นิทรรศการที่บอกเล่าด้วยตนเอง ประวัติศาสตร์คำบอกเล่าและพิพิธภัณฑ์

พิพิธภัณฑ์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการสะสมและนำเสนอคำพยานของบุคคลมากว่า20 ปี และพิพิธภัณฑ์บางแห่งได้วางนโยบายการจัดเก็บและกลยุทธ์นิทรรศการแห่งประวัติศาสตร์คำบอกเล่าอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวัตถุจัดแสดงนั้นขาดไปหรือเมื่อต้องการสร้างภาพที่ยุติธรรมในประวัติศาสตร์ของสาธารณชน ที่มักถูกบิดพลิ้วไปด้วยเรื่องของการก่อการร้ายและการกดดันจากรัฐ เรื่องราวในบทความนี้เกี่ยวข้องกับนิทรรศการที่มาจากการทำงานของชุมชน และจะแสดงให้เห็นอย่างกระชับและชัดเจนถึงผลกระทบของประวัติศาสตร์คำบอกเล่า

Anna Green เป็นหัวหน้าสำนักสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีโอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ ผู้เขียนเคยเสนอบทความนี้ในงานประชุมสมาคมประวัติศาสตร์คำบอกเล่า สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนตุลาคม 1996 และเคยตีพิมพ์ในวารสาร Oral History Review, Winter 1997, vol. 24, no. 2, pp. 53-72.
 
เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะสร้างนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ด้วยเสียงและการเล่าเรื่อง? นี่เป็นคำถามที่เราเผชิญในช่วงต้นปี 1995 ภายหลังจากที่โครงการขนาดใหญ่ว่าด้วยประวัติศาสตร์คำบอกเล่าของชุมชนที่ชุมทางรถไฟแฟรงก์ตัน (Frankton Junction) ประเทศนิวซีแลนด์เสร็จสิ้นลง ตลอดเวลากว่าสิบแปดเดือนก่อนหน้านั้น นักศึกษาของผู้เขียนในชั้นเรียนประวัติศาสตร์ระดับบัณฑิตศึกษาได้บันทึก เรื่องราวของชายและหญิงกว่าสองร้อยชีวิต ผู้เคยอาศัยและทำงานในชุมชนทางรถไฟ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นชุมชนรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในนิวซีแลนด์ นอกเหนือไปจากการสัมภาษณ์ เรายังได้รับอนุญาตให้ยืมและสำเนารูปถ่ายที่แสดงให้เห็นชีวิตประจำวันจาก อัลบั้มรูปถ่ายของครอบครัว แม้ว่ากลุ่มแรงงานสร้างทางรถไฟจะค่อยๆ แยกย้ายกันไปในหลายทศวรรษที่ผ่านไป แต่โครงการกลับได้รับการตอบรับอย่างท่วมท้น และเมื่อนำคำพยานกับภาพถ่ายมาเรียงร้อยเข้าด้วยกัน เรื่องราวชีวิตชนชั้นแรงงานของชุมชนทางรถไฟในช่วงทศวรรษที่ 1920 ถึง 1970 ก็ กลับมาได้อย่างสมบูรณ์ ทุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมและมรดกของคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลนิวซีแลนด์ ทำให้เรื่องราวของชุมชนกลับมาอีกครั้งในรูปของนิทรรศการ
 
ตามที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงการนิทรรศการจากประวัติศาสตร์คำบอกเล่า แต่ไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานในพิพิธภัณฑ์มาก่อน ผู้เขียนเริ่มต้นวิจัยด้วยกลุ่มทำงานเล็กๆ ที่ประกอบด้วยนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา เราเริ่มต้นด้วยการสำรวจวารสารและคู่มือต่างๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์สังคมในพิพิธภัณฑ์ มีนิทรรศการสักกี่มากน้อยที่ก่อร่างสร้างขึ้นจากคำพยานที่เป็นเสียงโดยตรง ไม่ใช่การถอดความจากเสียง? แต่เราไม่พบข้อมูลใดเลยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ความคิดเห็นของ Stuart Davie เมื่อปี 1994 ที่ว่า ‘ในพิพิธภัณฑ์ ประวัติศาสตร์คำบอกเล่ามีสถานภาพที่คลุมเครือ อึดอัด และเปราะบาง’ ดูจะเป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริงนัก1 ตัวอย่าง เช่น หนังสือคู่มือสำหรับวิชาชีพพิพิธภัณฑ์ที่มักอ้างอิงงานเขียนจากอังกฤษและ นิวซีแลนด์ ส่วนมากจะมีเนื้อหาเพียงสั้นๆ ในส่วนที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์คำบอกเล่า และสองในสามของเนื้อหาส่วนนี้กลับกล่าวถึงธรรมชาติของความทรงจำที่บกพร่อง และไม่น่าเชื่อถือ และท้ายที่สุดคู่มือมักสรุปว่า ประวัติศาสตร์คำบอกเล่ามีคุณค่าที่จำกัด และควรที่จะได้รับการนำเสนอโดยกำหนดเนื้อหาอย่างเข้มงวดในพื้นที่ “ห้องสมุด” ที่แยกเฉพาะ2
 
