ข่าวสารพิพิธภัณฑ์

ใครว่าของเล่นดีดีมีแค่ความสนุก

มิวเซียมสยามชวนย้อนความหลังครั้งเป็นเด็กกับของเล่นสุดสร้างสรรค์ และ DIY สิ่งของรอบตัวให้เล่นเพลินแบบง่ายๆ   ฟังเสวนา "ของเล่น : เล่นให้สนุก เล่นให้เป็นพลังบวก IQ+EQ" โดย อ.กรองทอง บุญประคอง และ วีรวัฒน์ กังวาลนวกุล เสาร์ที่ 17 มกราคม 2558 เวลา 13.30-15.30 น. มิวเซียมสยาม   กิจกรรม Workshop รับวันละ 3 รอบ รอบละ 25 คน เสาร์ที่ 17 มกราคม 2558 10.30-12.00 น. ประดิษฐ์พญาลืมงาย + คอปเตอร์ไม้ไผ่ 13.30-15.00 น. ประดิษฐ์ลูกข่างซีดี + รถพลังลูกโป่ง + ปืนยิงลูกบอล 15.30-17.00 น. ประดิษฐ์พญาลืมงาย + คอปเตอร์ไม้ไผ่   18 มกราคม 2558 10.30-12.00 น. ประดิษฐ์สัตว์กะลา + ลูกข่างสะบ้า 13.30-15.00 น. ประดิษฐ์ลูกข่างซีดี + รถพลังลูกโป่ง + ปืนยิงลูกบอล 15.30-17.00 น. ประดิษฐ์สัตว์กะลา + ลูกข่างสะบ้า   สำรองที่นั่งโทรเสวนาและ workshop : 081-927-9328 หรืออีเมล์ duangporn@ndmi.or.th   ข้อมูลจาก Facebook-Museum Siam วันที่ 12 มกราคม 2558

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร บูรณะห้องจัดแสดง

นายสหภูมิ ภูมิธฤติรัฐ ผู้อำนวยสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่กรมศิลปากร ได้รับงบประมาณประจำปี 2558 โครงการอนุรักษ์และพัฒนาพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) เพื่อดำเนินการบูรณะห้องจัดแสดงพระที่นั่งทักษิณาภิมุข (ห้องการละเล่น) และพระที่นั่งบูรพาภิมุข (ห้องดนตรี) ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และได้ปิดการจัดแสดงภายในพระที่นั่งดังกล่าวไปแล้ว แต่เนื่องจากในการดำเนินการบูรณะ จำเป็นต้องตั้งนั่งร้านในบริเวณพื้นที่ทางเดินเชื่อมต่อไปยังพระที่นั่งวสันตพิมานและพระที่นั่งพรหมเมศธาดา ทำให้เกิดความไม่สะดวกและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุอันเนื่องมาจากการบูรณะฯ กับผู้เข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร   กรมศิลปากร จึงขอแจ้งปิดห้องจัดแสดงพระที่นั่งวสันตพิมาน ชั้นบน (ห้องจัดแสดงเครื่องงาช้าง) พระที่นั่งวสันตพิมาน ชั้นล่าง (ห้องจัดแสดงเครื่องถ้วย) พระที่นั่งพรหมเมศธาดา ชั้นบน (ห้องจัดแสดงเครื่องใช้ในพระพุทธศาสนา) และพระที่นั่งพรหมเมศธาดา ชั้นล่าง (ห้องจัดแสดงผ้า) ตั้งแต่บัดนี้ไปจนกว่าการบูรณะจะดำเนินการแล้วเสร็จ ทั้งนี้ ประชาชนยังสามารถเข้าชมการจัดแสดงในส่วนอื่นๆ ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้ตามปกติในวันพุธถึงวันอาทิตย์ (เว้นวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) เวลา 09.00-16.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร หมายเลขโทรศัพท์ 0-2224-1370   ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันที่ 12 มกราคม 2558

