พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านริมแม่น้ำน่าน จังหวัดพิษณุโลก: จากของเก่า-ของโบราณสู่การบูรณาการองค์ความรู้เพื่อชุมชน

แม่ น้ำน่านเป็นแม่น้ำสาขาสายสำคัญของแม่น้ำเจ้าพระยา มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาในเขตจังหวัดน่าน แล้วไหลผ่านจังหวัดน่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และไหลมาบรรจบกับแม่น้ำยมและแม่น้ำปิงที่จังหวัดนครสวรรค์จนกลายแม่น้ำเจ้า พระยา สองฝั่งแม่น้ำน่านช่วงที่ไหลผ่านจังหวัดพิษณุโลกเต็มไปด้วยเรื่องราวทางด้าน ประวัติศาสตร์ การตั้งถิ่นฐาน เศรษฐกิจ ความเชื่อและวัฒนธรรมที่น่าสนใจซ่อนอยู่มากมายอย่างที่เราไม่เคยทราบมาก่อน สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นข้อมูลเบื้องต้นหรือข้อมูลพื้นฐานที่ชุมชนสามารถนำ มาบูรณาการหรือประยุกต์ใช้ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์และคุณค่าได้

ตลอด ความยาวกว่า 130 กิโลเมตรที่แม่น้ำน่านในเขตจังหวัดพิษณุโลก พบว่ามีหลายชุมชนที่มีการสร้างสรรค์วัฒนธรรมหรือนำสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนมา ประยุกต์ใช้และสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวมโบราณวัตถุ ข้าวของเครื่องมือเครื่องใช้ในอดีตมาจัดทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน การนำเรือเอี่ยมจุ๊นที่เลิกใช้แล้วขึ้นบกมาทำเป็นห้องสมุดหรือแหล่งเรียนรู้ ของชุมชน สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นถึงแนวความคิดทางด้านการอนุรักษ์และ บูรณาการองค์ความรู้ท้องถิ่นของผู้คนริมฝั่งแม่น้ำน่าน จังหวัดพิษณุโลกได้เป็นอย่างดี ผู้เขียนจึงขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่มีอยู่ริมฝั่งแม่ น้ำน่านในปัจจุบัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการบูรณาการวัฒนธรรมริมน้ำเพื่อให้เกิด ประโยชน์สูงสุด

นอกเหนือจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระพุทธชินราช ที่ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร พิพิธภัณฑ์เมืองพิษณุโลก ที่ตั้งอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม (ส่วนวังจันทน์)และพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จ่าทวี ซึ่ง รวบรวมโบราณวัตถุและข้าวของเครื่องใช้ของชาวพิษณุโลกในอดีตมาจัดแสดงแล้ว ในชุมชนริมฝั่งแม่น้ำน่านยังมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่ชุมชนท้องถิ่นร่วมกัน สร้างสรรค์ขึ้นอีกหลายแห่ง ล้วนแล้วแต่มีสิ่งของที่น่าสนใจไม่แพ้พิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่เลยทีเดียว

1. พิพิธภัณฑ์วัดท่าตะเคียน ตั้ง อยู่ภายในวิหารหลวงพ่อทองสุข วัดท่าตะเคียน ตำบลจอมทอง อำเภอเมืองพิษณุโลก วัดท่าตะเคียนเป็นวัดโบราณแต่ไม่ปรากฏร่องรอยโบราณสถานแล้ว เนื่องจากว่ามีการสร้างโบสถ์หลังใหม่ทับ แต่ยังปรากฏใบเสมาหินชนวนศิลปะอยุธยาตอนกลางหลายใบปักอยู่รอบโบสถ์ วัดนี้ยังมีพระพุทธรูปปูนปั้นเก่าแก่อยู่ในวิหารชื่อว่าหลวงพ่อทองสุข ภายในวิหารนี้ยังถูกจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นด้วยภายในวิหารมีการจัดแสดง พระพุทธรูปโบราณศิลปะพื้นบ้าน เครื่องถ้วยลายคราม ตู้พระธรรมลายรดน้ำ คัมภีร์ใบลาน สมุดข่อยและผ้าห่อคัมภีร์ ซึ่งเป็นฝีมือของชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาตั้งถิ่นฐานในสมัยรัชกาลที่ 3

2. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดบางทราย ตั้ง อยู่ในวัดบางทราย ตำบลวังน้ำคู้ อำเภอเมืองพิษณุโลก บ้านบางทรายเป็นชุมชนโบราณเก่าแก่ปรากฏชื่อในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีว่า เป็นที่ตั้งทัพริมแม่น้ำน่านแห่งหนึ่งของพระเจ้ากรุงธนบุรีคราวศึกอะแซหวุ่น กี้ พ.ศ.2318 ภายในวัดบางทรายยังมีพระพุทธรูปปูนปั้นเก่าแก่เหลืออยู่เป็นหลัก ฐาน ในอดีตเคยมีใบเสมาเก่าและเครื่องสังคโลกจำนวนมากแต่ถูกโจรกรรมไป ต่อมาจึงได้มีการจัดทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดบางทรายขึ้นเพื่อเก็บรักษาข้าว ของเครื่องใช้ที่เหลืออยู่โดยได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลตำบลบ้านใหม่เมื่อ ปี พ.ศ.2548 เป็นอาคารเรือนไทยสามหลังติดกัน ภายในจัดแสดงโบราณวัตถุต่างๆ ที่วัดเก็บรักษาไว้ เช่น เครื่องถ้วย พระพุทธรูป ตาลปัตร ถ้วยรางวัลที่ทางวัดได้รับในการแข่งเรือยาวประเพณี

3. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดสว่างอารมณ์ ตั้ง อยู่ในวัดสว่างอารมณ์ ตำบลท่าทอง อำเภอเมืองพิษณุโลก วัดสว่างอารมณ์เป็นวัดโบราณมีการพบซากโบสถ์ซึ่งเป็นโบราณสถานสมัยอยุธยาตอน ต้น ขณะนี้กำลังได้รับการบูรณะโดยชาวบ้านซึ่งมีการดัดแปลงเพื่อให้ใช้ประโยชน์ ได้ รอบโบสถ์มีใบเสมาหินทรายสมัยอยุธยาปักอยู่หลายใบ ภายในวัดมีการจัดทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านตามโครงการศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย สายใยชุมชนของกระทรวงวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเป็นอาคารสองชั้น ภายในจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิตของชาวบ้านในอดีตและ โบราณวัตถุที่วัดเก็บรักษาไว้ นอกจากนี้ยังมีอาคารจัดแสดงด้านนอกที่จำลองวิธีการทำนาและการเดินทางในอดีต ด้วย

4. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดกำแพงมณี ตั้ง อยู่บนศาลาการเปรียญหลังเก่า วัดกำแพงมณี (วัดกำแพงดินนอกเดิม)ตำบลโคกสลุด อำเภอบางกระทุ่ม ซึ่งมีการดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์ ภายในจัดแสดงคัมภีร์โบราณ อาวุธ ข้าวของเครื่องใช้และเครื่องมือประกอบอาชีพของชาวบ้านในอดีต ด้านนอกศาลายังมีการจัดแสดงเรือพื้นบ้าน เกวียน และวิธีการทอผ้าด้วย พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแห่งนี้เกิดขึ้นจากดำริของพระครูผาสุกิจวิจารณ์ เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ในภายหลังจึงได้รับการส่งเสริมตามโครงการศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมไทยสายใย ชุมชนของกระทรวงวัฒนธรรม

นอกจากนี้ที่ริมแม่น้ำน่านด้านหน้าวัด ยังมีศูนย์การเรียนรู้และห้องสมุดเรือ ซึ่ง เป็นเรือเอี้ยมจุ๊นที่พบจมอยู่ในแม่น้ำยมบริเวณบ้านกำแพงดินห่างจากวัดกำแพง มณีไปทางตะวันตกราว 2 กิโลเมตร ทางวัดจึงได้ให้ช่างไปชักลากขึ้นมาบูรณะแล้วดัดแปลงเป็นห้องสมุด เป็นห้องเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์และเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านการศึกษา ของชุมชน
 
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่กล่าวมานี้ ล้วนแล้วแต่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เกิดจากความร่วมมือกันของชุมชน ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา วัดและประชาชนที่ร่วมกันสืบค้นข้อมูลในท้องถิ่น เพื่อความสามัคคีและความภาคภูมิใจของท้องถิ่นเอง ไม่ว่าจะเป็นการทำประวัติท้องถิ่น ทำพิพิธภัณฑ์ ฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิม และสร้างแหล่งท่องเที่ยวภายในชุมชนที่พร้อมจะต้อนรับนักท่องเที่ยวและผู้มา เยือนด้วยความภาคภูมิใจ

นอกจากพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านทั้งสี่แห่งที่ผู้เขียนได้นำเสมอมาข้างต้นแล้ว ยังมีอีกหลายชุมชนที่กำลังพยายามจัดทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านขึ้นมา เพื่อเป็นศูนย์กลางแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชน ตนเอง เช่น การโครงการจัดทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดไผ่ขอน้ำ โครงการจัดทำพิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาวัดตาปะขาวหาย โครงการจัดทำพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์บ้านปากพิงและโครงการจัดทำพิพิธภัณฑ์ พื้นบ้านวัดโพธิญาณ ซึ่งวัดทุกแห่งล้วนแล้วแต่เป็นวัดประจำชุมชนริมแม่น้ำน่านในเขตจังหวัด พิษณุโลกทั้งสิ้น

ตลอดสายน้ำน่านที่ไหลผ่านจังหวัดพิษณุโลก จะเห็นได้ว่ามีแหล่งทรัพยากรทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรมต่างๆ มากมายที่สามารถบูรณาการเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนริมน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโบราณสถาน การจัดทำพิพิธภัณฑ์ การสืบค้นข้อมูลท้องถิ่น ซึ่งสิ่งที่ชุมชนเหล่านี้กำลังจะดำเนินการก็คือ การส่งเสริมให้เยาวชนเข้ามามีบทบาทในการเป็นอาสาสมัครยุวมัคคุเทศก์ประจำ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน โดยความร่วมมือกันระหว่างชุมชนกับกลุ่มประวัติศาสตร์สองข้างทาง ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งมีรองศาสตราจารย์ ดร.จิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะ แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นประธานที่ปรึกษาในการจัดกิจกรรมต่างๆ กับชุมชน เพื่อให้เยาวชนรุ่นหลังเกิดความรักและภาคภูมิใจในท้องถิ่น ทั้งนี้ก็เพราะว่า ชุมชนริมแม่น้ำน่านทั้งหมดต่างก็ตระหนักดีว่าการพัฒนาคนนั้นสำคัญกว่าการ พัฒนาสิ่งใด

*นัก ศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และที่ปรึกษากลุ่มประวัติศาสตร์สองข้างทาง ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร.
วันที่เผยแพร่ครั้งแรก: 29 ธันวาคม 2554
วันที่แก้ไข: 22 มีนาคม 2556