จดหมายเหตุเสียงที่พิพิธภัณฑ์เขตหก: งานที่ต้องเดินหน้าต่อไป

แอฟริกาใต้เป็นประเทศที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างไปจากประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เพราะเป็นประเทศที่มีทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่ก้าวหน้า แต่ขณะเดียวกันปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจขยายเป็นวงกว้าง ช่องว่างของผู้รับความช่วยเหลือจากการพัฒนาและความชำนาญการในการทำงานยังคง มีอยู่ แต่ในจุดนี้ กลับเป็นทั้งข้อท้าทายและโอกาสในการอนุรักษ์ภาพและและเสียง(Audiovisual preservation)
 
โครงการจดหมายเหตุเสียงเริ่มต้นขึ้นจากการประชุมในปี1988 ใน การเริ่มต้นการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ ทั้งนี้รูปแบบการทำงานมาจากแนวทางของจดหมายเหตุเสียงสาธารณะและชาติพันธุ์ของสหรัฐอเมริกาและที่อื่นๆ รวมทั้งสาขาวิชาการที่เข้ามาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการทำงานทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ สังคมศาสตร์ และดนตรีชาติพันธุ์วิทยา
 
แม้หน่วยงานของเราเป็นหน่วยงานเล็กๆ ที่เพิ่งเริ่มต้นการทำงาน แต่เป็นงานที่เต็มไปด้วยพลังของคณะกรรมการที่มีความกระตือรือร้น และสายสัมพันธ์กับนักเคลื่อนไหวในชุมชน นักการเมือง และนักวิชาการ ด้วยเหตุนี้ งานพิพิธภัณฑ์ของเราจึงไม่มีลักษณะของชนชั้นการบริหาร(เน้นโดยผู้แปล) นอกไปจากนี้ การทำงานอนุรักษ์ยังต่อรองกับความเป็นไปต่างๆ ในชุมชนได้อย่างยิ่งยวด นอกจากข้อท้าทายในการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในการวิจัยจดหมายเหตุภาพและ เสียง พิพิธภัณฑ์ยังต้องพัฒนาความชำนาญการและการจัดเก็บที่มีประสิทธิภาพไปพร้อมๆ กัน อนึ่ง พิพิธภัณฑ์เขตหกได้กลายเป็นต้นแบบของการพัฒนาโครงการที่สร้างโอกาสความร่วม มือของคนในชุมชน
 
จดหมายเหตุเสียงในฐานะหน่วยย่อยความทรงจำ
ในปี1994 มีการจัดนิทรรศการ "ถนน : รอยทางในเขตหก" ในขั้นตอนของการทำงาน เราได้เชิญผู้ที่เคยอาศัยอยู่ในเขตหกมาชี้ตำแหน่งของอาคาร ถนนหนทาง เพื่อนบ้านที่เคยพำนักอาศัยอยู่ในพื้นที่ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาสร้างความทรงจำร่วมกัน (Public memory) นิทรรศการพยายามทำหน้าที่ของ "พาหนะแห่งการตีความ" (Interpretative vehicle) ที่จะนำพาความทรงจำส่งทอดไปยังคนรุ่นต่อไปในแอฟริกาใต้ เพ็กกี้ เดลพอร์ต (Peggy Delport) ภัณฑารักษ์ได้อธิบายไว้ว่ารูปแบบของนิทรรศการจะเน้นการออกแบบให้เกิดปฏิสัมพันธ์ พรมแดนของนิทรรศการเปิดออกสู่ผู้ชม และให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดแสดง… สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การสร้างความทรงจำใหม่จะเกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน
 
นิทรรศการตรึงจินตภาพของผู้คน โดยเฉพาะผู้ที่เคยพำนักอาศัยในเขตหก พวกเขานำสิ่งที่กระตุ้นเตือนความทรงจำมากมายมาให้ผู้จัดงาน ภาพถ่ายครอบครัว ขวด ของเล่น และชิ้นส่วนของเครื่องเรือนและประตู อย่างไรก็ตาม พิพิธภัณฑ์ไม่สามารถจัดเก็บวัตถุไว้ในคลังสะสมไดทั้งหมดด้วยปริมาณวัตถุที่เอ่อล้น แต่เรายังคงให้วัตถุเข้ามาฝากไว้ เพื่อสานสัมพันธ์อันดีต่อสมาชิกของชุมชน
 
