การพัฒนาการจัดการและการมีส่วนร่วมในงานพิพิธภัณฑฯท้องถิ่น : ประสบการณ์จากการทำงานกับชุมชนคนชอง ในจังหวัดจันทบุรี

ศูนย์การเรียนรู้ฟื้นฟูภาษา-วัฒนธรรมชอง ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ต.คลองพลู กิ่ง อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2547 จาก ความร่วมมือระหว่างชาวชองในกิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น (สกว.ภาค) โครงการ ดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากการดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษาชอง โดยใช้อาคารศูนย์สาธิตตลาดของกลุ่มแม่บ้านตำบลคลองพลู สถานที่นั้นเคยเป็นที่พบปะเพื่อดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษาชอง และเป็นที่เก็บเอกสารต่างๆ ของโครงการฯ ต่อมาได้รับการจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ฟื้นฟูภาษา-วัฒนธรรม ชอง เพื่อเป็นสื่อกลางให้คนในชุมชนและประชาชนทั่วไปได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง ราวของชาวชอง ในระยะแรก ศูนย์ฯ ได้จัดนิทรรศการเกี่ยวกับกิจกรรมอนุรักษ์-ฟื้นฟูภาษาชอง และวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนชองประกอบกับสิ่งของเครื่องใช้ที่ได้รับมอบจากชาวบ้าน ต่อมาทางสกว.ได้ สนับสนุนงบประมาณการวิจัยแก่ชุมชนชอง รวม ๓ โครงการ คือ โครงการการสร้างหลักสูตรท้องถิ่นภาษาชอง ซึ่งเกี่ยวเนื่องมาจากโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษาชอง โครงการศึกษาความรู้เรื่องพืชคุ้ม-คล้า ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นที่คนชองนำมาใช้ทำเครื่องจักสาน และโครงการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชอง ซึ่งเดิมมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การปรับปรุงนิทรรศการภายในศูนย์ฯ เป็นหลัก
 
ผู้เขียนได้รับโอกาสให้เข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชอง ด้วยการเชื้อเชิญของคุณสิริรัตน์ สีสมบัติ นักศึกษาปริญญาโทสาขาวัฒนธรรมศึกษา วิชาเอกพิพิธภัณฑ์ศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นคนชองในพื้นที่ ตั้งแต่แรกผู้เขียนได้เสนอความเห็นแก่คุณสิริรัตน์ว่า การพัฒนาศูนย์ฯ ไม่ควรจะมุ่งไปที่การพัฒนาเนื้อหานิทรรศการเท่านั้น แต่ควรคิดเรื่องพัฒนาการจัดการด้านต่างๆ เช่น การจัดกิจกรรม การหารายได้ ที่จะช่วยให้ศูนย์ฯ อยู่ต่อไปได้ไปพร้อมกันด้วย เนื่องจากงานศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชองก็เช่นเดียวกับงานพิพิธภัณฑฯท้องถิ่นอื่นๆ ในประเทศไทยที่มักประสบปัญหาด้านการจัดการ ทำให้ไม่สามารถพัฒนาเป็นแหล่งการเรียนรู้ชุมชนอย่างที่มุ่งหวังได้
 
การดำเนินงานโครงการในเบื้องต้นเป็นการพาคณะกรรมการศูนย์ฯไปศึกษาดูงานที่ตลาดร้อยปีสามชุก ศูนย์อนุรักษ์ควายไทย และพิพิธภัณฑสถานแห่งอื่นๆ ในจังหวัดสุพรรณบุรี หลังจากนั้นเป็นกิจกรรมชวนสนทนาในพื้นที่ เพื่อถามถึงมุมมองการดำเนินงานของตลาดสามชุกเปรียบเทียบกับการดำเนินงานศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชองที่ผ่านมา สิ่งที่ได้รับฟังในครั้งแรกก็คือ“ปัญหา” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่คนในชุมชนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าศูนย์ฯ ทำอะไร? ทำเพื่ออะไร? เพราะที่ผ่านมาการเริ่มต้นและมีอยู่ของศูนย์ฯ เกิดจากคนและงบประมาณจากภายนอกเข้ามาริเริ่ม โดยมีคนในชุมชนเพียงกลุ่มเล็กๆ เท่านั้นที่มีส่วนร่วม และคนกลุ่มเล็กๆ นี้เองก็มีอาชีพและครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบ ทำให้ไม่สามารถให้เวลาในการดูแลจัดการศูนย์ฯได้เท่าที่ควร หลายคนรู้สึกไปในทำนองเดียวกันว่า หากต่อไปไม่มีการสนับสนุนด้านงบประมาณจากภายนอกแล้ว อนาคตของศูนย์ฯ จะเป็นอย่างไร เพราะที่ผ่านมาศูนย์ฯ เองไม่มีรายได้จากทางใดเลย มีแต่รายจ่ายค่าน้ำค่าไฟที่กรรมการศูนย์ฯ บางคนช่วยออกให้บ้าง
 