บทความต่างๆ ในวารสารแสดงให้เห็นว่าภัณฑารักษ์ในพิพิธภัณฑ์ที่ทำงานเกี่ยวกับประวัติ ศาสตร์สังคมใช้ประวัติศาสตร์คำบอกเล่าอย่างมากที่สุดก็เพียงในฐานะที่เป็น ข้อมูลเพิ่มเติมให้กับวัตถุพิพิธภัณฑ์‘สภาพการณ์ของประวัติศาสตร์ที่ปราศจากวัตถุนั้น อาจเป็นและยังคงเป็นสิ่งอื่น…วัตถุสร้างพิพิธภัณฑ์’ ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งได้เขียนไว้เช่นนั้นเมื่อปี 19933 บทบาทของวัตถุในการกระตุ้นความหวนคำนึงของผู้ชมส่วนใหญ่ได้รับความชื่นชม4 แต่ เมื่อประวัติศาสตร์คำบอกเล่าถูกนำไปใช้ในนิทรรศการ ถ้อยคำที่มาจากคำพูดมักได้รับการถ่ายทอดในรูปของบทเขียนบนผนัง และยังผลให้คำพูดสูญเสียความซับซ้อนในมิติต่างๆ รวมถึงความมีชีวิตชีวาของการบอกเล่า ในอีกหลายวาระมีการใช้ประวัติศาสตร์คำบอกเล่าด้วยเสียงจากการสัมภาษณ์ ในนิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตสังคมและการทำงาน แต่เสียงกลับถูกกดทับด้วยสิ่งจัดแสดงจำนวนมากๆ แล้วกลายเป็นเสียงจอแจอยู่เบื้องหลัง สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เสริมสถานภาพของประวัติศาสตร์คำบอกเล่า และไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของความทรงจำในฐานะตัวเชื่อมอดีตและ ปัจจุบันอย่างมีชีวิตชีวา ความทรงจำไม่ใช่เขม่าติดก้นหม้อหรือเศษเสี้ยวของอดีตที่ตายไปนานแล้ว อย่างที่ Michael Frisch ได้ แนะนำไว้ว่า เราต้องการ ‘ดึงให้ผู้คนเข้ามามีส่วนในการตรวจสอบว่าสิ่งใดที่มีความหมายต่อการจดจำ และสิ่งใดที่จะเสริมให้ความทรงจำนั้นมีชีวิตและยังดำรงชีวิตอยู่ ซึ่งเป็นสภาวะที่ตรงข้ามกับวัตถุสะสม’5
 
เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ความทรงจำจักต้องเป็นแก่นแกนของนิทรรศการ ทีมงานนิทรรศการแฟรงก์ตันตัดสินใจใช้คำพยานในฐานะทรัพยากรคำบอกเล่า หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง เสียงและการฟังต้องมีบทบาทนำหน้าสายตาและการมอง เราเห็นพ้องต้องกันว่าการจัดแสดงที่ประกอบด้วยรายละเอียดมากๆ จะทำให้ผู้ชมไม่สนใจฟังคำพยาน นอกจากนี้ เราไม่ต้องการให้วัตถุที่ตกทอดหรือภาพถ่าย มากำหนดทิศทางและเนื้อหาของนิทรรศการ คำพยานเน้นถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนทั้งที่บ้านและที่ทำงาน เพื่อวาดให้เห็นประสบการณ์ของผู้คนโดยรวม ในทางตรงข้าม ภาพถ่ายมักบันทึกโอกาสพิเศษหรือความสุขสันต์ของครอบครัว การทำงานของเพศชายหรือวัฒนธรรมกีฬา มีภาพเพียงชุดเดียวที่ช่างภาพมืออาชีพถ่ายภรรยาของตนเอง ได้บันทึกประสบการณ์ของผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว ซึ่งสัมพันธ์กับงานบ้าน ภาพถ่ายจึงมีลักษณะตรงข้ามกับพลังของความทรงจำจากคำบอกเล่า ในขณะที่มีภาพเด็กๆ กำลังเล่น เรากลับไม่เห็นภาพของการลงโทษ หรือ “การแซว” ระหว่างการเดินทางไปโรงเรียนของกลุ่มนักเรียนที่นับถือคาทอลิกและโปรแตส เตนท์ ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ ประเด็นต่างๆ ในนิทรรศการจึงมาจากคำบอกเล่า และมีคำอธิบายสั้นๆ ในคู่มือนำชมนิทรรศการ ที่ช่วยเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่ได้ยินกับสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ทางสายตา ในแต่ละส่วนของการจัดแสดง
 
นิทรรศการประวัติศาสตร์คำบอกเล่า

นิทรรศการเป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มทำงานของพิพิธภัณฑ์ศิลปะและประวัติศาสตร์ไวกาโต(Waikato Museum of Art and History) การออกแบบ ภาพถ่าย และเทคนิคต่างๆ ของพวกเขาเป็นสิ่งที่ประเมินค่ามิได6 ผู้ เขียนขอขอบคุณนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษากลุ่มหนึ่งในการจัดทำนิทรรศการร่วมกับผู้เขียน บทบาทของพวกเขาในการทำงานของแต่ละคนและของกลุ่มต่อโครงการนั้นเป็นสิ่งที่มี ค่ายิ่ง7
ลักษณะของพื้นที่นิทรรศการ และการจัดแบ่งส่วนนิทรรศการต่างๆ ออกเป็น5 ส่วน ได้กำหนดแผนการดำเนินงานท้ายสุด ดังแสดงไว้ในแผนภาพที่ 1



