ข่าวสารพิพิธภัณฑ์

ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยน "ผ้าไทยในโลกแฟชั่น"

พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ร่วมกับ ชนิตา ปรีชาวิทยากุล นายกสมาคมนักออกแบบแห่งประเทศไทยและเจ้าของแบรนด์ Senada และ กุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารนิตยาสารโว้ก ประเทศไทย พร้อมทีมงาน ขอเชิญชวนผู้ที่สนใจมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่อง "การสร้างสรรค์ผ้าไทยให้ออกมาเป็นที่นิยม และบทบาทผ้าไทยในเวทีแฟชั่นโลก" ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2556 เวลา 13.00 – 15.00 น. ณ ห้องประชุมพิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ลงทะเบียนเวลา 12.30 น. ติดต่อลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่ 02-2259420, 02-2259430 ต่อ 0 หรือ Email:info@qsmtthailand.org ข้อมูลจาก Facebook ; Queen Sirikit Museum of Textiles

งาน The R.C.A. แสดงชุดภาพถ่ายบุคคล

หอศิลป์ร่วมสมัยเถ้า ฮง ไถ่ ดีคุ้น ขอเชิญร่วมงาน The R.C.A. (Ratchaburi Construction Workers Open Air) ของศิลปินช่างภาพเยอรมันชื่อดังระดับโลก Ralf Tooten  นิทรรศการอาร์.ซี.เอ. (คนงานก่อสร้างเมืองราชบุรีกลางแจ้ง) คือการจัดแสดงชุดภาพถ่ายบุคคลซึ่งต่อเนื่องมาจากชุดภาพถ่ายเอดับบลิวซีเมื่อปีพ.ศ. 2550 – 2553 อันเกิดมาจากความร่วมมือระหว่างช่างภาพราล์ฟทูเท็นและศิลปิน,ภัณฑารักษ์ วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ผลจากการทำงานอย่างต่อเนื่องนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่สถานที่ /ภูมิภาคไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับผลลัพธ์จากการถ่ายภาพบุคคลแต่ยังเกี่ยวข้องถึงการนำเสนอแนวคิดคือการสร้างการรับรู้สิ่งใหม่ที่สมบูรณ์และเป็นความพยายามทำให้มองเห็นปัญหาสำหรับคนที่ไม่ได้ตระหนักถึงมันอีกด้วย โดยผลงานจะกระจายตามจุดต่างๆ ทั่วตัวเมืองราชบุรี ซึ่งมารับแผนที่ได้ที่ หอศิลป์ร่วมสมัยเถ้า ฮง ไถ่ ดีคุ้น งาน The R.C.A. (Ratchaburi Construction Workers Open Air) แสดงถึงวันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม 2556   ข้อมูลจาก Facebook ปกติศิลป์ [Art Normal]  

งาช้างเก่าแก่ หายจากพิพิธภัณฑ์ชัยนาทมุนี ได้คืนแล้ว!

