ข่าวสารพิพิธภัณฑ์

นครพนมทุ่ม 50 ล้าน สร้างแลนด์มาร์ก “พญานาคยักษ์”

เมื่อวันที่ 6 ก.ย. นายอนุกูล ตังคณานุกูลชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า นครพนมถือเป็นจังหวัดที่กำลังเจริญเติบโตทั้งด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นจังหวัดชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน แขวงคำม่วน สปป.ลาว โดยมีแม่น้ำโขงกั้น ซึ่งภายหลังมีการสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 นครพน -คำม่วน แล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2554 ทำให้นครพนมมีจุดแข็งเรื่องของเส้นทางเศรษฐกิจสายใหม่ เป็นเป้าหมายของนักลงทุนมากขึ้น         เนื่องจากเส้นทางสะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งที่ 3 ถือเป็นเส้นทางเศรษฐกิจที่มีระยะทางสั้นที่สุด ในการขนส่งสินค้าเชื่อมไปยัง ลาว เวียดนาม และจีน โดยในอนาคตเชื่อว่าจะเป็นเส้นทางเศรษฐกิจ และจุดพักส่งสินค้าที่สำคัญ สร้างรายได้ให้ประเทศได้มหาศาล ทั้งนี้ จ.นครพนม ยังขาดองค์ประกอบสำคัญ คือ สัญลักษณ์เมือง เพื่อเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว หรือภาษาอังกฤษเรียกว่าแลนมาร์ก หมายถึงอาคารสถานที่มีลักษณะเด่น ล่าสุดได้หารือร่วมกับภาคเอกชน ประชาชน จัดสรรงบประมาณสร้างสัญลักษณ์เมืองเป็นพญานาค ตามหลักความเชื่อชาวลุ่มน้ำโขง บริเวณท่าแพขนานยนต์ริมฝั่งแม่น้ำโขง เขตเทศบาลเมืองนครพนม         โดยใช้งบประมาณต่อเนื่องปี 2556-2557 ประมาณ 50 ล้านบาท ซึ่งออกแบบให้มีขนาดใหญ่ สวยงาม เน้นตามหลักความเชื่อ ความสูงเฉพาะตัวพญานาคไม่รวมฐาน 15 เมตร ลำตัวมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เมตร สร้างเป็นพญานาค 7 เศียรพ่นน้ำ เลื้อยคดลำตัวเป็น 3 ชั้น ทำด้วยโลหะทองเหลือง ส่วนฐานออกแบบเป็นอาคารหอพิพิธภัณฑ์ หรือแหล่งรวบรวมประวัติศาสตร์ของนครพนม         พร้อมปรับภูมิทัศน์เป็นลานพักผ่อน จุดชมวิวแม่น้ำโขง ให้เป็นที่ท่องเที่ยวและพักผ่อนของประชาชน และนักท่องเที่ยว คาดว่าตัวพญานาคจะแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2557 ส่วนการปรับปรุงภูมิทัศน์ จะก่อสร้างต่อเนื่องไปเพื่อให้มีความสมบูรณ์แบบที่สุด และหลังโครงการแล้วเสร็จ จะกลายเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว เป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์เชื่อมโยงกับลำน้ำโขงและพญานาค         “ต่อไปใครที่มาเยือนนครพนม จะได้ชื่นชมความสวยงามของสัญลักษณ์เมืองริมฝั่งแม่น้ำโขง ทิวทัศน์ที่สวยงามตามธรรมชาติ แนวภูเขาฝั่งลาวที่ทอดยาวไปกับแม่น้ำโขง ซึ่งถือว่าเป็นจังหวัดชายแดนแห่งเดียวที่มีความงดงามทางธรรมชาติแบบนี้”   ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 6 กันยายน 2556

ร่วมสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นในงาน “เล่าเรื่องเมืองชะอำ ตอน...ตำนานเมล็ดข้าว” จ.เพชรบุรี

