ประวัติศาสตร์แห่งชาติสนทนากับเรื่องราวการอพยพ

เรื่องราวที่จะได้กล่าวถึงต่อไปนี้ ดัดแปลงมาจากการบรรยายของผู้เขียน เรื่อง ฝรั่งเศสร่วมสมัยในกระแสธารวัฒนธรรมคนอพยพ ซึ่งเป็นการบรรยายในหัวเรื่อง ยลพหุวัฒนธรรม ที่จัดขึ้นที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เมื่อวันเสาร์ที่ 5 มีนาคม 2554 ในวันนั้น มีวิทยากรที่ร่วมสนทนาด้วยอีก 2 ท่าน คือ อาจารย์สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ และชวนถกโดย ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร แต่ในบทความนี้ ผู้เขียนเลือกประเด็นที่อยู่ในการบรรยายของตนเองมาใช้เป็นข้อมูลพื้นฐาน โดยไม่ได้หยิบยกเนื้อหาและข้ออภิปรายของวิทยากรอีกสองท่านเข้ามาไว้ในบทความ

โครงการพิพิธภัณฑ์เพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์การอพยพ

                 คำว่า “ประวัติศาสตร์แห่งชาติ” ในที่นี้ มุ่งที่จะกล่าวถึงประวัติศาสตร์ของสาธารณรัฐฝรั่งเศสในการบอกเล่าเรื่องราวการอพยพของผู้คนในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์การอพยพ หรือ Cité nationale de l’histoire de l’immigration (ต่อไปจะใช้คำว่า CNHI เมื่อกล่าวถึงพิพิธภัณฑ์แห่งนี้)

                  โครงการพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่แห่งนี้ เริ่มขึ้นเมื่อ ค.ศ. 2001 โดยการทำรายงานการศึกษาให้กับรัฐบาล ลิโอเนล โจสแปง ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และได้รับการอนุมัติเป็นโครงการของรัฐบาล เมื่อ ฌาร์ค ชิรัค ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยหนึ่ง เมื่อ ค.ศ. 2002 จากนั้น ในปี 2003 ได้มีการประชุมทางวิชาการเพื่อระดมความคิดเห็นในการบอกเล่าประวัติศาสตร์การอพยพของสาธารณรัฐ เพราะการจะหยิบยกปัญหาเรื่องการอพยพมากล่าวถึงในสังคมร่วมสมัย เพื่อจะสร้างความเข้าใจและความเป็นมาของเรื่องราว

                   เรื่องราวของการอพยพหมายถึงการกล่าวถึงบาดแผลและการเจ็บปวดของคนที่ย้ายถิ่นด้วยเหตุต่างๆ นานา และเมื่อมาพำนักอาศัยในแผ่นดินแห่งนี้ ย่อมต้องเกิดช่องว่างในการปรับตัว หรือการยอมหรือไม่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ ดังนั้น เมื่อประเด็นทางสังคมและวัฒนธรรมเช่นนี้กลายเป็นแก่นแกนของพิพิธภัณฑ์ วาระของการบอกเล่าควรเป็นการบอกเล่าที่ทำให้สังคมก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับความเข้าใจในประวัติศาสตร์ ด้วยเหตุนี้ ฐานคิดในการบอกเล่าประวัติศาสตร์การอพยพของพิพิธภัณฑ์ อาจแสดงจุดมุ่งหมายใน 3 ลักษณะ อันได้แก่

                   หนึ่ง “Being French differently” หรือการเป็นฝรั่งเศสในแบบที่แตกต่างออกไป นั่นหมายความว่า พิพิธภัณฑ์พยายามแสดงให้เห็นว่า ผู้คนที่เคลื่อนย้ายเข้ามาในประเทศนั่นเหตุและปัจจัยในการอพยพแตกต่างกัน คนเหล่านี้มาพร้อมกับ “วัฒนธรรมต้นทาง” หรือวัฒนธรรมที่ติดตามมากับชาติภูมิของตนเอง ดังนั้น การมาลงรากปักฐานในสาธารณรัฐย่อมมีความแตกต่างกัน หรือต่างไปจากสิ่งที่เชื่อว่า “เป็นฝรั่งเศส” ของชนส่วนใหญ่ นั่นรวมถึงสิทธิพหุลักษณ์ (plural rights) ของการเป็นพลเมือง และต่อต้านการเลือกปฏิบัติไปพร้อมกัน

                    สอง หลีกเลี่ยงการ “ประทับตรา” (stigmatization) เพราะเมื่อใดก็ตามที่มีการบอกเล่าเรื่องราวทางวัฒนธรรมกับสาธารณะ เมื่อนั้นจะเกิดภาพสถิต นั่นคือ การตรึงภาพลักษณะของคนจากวัฒนธรรมอื่น ที่นิ่งและไม่เปลี่ยนแปลง เช่น คนอัลจีเรีย ต้องเป็นคนมุสลิม พูดภาษาอาหรับ และจะต้องเผชิญกับปัญหาในการอพยพแบบนี้ ดังนั้น จึงนำไปสู่แกนของการเล่าเรื่องที่จะต้อง “ไปและกลับ” ระหว่างประวัติศาสตร์ในภาพใหญ่และประวัติชีวิตของปัจเจกบุคคล เพื่อแสดงให้เห็นลักษณะ “ร่วม” และ “เฉพาะ” ของประวัติศาสตร์ (histories)