กระบวนการจัดนิทรรศการกลายเป็นกุญแจสำคัญ ของที่ฝากไว้ได้มาโดยมิได้คาดหวัง หากสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมหาศาล เช่น การให้ผู้เป็นเจ้าของบอกเล่าถึงคุณค่าของวัตถุเหล่านั้น แต่กิจกรรมเช่นนี้เป็นเรื่องในอนาคตที่รอการวางแผนและดำเนินการจัดเก็บอย่างเป็นระบบต่อไป ดังที่กล่าวไปแล้วว่านิทรรศการพยายามสร้างความทรงจำร่วม เราอาจนิยามพื้นที่นิทรรศการในลักษณะ"จุดประเด็น" เพราะความทรงจำเหล่านั้นสามารถนำไปสู่การอภิปรายในวงกว้างภายใต้แนวคิดพลเมือง
 
ในขณะนี้ ปัญหาที่จะต้องพูดคุยอยู่ที่ว่าพิพิธภัณฑ์จะจัดการจำแนก และลำดับวัตถุที่เกี่ยวโยงกับความทรงจำในการจัดแสดงอย่างไร และเราจะมีวิธีการจัดการต่อความทรงจำของผู้เคยพำนักอาศัยไปในลักษณะใด เพราะความทรงจำอาจเป็นการบรรยายให้เห็นถึงตำแหน่งแห่งที่ของถนน หรือภาพของตลาดในอดีต หรือสุนทรพจน์ของบุคคลสำคัญ กาซี กูลส์(Cassie Cools) หรือการร่ายรำ diba ขณะเดียวกัน ยังมีความเจ็บปวดของการสูญเสีย เรือนพักถูกทำลาย ความยากจน กำลังใจในการอาศัยอยู่ในเขตชานเมือง
 
แซนดรา โปรซาเลนดิส์(Sandra Prosalendis) หัวหน้าโครงการกล่าวถึงนิทรรศการ ถนน… ว่าเปรียบเสมือนกระชอนที่ร่อนความทรงจำให้สถิตในพื้นที่นิทรรศการเพื่อยุวชนรุ่นหลัง พื้นที่เช่นนี้จะดูดดึงผู้ชมให้เข้ามาถ่ายทอดและบันทึกความทรงจำในรูปของ เสียง จดหมายเหตุเสียงจึงเชื่อมต่อภาพที่ลางเลือน ฉะนั้น หากถามว่านิทรรศการ ถนน… ควรหยุดเมื่อใด คำตอบง่ายๆ คือ เมื่อเรารู้ว่าจะทำอะไรต่อไป
 
จดหมายเหตุเสียงในฐานะแหล่งกำเนิดความรู้
ความสำคัญอีกประการหนึ่งของจดหมายเหตุเสียงคือ การทำงานเชิงรุก ด้วยการกระตุ้นการผลิตองค์ความรู้ ฉะนั้น จดหมายเหตุจะเป็นจักรกลหลักของการจัดเก็บเอกสาร และเมื่อนั้นจะนำไปสู่ประวัติศาสตร์ของมหาชนที่เป็นจริงขึ้นได้ จดหมายเหตุเสียงอาจจัดเก็บเรื่องราวงานเทศกาลklopse หรือวงดนตรีประเภท marimba ในเมืองเคปทาวน์ หรือการบอกเล่า "ความเป็นผิวสี" ใน เรื่องราวที่แตกต่างออกไป เช่น เรื่องราวของคนแอฟริกันในเคปทาวน์ หรือส่วนอื่นๆ ของคาบสมุทร หรืออีกที่ เราสามารถบันทึกอิทธิพลทางดนตรีที่ส่งข้ามไป-มาระหว่างปลายคาบสมุทรและพื้นที่ส่วนอื่น ไม่ว่าจะเป็น Kimberly, Namaqualand, Mozambique เป็นต้น หรือกระทั่งการบันทึกความเคลื่อนไหวทางการเมืองของสาธารณชน โครงการที่สามารถดำเนินการได้เหล่านี้ สามารถดำเนินการด้วยการบันทึกภาพ-เสียงและการจัดเก็บที่สมบูรณ์ขึ้นอีก
 