เมื่อเวลา 15.00น. วันที่ 26 เมษายน  พ.ต.อ.อุกฤษ ภู่กลั่น ผกก.สภ.เมืองชัยนาท แจ้งไปยัง นางเสน่ห์  ประกอบทอง หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานชัยนาทมุนี จ.ชัยนาท ให้มาตรวจรับงาช้างขนาด 105 ซ.ม.  จำนวน 2 กิ่งที่ถูกนายอมร กล่อมกำเนิด อดีต รปภ.และนายโสภณ วสุวัฒนเมธีคนงานของพิพิธภัณฑสถานชัยนาทมุนีขโมยไป และนำไปขายให้ร้านรับซื้อวัตถุโบราณในตลาดนัดจตุจักร โดยการติดต่อซื้อขายผ่านระบบอินเตอร์เน็ตเมื่อเดือน พ.ย. 55 ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองชัยนาท ได้ติดตามสืบสวนจนพบตัวผู้ซื้อซึ่งเป็นร้านซื้อขายของเก่าและวัตถุโบราณในตลาดนัดจตุจักร ชื่อ"สิทธิกรแอนติก" พ.ต.อ.อุกฤษ เผยว่า เมื่อทางเจ้าของร้านสิทธิกรแอนติก ทราบว่างาช้างคู่ดังกล่าวที่ซื้อไว้ในราคา  400,000บาทนั้นเป็นของที่ถูกโจรกรรมมาจาก พิพิธภัณฑสถานชัยนาทมุนี จ.ชัยนาท และนายอมร กล่อมกำเนิด เป็นผู้ขโมยมา ทางร้านแจ้งว่างาช้างคู่ดังกล่าวไม่ทราบว่าเป็นของพิพิธภัณฑสถานชัยนาทมุนี เพราะผู้ขายคือนายอมรแจ้งว่าเป็นสมบัติของปู่-ย่าตกทอดมาถึงรุ่นตน จึงนำมาขายทำทุน แต่ทางร้านยินดีที่จะติดตามซื้อคืนจากลูกค้าที่รับซื้อไป และนำกลับมามอบคืนให้ทางพิพิธภัณฑสถานชัยนาทมุนี   ต่อมาทางร้านได้นำมามอบคืนให้เมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่สำนักงานตำรวจภาค1 และส่งมอบให้ สภ.เมืองชัยนาททำการนัดหมายให้พิพิธภัณฑสถานชัยนาทมุนีมาตรวจรับ เมื่อนางเสน่ห์ประกอบทอง เดินทางมาถึงพร้อมด้วยเจ้นหน้าที่ของพิพิธภัณฑสถานชัยนาทมุนี ทำการตรวจสอบลักษณะรูปพรรณ เทียบกับภาพถ่ายในทะเบียนวัตถุโบราณโดยลักษณะทั้งหมดยืนยันว่าเป็นงาช้างคู่ที่หายไป  ทางพิพิธภัณฑสถานชัยนาทมุนีจึงตรวจรับกลับไปเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานชัยนาทมุนีเหมือนเดิม และจะรายงานให้ผู้บังคัญชาทราบต่อไป   ข้อมูลจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 26 เมษายน 2556  

"สนธยา"ข้องใจการทำงานของเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์

เมื่อวันที่ 25 เม.ย. นายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของวธ. ว่า ตนได้มอบหมายให้นายสหวัฒน์ แน่นหนา อธิบดีกรมศิลปากรไปจัดระบบการบริหารจัดการภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั้ง 44 แห่งทั่วประเทศขึ้นใหม่หลังจากเกิดกรณีโบราณวัตถุภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนีถูกโจรกรรม อีกทั้งให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ทั้งหมดด้วย เนื่องจากคนร้ายให้การรับสารภาพว่าได้หยดน้ำใส่กล้องวงจรปิดและขโมยของไปตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 แสดงให้เห็นว่า 7 เดือนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ก็ไม่รู้เลยว่ากล้องวงจรปิดเสีย ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่และตรวจสอบกล้องวงจรปิดว่ายังใช้การได้หรือไม่ หากพบว่าเจ้าหน้าที่มีความบกพร่องก็จะต้องมีมาตรการลงโทษต่อไป “จากกรณีที่เกิดขึ้น ผมเห็นว่าต้องมีการจัดทำยุทธศาสตร์เกี่ยวพิพิธภัณฑ์กันใหม่ทั้งระบบ เพื่อให้พิพิธภัณฑ์สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ และสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ที่สำคัญจะให้มีการจัดทำระบบทะเบียนบัญชีโบราณวัตถุสำคัญของพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศ และเข้มงวดการจัดระบบรักษาความปลอดภัยให้มากขึ้นด้วย” นายสนธยา กล่าว.   ข้อมูลจาก  เดลินิวส์ วันที่ 25 เมษายน 2556    

จับมือขโมยวัตถุโบราณพิพิธภัณฑ์ได้แล้ว!

