ข่าวสารพิพิธภัณฑ์

แม่น้ำมูลเพิ่มสูงทะลักท่วมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพิมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำเช้าวันที่ 21 ตุลาคม ว่าปริมาณน้ำภายในลำน้ำมูล อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ที่มีระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทะลักเข้าท่วมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา และบริเวณโดยรอบกว่า 40 เซนติเมตร และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เจ้าหน้าที่ได้นำถุงพลาสติกมาห่อวัตถุโบราณ พร้อมทั้งขนเก็บขึ้นในที่สูง ทางด้านปริมาณน้ำเหนือเขื่อนระบายน้ำพิมาย มีระดับจากพื้นเขื่อน อยู่ที่ระดับ 7 เมตร 83 เซนติเมตร เพิ่มขึ้นจากเดิม 5 เซนติเมตร ทำให้เจ้าหน้าที่ยังคงที่จะต้องเปิดประตูระบายน้ำทั้ง 6 บาน เต็มพิกัด มีปริมาณน้ำที่ไหลผ่านประตูระบายน้ำ เฉลี่ยอยู่ที่วันละ 22 ล้านลูกบาศก์เมตร อีกทั้งยังได้ทำการเปิดประตูระบายน้ำเพื่อผันน้ำลงคลองส่งน้ำ 2 บาน สูง 50 เซนติเมตร มีปริมาณน้ำไหลผ่านประตูระบายน้ำเฉลี่ยวันละ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร และเปิดประตูระบายน้ำที่ระบายลงสู่ลำน้ำเค็ม 3 บาน สูง 90 เซนติเมตร มีประมาณน้ำที่ไหลผ่านประตูระบายน้ำเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 2 ล้าน 8 แสนลูกบาศก์เมตร และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่บริเวณถนนมิตรภาพช่วงหลักกิโลเมตรที่ 108 ตำบลมะเกลือใหม่ อำเภอสูงเนิน น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นผิวการจราจรจนต้องปิดการจราจรฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ และต้องใช้ช่องทางพิเศษวิ่งสวนทางกัน แต่ล่าสุดระดับน้ำได้ลดลงแล้ว เหลือน้ำท่วมพื้นผิวการจราจรหลักประมาณ 15 เซนติเมตร และสามารถเปิดให้รถยนต์วิ่งได้ตามปกติแล้ว   ข้อมูลจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 2 ตุลาคม 2556  