ข้อท้าทายหนึ่งในการทำงานประเภทนี้คือ การสร้างความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสถาบันการศึกษามืออาชีพและผู้เชี่ยวชาญAnthony Seeger นัก จดหมายเหตุเสียงผู้คร่ำหวอด เตือนเราถึงความสำคัญของการบันทึกจากสนาม การบันทึกเสียงเป็นทรัพยากรที่ประเมินค่าไม่ได้ไม่ว่าจะมาจากส่วนไหนของโลกก็ตาม การบันทึกจากสนามเพื่องานวิชาการมีคุณค่าที่เป็นเอกลักษณ์ และโดยส่วนใหญ่ มีการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ เนื้อหาของการบันทึกไม่ได้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดหรือใส่ใจต่อผู้ฟัง การใช้งานไม่ได้เป็นไปตามกฏหมายลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ และโดยมากจะใช้เพื่อการวิจัย
 
อย่างไรก็ตาม หากเราจะดำเนินโครงการผลิตความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการบันทึกเสียงใดๆ เราต้องระวังตนเองไม่ให้ตกอยู่ภายใต้กับดักของอดีตจักรวรรดินิยมและการล่าอาณานิคม จดหมายเหตุเสียงที่เคยเป็นมามีความใกล้ชิดกับการทำงานของมานุษยวิทยาการดนตรี(ethnomusicology) การบันทึกเสียงเป็นวิธีการที่ดีในการสร้างความรู้ แต่ก็มีอันตรายอย่างที่ประวัติศาสตร์นิพนธ์ ชาติพันธุ์วิทยา ชาติพันธุ์วรรณนา และมานุษยวิทยา ได้กระทำไว้ในช่วงการล่าอาณานิคม การบันทึกเสียงในห้วงเวลานั้นก่อตัวเป็นจักรวรรดิทางปัญญาและวัฒนธรรม การบันทึกเสียงกลายเป็นเครื่องมืออันดีเยี่ยมของเหล่านักมานุษยวิทยาและนักมานุษยวิทยาการดนตรี เพื่อเดินทัพและเข้าครอบครองวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ลายลักษณ์ของสถานที่ที่แปลกตา แต่กลับงดงาม (exotic places)
 
ในโลกหลังอาณานิคมอย่างทุกวันนี้ การบันทึกเสียงพยายามดิ้นร้นให้พ้นจากอดีตอาณานิคม การบันทึกเข้ามารับใช้ต่อชุมชนท้องถิ่น ด้วยวิธีการอันทรงพลังของกระบวนการชาติพันธุ์วรรณา ประวัติศาสตร์บอกเล่าและมานุษยวิทยาการดนตรีที่ได้มอบไว้ให้ จดหมายเหตุเสียงอาจกลายเป็นเครื่องมือทรงพลังสำหรับนักวิชาการ นักเคลื่อนไหว หรืออาสาสมัครของพิพิธภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังช่วยให้ชุมชนมีความเข้มแข็งด้วยการสร้างมรดกภาพ-เสียงของตนเอง หรือแม้แต่การช่วยให้ชุมชนในโลกที่ 3 ต่อ รองในสิทธิการครอบครองมรดกวัตถุ จดหมายเหตุเสียงจำเป็นต่อการปกป้องผลประโยชน์ของชุมชนตามกฏหมายลิขสิทธิ์ ระหว่างประเทศ รวมถึงการส่งคืนมรดกวัตถุวัฒนธรรม
 