 
ปัญหาเชิงเทคนิค

ปัญหา หลักเชิงเทคนิคที่เราต้องเผชิญคือ การทำให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงและได้ยินประวัติศาสตร์คำบอกเล่า ในขณะที่เสียงจะต้องไม่เล็ดลอดไปรบกวนบรรยากาศโดยรวมของนิทรรศการ และเราก็ไม่ต้องการให้อุปกรณ์อื่นใด เช่น หูฟัง มาขวางกั้นระหว่างผู้ชมและประวัติศาสตร์คำบอกเล่า ยิ่งกว่านั้น ผู้ชมควรรู้สึกผ่อนคลายในขณะฟัง เงื่อนไขที่กล่าวมานี้กำหนดให้นิทรรศการต้องมีพื้นที่สำหรับนั่ง เราโชคดีที่มีโอกาสยืมที่นั่งในรถไฟเก่าสีแดงจากสมาคมการรถไฟและรถจักรแห่ง นิวซีแลนด์ สาขาไวกาโต ซึ่งในขณะนั้น ที่นั่งถูกเคลื่อนย้ายเป็นการชั่วคราวจากตู้รถไฟเพื่อการซ่อมแซม เราได้ติดตั้งเครื่องเล่นซีดีไว้ใต้ที่นั่งแต่ละตัว เรื่องราวคำบอกเล่าได้รับการถ่ายทอดผ่านลำโพงที่มีเครื่องขยายเสียงภายใน เสียงจะดังในระดับของหูจากด้านหลังพนักที่นั่ง การวางตำแหน่งของลำโพงไว้ในบริเวณดังกล่าวช่วยลดระดับเสียงให้พอดีกับการฟัง อย่างสบายๆ และเสียงจะไม่ไปรบกวนส่วนอื่นของนิทรรศการ เพื่อเน้นเสียงบอกเล่า การจัดแสงจึงอยู่ในระดับจำกัด ผนังทาสีเขียวเข้ม และมีเพียงดวงไฟส่องเฉพาะจุดที่นั่งรถไฟและภาพถ่ายที่รายล้อม
 
เป้าหมายของนิทรรศการ

เราเริ่มจากเป้าหมายสามประการสำหรับการทำนิทรรศการประวัติศาสตร์คำบอกเล่า

  • เพื่อนำเสนอคำพยานให้หลากหลายมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
  • เพื่อผลักดันให้ผู้ชมย้อนกลับไประลึกถึงความทรงจำของตนเอง
  • เพื่อให้ผู้ชมบอกกล่าวถึงปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นและความทรงจำของตนเอง
แต่ การที่จะไปถึงเป้าหมายเหล่านี้ได้ ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ รวมถึงหลักเกณฑ์ในการคัดเลือก การตัดต่อ และการจัดวางลำดับ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในระหว่างการทำงานกับคำบอกเล่าที่บันทึกในแถบบันทึก เสียง และจากคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ภัณฑารักษ์ เราได้ตกลงร่วมกันว่านิทรรศการควรใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงในการเยี่ยมชม นิทรรศการแต่ละส่วนจึงควรมีเสียงคำบอกเล่ายาวไม่เกินสิบนาที โดยสรุปแล้วเราต้องคัดเลือกประวัติศาสตร์คำบอกเล่าให้เหลือเพียงหกสิบนาที จากปริมาณคำสัมภาษณ์มากกว่าสามร้อยชั่วโมง! สำหรับ สี่ส่วนแรกของนิทรรศการที่ว่าด้วยเรื่องเด็ก วัยรุ่น ผู้หญิง ผู้ชาย เราตัดสินใจวางกรอบของเนื้อหาให้อยู่ในสามประเด็นกว้างๆ คือ ชีวิตครอบครัว การทำงาน และการพักผ่อน ด้วยเงื่อนไขเวลาเพียงสิบนาทีของเสียงในแต่ละส่วน จึงมีการอ้างอิงคำพูดเพียง 2 – 3 ชุด ในแต่ละหัวข้อ ตัวอย่างเช่นในส่วนที่ว่าด้วยเรื่องเด็ก ประกอบด้วยคำพูดจากคำบอกเล่าชุดย่อยยี่สิบชุด นั่นหมายถึงการได้ฟังเพียงครึ่งนาทีในแต่ละชุด
 
การคัดเลือก

ความต้องการนำเสนอประสบการณ์จากประวัติศาสตร์คำบอกเล่าที่หลากหลายเป็นข้อปัญหา ใหญ่หลวงตั้งแต่เริ่มแรก ในเบื้องต้นเรากำหนดว่าจะรวบรวมประสบการณ์ตรงให้ได้มากที่สุด เงื่อนไขนี้จำกัดวงของข้อมูลให้แคบลงมาที่ประเภทของข้อมูลที่จัดการได้ คุณภาพของเสียงทำให้เราสามารถเลือกใช้เฉพาะแถบบันทึกเสียงบางส่วน และคุณภาพเสียงกลับเล่นบทบาทสำคัญในการคัดเลือกมากกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ เรายังพบด้วยว่าเสียงรบกวนจากภายนอกทำให้เรื่องราวจากการบันทึกบางส่วนไม่ สามารถนำมาใช้ได้ในนิทรรศการ เป็นต้นว่าเสียงหอบของสุนัข เสียงตีบอกเวลาของนาฬิกา และเสียงแทรกอื่นๆ ของผู้ให้สัมภาษณ์
 