“เรือนไทยหมอเพ็ญนภา” ปลวกขึ้น!! สั่งปรับทำศูนย์เรียนแพทย์แผนไทย

นพ.ธวัช ชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก (พทท.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า หลังดำรงตำแหน่งตนตั้งใจจะปฏิรูปการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกใหม่ โดยสิ่งหนึ่งจะสานฝันของ พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ อดีตอธิบดี พทท.ในเรื่องการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก โดยจะปรับปรุงเรือนไทยหลังเก่า หรือเรือนเพ็ญนภา ซึ่งขณะนี้ทรุดโทรมลงอย่างมาก มีนกเข้ามาทำรัง และบางจุดที่เป็นไม้ซึ่งมีปลวกขึ้นและมีรอยรั่วทำให้เวลาฝนตกแล้วมีน้ำซึมนั้น ก็จะเร่งแก้ไขให้ดีขึ้น         “เรือนเพ็ญนภาเป็นเรือนไทยแห่งเดียวในโลกที่คงความเป็นไทย แต่ที่ผ่านมาอาจไม่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากนัก เนื่องจากเรื่องแพทย์แผนไทยยังไม่เข้าถึงเท่าที่ควร เพราะขาดการประชาสัมพันธ์ แต่จากนี้ไปจะเปลี่ยนแปลงไป โดยกรมจะไม่ปล่อยให้เรือนไทย ทั้งเรือนหมอเพ็ญนภา และเรือนพระยาพิษณุประสาทเวช ซึ่งยังไม่ได้รับการปรับปรุงทรุดโทรม แต่จะปรับและพัฒนาเรือนหมอเพ็ญนภา เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกระดับประเทศ และจะให้เป็นหนึ่งเดียวของโลก” อธิบดี พทท.กล่าว         นพ.ธวัชชัย กล่าวอีกว่า เรือนหมอเพ็ญนภาซึ่งมีทั้งหมด 3 ชั้น เบื้องต้นจะปรับปรุงโดยเริ่มจากชั้นที่ 1 จะจัดทำเป็นร้านค้าเกี่ยวกับสินค้าของแพทย์แผนไทยแบบครบวงจร คล้ายๆ โอทอป ยาแพทย์แผนไทย ยาสมุนไพรต่างๆ รวมถึงจะมีร้านที่ให้บริการด้านการนวด การฝึกโยคะ การนั่งสมาธิ การสอนท่าฤๅษีดัดตน เป็นต้น ชั้นที่ 2 จัดเป็นคลินิกด้านแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก และชั้น 3 ซึ่งเดิมทีเป็นพิพิธภัณฑ์อยู่แล้ว ก็จะจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวกับแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกตั้งแต่ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ให้น่าเรียนรู้มากขึ้น นอกจากนี้ จะเป็นศูนย์การเรียนการสอนด้านแพทย์แผนไทยแห่งแรกอีกด้วย ทั้งหมดคาดว่าจะใช้งบประมาณ 20 ล้านบาท ซึ่งได้รายงานให้ รมว.สาธารณสุข ทราบแล้ว         “การปรับปรุงเรือนหมอเพ็ญนภา ก็เพื่อทำตามเจตนารมณ์ของ พญ.เพ็ญนภา ที่ต้องการให้เรือนไทยดังกล่าวเป็นตึกสำหรับการแพทย์แผนไทยจริงๆ ที่จะมีห้องละหมาดอยู่ภายในเรือนไทยด้วยเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากตะวัน ออกกลางที่นิยมเรื่องการแพทย์แผนไทย” อธิบดี พทท.กล่าวและว่า สำหรับการปรับปรุงเรือนพระยาพิษณุประสาทเวช จะพัฒนาเป็นหอจดหมายเหตุ และสถานที่ฝึกอบรม ดูงานต่างๆ นอกจากการพัฒนาเรือนไทยแล้ว พทท.ยังจะพัฒนาเรื่องต่างๆ ดังนี้ 1.ปฏิรูประบบการทำงานให้ทันสมัย มีการทำงานแบบเป็นทีม 2.สร้างระบบบริการใหม่มีแพทย์แผนไทยไปรักษาร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบันให้ ได้ร้อยละ 80 ของประเทศ และจัดให้มีแพทย์แผนไทยไปประจำในทุกโรงพยาบาล และ 3.ทำประเทศไทยให้เป็นเมดิคัลฮับด้านแพทย์แผนไทยโดยเฉพาะ   ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 15 ตุลาคม 2556        