จดหมายเหตุเสียงกลายเป็นธนาคารของความทรงจำที่จะทำให้ชุมชนที่เคยถูกกดขี่และเบียด ขับออกไปจากสังคมให้กลับมามีความสำคัญ การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เขตหกเปรียบเหมือนกับการเรียกร้องสิทธิของผู้คน และผลักดันให้ชนชั้นล่างได้มีฐานะทางการเมืองและวัฒนธรรมในความเป็นเมืองเคปทาวน์ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับพิพิธภัณฑ์ประกาศอย่างแรงกล้าที่จะช่วงชิงการจัดประเภท และการนำเสนอภาพเกี่ยวกับตนเอง คณะกรรมการพิพิธภัณฑ์กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า สมาชิกของเขตหกมีสิทธิที่จะควบคุมวิถีทางที่กล่าวถึงตนเอง นั่นหมายถึงเขาสามารถพูดได้"ด้วยตัวเขาเอง" ความทรงจำของทุกคนเกี่ยวกับเขตหก ตั้งแต่นักประวัติศาสตร์ที่ค้นคว้าเอง นักประพันธ์ ช่างทาสี หรือบุคคลธรรมดาทั้งชายและหญิงล้วนมีค่ายิ่งนัก ด้วยเหตุนี้ การบันทึกเสียงจากปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มได้สถาปนาหนทางใหม่ในการจัดการความ รู้ทางวัฒนธรรม
 
คลังสะสมมรดกภาพ-เสียงสะท้อนความเป็นอยู่ของเมืองในยุคแรกๆ นั่นคือภาพของเคปตะวันตก (West Cape) เช่น เขตหกมีความสำคัญเปรียบเหมือนสัญลักษณ์ของวรรณกรรมชนผิวดำแอฟริกาใต้และการแสดง ชื่อซึ่งเป็นรู้จัก ไม่ว่า ริชาร์ด ริฟ (Richard Rive) อเล็กซ์ ลา กูมู (Alex La Guma) อับดุลลาห์ อิบราฮิม (Abdullah Ibrahim) เบซิล โกเอซี (Basil Coetzee) โมเซส โกตาเน (Moses Kotane) และเกอร์ฮาร์ด เซโกโต (Gerhard Sekoto) ล้วน แต่มีความเกี่ยวข้องทั้งสิ้น เขตหกยังพ้องกับงานเทศกาล การเต้นรำ ศาสนดนตรี การแสดงหลากรูปแบบ การเมืองภาคประชาชน และนักคิดที่เป็นที่รู้จัก เขตหกจะเชื่อมโยงความเป็นอยู่ชีวิตคนงานในเมือง การต่อสู้กับเชื้อชาตินิยม (racism) ใน เมืองเคป ทาวน์ และการปลดปล่อยความทรงจำของการกดขี่หรือชีวิตเกย์ และอื่นๆ อีกมากมาย เรียกได้ว่าเป็นขุมประสบการณ์มนุษย์ให้เราได้สำรวจกันต่อไป
 
แม้ว่าการสืบค้นเริ่มต้นที่ชีวิตความเป็นอยู่ของชนชั้นแรงงาน แต่ความสนใจขยายเพิ่มออกไปเกี่ยวกับคนและสถานที่ที่หลากหลายมากขึ้น แน่นอนว่าสถานที่บางแห่งสัมพันธ์กับการแบ่งแยกสีผิว หรือการแบ่งแยกที่มาจากสาเหตุอื่น นิกาย ความเชื่อ ศาสนา หรือภาษา ด้วยเหตุนี้ จดหมายเหตุเสียงสามารถบันทึกเรื่องเล่าที่แตกต่างเกี่ยวกับอดีต และยังสามารถพัฒนาเป็นคลังความรู้สาธารณะเกี่ยวกับอดีตและปัจจุบันได้เป็น อย่างดี
 
จดหมายเหตุเสียงและชุมชน
จดหมายเหตุเสียงทำหน้าที่เป็นธนาคารความทรงจำให้กับชุมชน การเก็บบันทึกมุ่งไปที่ประสบการณ์และแง่มุมของชนชั้นล่างและคนชายขอบ เพื่อเป็นกระจกสะท้อนรูปแบบของอำนาจทั้งที่เปิดเผยและปกปิดในเมือง ภารกิจหลักคือจัดเก็บและบันทึกประสบการณ์จากชีวิตของชุมชน ทั้งรากเดิมและความเปลี่ยนแปลง ทั้งชีวิตการทำงาน และชีวิตความเป็นอยู่ของชนชั้นแรงงาน เครื่องมือนี้จะเชื้อเชิญให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงออกและนำเสนอตน เอง
 