                      สาม ลักษณะพลวัต (dynamism) ทำอย่างไรให้สาธารณะเข้าใจประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในลักษณะที่ไม่หยุดนิ่ง หรือongoing history การอพยพข้ามรัฐชาติยังคงดำเนินต่อไปในปัจจุบัน เหตุและปัจจัยต่างๆ เปลี่ยนแปลงจากที่กล่าวถึงในพิพิธภัณฑ์ ชีวิตของคนอพยพก็เปลี่ยนแปลงเช่นกัน

การพัฒนาเรื่องราว

                      จากฐานคิดในการสร้างสรรค์พิพิธภัณฑ์และนิทรรศการเพื่อบอกเล่าประวัติการอพยพ CNHI แจงให้เห็นองค์ประกอบที่เข้ามาเกี่ยวข้องการทำงานอีกสองสามส่วนหลักๆ

เรื่องราวที่เป็นเนื้อหาหลักของนิทรรศการครอบคลุม ประวัติศาสตร์ของการอพยพที่ย้อนหลังในช่วง 200 ปี จนถึงปัจจุบัน เหตุการณ์ทางการเมืองเกี่ยวกับข้องกับคนอพยพ คนเหล่านี้ลุกฮือขึ้นทำไม? เพื่อเรียกร้องอะไร? รวมถึงเรื่องราวของคนอพยพในแต่ละช่วงประวัติศาสตร์สาธารณะ กลุ่มเนื้อหาในส่วนนี้ แสดงเรื่องราวในลักษณะที่เป็นประวัติศาสตร์ที่เป็นหมุดหมายของเวลา หรือที่เรียกว่า “Landmarks” หรือ Repères ในภาษาฝรั่งเศส โดยแบ่งเนื้อหาได้ 10 ประเด็น อันได้แก่

            1. การอพยพ ที่มีช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ 4 ระยะ คือตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19-1914, ค.ศ. 1914-1944, ค.ศ. 1945-1975 และ 1975-ปัจจุบัน โดยบอกเล่าถึงกลุ่มชนและเส้นทางที่พวกเขาในเดินทางจนถึงประเทศแห่งนี้

            2. การเผชิญหน้ากับรัฐ แสดงให้เห็นถึงบทบาทของรัฐในการจัดการกับคนอพยพที่เริ่มเห็นเด่นชัดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 ทั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าในแต่ละช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ รัฐบาลฝรั่งเศสมีนโยบายในการจัดการที่แตกต่างกัน เช่น ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1930 กระแสของการต่อต้านคนต่างชาติที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุของการว่างงานและความวุ่นวายทางการเมือง นำไปสู่นโยบายการควบคุมและติดตาม และการส่งกลับบ้านเกิด

            3. “แผ่นดินที่ยินดี ฝรั่งเศสที่ยินร้าย” สภาพของสังคมโดยภาพรวมในแต่ละช่วงเวลา ตัวอย่างเช่นในช่วง ค.ศ. 1945-1974คนอพยพถูกมองว่าเป็นประโยชน์ในการเชิงเศรษฐกิจ ด้วยการขยายตัวของระบบอุตสาหกรรมและสาธารณูปโภค แต่สังคมกลับเพิกเฉย นอกจากนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นยุคที่ระบบอาณานิคมล่มสลาย สงครามในอัลจีเรียที่เป็นการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมอย่างฝรั่งเศส ได้ทิ้งรอยแผลหรือตราบาปให้กับกลุ่มชน สังคมมองคนอัลจีเรียในเชิงลบ ดูหมิ่น และต้องสงสัย

            4. ที่นี่และที่โน้น มีเนื้อหาที่กล่าวถึงคนอพยพตั้งแต่ 1974 จนถึงปัจจุบัน กล่าวถึงชีวิตของคนอพยพที่ต้องอยู่ในแผ่นดินใหม่ แต่ยังผูกพันกับวัฒนธรรมของบ้านเกิด และสายสัมพันธ์นี้เองที่ก่อสร้างสร้างตัวเป็นชีวิตในฝรั่งเศส