ความคืบหน้าคดีขโมยวัตถุโบราณจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ต.อ.ปัญญา นาควิเชียร รองผบก.ภ.จว.ชัยนาท พ.ต.อ.อุกฤต ภู่กลั่น ผกก.สภ.เมืองชัยนาท พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ นำหมายศาลจังหวัดชัยนาทเข้าจับกุม นายอมร กล่อมกำเนิด อดีต รปภ.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี ที่บ้านเลขที่ 207 หมู่ 3 ต.ชัยนาท อ.เมือง ผู้ต้องหารับสารภาพว่าขโมยวัตถุโบราณในห้องคลังของพิพิธภัณฑ์หลายครั้งรวม 61 ชิ้น โดยก่อเหตุร่วมกับนายโสภณ วสุวัฒนเมธี อายุ 35 ปี คนงานในพิพิธภัณฑ์ โดยใช้น้ำหยดใส่ตัวบันทึกข้อมูลกล้องวงจรปิดให้เสีย แล้วเข้าไปขโมยโดยก่อเหตุตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 ครั้งล่าสุดมกราคมที่ผ่านมา จากนั้นได้ลาออกเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์   ส่วนวัตถุโบราณที่ขโมยนั้น นำไปขายที่ตลาดนัดจตุจักร กรุงเทพฯ ขายงาคู่ใหญ่ได้ 4 แสนบาท งาคู่เล็ก 8 หมื่นบาท ส่วนวัตถุอื่นๆ ขายได้หลักพัน หลักหมื่น เงินที่ได้แบ่งกันคนละครึ่งนำไปเที่ยวเตร่ ส่วนวัตถุโบราณที่เหลือใส่กล่องห่อถุงดำฝังดินไว้ที่ข้างบันไดบ้าน และบางส่วนนายโสภณแบ่งไปเก็บไว้ที่บ้าน   รายชื่อโบราณวัตถุ 59ชิ้น   อธิบดีกรมศิลปากร “อยากฝากถึง ผู้ที่กำลังครอบครอง หรือ กำลังจะรับซื้อโบราณวัตถุที่หายไป ว่า ขอให้นำมาโบราณวัตถุดังกล่าวมาคืนกับเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ทั้งในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชัยนาทมุนี หรือ ที่กรมศิลปากร ส่วนกลาง ได้โดยตรง เพราะ อาจจะมีประชาชน ถูกหลอกให้รับซื้อไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งนี้โบราณวัตถุดังกล่าว ถือเป็นสมบัติของชาวจังหวัดชัยนาท และเป็นมรดกชาติที่มีความสำคัญ และมีคุณค่าเก่าแก่ตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ จึงอยากขอความร่วมมือผู้รับซื้อไป ให้นำมาคืน หรือหากประชาชนที่ทราบเบาะแสคนร้ายให้รีบแจ้งมายัง เจ้าหน้าที่ตำรวจ และกรมศิลปากรได้ทันที”   ข้อมูลจาก คมชัดลึก วันที่ 24 เมษายน 2556

กรมศิลป์เผยเครื่องคชาภรณ์จำลองเสร็จ พ.ค.นี้

นายสหวัฒน์ แน่นหนา อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า สืบเนื่องจากกรมศิลปากรได้ส่งมอบเครื่องคชาภรณ์ ให้กรมธนารักษ์ เก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจำนวน 8 รายการ โดยกรมธนารักษ์ได้นำของจริงเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์แสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินไว้แล้ว ส่วนกรมศิลปากรได้มอบหมายให้สำนักช่างสิบหมู่ ดำเนินการทำจำลองเครื่องคชาภรณ์ทั้งหมดขึ้นมาใหม่อีก 1 ชุด เพื่อนำไปประดับช้างภายในพิพิธภัณฑ์ช้างต้นนั้น ขณะนี้การดำเนินการในภาพรวมถือว่ามีความคืบหน้ากว่า 90 เปอร์เซ็นแล้ว ประกอบด้วย   1.ผ้าปกกระพองพร้อมตาข่ายกุดั่น จำนวน 1 ชุด ทำด้วยโลหะชุบทองฝังอัญมณีสังเคราะห์ ลงยาสี 2.พู่จงกลหู จำนวน 1 คู่ เป็นพู่จามรีทำด้วยโลหะสลักดุนลวดลายชุบทอง ลงยาสี ซึ่งได้ขนจามรีที่มีคุณภาพจากแคว้นแคชเมีย ประเทศอินเดีย 3.เสมาคชาภรณ์พร้อมสายสร้อย จำนวน 1 ชุด ทำด้วยโลหะสลักดุน เป็นรูปตราพระมหาพิชัยมงกุฎ ชุบทองลงยา และลายประดับรับส่วนล่างรูปพญานาคใช้หางเกี่ยวกันทำนองนาคเกี้ยว ส่วนบนใบเสมาตีปลอกบุดุนลวดลายลงยา มีลูกปัดทองทรงกลมกลวงสำหรับสอดร้อยด้วยสายสร้อยทอง 4.วลัย (สนับงา) จำนวน 6 อัน วลัยเป็นลวดลายรูปทรงกระบอกกลวง ใช้สวมประดับงาช้างทำนองเดียวกับพาหุรัดทองกร ของเทวดาและมนุษย์ ประดับที่งาทั้งสองข้าง ทำด้วยโลปะสลักดุนชุบทองประดับอัญมณีสังเคราะห์ 5.พระนาด จำนวน 1 ผืน เป็นผ้าคลุมหลังทำด้วยผ้าเยียรบับสีแดง มีระบายชั้นเดียว ตรงกลางท้องผ้าติดกระเป๋ากันชีพผ้ากำมะหยี่สีน้ำเงินขลิบริมด้วยดิ้นทอง ตรงกลางปักไหมเหลืองตราพระมหาพิชัยมงกุฎ 6.พานหน้า จำนวน 1 ชุด เป็นชุดสายพาน และสายรัดทั้งหมด ทำด้วยผ้าถักแบบสายพานหุ้มผ้าตาดทองมีห่วงโลหะชุบทองเป็นตัวเกี่ยว ผูกด้วยเชือกหุ้มผ้าตาดทองทุกจุด 7.พานหลังจำนวน 1 ชุด 8.สำอางพร้อมห่วงจำนวน 1 ชุด ห่วงคล้องมีลักษณะเป็นรูปขอ ทำด้วยโลหะชุบทอง ห่วงสำอางทำลวดลายประดับ   คาดว่าการดำเนินการจำลองเครื่องคชาภรณ์ทั้งหมดจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนพฤษภาคมนี้   ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 23 เมษายน 2556  