กรมศิลป์เก็บค่าเข้าชมโบราณสถานฯ

เมื่อวันที่ 2 ม.ค. นายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ตามที่กรมศิลปากรได้มีประกาศ เรื่องงดเก็บค่าเข้าชมโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทุกแห่งทั่วประเทศสําหรับชาวไทย ตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2557 เพื่อเป็นการขับเคลื่อนนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามแผนเสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ และคืนความสุขให้กับคนไทย จนถึงช่วงเทศกาลปีใหม่วันที่ 4 มกราคม 2558 นั้น กรมศิลปากรขอออกประกาศกําหนดวันสิ้นสุดการใช้บังคับประกาศกรมศิลปากรดังกล่าว และกําหนดวันเริ่มเก็บค่าเข้าชมโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทุกแห่งทั่วประเทศ สําหรับชาวไทยตามปกติตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2558 เป็นต้นไป เพื่อนําเงินส่งเข้ากองทุนโบราณคดี สําหรับใช้จ่ายในกิจการอันเป็นประโยชน์แก่โบราณสถานพรือการพิพิธภัณฑ์ต่อไป   ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 2 มกราคม 2558

เปิดพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี

สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ร่วมกับ จังหวัดพิษณุโลก, เทศบาลนครพิษณุโลก, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานพิษณุโลก ได้ลงนามความร่วมมือและแถลงข่าว การเปิดตัวพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวีในรูปแบบ Discovery Museum พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ต้นแบบแห่งแรกในจังหวัดพิษณุโลก ที่พร้อมเปิดให้ประชาชนและเยาวชนได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ของการชมพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้รูปแบบใหม่ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป   “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี” แห่งนี้ก่อตั้งขึ้น โดย จ่าสิบเอก ดร.ทวี บูรณเขตต์ เพื่อเก็บอดีตให้อนุชนรุ่นหลังได้เห็น และศึกษา อย่างเป็นระบบและมีมาตรฐานการจัดการในระดับสากล และเพื่อการคงอยู่อย่างยั่งยืนของแหล่งเรียนรู้โดยภายในพิพิธภัณฑ์ ได้ทำหน้าที่รวบรวมข้าวของเครื่องใช้ที่แสดงวิถีพื้นบ้านของชาวเมืองพิษณุโลก และภาคเหนือตอนล่าง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักสาน กระต่ายขูดมะพร้าว เครื่องมือจับปลา เครื่องดักสัตว์ ตะเกียง เครื่องปั้นดินเผานับหมื่นๆ ชิ้น มาจัดแสดง หรืออีกนัยหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่า “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี” แห่งนี้ คือขุมทรัพย์ทางประวัติศาสตร์ และภูมิปัญญาไทย ที่เก็บรวบรวมวิถีชาวบ้านที่นับวันจะหาดูได้ยากในปัจจุบันมากที่สุดอีกหนึ่งพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย   นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) กล่าวว่า สพร.ต้องการพัฒนาสนับสนุน ให้พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี คือแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ จะเป็นฐานในการศึกษาเพื่อพัฒนาพิพิธภัณฑ์มีชีวิต ที่บรรจุด้วยองค์ความรู้ และเป็นต้นแบบของการสร้างสรรค์แหล่งเรียนรู้ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการสร้างเครือข่ายของพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ในภูมิภาค ผ่าน 4 วิธีการหลัก ดังนี้   ด้านกายภาพ สพร. ใช้หลักการของ universal design เช่น การออกแบบให้คนพิการสามารถเข้าถึงพิพิธภัณฑ์ได้ การออกแบบลำดับประสบการณ์การชมโดยเพิ่มพื้นที่ orientation หรือการแสดงแนวคิดหลักของพิพิธภัณฑ์เพื่อสร้างความเข้าใจกับผู้ชมก่อนเข้าชมนิทรรศการ   ด้านนิทรรศการ ปรับรูปแบบการเรียนรู้ให้เป็นแบบ discovery museum เน้นการเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นหลัก ผ่านเทคนิคการเล่าเรื่องแบบ story telling ผ่านเทคโนโลยี และการมีส่วนร่วมของผู้ชมในการเข้าถึงข้อมูลด้วยตนเอง เช่น เกม หรือ อุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องดึง ผลัก ชักโยกด้วยตนเอง   ด้านการประชาสัมพันธ์ เน้นการสร้างให้พิพิธภัณฑ์จ่าทวีมีความโดดเด่นสะดุดตา และง่ายต่อการเข้าถึง เพื่อเป็นการเชิญชวนให้มีผู้สนใจเข้าชมพิพิธภัณฑ์มากขึ้น   และสุดท้าย ด้านความยั่งยืน ของการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ โดยการสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐ และคนในพื้นที่ เพราะพิพิธภัณฑ์ที่ดีจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และขับเคลื่อนโดยคนในชุมชนเอง   นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี จังหวัดพิษณุโลก ได้เปิดให้ประชาชนชาวไทยเข้าชมฟรี ในโอกาสการเปิดตัวพิพิธภัณฑ์ในรูปแบบ Discovery Museum โดยสามารถเข้าชมฟรีได้ทุกวันจันทร์ และวันอังคาร ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 15 เมษายน 2558 โดยเปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.30-16.30 น. สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร.055-212749   ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 6 มกราคม 2558  

