุใดผู้ชมจึงไม่ควรสัมผัสงานสะสมที่จัดแสดงอีกต่อไป วิธีการนำเสนอเป็นการเปรียบเทียบส่วนของวัตถุที่มีการป้องกันตรงกลางชิ้นวัตถุ และส่วนรอบๆ ที่ไม่ได้รับการป้องกันและมีการสัมผัสชิ้นงานหินอ่อน

  4) “โต๊ะสะเทือน” แสดงในส่วนนิทรรศการ เรื่องสภาพแวดล้อม
 
การจัดแสดงอื่นที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมกับการอนุรักษ์วัตถุ เป็นการยกตัวอย่างอันตรายที่สามารถเกิดกับงานศิลปะจากแรงสั่นสะเทือน ของแผ่นดินไหวของแคลิฟอร์เนีย แจกัน 2 ใบบนโต๊ะที่สั่นสะเทือน “เล็กน้อย” จัดแสดงในตู้ครอบแก้ว ซึ่งเป็นประดิษฐกรรมจากฝ่ายศิลปกรรมของพิพิธภัณฑ์ แจกันใบหนึ่งจัดแสดงแบบชิ้นงานเดี่ยว และติดตั้งระบบการป้องกันเฉพาะ เมื่อผู้ชมกดปุ่มเครื่องกล โต๊ะจะสั่นไหว แจกันที่ติดตั้งระบบการป้องกันไม่ได้รับอันตราย ในขณะที่แจกันอีกใบได้รับความเสียหาย ตัวอย่างของแจกันในระบบรักษาความปลอดภัย เช่น การใช้ขี้ผึ้งที่ทันตแพทย์ใช้ในการรักษายึดกับแท่นแก้ว ในการจัดแสดงแจกันในห้องนิทรรศการ
 
ผลการสำรวจ 
ในระหว่างช่วงอาทิตย์สุดท้ายของนิทรรศการ ส่วนงานการศึกษาและวิชาการสำรวจ ความคิดเห็นอย่างไม่เป็นทางการของผู้เข้าชม จำนวน 125 คน ในขณะที่พวกเขาออกจากพิพิธภัณฑ์ และสัมภาษณ์ผู้ชมในเชิงลึก จำนวน 38 คน ในขณะออกจากนิทรรศการ สงวนไว้ซึ่งอดีต นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ให้ความรู้บันทึกปฏิกริยาต่างๆ ของผู้ชมนิทรรศการ ข้อมูลแสดงให้เห็นสิ่งที่สร้างความสนใจให้กับผู้ชม (ตามลำดับ) ดังนี้ วีดิทัศน์ แบบฝึกการประกอบแจกัน โต๊ะแผ่นดินไหว กล้องจุลทัศน์ การจัดแสดงแก้วไวน์ที่ได้รับการซ่อมแซม การทำความสะอาดวัตถุสำริดและหิน และการตรวจสอบความจริงแท้ของแจกัน แต่มีผู้ชมอีกจำนวนไม่น้อยที่ชอบภาพรวมนิทรรศการ โดยไม่มีข้อแตกต่างระหว่างสิ่งจัดแสดง เวลาที่ใช้ในแต่ละจุด ขึ้นอยู่กับความสนใจของแต่ละคน ผู้ชมคนหนึ่งใช้เวลามากที่สุดประมาณ 10 นาที ณ จุดการประกอบแจกัน แต่หากพิจารณาในภาพรวม ผู้ชมบางคนใช้เวลามากกว่า 20 นาทีในการชมนิทรรศการทั้งหมด ทั้งการหยุดอ่าน มอง วิเคราะห์ ปฏิบัติ
 
อย่างไรก็ดี ผู้ชมบางคนเห็นว่านิทรรศการยังไม่พูดถึงเรื่องการปฏิบัติการเชิงเทคนิคเพียงพอ ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งกลับเห็นว่า นิทรรศการมีลักษณะที่เป็นเทคนิคมากเกินไป
 
ผู้ใหญ่เป็นกลุ่มเป้าหมายของนิทรรศการตามความตั้งใจของคณะทำงาน แต่กลับมีคนเห็นว่า นิทรรศการดูตอบสนองต่อกลุ่มเด็กมากกว่า เด็กเล็กๆ ชอบจุดประกอบแจกันและโต๊ะแผ่นดินไหว ส่วนเด็กโตและเด็กวัยรุ่นเข้าถึงนิทรรศการด้วยความอยากรู้อยากเห็นและกระตือรือร้น ผู้ชมที่มีส่วนร่วมในการการสัมภาษณ์เชิงลึก 38 คน สามารถอภิปรายเกี่ยวกับหลักการอนุรักษ์สำคัญๆ อย่างน้อยหนึ่งประเด็นที่นิทรรศการได้หยิบยกขึ้นมา ขณะเดียวกัน ผู้ร่วมการประเมินผลทั้งหมดแสดงความเห็นว่าต้องการจะเห็นนิทรรศการที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับอนุรักษ์เช่นนี้อีก
 
บทสรุป 
นิทรรศการ สงวนไว้ซึ่งอดีต นำมาซึ่งประเด็นถกเถียงและข้อมูล รวมทั้งสร้างความตระหนักในงานอนุรักษ์ให้กับผู้ชมในระดับที่กว้างและหลากหลายมากขึ้น คณะทำงานหวังว่าผู้ชมกว่า 12,000 คน รวมทั้งนักเรียน จะมีโอกาสกลับมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ของเรา และพิพิธภัณฑ์อื่นในอนาคตด้วยมุมมองใหม่ๆ นิทรรศการเช่นนี้เปิดให้ผู้ชมมีมุมมองใหม่ให้เห็นความซับซ้อนของการทำงาน การชั่งน้ำหนักในการตัดสินใจ และการพัฒนาทางออกสำหรับปัญหาที่รอเราอยู่ข้างหน้า คณะทำงานเห็นว่า ด้วยการวางแผนที่รอบคอบและตรึกตรอง นิทรรศการเปิดโลกของงานอนุรักษ์สู่ความเข้าใจของคนโดยทั่วไปได้เป็นอย่างดี
 
แปลและเรียบเรียงจาก
Jerry C. Podany and Susan Lansing Maish
“Can the complex be made simple? Informing the public about conservation through museum exhibits”.
Journal of the American Institute for Conservation (1993, Vol. 32, No. 2) pp. 101 - 108.
วันที่เผยแพร่ครั้งแรก: 17 เมษายน 2557
วันที่แก้ไข: 17 เมษายน 2557