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี โดนยกเค้า!

วันที่ 23 เม.ย. ผู้สื่อข่าว ข่าวสด รายงานว่า พล.ต.ต.ภวัต พรหมมะกฤต ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท พร้อมด้วย พ.ต.อ.อุกฤษ ภู่กลั่น ผกก.สภ.เมืองชัยนาท รุดไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชัยนาทมุนี ตั้งอยู่ภายในวันพระบรมธาตุวรวิหาร หมู่ 6 ต.ชัยนาท อ.เมือง จ.ชัยนาท หลังได้รับแจ้งจากหัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชัยนาทมุนี ว่าวัตถุโบราณในห้องคลังสูญหายจำนวนมาก เมื่อถึงที่เกิดเหตุ นางเสน่ห์ ประกอบทอง หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี กล่าวว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี สังกัดสำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เป็นหน่วยงานที่รวบรวมเก็บรักษา อนุรักษ์ และจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดชัยนาท โดยเมื่อวันที่ 20 เม.ย. ได้เข้าไปตรวจสอบในห้องคลังวัตถุโบราณ พบว่างาช้างคู่ใหญ่ได้สูญหายไป จึงใช้เวลาทำการตรวจสอบสิ่งของชิ้นอื่นๆ เป็นเวลา 2 วัน  พบว่าวัตถุโบราณในห้องคลังหายไปจำนวน 52 รายการ 61 ชิ้น ประกอบด้วย งาช้างคู่ใหญ่ที่หายไปเป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ อายุกว่า 200 ปี ขนาดยาว 105 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 11 เซนติเมตร รอบงา 32 เซนติเมตร และคู่เล็กอีก 1 คู่ รวมทั้งยังมีวัตถุโบราณอื่นๆ อาทิ ภาชนะดินเผาโบราณ พระพิมพ์สมัยต่างๆ และเหรียญกษาปณ์เป็นจำนวนมาก ที่ตั้งโชว์ และบรรจุกล่อง อยู่ภายในห้องคลังเก็บวัตถุโบราณ ของพิพิธภัณฑ์ฯ ซึ่งเป็นห้องอยู่ด้านหน้า ซึ่งมีป้ายนิทรรศการปิดบังประตูไว้ หากไม่สังเกตจะไม่ทราบว่ามีประตูอยู่ด้านหลัง อยู่ระหว่างประเมินมูลค่าความเสียหาย จากการสอบสวนทราบว่า ที่บริเวณโดยรอบไม่มีร่องรอยงัดแงะ คาดว่าคนร้ายใช้กุญแจไขเข้าไป และพบว่ากล้องวงจรปิดที่ติดไว้ตามมุมต่างๆ ใช้การไม่ได้ และเมื่อตรวจสอบทางด้านบุคลากรของพิพิธภัณฑ์เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มียามลาออกไป 1 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่จะได้เชิญมาสอบสวนต่อไป       ข้อมูลจาก ข่าวสดออนไลน์ วันที่ 23 เมษายน 2556