พิพิธภัณฑ์เขตหกมีทั้งเรื่องที่สรรเสริญและวิจารณ์ เช่นการจัดแสดงที่ทำขึ้นอย่างหยาบๆ ภาพครอบครัว และเทคนิคที่มีต้นทุนต่ำ อาทิ การใช้เอกสารสำเนาในฉากจำลอง และการจัดวางวัตถุ แผนที่ และเสื้อผ้าอย่างเรียบง่าย นิทรรศการ"ถนน" ที่ศิลปินอย่าง ทินา สมิธ (Tina Smith) และเพ็กกี้ เดล พอร์ต (Peggy Delport) เข้า ร่วม ได้แสดงถึงลักษณะเฉพาะของชุมชน อย่างไรก็ตาม โครงการจดหมายเหตุเสียงกลายเป็นข้อท้าทายใหม่ในการทำงานของโลกยุคดิจิตอล เพราะจุดประสงค์สำคัญคือ การจัดเก็บมรดกเสียงและเปิดโอกาสให้สมาชิกของชุมชนได้ใช้ประโยชน์ เราเปิดโอกาสให้กระบวนการทำงานมาจากทุกฝ่าย และอาศัยเทคโนโลยีระบบดิจิตอลเช่น แผ่นซีดี ซีดี-รอม หรือแผ่นดีวีดี
 
จดหมายเหตุเสียงของชุมชนมีบทบาทในระยะยาวและพัฒนาเคียงคู่ไปกับผู้คนที่บันทึกความทรงจำ จดหมายเหตุเสียงทำหน้าที่เป็น"รับฝาก" ความ ทรงจำเพื่อการใช้งานในอนาคต ดังกรณีในออสเตรเลีย จดหมายเหตุเสียงใช้ในกระบวนการตั้งถิ่นฐานและเรียกร้องที่ดินของชาวอะบอริจิ น เจ้าของวัฒนธรรมผู้แสดงบทเพลงที่เนื้อหาบอกเล่าประวัติของพื้นที่ ย่อมมีสิทธิเหนือดินแดนอันเป็นที่มาของบทเพลง
 
จดหมายเหตุเสียงของชุมชนจะช่วยเผยแพร่แหล่งทรัพยากรวัฒนธรรมไปในวงกว้าง การริเริ่มโครงการจดหมายเหตุใหม่ๆ ทำให้เกิดแรงผลักดันในการทำงาน ทั้งในแอฟริกาตะวันตกและในพื้นที่อีกหลายแห่งเช่นแซมเบีย(Zambia) ดังตัวอย่างของการทำงานของพิพิธภัณฑ์นายุมมิ (Nayume Province) ในจังหวัดตะวันตกของแซมเบีย ที่บันทึกดนตรีพื้นถิ่นในเขตชนบทของแซมเบีย นอกจากนี้ ความสนใจในดนตรีพื้นถิ่นหรือ world music ได้ ผลักดันเงินทุนและการสนับสนุนจากยุโรปและสหรัฐอเมริกา ล่าสุดเมื่อข้าพเจ้าเข้าชมหอจดหมายเหตุดนตรีพื้นถิ่นในบลุมิงตัน รัฐอินเดียนา (Bloomington, Indiana) ข้าพเจ้าได้ทำความรู้จักกับนักวิชาการชาวเซเนกัล (Senegal) เขาได้กลับมาที่มหาวิทยาลัย หลังจากที่ได้จบการศึกษา 20 ปี เขาได้สำเนาบันทึกภาคสนามในขณะเป็นนักศึกษาสาขามานุษยวิทยาการดนตรี เพื่อนำกลับไปยังประเทศของตน ลองคิดดูว่าเซเนกัลมีจดหมายเหตุเสียงที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์
 