            5. พื้นที่ชีวิต จากศตวรรษที่แล้วจวบจนปัจจุบัน สถานที่ต่างๆ ทั้งเพื่อการพักอาศัยและทำมาหากินของคนอพยพ เรียกได้ว่า เป็นไปตามอัตภาพ ผู้คนเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน และตั้งแต่ ค.ศ. 1945 เป็นต้นมา รัฐบาลฝรั่งเศสหันมาให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับสภาพความเป็นอยู่ Cité กลายเป็นย่านที่อยู่ของคนอพยพในเมืองใหญ่ๆ ในทางหนึ่งสถานที่ดังกล่าวดำรงความเป็นที่พักอาศัย แต่ในอีกทางหนึ่ง เป็นคำเรียก “ย่านคนอพยพ” ที่มีที่มาต่างทิศต่างทาง และกลายเป็นพื้นที่ผสมผสานทางวัฒนธรรม

            6. ลงมือทำงาน คนงานต่างชาติและคนจากประเทศในอาณานิคม เป็นทั้งตัวละครที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ และข้อท้าทายในการต่อสู้ทางสังคมตลอดระยะเวลาในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20 เพื่อค่าตอบแทนที่เหมาะสม ประกันสังคม การลดระยะเวลาการทำงาน ไม่ต่างจากคนงานฝรั่งเศส

            7. ลงรากปักฐาน แสดงให้เห็นบทบาทของสถาบันทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา การเมือง ที่เปิดโอกาสให้คนอพยพเหล่านี้ลงรากปักฐานบนผืนดินที่รองรับการอพยพ และแน่นอน การมีส่วนร่วมของคนอพยพในสถาบันต่างๆ คือหนทางในการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางสังคม

            8. การกีฬา ที่กลายเป็นหนทางหนึ่งของการรวมกลุ่มและอัตลักษณ์ร่วมระหว่างคนอพยพด้วยกัน ในไม่ช้า การเล่นและนักกีฬาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโลกกีฬาของชนชาวฝรั่งเศส

            9. ศาสนา ทุกวันนี้ นอกจากคริสต์ศาสนานิกายคาทอลิก อิสลามเป็นศาสนาที่นับถือในหมู่ชนฝรั่งเศสเป็นอันดับรองลงมา โดยผู้คนที่นับถือมาจากชาติกำเนิดที่แตกต่าง ทั้งผู้คนที่มีรากเหล้าในกลุ่มประเทศมาเกรบ (อัลจีเรีย ตูนีเซีย โมรอคโค) จากตุรกีและตะวันออกกลาง ส่วนพุทธศาสนาประดิษฐานเมื่อราวคริสต์ทศวรรษ 1970 จากการอพยพของผู้คนจากตะวันออกไกล และยังมีศาสนามาพร้อมกับผู้คนจากทวีปอเมริกา

            10. ศิลปวัฒนธรรม ศิลปินจำนวนไม่น้อยที่เป็นคนอพยพและสร้างคุณูปการในการสร้างสรรค์ทางศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นทัศนศิลป์ การแสดง หรือดนตรี

             ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวอย่างย่นย่อของสิ่งที่บอกเล่าในนิทรรศการถาวรของ CNHI โดยจะต้องไม่ลืมว่า หมุดหมายทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ ได้ควบรวมการบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดกับปัจเจกบุคคลหรือที่เรียกว่า living memory หรือความทรงจำที่ไหลเวียนอยู่ในหมู่ชนของคนอพยพ ฉะนั้น CNHI สะท้อนให้เห็นว่า การทำงานพิพิธภัณฑ์ทางชาติพันธุ์ร่วมสมัย มิใช่เรื่องที่ผูกไว้กับผู้เชี่ยวชาญ ไมว่าจะเป็นนักมานุษยวิทยาหรือนักประวัติศาสตร์ แต่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นกับเจ้าของวัฒนธรรม

                          นัยสำคัญของการบอกเล่าเรื่องราวของการอพยพ ไว้ในพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่เช่นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์การอพยพดังที่กล่าวมา คงมิใช่ “การอวด” (showcases) หรือการจัดแสดง (displays) เพียงเพื่อความหฤหรรษ์ในความเป็นอื่น (exotism) หรือรู้เพียงว่าพวกเขาแปลก (แยก) จากพวกเราอย่างไร หากควรเป็นการเรียนรู้ความแตกต่างที่สร้างความเป็นเราและเขาไปพร้อมๆ กัน ดังที่ การ์ติกา นาอีร์ นักการศึกษาของ CNHI ได้กล่าวไว้ในบทความของเธอ

“เราไปเยี่ยมชมสถานที่แห่งนี้ มิใช่เพื่อการเรียนรู้คนอื่นและความแปลกแยกของพวกเขา
หากเป็นการทำความรู้จัก ‘ความเป็นอื่น’ ที่อยู่ในตัวเรา ...เราเติบโตมาจากคนอื่นเช่นใด”

บรรณานุกรม
บทความต่างๆ ในวารสาร Museum international, No. 233/234, Vol.59, No. 1/2, 2007.
ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.histoire-immigration.fr
 

วันที่เผยแพร่ครั้งแรก: 29 ธันวาคม 2554
วันที่แก้ไข: 20 มีนาคม 2556