แต่เรายังมีเรื่องราวอีกจำนวนมากพอที่จะนำมาใช้ในนิทรรศการ เรากำหนดเกณฑ์การเลือกเรื่องเล่าออกเป็นสองประเภท เกณฑ์แรกคือความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมในการจัดแสดงหรือนิทรรศการ และเป็นเนื้อหาที่ดึงดูดความสนใจของผู้คน เราพยายามเลือกเนื้อหาที่อยู่ในความสนใจของผู้เข้าเยี่ยมชม ด้วยเหตุนี้ เราจึงลงความเห็นร่วมกันในการใช้ประเด็นกว้างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ชีวิตครอบครัว และกิจกรรมการละเล่น/ ชุมชน เป็นแกนหลักของเนื้อหาในสี่ส่วนแรกของนิทรรศการ อย่างไรก็ดี เราต้องยอมรับว่ามีแง่มุมอื่นที่แตกต่างจากสิ่งที่เราเลือก การคัดเลือกเรื่องราวที่นำเสนอเหล่านี้มุ่งหมายให้เกิดความสัมพันธ์กับกลุ่ม ผู้เยี่ยมชมในปัจจุบันมากที่สุด นั่นคือเรื่องเล่าที่มีชีวิตชีวา ที่แสดงอารมณ์และความรู้สึก
 
เกณฑ์ ที่สองของการเลือกเนื้อหาขึ้นอยู่กับน้ำหนักของหลักฐานเรื่องราวคำบอกเล่า เราตัดสินใจที่จะใช้เนื้อหาที่สามารถเป็นตัวแทนโดยรวมได้ เนื้อหาและมุมมองจากคำพยานได้รับการคัดเลือก(เชื่อมโยงด้วยการใช้คำบรรยายน้อยที่สุดที่ช่วยให้หัวข้อแต่ละประเด็นเกี่ยวเนื่องกันอย่างราบรื่น) แต่ การคัดเลือกแบบนี้ก็อาจเป็นที่กังขาได้ในโลกหลังสมัยใหม่ อย่างไรก็ตาม การทำงานเช่นนี้มีข้อดีอยู่ไม่น้อย ตัวเลือกของเรื่องราวที่จะเป็นภาพตัวแทนเสริมแกนหลักของนิทรรศการได้ดีขึ้น ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ ในส่วนนิทรรศการวัยเด็ก การสัมภาษณ์เกือบทุกชุดจะกล่าวถึงการลงโทษทางร่างกายอย่างรุนแรง ไม่ที่โรงเรียนก็ที่บ้าน เนื้อหาเหล่านี้สะเทือนใจลึกซึ้ง และบ่งชี้ให้เห็นประสบการณ์ของความรุนแรงทางร่างกายที่เป็นความทุกข์ที่ฝัง ใจลึกไปชั่วชีวิต
 
แต่ก่อนผู้คนมักลงโทษทุบตีลูกๆ ของตนเอง ฉันหมายถึง...พระเจ้าช่วย...แม่ของฉันตีฉันจนได้เลือดและชีวิตของฉันเหมือนตกนรกทั้งเป็น ฉันหมายถึงอย่างนั้นจริงๆ... เพียงเพราะฉันไปเซ้าซี้กวนใจท่าน คุณก็คงรู้ แต่นั่นแหละคือสิ่งที่เกิดขึ้น8
ฉันคิดว่าฉันเป็นคนหนึ่งที่ต้องคอยหาที่ซ่อน เพียงเพราะฉันเคยเถียงย้อนเขากลับไป...ฉันจำได้ว่าครั้งหนึ่งเมื่อฉันเล่นอยู่บนถนนที่เคยเล่นอยู่เป็นประจำในเลคโรด (Lake Road) ที่ อยู่ไม่ไกลบ้านเท่าไหร่ พอกลับมาบ้าน ตอนนั้นก็มืดแล้วละ พ่อเอ็ดตะโรฉันใหญ่เลย “เร็วๆ เข้า” ฉันก็ตอบกลับไปว่า “ก็มาแล้วนี่ไง” เมื่อฉันมาถึงประตูหลังบ้าน เขาก็รออยู่หลังประตู แล้วก็กระแทกบานประตูใส่ฉัน ฉันช้ำไปหมดทั้งตัวเลย9
 
