รัฐ กับ สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ในงานพิพิธภัณฑสถานไทย

งาน พิพิธภัณฑสถานที่เริ่มต้นมายาวนานกว่าศตวรรษ ได้ดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันที่ประเทศไทยมีพิพิธภัณฑสถานที่ดำเนินงาน โดยรัฐ โดยชุมชน และโดยบุคคล จำนวนหลายร้อยแห่งทั่วประเทศ แต่ขณะที่ปริมาณของพิพิธภัณฑสถานมีมากขึ้นและจะมีเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนใน อนาคต คำถามถึงการอยู่รอด การพัฒนาเชิงคุณภาพ และการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพิพิธภัณฑสถานในประเทศไทยก็มีมากขึ้นตามลำดับ คำตอบหนึ่งที่เป็นตัวแปรสำคัญให้กับคำถามดังกล่าวก็คือ รัฐ
 
รัฐ มีความเข้าใจในงานพิพิธภัณฑสถาน และ สถานการณ์ที่พิพิธภัณฑสถานในชาติ กำลังเผชิญอยู่มากน้อยแค่ไหน? หรือ ยังคงมองว่ามีหน้าที่ในการเก็บของเก่า หรือ แสดงงานศิลปะ? แนว ความคิดใหม่ ๆ ในการใช้ประโยชน์พิพิธภัณฑสถานให้เป็นแหล่งการเรียนรู้และเสริมสร้างคุณค่า ทางจิตใจของคนในชาติ ถูกส่งผ่านไปถึงรัฐ หรือ ได้รับการยอมรับจนพัฒนาไปสู่การนำไปปฏิบัติจากรัฐมากน้อยแค่ไหน ?



นโยบายของ รัฐ ต่องานวัฒนธรรม และต่องานพิพิธภัณฑสถาน คืออะไร? นอก เหนือจากภาระหน้าที่ตามกฎหมายในการเก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และเปิดให้ประชาชนเข้าชมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และ กฎหมายใหม่ที่ให้ท้องถิ่นสามารถจัดการแหล่งการเรียนรู้ของตนเองได้ที่ถูก หยิบยกมาอ้างถึงกันอยู่บ่อย ๆ แล้ว รัฐมีนโยบายที่เป็นรูปธรรมชัดเจนในการเพิ่มศักยภาพของการเป็นแหล่งการเรียน รู้ของพิพิธภัณฑสถานของรัฐเอง และสามารถปรับเปลี่ยนนโยบายหรือเงื่อนไขปัจจุบัน เพื่อช่วยสนับสนุนพิพิธภัณฑสถานในท้องถิ่นอีกจำนวนมากอย่างไรได้บ้าง
 
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ดำเนินงานโดย รัฐ ซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายในการเก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุมาแต่เดิมและถูกผูกติดกับภาระหลักนี้มาจนปัจจุบัน เป็นที่มาของกรอบคิดในการเก็บรวบรวมและจัดแสดงที่ให้ความสำคัญต่อโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และนำเสนอประวัติศาสตร์การปกครอง หรือ รูปแบบทางศิลปะ เป็นสำคัญ แต่ในปัจจุบันที่แนวคิดเรื่อง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้พัฒนากรอบคิดในสู่การเก็บรวบรวม สิ่งที่มีคุณค่าของชาติ(objects of national significance ) ซึ่ง หมายถึง สิ่งที่สะท้อนประวัติศาสตร์สังคมของชาติในช่วงเวลาต่าง ๆ สิ่งที่แสดงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชาติ และวัตถุร่วมสมัยที่สะท้อนความเป็นปัจจุบันของชาติ รวมไปถึงการพัฒนาเนื้อหาเรื่องราวใหม่ ๆ ในการจัดแสดง ที่นำเสนอบทเรียนในอดีต และสะท้อนปัญหาสังคมในปัจจุบัน กำลังเป็นทิศทางที่หลายประเทศนำมาใช้เพื่อสร้างการเรียนรู้ ความตระหนักรู้ และความสมานฉันท์ของคนในชาติ จึงเกิดเป็นคำถามที่ท้าทายว่า รัฐ จะปรับเปลี่ยนทิศทางและขยายขอบข่ายการเรียนรู้ เพื่อการพัฒนาคนในชาติผ่านงานพิพิธภัณฑฯต่อไปอย่างไร
 




สถานการณ์ ของพิพิธภัณฑสถานภายใต้การดำเนินงานของรัฐในปัจจุบัน ซึ่งหลายคนมองว่า หยุดนิ่ง ไม่เคลื่อนไหว หรือ แม้กระทั่ง ตายซาก ได้กลายมาเป็นเครื่องมือที่รัฐเองใช้เป็นโอกาสในการสร้างผลงานโดยไม่ใส่ใจ ศึกษาปัญหาที่มีอยู่เดิม ด้วยการประกาศจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งใหม่ ๆ ที่มุ่งมาดว่าจะต้องดีกว่าพิพิธภัณฑฯที่มีอยู่แล้ว รัฐ กำลังพัฒนาพิพิธภัณฑสถานในแบบ ชั่วข้ามคืน อย่างไร และมีมุมมองอย่างไรในการจัดการงานพิพิธภัณฑสถานของชาติ
 
ปัญหา ในงานพิพิธภัณฑสถานของไทยที่มี รัฐ เป็นตัวแปรสำคัญในการช่วยแก้ไขหรือทุเลาปัญหาเป็นสิ่งที่อยู่ในใจคนทำงาน พิพิธภัณฑสถาน และประชาชนที่ใช้ประโยชน์จากพิพิธภัณฑสถานมาโดยตลอด หากแต่ที่ผ่านมามีเพียงการปรารภปัญหาในวงเล็ก ๆ ระหว่างคนทำงานพิพิธภัณฑฯและคนใช้พิพิธภัณฑฯ ที่มักนำไปสู่ข้อสรุปของการยอมจำนนและยอมรับในชะตากรรมที่เป็นอยู่ ซึ่งก็คงไม่มีใครที่อยากให้สถานการณ์เป็นอยู่เช่นนี้ตลอดไป จะมีวิธีการใดที่จะทำให้ รัฐ เห็นความสำคัญและใส่ใจที่จะพัฒนางานพิพิธภัณฑสถานอย่างจริงจัง เพื่อที่วันหนึ่งพิพิธภัณฑฯไทยจะเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในการพัฒนา ชาติ เช่นที่เป็นอยู่ในหลาย ๆประเทศทั่วโลก

วันที่เผยแพร่ครั้งแรก: 29 ธันวาคม 2554
วันที่แก้ไข: 31 มกราคม 2556