เทศกาล Night at the Museum 5 ตอน ปลุกยักษ์

พบกับเทศกาล Night at the Museum 5 ตอน ปลุกยักษ์ วันที่ 19 – 21 ธันวาคมนี้ เวลา 16.00 – 22.00 น. ที่ มิวเซียมสยาม (ท่าเตียน) เข้าร่วมงานฟรี!! ครั้งหนึ่งในชีวิต ที่ “คุณ” จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการปลุกตำนานแห่งพลังอันยิ่งใหญ่ สู่แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ โอกาสเดียวในรอบปีที่จะได้ท่องพิพิธภัณฑ์ตอนกลางคืน ในเทศกาล Night at the Museum 5 ตอน ปลุกยักษ์ มหกรรมการเรียนรู้สุดสร้างสรรค์ประจำปี ที่จะพาคุณไขคติความเชื่อเรื่องยักษ์ที่สืบทอดกันมาผ่านกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ Up level จินตนาการกับสารพัดยักษ์นานาชาติและยักษ์ขนาดมหึมา!! เตรียมปลดปล่อยพลังยักษ์ในตัวคุณผ่านเรื่องเล่าของคนเล็กคิดยักษ์ อาทิ เก่ง The Voice ตัวแทนคนเป็นยักษ์ ที่สร้างความต่างด้วยการนำความเป็นไทยมาผสานกับความสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ตัวแทนของคนเห็นยักษ์ จะมาเล่าเรื่องราวของคนคิดยักษ์จากทั่วโลกที่เขาได้มีโอกาสไปพบเจอ และ จิรัฏฐ์ พรพนิตพันธุ์ ตัวแทนของคน Gen ยักษ์ ผู้ก่อตั้งนิตยสาร Cheeze ที่จุดกระแสการแต่งตัวแนวสตรีทแฟชั่นให้บูมขึ้นในเมืองไทย และยังสนุกสนานกับบูธเกมนานาชนิด ตลาดอาหารและสินค้าแนวคิดยักษ์ เต็มอิ่มกับการแสดงกลางแจ้งสุดอลังการ The Spirit of Giants เปิดตำนานมหัศจรรย์ยักษ์ท่าเตียน ที่คุณไม่อาจคาดเดา!! สอบถาม โทร. 02-225-2777 คลิกดูรายละเอียดเพิ่มเติม  ข้อมูลจาก มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้

เปิดตัวหนังสือและชุดวีดีทัศน์ “คนทำพิพิธภัณฑ์: รอยต่อความรู้ของท้องถิ่นกับสังคม”

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (ศมส.) ขอเชิญร่วมกิจกรรมสัมมนาวิชาการ เปิดตัวหนังสือและชุดวีดีทัศน์ “คนทำพิพิธภัณฑ์: รอยต่อความรู้ของท้องถิ่นกับสังคม” มาร่วมเสวนาเบื้องลึกเบื้องหลังบันทึกของคนทำงานวัฒนธรรม พร้อมวิทยากรพิเศษ ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล นักวิชาการอิสระพบกันวันศุกร์ที่ 19 ธันวาคม 2557 เวลา 13.30-17.00 น. ณ หอประชุม ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)   กิจกรรมสัมมนาทางวิชาการเปิดตัวหนังสือและชุดวีดีทัศน์ “คนทำพิพิธภัณฑ์: รอยต่อความรู้ของท้องถิ่นกับสังคม” เป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่ผลงานวิชาการของ ศมส. ในประเด็นมรดกทางวัฒนธรรม โดยตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ศมส. ได้ทำงานด้านพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นร่วมกับนักวิชาการ ผู้ปฏิบัติการทางวัฒนธรรมในระดับชุมชนท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง ดังเห็นได้จากฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยที่มีข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยมากกว่า 1,400 แห่ง และการจัดงานเทศกาลพิพิธภัณฑ์มาอย่างต่อเนื่องถึง 3 ครั้ง ซึ่งเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิชาการและผู้ปฏิบัติการทางวัฒนธรรมในระดับชุมชนท้องถิ่น จนเกิดการสั่งสมองค์ความรู้และเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง   กำหนดการ 13.30 น.           ลงทะเบียน 14.00-15.00 น. การเสวนา “เบื้องหลังบทบันทึกคนทำงานวัฒนธรรม”  โดย  ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ นักวิชาการอิสระ ปณิตา สระวาสี นักวิชาการ ศมส. นางสาวพัชรีวรรณ เบ้าดี เจ้าหน้าที่โสตทัศน์ 15.00-16.30 น. การเสวนา “คำให้การคนทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น” โดย พระครูปลัดสุวัฒนจริยคุณ ประธานเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นล้านนา ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล นักวิชาการอิสระ อาจารย์วาที ทรัพย์สิน พิพิธภัณฑ์หนังตะลุงสุชาติ ทรัพย์สิน 16.30-17.00น. เปิดตัวหนังสือและชุดวีดีทัศน์ “คนทำพิพิธภัณฑ์” 17.00 น.           ปิดการบรรยาย   รายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ: 02-8809429 ต่อ 3815, 3801 หรือคลิกดูนิทรรศการออนไลน์ 10 คนทำพิพิธภัณฑ์ ได้ที่ www.sac.or.th/exhibition/museummakers/