ดิลิเวอรี รถพิพิธภัณฑ์ถึงรั้วโรงเรียน

หลายคนเข้าใจผิดและมีมุมมองว่า พิพิธภัณฑ์เป็นโกดังเก็บของเก่า ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจให้ถูกต้อง พิพิธภัณฑ์ของกรมศิลปากร เป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ โบราณคดี เราเน้นโบราณวัตถุ เหมือนพิพิธภัณฑ์หลายแห่ง เช่นพิพิธภัณฑ์ กีเมต์ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งปัจจุบันเราได้นำมัลติมีเดียมาบูรณาการร่วมกับพิพิธภัณฑ์เพื่อให้ผู้ชมเห็นภาพเคลื่อนไหว ประวัติความเป็นมาสั้นๆ เช่น พระพุทธรูปในแต่ละยุคสมัย ขบวนแห่ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ และพิพิธภัณธ์เรือพระราชพิธี จะเห็นภาพขบวนเรือพยุหยาตราชลมารค เป็นพระราชพิธีที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นการถ่ายทอดเรื่อยราวประวัติความเป็นมา ประเพณีวัฒนธรรม เพื่อให้คนรุ่นหลังเข้าใจอย่างถูกต้อง   อนันต์ ชูโชติ ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม อธิบายพร้อมเล่าให้ฟังว่า เราทยอยปรับปรุงพัฒนาพิพิธภัณฑ์ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดบางแห่งให้ทันสมัยขึ้นแล้วในขณะนี้ได้ทำรถโมบายพิพิธภัณฑ์สัญจร เพื่อไปเสิร์ฟความรู้ให้เด็กในสถานศึกษาที่อยู่ห่างไกล สถาบันด้านวัฒนธรรม ฯลฯ ถึงประตูโรงเรียน โดยภายในรถโมบาย เราได้บรรจุข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับงานในพิพิธภัณฑ์ มีการจำลองโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พร้อมกันนี้ยังได้จัดทำในรูปแบบวีดีทัศน์ โดยมีเนื้อหาสั้นๆ รูปภาพ เกี่ยวกับโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่อยู่พิพิธภัณฑ์ต่างๆ ของกรมศิลปากร เพื่อให้เด็ก เยาวชน ประชาชน ได้ศึกษาค้นคว้าและเข้าใจง่ายๆ   “รถพิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่ เราได้มีการสรุปเรื่องราว เนื้อหาสาระ เกี่ยวพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ไว้ครบถ้วน มีการจำลองโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เพื่อให้ผู้ชมได้เข้าใจ มั่นใจว่าเด็ก ครู ประชาชน เมื่อชมแล้ว ไม่มากก็น้อยจะจุดประกายให้ผู้เข้าชมจำนวนหนึ่งอยากไปเยือนพิพิธภัณฑ์ใกล้บ้านจริงๆ”   อนันต์ ฉายที่มาของการสร้างรถพิพิพัณฑ์สัญจรว่า นี่เป็นกลยุทธ์หนึ่งของกรมศิลปากร เพื่อเผยแพร่ข้อมูลพร้อมดึงคนไทยให้กลับมาสนใจงานพิพิธภัณฑ์ โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาที่อยู่ห่างไกล หรือจังหวัดนั้นไม่มีพิพิธภัณฑ์ โอกาสที่จะได้มาสัมผัส เรียนรู้นั้นน้อยมาก สำหรับสถาบันด้านวัฒนธรรม จะจัดกิจกรรม ทางผู้จัดก็ทำเรื่องขอรถโมบายพิพิธภัณฑ์มาเผยแพร่ความรู้ได้   อนันต์ บอกว่า เราไม่หยุดพัฒนาอยู่แค่นี้นะ เราจะเพิ่มข้อมูล เนื้อหา มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างตอนนี้เราเก็บข้อมูลโบราณวัตถุเด่น ประมาณ 200 ชิ้น เผื่อใครสนใจเรื่องใดเป็นพิเศษก็คลิ๊กเข้าไปศึกษาข้อมูลได้ เช่น พระพุทธรูป ขวานหินและอื่นๆ เป็นต้น โดยเราจะทำซอฟแวร์เพิ่มขึ้นให้สมบูรณ์มากที่สุด ส่วนศิลปวัตถุ โบราณวัตถุจำลอง จะทำเป็นลักษณะนิทรรศการหมุนเวียน ทั้งนี้ จะดูว่ารถโมบายจะไปจัดแสดงจังหวัดไหน จะเน้นจังหวัดนั้นและจังหวัดใกล้เคียง    นี่คือการทำงานเชิงรุกของกรมศิลปากร ดิลิเวอรี เสริฟความรู้ให้เด็ก เยาวชน ประชาชน ถึงประตูบ้าน อย่างไรก็ตามจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด คงไม่อาจบอกได้ แต่เป็นนิมิตหมายที่ดีให้คนไทยได้เรียนรู้ รู้จักประวัติศาสตร์ รากเหง้าประเพณีวัฒนธรรมของตัวเองมากยิ่งขึ้น   ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 22 เมษายน 2556