ข้อด้อยของการเลือกเรื่องราวที่เป็นภาพตัวแทนอยู่ที่ว่าอาจกลายเป็นการสร้างภาพ ประสบการณ์ที่ตายตัว ประเด็นนี้เป็นข้อถกเถียงอย่างมากในส่วนที่ว่าด้วยผู้หญิง ซึ่งเนื้อหาที่พูดถึงงานบ้านและความเป็นแม่กลบประเด็นอื่นๆ ไปหมดGaby Porter เตือนเราได้อย่างถูกต้องเกี่ยวกับข้อเสี่ยงที่จะนำเสนอภาพแคบๆ ของผู้หญิงเฉพาะในครัวเรือน10 อัน ที่จริงนั้น เราไม่ต้องการที่จะย้ำความเชื่อเดิมๆ ที่ว่าสถานที่ของผู้หญิงที่แต่งงานแล้วก็มีเพียงบ้าน แต่เราก็ต้องรักษาความสัตย์ตรงต่อข้อมูลประสบการณ์ที่กล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่า จากคำบอกเล่า ซึ่งพรรณนาถึงงานหนักแรงเกี่ยวกับการดูแลบ้านและครอบครัวที่มีเด็กๆ ห้าถึงหกคน ก่อนที่จะเริ่มมีการได้ครอบครองตู้เย็น เตาแก๊สหรือเตาไฟฟ้า และเครื่องซักผ้า เรื่องราวเช่นนี้เป็นกิจกรรมเศรษฐกิจของครัวเรือนที่ขาดเสียมิได้ของกลุ่ม ผู้หญิงชนชั้นแรงงานที่ต้องหลอมทองแดงและซักล้างทุกอย่างด้วยมือ รวมทั้งงานขัดถูพื้นและทำอาหารด้วยเตาฟืนหรือเตาถ่านในยามวิกาลสำหรับสมาชิก ในครัวเรือน ล้วนเป็นงานบ้านที่ต้องใช้ทั้งเวลาและแรงกาย นี่คือสภาพที่เกิดขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ผ่านมา11 และเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับงานบ้านในสังคมร่วมสมัย คำบอกเล่าเช่นนี้ท้าทายให้เกิดการเปรียบเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน
 
การตัดต่อ

การตัดต่อคำพยานต่างๆ จากแถบบันทึกเสียงเพื่อนำไปใช้ในนิทรรศการ เข้าไปสัมพันธ์กับเรื่องที่ต้องพิจารณาทั้งเชิงเทคนิคและเชิงจริยธรรม เราโชคดีที่ได้ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์Pro-Tools ในการตัดต่อบันทึกคำสัมภาษณ์ แต่กระบวนการนี้ใช้เวลามากและค่าใช้จ่ายสูงมากกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ เราใช้เวลาประมาณ 5 วัน ในการแปลงสัญญาณจากระบบอนาล็อกไปเป็นดิจิตอล และจะต้องตัดต่อคำสัมภาษณ์ทุกชุด ทั้งๆ ที่งบประมาณมีให้เพียง 5 ชั่วโมง การสัมภาษณ์ดำเนินไปภายในบ้านของผู้ให้สัมภาษณ์ โดยทั่วไปแล้วคุณภาพของเสียงใช้ได้ทีเดียว แต่ระดับเสียงของผู้ให้สัมภาษณ์แต่ละคนแตกต่างกันมาก เราจึงพยายามทำให้เสียงมีระดับใกล้เคียงกัน เพื่อให้ผู้ฟังนิทรรศการไม่ลำบากมากนักในการฟังเสียงดังและค่อย แต่ทำได้ในระดับที่จำกัดเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นจะต้องตัดเสียงแทรกบางอย่างออกไป เสียงหัวเราะที่ดังหนวกหูและเสียงรบกวนอื่นๆ โดยระวังไม่ไปก้าวก่ายกับเสียงของผู้ให้สัมภาษณ์ ในขณะเดียวกันเราได้ขอให้นักศึกษาจำกัดการแสดงออกในการโต้ตอบกับผู้ให้ สัมภาษณ์ (หัวเราะ ผงกศีรษะ) แต่ บางคนไม่ได้ระวังในเรื่องนี้ นอกจากนี้ มีนักศึกษาบางคนร่วมสนทนาอย่างถึงอกถึงใจ ทั้งการแสดงอารมณ์และความสนใจร่วม ซึ่งเป็นการสร้างบรรยากาศการบอกเล่าเรื่องราวที่มีชีวิตชีวามากขึ้น ดังนั้น แม้เรื่องเล่าจะผ่านการตัดต่อมากมาย แต่กลายเป็นแก่นแกนหลักของนิทรรศการได้ในที่สุด

ขณะที่เราต้องใช้เสียงบันทึกในการจัดแสดง เราก็จำเป็นต้องคำนึงถึงการปกป้องความเป็นจริงส่วนบุคคลของความทรงจำของผู้ คน สิ่งสำคัญคือการไม่บิดเบือนความตั้งใจต่างๆ ของผู้ให้สัมภาษณ์และไม่ทำให้คำพยานผิดเพี้ยนไป การตัดต่อคำสัมภาษณ์เพื่อนำมาจัดแสดงกลายเป็นเรื่องของการสร้างความสมดุลย์ ระหว่างคำสัมภาษณ์ที่สั้น แต่สร้างความรู้สึกหรือส่งผลกระทบทางอารมณ์บางอย่าง กับความตั้งใจของผู้เล่าที่ต้องการอธิบายหรือสร้างข้อสรุปที่คลุมเครือของ เรื่องราวเหล่านั้น ตัวอย่างที่จะแสดงต่อไปนี้สะท้อนความคลุมเครือดังกล่าว คำพยานนี้เป็นส่วนหนึ่งของส่วนจัดแสดงเรื่องของผู้ชายMatt Andrew แสดงให้เห็นว่าแม้ผู้คนจำนวนหนึ่งจะยกย่องสรรเสริญวัฒนธรรมการทำงานของเพศชาย ขณะเดียวกันก็มีคนไม่ได้เห็นเป็นอย่างนั้นเสียทีเดียว
 
