พลาสติกและชาติพันธุ์วรรณา

เมื่อได้ชมนิทรรศการที่จัดขึ้นในพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วรรณาฮังกาเรียน ในชื่อ “พลาสติก : ข้อพิสูจน์ว่าพิพิธภัณฑ์มิใช่สถานที่ของวัตถุยุคดั้งเดิม” ความคิดแรกที่ผุดขึ้นมาก็คือ เรามักจะคิดหรือเข้าใจว่าพลาสติกเป็นวัสดุสมัยใหม่ การได้เห็นพลาสติกในพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ได้สร้างความรู้สึกแปลกแยก พลาสติกเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดนิทรรศการเพื่อสะท้อนให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นในชีวิตประจำวัน พลาสติกเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันและได้รับการนำเสนอในนิทรรศการในยุคนี้ได้อย่างไร ทั้งที่พลาสติกเป็นวัสดุที่ไม่คงทนถาวร แต่เราก็พบเห็นมันได้เสมอในชีวิตประจำวัน จนเป็นเรื่องธรรมดาที่เราคุ้นเคยเสียจนไม่ได้ฉุกคิดถึงมัน ดังนั้นถึงเวลาที่จะต้องทบทวนว่าพลาสติกพวกนี้ข้องเกี่ยวกับตัวเรา วัฒนธรรมและสังคมที่เราอยู่อาศัยอย่างไร วัตถุประสงค์หลักของนิทรรศการชุดนี้คือ การจัดวางพลาสติกให้อยู่ในความสนใจเพื่อที่จะได้หยุดคิดพิจารณาและทบทวน อันเป็นเหตุผลว่าทำไมพลาสติกจึงปรากฏในพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วรรณา
 
พลาสติกและความเป็นสมัยใหม่คือสิ่งที่เคียงคู่กัน โซต้า ไอแรน(Psota Iren) นักร้องนักแสดงชาวฮังกาเรียนที่มีชื่อเสียง ได้กล่าวไว้ในแผ่นพับนิทรรศการชุดนี้ว่า “ผู้หญิงยุคใหม่ผู้เปี่ยมด้วยความกระตือรือร้น สิ่งที่เธอมีล้วนทำด้วยพลาสติก” คำกล่าวนี้อาจเป็นคำขวัญของนิทรรศการชุดนี้ก็ว่าได้ และนี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของนิทรรศการด้วย ในห้องจัดแสดงห้องแรกผู้ชมจะได้ยินโซต้า ไอแรน ร้องเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ ขณะที่ฉายภาพวิดีทัศน์บอกเล่าสังคมในปัจจุบัน
 
เนื้อหานิทรรศการในส่วนนี้แสดงให้เห็นว่า พลาสติกสามารถเชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบันได้อย่างไม่น่าเชื่อ ชีวิตคนเราจะเป็นอย่างไรหากปราศจากพลาสติก ในนิทรรศการห้องเดียวกันนี้ ผู้ชมจะมองเห็นกำแพงที่โปร่งใสจนสามารถมองเห็นคำว่า “พลาสติก” ฝังอยู่ภายในกำแพงนั้น ทูไรน์ ทุนเด้ (Turai Tunde) วิทยากรนำชมและผู้มีส่วนร่วมในการจัดงานนี้กล่าวว่า การใช้พลาสติกเป็นส่วนหนึ่งของการจัดแสดงและจัดวางนิทรรศการ เป็นการเน้นย้ำว่าทำไมถึงได้จัดนิทรรศการชุดนี้ขึ้นมา
 
นิทรรศการห้องที่2 ต้องการสื่อสารแนวคิด 2 เรื่อง
ประการแรก เพราะที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วรรณา ผู้จัดจึงพยายามสะท้อนประเด็นชาติพันธุ์วรรณาในช่วงเวลาปัจจุบันด้วยเนื้อหา หรือประเด็นที่ทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นวัตถุสิ่งของ ประเด็นเรื่องการผลิต การบริโภค โภชนาการ การแต่งกาย การออกแบบ สันทนาการ และของสะสมที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ด้วย สิ่งเหล่านี้ล้วนอยู่ในแบบแผนชีวิตที่สอดคล้องกับคำว่า “ชาติพันธุ์วรรณา” โดยรูปศัพท์ด้วยการแสดงสาแหรกของพลาสติกตามการเปลี่ยนแปลงของชีวิตในแต่ละช่วงเวลา ประการที่สอง เพื่อสะท้อนปริมาณการใช้พลาสติกที่เพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่ปี 70 เป็นต้นมา แม้ว่าบางประเภทยังคงใช้งานอยู่ บางประเภทก็เลิกใช้แล้ว
พลาสติก ที่ใช้ห่อหุ้มอาหาร เฟอร์นิเจอร์ ของเล่น ไดรย์เป่าผม ถุงน่อง และคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ถูกนำมาใช้จัดแสดงเพื่อสื่อให้เห็นความสำคัญของสิ่งเหล่านี้ในชีวิตประจำวัน แม้ว่าบางครั้งเราจะไม่ได้นึกถึงมันเลยก็ตาม วิทยากรนำชมเล่าถึงที่มาของวัตถุสิ่งของที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ว่า
 
“เมื่อแนวคิดในการจัดนิทรรศการครั้งนี้เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง พิพิธภัณฑ์ได้ประกาศเชิญชวนให้ผู้เข้าชมนำสิ่งของที่เป็นพลาสติกพร้อมเรื่อง เล่าของตัวเองที่มีต่อพลาสติกชิ้นนั้นมาให้เรา เราได้ของมา 1,500 ชิ้น ความน่าสนใจอยู่ที่ว่าเราจะพิจารณาหรือมองชีวิตผู้คนผ่านสิ่งของที่เป็นพลาสติกพวกนี้ได้มากน้อยเพียงใด และผู้คนคิดอย่างไรกับพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ ตอนที่เราเริ่มพูดคุยเรื่องนี้กันมีการกล่าวถึงพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วรรณาว่าเป็นสถานที่ของโบราณวัตถุของเก่า ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์มักนำของเก่า มามอบให้เพราะพวกเขามักจะคิดอยู่เสมอว่าพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วรรณาตั้งขึ้น เพื่อเก็บรักษาวัตถุพวกนี้ แน่นอนว่าเรายินดีที่มีของเก่าๆ เหล่านี้ในพิพิธภัณฑ์ แต่พิพิธภัณฑ์เองต้องการที่จะจัดเก็บของใหม่ด้วยเช่นกัน ดังนั้นเราจึงหยิบยืมวัตถุสิ่งของจากผู้ชม และก็ได้จัดทำนิทรรศการขึ้นอย่างเป็นเอกภาพ ซึ่งต่างไปจากการจัดครั้งอื่นๆ ที่อาศัยการหยิบยืมวัตถุจากองค์กรที่มีความร่วมมือกัน แต่ในครั้งนี้เราหยิบยืมสิ่งของจากผู้ชม นั่นคือความพิเศษของนิทรรศการ”
 
แปลและเรียบเรียงจาก
http://www.heritageradio.net/cms2/heritage-memory-single-view/article/plastic-and-ethnography/
วันที่เผยแพร่ครั้งแรก: 29 ธันวาคม 2554
วันที่แก้ไข: 20 มีนาคม 2556