ครบ 125 ปี รพ.ศิริราชจัดงานใหญ่

เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ที่ตึกอำนวยการ โรงพยาบาลศิริราช ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณะบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวระหว่างเป็นประธานงานแถลงข่าว “125 ปี รพ.ศิริราช มุ่งมั่นพัฒนา นำพาสังคม ชมมหกรรมความรู้เพื่อสุขภาพ ร่วมงานเดิน-วิ่งผสานชุมชน” ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานโรงพยาบาลหลวงแห่งแรกของประเทศนามว่า “ศิริราช” เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2431 และทรงทำนุบำรุงกิจการของโรงพยาบาลตลอดพระชนม์ชีพ เพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้งเฉลิมฉลองวาระ 128 ปี วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ และเฉลิมฉลองครบรอบ 1 ปี ของโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ คณะแพทยศาสตร์ฯจึงจัดงานเฉลิมฉลอง “125 ปี โรงพยาบาลศิริราช มุ่งมั่นพัฒนา นำพาสังคม” ขึ้นในวันที่ 28 เม.ย.-3 พ.ค. 2556 โดยกิจกรรมภายในงานจะประกอบด้วย งานศิริราชเดิน-วิ่งผสานชุมชน ครั้งที่ 7 และมหกรรมความรู้เพื่อสุขภาพ       ด้าน ศ.คลินิก นพ.โชคชัย เมธีไตรรัตน์ ผู้อำนวยการ รพ.ศิริราช กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมมหกรรมความรู้เพื่อสุขภาพ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 เม.ย.-3 พ.ค. 2556 เพื่อเผยแพร่ความรู้และสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนในการดูแลสุขภาพ นอกจากนี้ ยังมีการรวบรวมประวัติศาสตร์และความก้าวหน้าทางการแพทย์ของ รพ.ศิริราช ถึง 125 ปีมาจัดแสดง 3 แห่ง คือ หอประชุมราชแพทยาลัย อาคารศรีสวรินทิรา และอาคาร 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ ในรูปของนิทรรศการทางวิชาการ อาทิ นิทรรศการโรคที่พบบ่อย ความรู้ในการใช้ยาที่ถูกต้อง สิ่งจัดแสดงห้องผ่าตัดจำลอง เครื่องมือทางการแพทย์สมัยก่อน กล้องจุลทรรศน์ดูไรฝุ่น การตอบปัญหาทางการแพทย์ บริการตรวจและคัดกรองโรคต่างๆ พร้อมรับคำปรึกษาจากแพทย์ เภสัชกร และนักโภชนาการ การเปิดรับบริจาคโลหิต ซึ่งผู้บริจาคจะได้รับบัตรเข้าชมพิพิธภัณฑ์ทางการแพทย์ศิริราชฟรี วันละ 50 ใบ พร้อมกันนี้ยังเปิดให้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ทางการแพทย์ศิริราชและพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถานด้วย โดยผู้ใหญ่คิดราคา 50 บาท เด็ก 50 บาท ชาวต่างชาติ 200 บาท คลิกอ่านเพิ่มเติม ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 18 เมษายน 2556