แต่อีกนั่นแหละ มันถูกรวมเข้าไปในงานที่คุณทำอยู่ และขณะเดียวกัน ก็บอกถึงความโดดเดี่ยวของคุณในครอบครัว ในคืนหนึ่ง ผมนั่งทำเอกสารบางอย่างในห้องนั่งเล่น และได้ยินเสียงคุยดังมาจากห้องครัว ทั้งลูกชายลูกสาวและภรรยาของผม และผมได้ยินเรื่องราวอย่างชัดเจน ผมคิดว่าในขณะนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อมาน่าจะเป็นว่า เดี๋ยวต้องคุยกับพ่อด้วย แต่แล้วการพูดคุยถกเถียงก็ยังคงดำเนินต่อไปและลงเอยไปในที่สุด ทั้งๆ ที่ผมเองยังคงนั่งอยู่ตรงนั้น ผมตระหนักขึ้นมาทันทีว่าผมได้กลายเป็นส่วนเกินของครอบครัวไปแล้ว ผมไม่มีโอกาสเข้าร่วมตัดสินใจใดๆ อีกต่อไป ผมจะไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องในโอกาสเช่นนั้นอีกต่อไป
 
การตัดต่อคำสัมภาษณ์ในครั้งแรกจบลงตรงนี้ และเนื้อความของเรื่องราวก็ชัดเจน อย่างไรก็ตามผู้ให้สัมภาษณ์ได้กล่าวต่อว่าบางคนอาจไม่คิดอะไรกับเรื่องที่เกิดขึ้น แต่สิ่งนั้นกลับกวนใจผมจนกระทั่งผมตัดสินใจที่จะลาออก ผมจะไม่รอจนกระทั่งถึงการเลือกตั้งที่ปรึกษาระดับประเทศครั้งต่อไป12
 
ส่วนท้ายของคำพยานอาจทำให้ไขว้เขวไปจากผลกระทบของเรื่อง แต่ก็ทำให้เข้าใจได้ว่าเหตุใดผู้เล่าจึงเลือกกล่าวถึงประสบการณ์นี้โดยเฉพาะ เจาะจง เขาตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งในสหพันธ์การรถไฟ เนื้อหาที่เพิ่มเข้าไปตรงนี้ส่งผลให้ผู้ฟังเข้าใจจุดประสงค์ของการบอกเล่า ซึ่งบ่อยครั้งเป็นการย้ำทวนเรื่องราวในอดีต
 
การจัดลำดับ

การจัดลำดับบันทึกคำสัมภาษณ์แสดงถึงอิทธิพลการทำงานของภัณฑารักษ์ต่อการใช้ ประวัติศาสตร์คำบอกเล่าในอีกแง่มุมหนึ่ง การจัดลำดับนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะในส่วนสุดท้ายของนิทรรศการ – เรื่องเล่าและตำนาน – ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างมิติเชิงจินตนาการและอารมณ์ร่วมให้กับความทรงจำ หนึ่งในตำนานเกี่ยวข้องกับพายุทอร์นาโดในปี 1948 พายุครั้ง นั้นก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง รวมถึงคนตายจำนวนสามคน เหตุการณ์ดังกล่าวยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้คน เรื่องราวเหล่านั้นผสมปนเประหว่างประสบการณ์ตรง สิ่งที่ได้ยินมา และจินตนาการ Jane Moodie ปรารถนา จะแสดงให้เห็นตำนานของชุมชนที่วิวัฒนาการไปตามช่วงเวลา ผ่านรายละเอียดเกี่ยวกับทอร์นาโดที่มีทั้งการเล่าซ้ำย้ำทวน ประกอบด้วยอารมณ์ขันและเนื้อหาที่ขยายเกินจริง จากเรื่องราวที่มีอยู่มากมาย เธอเลือกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการจากเรื่องเล่าธรรมดาไปสู่เรื่อง ราวที่ผสมจินตนาการ
 
เมื่อทอร์นาโดถล่ม เราตกอยู่ท่ามกลางพายุ หลังคาบ้านทั้งหลัง แม้แต่เพดานก็หลุดล่อนไปด้วย บ้านกลับปกคลุมไปด้วยเถ้าถ่านรถไฟหนาสี่ถึงห้านิ้ว แล้วฝนตกอย่างหนักตามมาเมื่อทอร์นาโดผ่านไป ฝนได้ชะล้างเถ้าถ่านที่หนาและสกปรกลงมาที่ผนังและเปรอะไปทั่วบ้าน ช่างไม่น่าเชื่อเลยจริงๆ13
แต่คุณนายฮิลลงไปที่ถนน พวกเขามีราวเสื้อผ้าที่ม้วนได้ และสามีของเธอเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยทางรถไฟในขณะนั้น เธอได้ยินเสียงที่น่าสะพรึงกลัว เธอวิ่งออกไปข้างนอก และเห็น ราวเสื้อยาวกว่า50 ฟุต ลอยไปในอากาศ แล้วก็หมุนคว้างกลางอากาศ หมุนแล้วหมุนอีก เธอมีชุดฟอร์มการรถไฟติดไปกับราวตากเสื้อนั้น มันหมุนแล้วหมุนเล่า ชุดเหล่านั้นยืดตรงแน่วเลย14
ใช่แล้ว ฉันอยู่ที่นั่น ตรงนั้น เรากำลังเล่นอยู่ที่สวนเซดดอน และเราลงไปที่แฟรงก์ตัน และมองดูบ้านที่ตั้งอยู่ใกล้ทางรถไฟตรงที่ตัดกับถนนเลค ทั้งน้องสาวและฉัน เราเห็นบ้านที่ถูกยกขึ้นมาลอยข้ามทางรถไฟ ทั้งๆ ที่คนยังนั่งดื่มชาอยู่ที่โต๊ะ15
 