ร้อยเรื่องเล่าเมืองโบราณ ฉลองชาตกาล 100 ปีผู้ก่อตั้ง

เมืองโบราณพิพิธภัณฑ์เอกชนกลางแจ้งแห่งแรกของโลก จัดงาน “100 ปี เล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ร้อยเรื่องเล่าเมืองโบราณ” เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี ชาตกาล เล็ก และ ประไพ วิริยะพันธุ์ ผู้ก่อตั้งเมืองโบราณ พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ และปราสาทสัจธรรม และในโอกาสที่กลุ่มบริษัทครบรอบ 50 ปีเมืองโบราณ พรั่งพร้อมด้วยกิจกรรมสาระและความบันเทิง เปิดให้เที่ยวงานฟรีตลอดทั้ง 3 วัน ระหว่างวันที่ 15-17 พฤศจิกายน 2557   ในงานพบกับกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ กิจกรรมเสวนาอดีต 100 ปัจจุบัน/นิทรรศการรำลึก 100 ปี/กิจกรรมแรลลี่ร้อยเรื่องเล่าเมืองโบราณ/ตลาดร้อยรื่นรมย์ อารมณ์ศิลป์/ขบวนรื่นเริงกลองยาว ร้อยเรื่องราวชาวสยาม และมินิคอนเสิร์ตจากศิลปิน เดอะ สตาร์ เป็นต้น   อีกทั้ง ยังมีกิจกรรมเสวนาในหัวข้อที่น่าสนใจต่างๆ มากมาย อาทิ เสวนาเปิดตัวหนังสือ บันทึกความคิด-ร้อยเรื่องเล่าเมืองโบราณ เสวนา กระตุกต่อมคิด ต่อยอดไอเดีย กับ 2 ศิลปินนักแสดงนักคิดนักเขียน เจี๊ยบ-วรรธนา วีรยวรรธน และ ท็อป-พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร เสวนารำลึก 100 ปี เล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ร้อยเรื่องเล่าเมืองโบราณ และกิจกรรมรำลึก เล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ โดยบทกวีจากศิลปินแห่งชาติ อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์     งานนี้เปิดให้เข้าชมและเที่ยวเมืองโบราณฟรี ระหว่างวันที่ 15-17 พฤศจิกายน 2557 เวลา 09.00-21.00 น. ณ เมืองโบราณ สมุทรปราการ (มีรถบริการรับ-ส่งบริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส แบริ่ง) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร.02-3234094-9 หรือ www.facebook.com/AncientSiam และ www.ancientsiam.com   ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันที่ 13 พฤศจิกายน 2557