กลุ่มบ้านชะอาน ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายพิพิธภัณฑ์วิถีชาวนา เครือข่ายเพชรบุรีดีจัง โดยการสนันสนุนจากชุมชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน กำหนดจัดกิจกรรมสืบสานวิถึชีวิต ภูมิปัญญา ชาวชะอำ ในงาน “เล่าเรื่องเมืองชะอำ ตอน ตำนานเมล็ดข้าว” ในวันที่ 31สิงหาคม 2556 ตั้งแต่เวลา 09.00 - 21.00น. ณ ลานเพลินบ้านชะอานและวัดชะอำคีรี อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี        โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแหล่งเรียนรู้พิพิธภัณฑ์วิถีชาวนาวัดชะอำคีรี และเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก เยาวชน และชุมชน ให้สนใจเรียนรู้สื่อ ศิลปะและวัฒนธรรมในชุมชน โดยบูรณาการทุกภาคส่วน สร้างต้นแบบ สังคม 3ดี คือ พื้นที่ดี สื่อดี และภูมิดี รวมพลังเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็ก เยาวชน และชุมชน        ภายในงานมีกิจกรรมมากมาย อาทิ เวลา 09.39น. พิธีบวงสรวงอนุสาวรีย์พระแม่โพสพ หลังจากนั้นตั้งขบวนแห่ไปยังลานวัดชะอำคีรี เวลา 15.00 - 21.00น.ชมการจัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้เรื่องพิพิธภัณฑ์วิถีชาวนาในเรื่องขวัญดี - ขวัญร้ายของวัว, เข้าวัวชนิดต่างๆ, เมล็ดตาล (ตัวผู้,ตัวเมีย), การสาธิตการกลึงดุมเกวียนแบบโบราณ การวิดน้ำด้วยชงโลง การวิดน้ำด้วยระหัดชกมวย การสีข้าวด้วยเครื่องสีมือ การตำข้าวด้วยครกกระเดื่อง การตำข้าวด้วยสากยาว การตำข้าวด้วยตะลุ่มพุก การฝัดข้าวด้วยกระด้ง การหุงข้าว-ทำกับข้าวด้วยหม้อดิน การถักทาม การเย็บตับจากใบตาล การสานมอบ        นอกจากนี้ยังมีการแสดงดนตรีไทย ดนตรีโฟคซอง ดนตรีคลาสสิค การแสดงหุ่นละครคน การแสดงไทยทรงดำ การแสดงโขน การแสดงตำนานแม่โพสพ, สนุกสนานกับการตัดพวงมโหตร กิจกรรมปูนปั้น สานใบตาล ทำขนมตาล การละเล่นของเด็กไทยในอดีต การละเล่นพื้นบ้านเพลงโนเน การเล่นลูกข่าง การเดินกะลา การเดินขาหย่าง การเล่นอีโผละ การเล่นกังหันไม้ การเล่นจานบิน การเล่นจักรหมุน การเล่นจรวดทางมะพร้าว การยิงเป้าด้วยหนังสติ๊ก การเล่นกังหันใบตาล เป็นต้น        สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณเอื้อมพร โตภาณุรักษ์กุล โทร.0-8404-40995 และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเพชรบุรี โทร.0-3247-1005-6   ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 28 สิงหาคม 2556