ปฏิกิริยา

ในท้ายที่สุด เราหวังว่านิทรรศการทั้งชุดจะผลักดันให้ผู้ชมสะท้อนชีวิตและความทรงจำของตน เอง และเปรียบเทียบกับประสบการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เรายังสงสัยอยู่เสมอว่าคนรุ่นใหม่จะเปรียบเทียบประสบการณ์ของพวกเขากับความ ทรงจำของคนรุ่นก่อนๆ หรือไม่ รวมทั้งบัญญัติทางศาสนาที่เกี่ยวกับครอบครัวและชีวิตการทำงาน การเก็บข้อมูลเกี่ยวกับงานที่ต้องโยกย้ายเปลี่ยนที่ในยุคนี้มีส่วนที่คล้าย คลึงกับสถานการณ์ในอดีต นั่นคือ เพศชายมีบทบาทสำคัญในชีวิตครอบครัว คำถามทำนองนี้จะปรากฏอยู่ในคู่มือนำชมนิทรรศการ ซึ่งประกอบด้วยบทสรุปย่อของการจัดแสดงแต่ละส่วน พร้อมด้วยคำถามที่มุ่งหมายให้ผู้ชมได้คิดเปรียบเทียบกับประสบการณ์ของตนเอง ตัวอย่างเช่นในส่วนจัดแสดงเรื่องของผู้ชาย
 
งานที่ต้องเข้าเป็นกะส่งอิทธิพลต่อประสบการณ์ในชีวิตประจำวันของผู้ชายที่เคยทำ งานกับการรถไฟนิวซีแลนด์ ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานและไม่สม่ำเสมอส่งผลต่อชีวิตครอบครัวของพวกเขา อย่างไรก็ตาม การทำงานกับการรถไฟยังคงเป็นสิ่งพึงปรารถนา เพราะความมั่นคงในการจ้างงานและโอกาสความก้าวหน้าในการทำงาน ระดับชั้นงานที่จัดตามทักษะความสามารถทำให้เกิดการแบ่งกลุ่มคนทำงาน ขณะเดียวกันความเป็นสหายสนิทมิตรรักระหว่างเพื่อนร่วมงานยังดำรงอยู่เหนียว แน่น
 
o    คุณจะให้นิยามบทบาทของสามีและพ่ออย่างไรในทุกวันนี้? บทบาทเหล่านั้นแตกต่างไปจากความทรงจำที่ปรากฏ ณ ที่นี้หรือไม่
o    ชั่วโมงการทำงานที่ไม่สม่ำเสมอส่งผลต่อครอบครัวอย่างไร?
เราคิดถึงคำถามที่จะกระตุ้นให้คนแสดงความคิดเห็นต่อนิทรรศการ แต่ด้วยข้อจำกัดต่างๆ เราจึงไม่สามารถบันทึกเรื่องราวคำบอกเล่าในพิพิธภัณฑ์ ดังนั้นเราจึงเลือกใช้สมุดสำหรับแสดงความคิดเห็นวางไว้ที่ส่วนสุดท้ายของ นิทรรศการ
 
สมุดได้บันทึกทั้งความคิดเห็นและความทรงจำจากหน้าต่อหน้า จากผู้ชมรุ่นใหญ่สู่ผู้ชมวัยเยาว์ ความเห็นที่ปรากฏในสมุดไม่ได้ตอบคำถามที่เกริ่นไว้ในแต่ช่วงนิทรรศการ ตรงนี้อาจจะเป็นบทเรียนให้กับภัณฑารักษ์ที่มองทุกอย่างเป็นการถาม-ตอบ ข้อความในสมุดมักเริ่มต้นด้วย “ฉันจำได้ว่า” ซึ่งบอกเป็นนัยว่านิทรรศการได้กระตุ้นให้ผู้ชมสะท้อนความทรงจำของตนเองหรือ ความทรงจำของของพ่อแม่หรือปู่ย่าตายาย ผู้ชมบางคนอธิบายถึงเนื้อหาที่สังเกตได้มาจากพื้นที่นิทรรศการ ความทรงจำร่วมกันระหว่างชายและหญิง หรือการนั่งฟังคำบอกเล่าบนที่นั่งรถไฟและได้ฟังคำบอกเล่าจากด้านเดียว บางคนเห็นว่านิทรรศการกระทบอารมณ์ได้อย่างลึกซึ้ง อย่างที่ผู้ชมคนหนึ่งได้เขียนประโยคง่ายๆ “ฉันร้องไห้ ความทรงจำของความรู้สึก” ในหน้าสมุดบันทึกมีความเห็นเพียงน้อยนิดเท่านั้นที่กล่าวถึงความรู้สึกอึด อัดของการไม่มีวัตถุจัดแสดง ในขณะที่มีความเห็นอีกมากมายที่ยินดีต่อการจัดนิทรรศการด้วยวิธีการดังกล่าว “เรื่องราวจริงๆ ดีใจที่ได้ฟังผู้คนบอกเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขาด้วยตัวของเขาเอง” และ “นิทรรศการน่าสนใจอย่างมหัศจรรย์ ควรจะทำเรื่องราวประวัติศาสตร์คำบอกเล่าอย่างนี้ ให้มากขึ้นอีก”
 