วอนรัฐเทงบดูแลพิพิธภัณฑ์วังหาดสุโขทัย

นายสิงห์  วุฒิชมภู ประธานวัฒนธรรมต.ตลิ่งชัน อ.บ้านด่านลานหอย จ.สุโขทัย กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์โบราณคดีชุมชนบ้านวังหาด หมู่ที่ 2 ต.ตลิ่งชัน ซึ่งเป็นสถานที่เก็บสมบัติโบราณอายุกว่า 2,500 ปี และเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน มีนักเรียน นักศึกษา เดินทางมาทัศนศึกษาจำนวนมาก แต่ปัจจุบันสภาพอาคารชำรุดทรุดโทรม ทั้งฝ้าเพดานหลุด หลังคารั่ว และไม่มีไฟฟ้าใช้มา 10 ปีแล้ว   “พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก่อสร้างมาได้ประมาณ 10 ปี โดยอบจ.สุโขทัยสนับสนุนครั้งนั้น 300,000 บาท รวมกับกองผ้าป่าชาวบ้านอีก 30,000 บาท จึงสร้างแล้วเสร็จ แต่ไม่มีไฟฟ้าใช้เพราะไม่มีเงินซื้อมิเตอร์มาติดตั้ง ปัจจุบันที่นี่มีวัตถุโบราณจัดแสดงหลายชิ้น เช่น กระพรวนสำริดมีกระดิ่งล้อมรอบ กำไลสำริด ลูกปัดสีต่างๆทำจากหินอาเกตและหินคาร์เนเลี่ยน ค้อนหินใหญ่ ขวานหินขัด หอก ง้าวโบราณ รวมทั้งเครื่องประดับ เหรียญตรา ศรีวัตสะ สร้อยลูกปัดที่เป็นของส่วนตัวซื้อมาเก็บรักษาไว้ให้ได้ดูกันด้วย”นายสิงห์ กล่าว   ประธานวัฒนธรรมต.ตลิ่งชัน กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้พิพิธภัณฑ์ไม่มีรายได้ เมื่อเยาวชนมาทัศนศึกษาก็ต้องสละเวลาเป็นวิทยากร และนำชมแหล่งโบราณคดี ซึ่งตลอดเกือบ 20 ปีที่ต่อสู้ผลักดัน เรื่องการพัฒนาแหล่งโบราณคดีในหมู่บ้านวังหาดนั้นก็แทบหมดหวัง เพราะไม่มีหน่วยงานเกี่ยวข้องใดให้ความสำคัญ ชาวบ้านต้องช่วยตัวเองตามยถากรรมมาตลอด   สำหรับบ้านวังหาดเป็นแหล่งผลิตโลหะโบราณ ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย และยังสามารถสืบค้นประวัติศาสตร์ได้ถึงยุคมนุษย์ลำปางอายุ 500,000 ปี รวมทั้งยังมีการค้นพบวัตถุโบราณล้ำค่าหลายชิ้น แต่ทว่ากลับไม่มีใครสนใจที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือแหล่งค้นคว้าทางวิชาการ   ข้อมูลจาก โพสต์ทูเดย์ วันที่ 11 ตุลาคม 2556  

น้ำท่วมพิพิธภัณฑ์ปราจีนบุรีแล้วเร่งสูบน้ำออก

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ความคืบหน้ากรณีสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี โดยเฉพาะที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติปราจีนบุรีนั้น เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่ จ.ปราจีนบุรีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงห้องจัดแสดงโบราณวัตถุบริเวณชั้น 1 ดังนั้นจึงต้องเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุที่จัดแสดงบริเวณชั้น 1 ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติปราจีนบุรีไปเก็บรักษาไว้ที่บริเวณชั้น 2 ของพิพิธภัณฑ์แล้ว ทั้งนี้สถานการณ์ล่าสุด ขณะนี้ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์เริ่มมีน้ำซึมเข้ามาภายในแล้ว เจ้าหน้าที่ได้พยายามก่อผนังกั้นน้ำและเร่งสูบน้ำตลอดเวลาและได้ให้เจ้าหน้าที่เร่งประสานกับทางผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อขอกำลังทหารเตรียมพร้อมเพื่อขนย้ายเทวรูปที่ทำจากหินซึ่งมีน้ำหนักมาก รวมถึงได้สั่งการให้นายอนันต์ ชูโชติ รองอธิบดีกรมศิลปากร ลงไปควบคุมการเคลื่อนย้ายด้วย ที่สำคัญสั่งให้เจ้าหน้าที่กลุ่มทะเบียนโบราณวัตถุ เตรียมบรรจุหีบห่อเพื่อกันกระแทกขณะเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุ นายเอนก กล่าวต่อว่า ส่วนสถานการณ์ระดับน้ำในพื้นที่โบราณสถาน ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา อาทิ วัดไชยวัฒนารามนั้น ตอนนี้ระดับน้ำสูงกว่าสันเขื่อน 45 เซนติเมตร ส่งผลให้น้ำไหลไปยังวัดธรรมมารามทำให้ระดับน้ำที่วัดธรรมมารามสูงกว่า 25 เซนติเมตร ส่วนที่ป้อมเพชร ตอนนี้ระดับน้ำสูงกว่าสันเขื่อน 25เซนติเมตร เจ้าหน้าที่ได้เร่งเสริมแนวกระสอบทรายและตั้งเครื่องสูบน้ำ รวมถึงทำคันดินป้องกันน้ำไว้แล้ว ขณะที่สถานการณ์น้ำที่หมู่บ้านโปรตุเกส มีระดับน้ำสูงกว่าสันเขื่อน 10เซนติเมตรแต่ก็ยังไม่ถึงขั้นวิกฤต   ข้อมูลจาก เนชั่นแชลแนล วันที่ 11 ตุลาคม 2556