ไฟไหม้พิพิธภัณฑ์เรือรบหลวงลันตาครั้งที่ 2

เมื่อวันที่ 22 ส.ค. เวลา 12.30 น. เจ้าหน้าที่ดับเพลิงองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ เทศบาลเมืองกระบี่ องค์การบริหารส่วนตำบลไสไทย อบต.อ่าวนาง จ.กระบี่ นำรถดับเพลิง จำนวนกว่า 10 คัน เข้าทำการสกัดเพลิงที่กำลังลุกไหม้เรือรบหลวงลันตา ภายในสถานที่ก่อสร้างพิพิธภัณฑ์เรือรบหลวงลันตา ซึ่งเป็นเรือรบปลดระวางยาวประมาณ 98 เมตร กว้าง 15 เมตร ตั้งอยู่ห่างจากอาคารสำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ ประมาณ 50 เมตร โดยมีกลุ่มควันสีดำ และมีกลิ่นเหม็นฟุ้งกระจายออกมาจากภายในตัวเรือ ท่ามกลางคนงานวิ่งหนีกันโกลาหล แต่โชคดีไม่ใครบาดเจ็บ         เบื้องต้นคาดว่า ต้นเพลิงมาจากห้องควบคุมเรือชั้น 2 ก่อนลุกลามไปยังภายในตัวเรือชั้นล่าง ซึ่งเพิ่งทาสีใหม่ๆ ทำให้ลุกไหม้อย่างรวดเร็ว เจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลาในการสกัดเพลิงเป็นเวลานานกว่า 1 ชั่วโมง จึงสามารถควบคุมเพลิงไว้ได้          นายสมศักดิ์ กิตติธรกุล นายก อบจ. กระบี่ กล่าวว่า สาเหตุของเพลิงไหม้ครั้งนี้คาดว่าน่าจะมาจากการเชื่อมโลหะบริเวณชั้น 2 ของตัวเรือ โดยขณะเชื่อมโลหะนั้นคาดว่าเกิดลมพัดประกายไฟกระเด็นไปโดนสีทาเรือ ซึ่งเพิ่งทาได้ไม่นานเพื่อตกแต่งเป็นพิพิธภัณฑ์ จึงเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ทำให้ไฟลุกลามไปอย่างรวดเร็วเข้าไปในตัวเรือแต่จะต้องตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง ซึ่งความเสียหายในครั้งนี้อยู่ระหว่างประเมินความเสียหาย คาดว่านับแสนบาท โดยเหตุการณ์เพลิงไหม้เรือรบหลวงลันตาครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 2 แล้ว ซึ่งจะต้องกำชับผู้รับเหมาเพิ่มความระมัดระวังในการทำงานมากยิ่งขึ้นเพื่อป้องกันเหตุซ้ำ         สำหรับโครงการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์เรือรบหลวงลันตานั้น อยู่ระหว่างตกแต่งปรับปรุงภายใน และเตรียมเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์เรือรบหลวงลันตา อย่างเป็นทางการ ในปลายปี 2557 นี้ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดกระบี่ โดยใช้งบประมาณในการดำเนินการตั้งโครงการกว่า 40 ล้านบาท   ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับเหตุการณ์ไฟไหม้เรือรบหลวงลันตาในครั้งนี้น่าจะเกิดจากอาถรรพ์ของเจ้าที่ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเดิมเป็นป่าชายเลน และมีการถมที่เพื่อนำเรือมาวาง อาจจะไม่ได้บอกกล่าวเจ้าที่ตามความเชื่อของชาวบ้าน เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้เรือรบหลวงลันตามาแล้ว 2 ครั้ง ในระหว่างที่ทำการตกแต่งภายในเพื่อสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ศึกษาเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่ โดยทางนายก อบจ.กระบี่ เตรียมทำบุญครั้งใหญ่เร็วๆ นี้    ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 22 สิงหาคม 2556

สมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดพิพิธภัณฑ์โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านยาง

เมื่อวันที่ 13 ส.ค. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารพิพิธภัณฑ์โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านยาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ในความดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยมีผู้บริหาร กฟผ. พร้อมด้วยข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ร่วมรับเสด็จ   โดยนายสุนชัย คำนูญเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุ 85 พรรษา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2555 ทาง กฟผ.จึงได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านยาง เพื่ออนุรักษ์โครงการพระราชดำริโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อเป็นแหล่งศึกษาการเรียนรู้เรื่องกระบวนการผลิตไฟฟ้าตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนใกล้ชิดแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำ โดยผู้ที่สนใจ สามารถเข้าไปศึกษาหาความรู้ และนำกลับไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเองได้   ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 13 สิงหาคม 2556