บทสรุป

เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะสร้างนิทรรศการจากประวัติศาสตร์คำบอกเล่าในลักษณะของเสียง? นิทรรศการ ชุมทางรถไฟแฟรงก์ตันได้ให้คำตอบในทิศทางที่เห็นพ้องด้วย คำพยานได้สื่อสารกับผู้เข้าชมแต่ละคนโดยตรง และน้อมนำประสบการณ์อันมั่งคั่งและจินตนาการที่เพียบพร้อมมาตรึงความสนใจของ ผู้คน ประเด็นในนิทรรศการอันได้แก่ ชีวิตครอบครัว วัยเด็กและการทำงาน สะท้อนมาถึงพวกเราทั้งมวล ผู้คนจะนั่งและฟัง หากเรื่องราวเหล่านั้นน่าสนใจ และบรรยากาศโดยรอบสร้างความรู้สึกสบายและเชื้อเชิญ ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะกีดกั้นให้ประวัติศาสตร์คำบอกเล่าต้องไปประดับอยู่ที่ผนัง หรือจุดฟังเสียง แผงจัดแสดง หูฟัง หรือร้ายกว่านั้น คือ ในห้องสมุด!

สำหรับพิพิธภัณฑ์เองนั้น นิทรรศการดึงดูดความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ และชักจูงใจผู้ชมที่ไม่เคยเข้ามาชมพิพิธภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม บุคลากรที่จะพัฒนานิทรรศการที่จะต้องใช้เวลาในการทำงานมากเช่นนี้เป็นเรื่อง ที่เป็นไปได้ยากสำหรับพิพิธภัณฑ์ การประสานโครงการดังกล่าวเข้ากับหลักสูตรการเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษา และการหาทุนภายนอกมาสนับสนุน ได้ทำให้โครงการที่ต้องใช้ทั้งคน การลงแรงสัมภาษณ์และบันทึกคำบอกเล่า และสร้างนิทรรศการ ที่ใช้เวลาเบ็ดเสร็จถึงสองปีครึ่งนั้นเป็นไปได้ การนำเอาเรื่องราวประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปสู่ชุมชน จำเป็นต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ผู้ให้สัมภาษณ์ยังคงมีชีวิตอยู่ที่จะฟังเรื่องเหล่านั้น ความรัก แรงงาน และตำนาน(Love, Labour and Legend) เป็น รางวัลจากความร่วมมือระหว่างนักวิชาการประวัติศาสตร์และเจ้าหน้าที่ พิพิธภัณฑ์ ในปริมณฑลแห่งประวัติศาสตร์ของสาธารณชน ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะมีนิทรรศการที่บอกเล่าด้วยตัวเองมากยิ่งขึ้นในอนาคต
 
เชิงอรรถ
1 S. Davies, ‘Falling on deaf ears? Oral history and strategy in Museums’, Oral History, Autumn 1994, vol. 22, no. 2, p. 74.
G. Griffiths, ‘Oral History’, in D. Fleming, C. Paine and J. Rhodes (eds.), Social History in Museums: A Hand Book for Professionals, London: HMSO, 1993, pp. 111-116.
3 G. Cavanagh, ‘The future of Museum social history collecting’, Social History in Museums, 1993 vol. 20, p.61.
4 J. Urry, ‘How Societies remember the past’, in S. Macdonald and G. Fyfe (eds.), Theorizing Museums, Oxford: Blackwell/The Sociological Review, 1996, p. 50.
5 M. Frisch, A Shared Authority: Essays on the Craft and Meaning of Oral and Public History, New York: State University of New York Press, 1990, p. 27.
6 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Sally Parker (Senior Curator), Michele Orgad (Exhibitions Manager), Max Riksen (Designer), Stephie Leeves (Photographer), Kent Eriksen (Exhibition Preparator).
สมาชิกของกลุ่มนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาที่ร่วมจัดนิทรรศการ ได้แก่Matt Andrew, Chanel Clarke, Sue Garmonsway และ Jane Moodie.
8 Frankton Oral History Project (FOHP) การสัมภาษณ์ 172, เทป 1, ด้าน บี, 39.4 นาที
9 FOHP, การสัมภาษณ์ 157, เทป 1, ด้าน บี, 18.6 นาที.
10 G. Porter, ‘Putting your house in order: representations of women and domestic life’, in R. Lumley (ed.), The Museum Time Machine, London: Routledge, 1988, pp. 102-127.
11 See S. Garmonsway, ‘Just a wife and mother: the experiences of Frankton women, 1940-1960’, unpublished MA thesis, University of Waikato, 1996.
12 FOHP, การสัมภาษณ์ 022, เทป 1, หน้า บี, 7.1 นาที.
13 FOHP, การสัมภาษณ์ 014, เทป 1, หน้า บี, 17.6 นาที.
14 FOHP, การสัมภาษณ์ 172, เทป 1, หน้า บี, 28.2 นาที.
15 FOHP, การสัมภาษณ์ 187, เทป 1, หน้า บี, 6.0 นาที.
แปลและเรียบเรียงจากAnna Green, “the Exhibition that Speaks for Itself”: Oral History and Museums. Robert Perks and Alistair Thompson (eds.), The Oral History Reader, 2nd edition, London; New York: Routledge, 2006, pp.416-424.

วันที่เผยแพร่ครั้งแรก: 29 ธันวาคม 2554
วันที่แก้ไข: 20 มีนาคม 2556