แฟนคลับ “มิตร ชัยบัญชา” เปิดบ้านพิพิธภัณฑ์ให้ดูฟรี

เมื่อวันที่ 8 ต.ค. นายบัญชา วาจาสุวรรณ ผู้ที่ชื่นชอบพระเอกตลาดกาล “มิตร ชัยบัญชา” เปิดบ้านเลขที่ 37/4 หมู่ 4 ต.อรัญญิก อ.เมือง จ.พิษณุโลก เป็นพิพิธภัณฑ์บัญชา สะสมโปสเตอร์หนังเก่าในอดีต โดยเฉพาะใบปิดหนังที่แสดงโดย “มิตร ชัยบัญชา” ได้นิมนต์พระครูสิทธิธรรมวิภัช เจ้าอาวาสวัดราชบูรณะ มาทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่มิตร ชัยบัญชา ในโอกาสครบรอบการจากไป 43 ปี วันที่ 8 ตุลาคม 2513 จากอุบัติเหตุตกเฮลิคอปเตอร์ ขณะถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องอินทรีทอง         นายบัญชา เปิดเผยว่า สะสมโปสเตอร์หนังเก่า และชื่นชอบในพระเอกตลอดกาลมิตร ชัยบัญชา มานานแล้ว มีภาพ และชิ้นงานของมิตร ชัยบัญชา กว่า 400 ชิ้น ในโอกาสครบรอบการเสียชีวิต 43 ปีของมิตร ชัยบัญชา จึงเชิญเพื่อนฝูงและผู้ชื่นชอบผลงานของพระเอกตลอดกาลคนนี้ มาร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ดาราในดวงใจผู้ล่วงลับ         “พิพิธภัณฑ์บัญชาแห่งนี้เปิดฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายเพียงแต่คนที่จะมาดูบอกล่วงหน้า เพราะแต่ละคนก็ต้องทำงาน”         นายบัญชา กล่าวว่า ตนชอบสะสมของเก่า โดยเฉพาะใบปิดหนังเก่าๆ ทั้งมิตร-เพชรา และเก็บสะสมของเก่าทุกชนิด ชื่นชมเครื่องใช้ไม้สอยของคนในอดีต แต่ก็อยากแบ่งปันให้คนได้ชื่นชมถือว่าพอใจแล้ว เผื่อปั้นปลายชีวิตจะได้มีเพื่อนรุ่นเดียวพูดคุยที่บ้านพิพิธภัณฑ์         ด้านนายเปี่ยม ส่งชื่น ประธานสภาวัฒนธรรม ต.ท่าทอง วัย 75 ปี เปิดเผยหลังเดินทางมาดูพิพิธภัณฑ์บัญชาว่า สมัยก่อนตนเป็นนายหน้าหาหนังกลางแปลงไปฉายตามบ้านนอก สลับกับการขายสินค้า เช่น ถ่านไฟฉายตรากบ พอมีรายได้จากการแบ่งเปอร์เซ็นต์หาเลี้ยงชีพ และชอบสะสมโปสเตอร์หนังเก่า โดยเฉพาะหนังที่มีมิตร ชัยบัญชา แสดง จึงอยากเห็นบรรยากาศเก่าๆ เลยต้องตามมาดูที่พิพิธภัณฑ์         อนึ่ง มิตร ชัยบัญชา มีชื่อจริงว่า พันจ่าอากาศโทพิเชษฐ์ พุ่มเหม เกิดเมื่อวันที่ 28 ม.ค.2477 ที่จ.เพชรบุรี เริ่มเข้าสู่วงการบันเทิงปลายปี 2499 เป็นพระเอกภาพยนตร์ไทยช่วง พ.ศ.2500-2513 มีผลงานเด่นในช่วง พ.ศ.2501-2517 ที่เป็นยุคเฟื่องฟูของภาพยนตร์ 16 มม. ผลงานขณะนั้นนับได้กว่า 300 เรื่อง เรื่องแรก คือ ชาติเสือ เคยได้รับรับพระราชทานรางวัล “โล่เกียรตินิยม” นักแสดงชายที่ทำรายได้สูงสุด ปี 2508 จากภาพยนตร์เรื่องเงิน เงิน เงิน ต่อมาปี 2509 เรื่อง เพชรตัดเพชร ทำรายได้ และทำลายสถิติภาพยนตร์เรื่องเงิน เงิน เงิน ได้ 3 ล้านบาทในเวลา 1 เดือน และรับพระราชทานรางวัลดาราทองในปีเดียวกัน         ส่วนภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดในชีวิตการแสดงของมิตร ชัยบัญชา คือ มนต์รักลูกทุ่ง ซึ่งยืนโรงฉายในปี 2513 ได้นานกว่า 6 เดือน ทำรายได้ 13 ล้านบาท โดยมิตร ชัยบัญชา เสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2513   ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 8 ตุลาคม 2556