เปิดพิพิธภัณฑ์กษัตริย์ไทยเมืองพิษณุโลก

เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2556 ที่ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก หลังเก่า นายปรีชา  เรืองจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์กษัตริย์ไทยเมืองพิษณุโลกและสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย   ซึ่งพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวจังหวัดพิษณุโลกจัดสร้างขึ้นเพื่อจัดแสดงสิ่งของสำคัญของพระมหากษัตริย์ไทยที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดพิษณุโลก เพื่อเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์  ตลอดจนแสดงความจงรักภักดี สร้างจิตสำนึกให้เยาวชน และประชาชนทั่วไปได้ทราบ และรู้เรื่องปางบรรพ์ จดจำ เล่าขาน สืบทอดและสำนึกเทิดทูนบูชาพระเกียรติคุณอันล้ำเลิศหาที่สุดมิได้ของบรรพกษัตริย์ไทยที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดพิษณุโลก เนื่องจากเมืองพิษณุโลกมีความเป็นมาอันยาวนาน ทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ที่มีความผูกพันต่อพระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์ ซึ่งในอดีตเมืองพิษณุโลกเคยเป็นที่ตั้งของพระราชวังจันทน์ซึ่งเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ และหัวเมืองชั้นเอก ส่งผลให้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีพระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์ได้มีพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องและได้มีพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานคุณประโยชน์ให้แก่ชาวพิษณุโลกอย่างหาที่เปรียบมิได้นานัปการ   สำหรับพิพิธภัณฑ์กษัตริย์เมืองพิษณุโลก ภายในประกอบด้วย ห้องบรรพกษัตริย์ไทย ห้องใต้ร่มบารมีจักรีวงศ์และห้องบารมีภูมิพล ปกเกล้าชาวพิษณุโลก โดยจังหวัดพิษณุโลกเปิดโอกาสให้ นักเรียน นักศึกษาเข้าศึกษา และประชาชนทั่วไป เยี่ยมชมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ในวันและเวลาราชการ   ข้อมูลจาก phitsanulokhotnews วันที่ 12 สิงหาคม 2556

นราธิวาสเตรียมเปิดพิพิธภัณฑ์เมืองนราธิวาส ปลายปี 57

นางอุษณีย์ ธุวโชติ วัฒนธรรมจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์เมืองนราธิวาส ที่ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2552 จนถึงขณะนี้ ว่า มีความคืบหน้าไปมาก ห้องจัดแสดงชั้น 1 เสร็จแล้วเกือบครบถ้วน ส่วนห้องข้อมูลจะแล้วเสร็จปลายปี 2557 โดยภาพรวมด้านเนื้อหาเฟส 1 เสร็จแล้วร้อยละ 30 อีกร้อยละ 70 อยู่ในเฟส 2 ทั้งหมด   ทั้งนี้ ภายในพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วย 10 ห้องจัดแสดง อาทิ วิถีชีวิตชาวนราธิวาส ประวัติความเป็นมาศาสนา วัฒนธรรม โดยจัดแปล 3 ภาษารับประชาคมอาเซียน         วัฒนธรรมจังหวัดนราธิวาส เชื่อว่าพิพิธภัณฑ์เมืองนราธิวาสจะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดียิ่งให้กับเยาวชนคนรุ่นหลัง และจะเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นการยอมรับความแตกต่างที่อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ อย่างไรก็ตาม เมื่อทำบทจัดแสดงพิพิธภัณฑ์แล้วเสร็จ จะเปิดการทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วย   ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 11 สิงหาคม 2556