อย่างไรก็ตาม มีเรื่องที่ควรระวังอยู่ไม่น้อย จดหมายเหตุของชุมชนควรตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนในในการใช้ประโยชน์ด้วย เช่นกัน สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนได้จากภาพยนตร์เรื่องWatermelon Woman ผู้กำกับ เชอริล ดันนี (Cheryl Dunye) แสดงเป็นนักรณรงค์หญิงรักหญิง (lesbian activist) และผู้สร้างภาพยนตร์ เธอค้นหาชีวประวัติของนักแสดงหญิงชาวแอฟริกันอเมริกันในช่วงทศวรรษ 1940 จากภาพยนตร์ที่มีชื่อเดียวกัน Watermelon Woman ช่วงหนึ่งของภาพยนตร์กล่าวถึงตัวละครเอกที่เข้าไปค้นหาข้อมูลจดหมายเหตุของชุมชนหญิงรักหญิง (หรือในนามย่อ CLIT) นัก จดหมายเหตุได้โยนกล่องที่บรรจุภาพถ่ายและกระดาษลงพื้น แล้วเดินจากไป ปล่อยให้ตัวละครเอกค้นหาเอกสารต่างๆ และหลุดลอยไปกับข้อมูลในกล่องนั้น
 
ฉากที่หยิบยกมานี้พยายามสะท้อนถึงความสำคัญในการเข้าถึงข้อมูล ว่าอาจจะมีความสำคัญในอันดับต้นนอกเหนือไปจากการอนุรักษ์ ฉากได้ตั้งคำถามถึงความสมดุลย์ของความต้องการของชุมชนในระยะสั้นและการเก็บ รักษาในระยะยาว และแน่นอนว่าจดหมายเหตุของเขตหกเองไม่ได้เผชิญกับปัญหาดังกล่าวเป็นคนแรกๆ
 
อย่างไรก็ตาม จดหมายเหตุของชุมชนไม่ได้หมายถึงการปล่อยให้ความรับผิดชอบทุกอย่างตกอยู่กับเจ้าของวัฒนธรรม เราใช้เวลา18 เดือน ในการเตรียมการและพัฒนาความรู้พื้นฐานและระบบตามโครงการจดหมายเหตุที่ได้ริ เริ่มขึ้น รวมไปถึงการวางแผนและแนวทางปฏิบัติเชิงสถาบัน การดำเนินงานอย่างจริงจังทั้งการสืบค้นและจัดเก็บ การให้บริการและการอนุรักษ์จะเริ่มต้นในปี 2000 เมื่อจดหมายเหตุเปิดให้บริการกับสาธารณชน
 
เราจะจัดลำดับการทำงานและเชื่อมโยงกับหอจดหมายเหตุแห่งชาติ(National Archives) และหอภาพยนตร์ วีดิทัศน์ และจดหมายเหตุเสียงแห่งชาติ (National Film, Video and Sound Archives) เรา เชื่อว่าการทำงานจดหมายเหตุเสียงจะต้องอยู่ในลักษณะความร่วมมือเชิงนโยบาย และกลยุทธ์ เพื่อป้องกันความซ้ำซ้อนในการทำงาน เรายังมีหน่วยงานย่อยที่รับผิดชอบงานในลักษณะคล้ายคลึงกัน ทั้งศูนย์มายีบูย (Mayibuye Center) โครงการประวัติศาสตร์บอกเล่าของเคปตะวันตก (Western Cape Oral History Project) และซี เอ เอ็ม เอ (CAMA)
 
ท้ายนี้ เราเห็นว่างานจดหมายเหตุเสียงเป็นงานที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ลักษณะเด่นของโครงการอยู่ที่การอภิปรายและถกเกียงถึงเนื้อหาและรูปแบบการทำ งานอย่างไม่สิ้นสุดไปด้วยเช่นกัน คำถามที่ข้าพเจ้าปรารถนาจะทิ้งท้ายไว้คือ เราจะจัดสัดส่วนการทำงานเช่นใด ทั้งการจัดเก็บบันทึกความทรงจำ การสร้างองค์ความรู้ และการให้บริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนและเอื้อประโยชน์ต่อสาธารณชนในระดับที่กว้างมากขึ้น?
 
แปลและเก็บความจาก
Valmont Layne, "the Sound Archives at the District Six Museum: a work in progress" Archives for future, Global Perspectives on Audiovisual Archives in the 21st Century. Anthony Seeger and Shubha Chaudhuri (ed.). Calcutta: Seagull Books, 2004, pp. 183 - 195.
 
วันที่เผยแพร่ครั้งแรก: 29 ธันวาคม 2554
วันที่แก้ไข: 22 มีนาคม 2556