หวนคืนสู่วันวาน กับพิพิธภัณฑ์เครื่องถ้วยฯ

พิพิธภัณฑสถานเครื่องถ้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยกรุงเทพจัดงาน “หวนคืนสู่วันวาน…พิพิธภัณฑสถานเครื่องถ้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” The Return of Southeast Asian Ceramics Museum ในวันศุกร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2557 ณ อาคารจัดแสดง พิพิธภัณฑสถานเครื่องถ้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต   ดร.ปริวรรต ธรรมาปรีชากร ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานเครื่องถ้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยว่าเนื่องในโอกาสที่พิพิธภัณฑสถานฯ กลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้งหลังจากที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยครั้งใหญ่ ในปี พ.ศ.2554 โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวอาคารจัดแสดง นิทรรศการถาวร และชั้นล่างของอาคารส่วนขยาย เนื่องจากอาคารจัดแสดงถูกสร้างอยู่ใต้ดิน ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุด ไม่สามารถป้องกันตัวเองจากอุทกภัยได้ กอปรกับมหาวิทยาลัยต้องเร่งปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียนเป็นอันดับแรก อีกทั้งต้องดำเนินการสร้างพนังกั้นน้ำโดยรอบให้แล้วเสร็จเพื่อให้สามารถป้องกันได้ทั้งระบบ มหาวิทยาลัยจึงได้ชะลอการปรับปรุงซ่อมแซมพิพิธภัณฑสถานและการจัดแสดงนิทรรศการใหม่ออกไป จนกระทั่งเพิ่งแล้วเสร็จเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และสามารถกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง   สำหรับกิจกรรมในภาคเช้า จัดให้มีการบรรยายทางวิชาการในด้านต่างๆ จากผู้ทรงคุณวุฒิด้านจีนศึกษาในหัวข้อ “อยุธยากันจีน : ร่องรอย ความสัมพันธ์ วิถีชีวิต และศิลปกรรม” ระหว่างเวลา 08.30-15.15 น. ณ ห้องประชุมสุรัตน์ 2 หอสมุดสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ภาคบ่าย ชมการแสดงระบำสุโขทัยของชมรมนาฏศิลป์ไทย (เพื่อสอดแทรกการส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นชาติ ซึ่งครั้งนี้เลือกการแสดงระบำสุโขทัย เพื่อชี้ให้เห็นถึงจุดเริ่มต้นของการสะสมศิลปะโบราณวัตถุของอาจารย์สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ซึ่งเริ่มต้นจากเครื่องปั้นดินเผาสุโขทัย เนื่องจากเชื่อว่า เป็นจุดเริ่มต้นของคนไทย) มีการบรรยายพิเศษเกี่ยวกับแรงจูงใจในการเก็บสะสมโบราณวัตถุของ อ.สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ และประสบการณ์ชีวิตของท่าน ซึ่งไม่เคยมีท่านใดทราบมาก่อน และชมนิทรรศการที่ติดตั้งและปรับปรุงใหม่ ในวันศุกร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2557 ระหว่างเวลา 15.15-18.00 น. ณ อาคารจัดแสดง พิพิธภัณฑสถานเครื่องถ้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต   ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันที่ 11 พฤศจิกายน 2557

เปิดพิพิธภัณฑ์บ้านโคกคอนที่ อ.ท่าบ่อ

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่บ้านโคกคอน หมู่ 4 ต.โคกคอน อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย นายอนุรัฐ ไทยตรง นายอำเภอท่าบ่อ เป็นประธานเปิดพิพิธภัณฑ์โคกคอน ซึ่งทางองค์การบริหารส่วนตำบลโคกคอน ร่วมกับชาวบ้านโคกคอนจัดขึ้น โดยมีการจัดริ้วขบวนอารยธรรม แต่งกายย้อนยุคให้ผู้เข้าร่วมงานได้ชม โดยชาวบ้านโคกคอน ได้พบวัตถุโบราณมานานหลายสิบปี จนกระทั่งปี 2544 กรมศิลปากร ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาสำรวจ        พบว่าแหล่งโบราณคดีดังกล่าวเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ร่วมสมัยกับแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ต่อเนื่องมาถึงสมัยทวารดี อายุประมาณ 1,500-2,500 ปีมาแล้ว มีการขุดพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ และเครื่องใช้ต่างๆ โบราณวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องมือหินขัด กำไลหิน หัวลูกศรหิน กระพรวนสำริด แท่งดินเผา ภาชนะดินเผาเขียนลายสีแดง เบ้าหลอมโลหะ และเหรียญฟูนันสมัยทวารดี        หลังจากนี้ อบต.โคกคอน เป็นผู้รับผิดชอบดูแล และบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์บ้านโคกคอนแห่งนี้ร่วมกับประชาชนในชุมชน และพร้อมเปิดให้บริการประชาชนทั่วไปเข้าชม และศึกษาประวัติศาสตร์ได้ตั้งแต่บัดนี้   ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 5 พฤศจิกายน 2557