เตรียมรับเสด็จ "พระเทพฯ" เปิดหอประวัติศาสตร์เชียงใหม่-พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม นายทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ พร้อมผู้บริหาร นายสมศักดิ์ อ่อนอ้น หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ สำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ ตรวจพื้นที่หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ และพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา (ศาลแขวงเชียงใหม่เดิม) เพื่อเตรียมรับเสด็จ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดนิทรรศการ "ตามรอยเสด็จพระราชดำเนิน สู่ล้านนา" ในวันที่ 13 สิงหาคมนี้ เวลา 09.00 น. บริเวณหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ใกล้พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่     นายทัศนัยกล่าวว่า ตรวจพื้นที่เพื่อเตรียมความพร้อมรับเสด็จ ซึ่งสถานที่พระราชดำเนินเสร็จเกือบสมบูรณ์แบบแล้ว ท้ั้งนี้ ชาวเชียงใหม่มีความปลาบปลื้มใจที่พระองค์ท่าน เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคารดังกล่าว จึงใครขอเชิญชาวเชียงใหม่เฝ้ารับเสด็จ บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ ซึ่งจัดเตรียมสถานที่ไว้แล้ว แต่ห่วงสภาพอากาศที่มีมรสุมพัดผ่าน อาจเกิดฝนตกได้ จำเป็นต้องปิดหอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา และหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ชั่วคราว เพื่อเตรียมรับเสด็จ วันที่ 10-13 สิงหาคมนี้ รวม 4 วัน และเปิดทำการปกติ วันที่ 14 สิงหาคมเป็นต้นไป    อนึ่ง หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ และพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา เปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าชมทุกวันอังคาร ถึงวันอาทิตย์ เวลา 08.30-17.00 น. (ไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) ยกเว้นวันจันทร์    ข้อมูลจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 9 สิงหาคม 2556

นิทรรศการจิตรกรรม “วิถีไทยและความเป็นไปของชีวิต”

หอศิลป์ริมน่าน จัดนิทรรศการจิตรกรรม “วิถีไทยและความเป็นไปของชีวิต” ผลงานของ จาตุรันต์  จริยารัตนกูล และ ณัฐวุฒิ  ขันโพธิ์น้อย ระหว่างวันที่ 20 กันยายน – 22 ตุลาคม 2556 เวลา 9.00 – 17.00 น. (ปิดวันพุธ)   นายจาตุรันต์  จริยารัตนกูล สื่อถึงเรื่องราวช่วงเวลาที่ทุกข์ใจ ท้อแท้ หมดหวัง อ้างว้าง หรือโดดเดี่ยวและสภาพอารมณ์ต่างๆผสานกับสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีความเชื่อเรื่องการผูกขวัญ เรียกขวัญ ต่อชะตา ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่คอยเยียวยาทางใจมานำเสนอผลงานผ่าน เทคนิค วาดเส้น โดยมีหัวใจสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานคือการนำเอาอารมณ์ ความรู้สึก ถ่ายทอดสร้างสรรค์แสดงผลงานเทคนิคการวาดเส้น   ชื่อภาพ: ยังคงอยู่(Also exist) 1/2012 ขนาด: 89 x 60 เซนติเมตร เทคนิค: วาดเส้นสื่อผสม     ณัฐวุฒิ  ขันโพธิ์น้อย สื่อถึงธรรมชาติของฤดูกาลในแดนดินที่ราบสูง ซึ่งงดงามมีเสน่ห์และสีสันให้กับท้องทุ่งแปลกออกไปตามฤดูกาลต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นสีสันของต้นไม้ดอกไม้ในท้องทุ่ง ที่ทำให้เกิดเป็นสีสันเต็มไปทั่วพื้นดินในฤดูแล้ง  สีสันท้องฟ้าในฤดูกาลเก็บเกี่ยว  และบรรยากาศการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตในท้องทุ่ง  ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ได้ส่งผลต่อความรู้สึก เกิดเป็นแรงบันดาลใจสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในรูปแบบของงานจิตรกรรมร่วมสมัยด้วยเทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ                      ชื่อผลงาน :  กลิ่นฟาง ขนาด:150 x 200  เซนติเมตร เทคนิค: สีน้ำมันบนผ้าใบ                                                                                  สอบถามรายละเอียดได้ที่ หอศิลป์ริมน่าน  โทร 081-989-2912 อีเมล์:Winai_nrg@hotmail.com Facebook : Winai prabripoo