ภายหลังจากรับฟังปัญหาต่างๆ แล้ว การชวนสนทนาได้พาย้อนกลับไปสู่ประสบการณ์การดูงานที่ตลาดสามชุก และวิธีการจัดการกับปัญหาซึ่งคล้ายคลึงกัน พร้อมกับนำเสนอตัวอย่างการจัดการที่เป็นไปได้ โดยนำตัวอย่างการจัดการพิพิธภัณฑฯท้องถิ่นในที่อื่นๆ มาเพิ่มเติมในการสนทนา เมื่อการชวนสนทนาในส่วนนี้จบลง หลายคนเริ่มเห็นวิธีการรับมือกับปัญหาที่มีอยู่ และเริ่มเสนอวิธีการจัดการกับปัญหาตามแนวทางของแต่ละคน และช่วยกันประเมินศักยภาพของกลุ่มและชุมชนว่าวิธีไหนจะเหมาะสมมากที่สุด ทำให้บรรยากาศที่อบอวลไปด้วยปัญหาเมื่อแรกชวนสนทนาค่อยๆ เจือจางลง หลายคนเริ่มมองเห็นทรัพยากรวัฒนธรรมที่มีอยู่ในชุมชนและศักยภาพของชุมชนที่ จะนำทรัพยากรเหล่านี้มาใช้มากขึ้น เช่น มีแนวคิดที่จะผสานโครงการศึกษาเรื่องพืชคุ้ม-คล้า เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมของศูนย์ โดยใช้พื้นที่ศูนย์เป็นสถานที่จัดกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ และจัดจำหน่ายเครื่องจักสานที่ทำจากคุ้ม-คล้า ด้วยเหตุผลที่ว่าเมื่อมีกิจกรรมรองรับ ศูนย์ฯ จะมีความเคลื่อนไหวและมีรายได้มาดำเนินงาน ชาวบ้านเองจะมีรายได้มากขึ้นและได้เป็นผู้มีส่วนในการอนุรักษ์งานหัตถกรรมพื้นบ้านไปพร้อมกัน นอกจากนี้ทางคุณสิริรัตน์ได้เสนอโครงการจัดทำสินค้าที่ระลึก เพื่อหารายได้เข้าศูนย์ฯ ด้วย
 
ด้วยทางโครงการเล็งเห็นว่าการพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ชุมชนชองไม่ควรจำกัดอยู่แต่เพียงนิทรรศการภายในศูนย์ฯ เท่านั้น แต่ควรจะรวมพื้นที่ป่า นา สวน ที่คนชองผูกพันมาตั้งแต่อดีตเข้าไว้ด้วย จึงได้เชื้อเชิญผู้แทนคนชองจากหมู่บ้านตะเคียนทองมาเข้าร่วมกิจกรรมและร่วมทำแผนที่แหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมชองของทั้งสองตำบล ผลที่ได้จากกิจกรรมทำแผนที่ คือ ข้อมูลแหล่งการเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมคนชองในชุมชน รวมไปถึงชื่อผู้ที่จะให้ข้อมูลในแต่ละแหล่ง ที่จะใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลในรายละเอียดต่อไป ในการดำเนินงาน โครงการได้ฝึกการเก็บข้อมูลแก่ชาวบ้าน เพื่อนำไปเป็นแนวทางการเก็บข้อมูลวัฒนธรรมชุมชนโดยชุมชนเองต่อไปด้วย
 
จากกิจกรรมการทำแผนที่ชุมชน นำไปสู่การทัศนศึกษาพื้นที่ป่าในตำบลตะเคียนทอง ซึ่งมีคนในชุมชนชองให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมมากเป็นพิเศษ หลายคนได้เรียนรู้วิถีชีวิตคนชองที่ผูกพันกับป่าจากพรานนำทางและจากผู้รู้ ที่ร่วมขบวนไปด้วย ด้วยศักยภาพการเป็นแหล่งเรียนรู้และการถ่ายทอดของผู้รู้ นำไปสู่ข้อเสนอในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วัฒนธรรมชองที่เรียกว่า“ห้องเรียนธรรมชาติ” ในพื้นที่เขาตะเคียนทอง ผู้แทนจากตำบลตะเคียนทองได้ให้ความสนใจที่จะพัฒนากิจกรรมดังกล่าวให้เป็น จริง เพื่อสร้างเครือข่ายแหล่งการเรียนรู้ให้เชื่อมโยงกับศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชองในตำบลคลองพลู
ส่วนปัญหาการขาดการสนับสนุนภายในท้องถิ่นโดยเฉพาะจากองค์การบริหารส่วนตำบลนั้น ทางโครงการได้พยายามประสานงานตัวแทนจาก อบต. เพื่อรับทราบแนวทางการสนับสนุนกิจกรรมแก่ศูนย์ฯ โครงการได้รับคำอธิบายถึงขั้นตอนการรับการสนับสนุนจาก อบต. ที่ ศูนย์ฯ ควรต้องเรียนรู้ เนื่องจากในไม่ช้าการสนับสนุนจากภายนอกคงจะหยุดลง การสนับสนุนจากองค์กรภายในท้องถิ่นจึงเป็นสิ่งจำเป็น ทาง อบต.ได้ เสนอความเห็นว่า ศูนย์ฯ มีศักยภาพในการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม และอาจจะเสนองบประมาณในการจัดกิจกรรมวัฒนธรรมต่างๆของศูนย์ฯ ผ่านทาง อบต.ได้ ในแต่ละปีได้ หากเป็นไปในทิศทางดังกล่าว ศูนย์ฯ จะมีบทบาทในการดำเนินกิจกรรมทางวัฒนธรรมในชุมชนมากขึ้น และช่วยให้ชาวบ้านมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของศูนย์มากขึ้นด้วย
 
แม้ว่าโครงการการพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ชุมชนชองจะดำเนินการแล้วเสร็จตาม เงื่อนไขของเวลา แต่กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนชอง และการพัฒนาการจัดการยังคงดำเนินต่อไป ความสำเร็จจะมากน้อยแค่ไหนคงขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในชุมชนเป็นสำคัญ ผู้เขียนเป็นเพียงคนนอกที่นำเครื่องมือการจัดการและประสบการณ์การจัดการเข้า ไปเสนอให้ชุมชนเรียนรู้และเลือกใช้ตามความพอใจของชุมชนเท่านั้น
วันที่เผยแพร่ครั้งแรก: 29 ธันวาคม 2554
วันที่แก้ไข: 22 มีนาคม 2556