"ร้อยเส้นสาย ล้านเส้นศิลป์ ถิ่นท่ากาน" โครงการพระดำริอนุรักษ์มรดกล้านนา

ตามที่ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ มีพระดำริที่จะจัดสร้างพิพิธภัณฑ์เวียงท่ากาน พร้อมทั้งรับสั่งร่วมจัดงานกิจกรรมชุมชนในพื้นที่และจังหวัดเชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อหารรายได้สมทบทุนการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ อนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมชุมชนโบราณล้านนา และเพื่อสร้างจิตสำนึกให้แก่ชุมชนได้เห็นความสำคัญของโบราณสถานและโบราณวัตถุในท้องถิ่น พร้อมส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมแบบยั่งยืน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์วัฒนธรรมในเชิงอนุรักษ์   เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปได้รู้จักโบราณสถานเวียงท่ากานมากขึ้น ซึ่งจัดงานกิจกรรมต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 ในปี 2556 พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ได้จัดแถลงข่าวการจัดงานในครั้งนี้ ภายใต้ชื่อ "ร้อยเส้นสาย ล้านเส้นศิลป์ ถิ่นท่ากาน" ครั้งที่ 4  ณ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง   เจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงความสำคัญของโบราณสถานเวียงท่ากานว่า เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่สำคัญของประเทศไทย จากการศึกษาและวิเคราะห์ของนักวิชาการ พบว่าในอดีตเป็นเมืองสำคัญที่สร้างขึ้นราวศตวรรษที่ 17 สมัยพระเจ้าอาทิตยราช และได้ถูกทิ้งร้างเมื่อครั้งเชียงใหม่เสียเมืองให้แก่พม่า ประมาณศตวรรษที่ 24 และถูกค้นพบครั้งแรกในปี พ.ศ.2508 ซึ่งค้นพบโครงกระดูกมนุษย์มีอายุสมัยล้านนา พบหลักฐานทางโบราณคดีเป็นจำนวนมาก อาทิ เศษภาชนะดินเผา แบบหริภุญชัย พระพุทธรูปสำริด ไหโบราณสมัยราชวงศ์หยวน จารึกอัครโบราณ เป็นต้น และได้รับการบูรณะปรับปรุงให้ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ประกอบกับชุนชมบ้านท่ากวนเป็นชุมชนที่มีการตื่นตัวในการอนุรักษ์โบราณสถานมาโดยตลอด   "และจากการที่ได้มีการขุดค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีสำคัญๆ อันเป็นมรดกของชาติที่ควรค่าแก่การทำนุบำรุงรักษา แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ยังขาดการรวบรวมและเก็บรักษาอย่างถูกวิธี เหตุนี้เอง พระองค์ทรงตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงประสงค์ให้ดูรักษาศิลปวัตถุและโบราณสถานเวียงท่ากาน พร้อมรับสั่งร่วมจัดงานกิจกรรมกับชุมชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เริ่มมาตั้งแต่ปี 2552 งาน "โคมประทีปส่องหล้า มรดกล้ำค่าเวียงท่ากาน" ในปี 2553 "ย้อนรอยศิลป์ สู่ถิ่นเวียงท่ากาน" และปี 2555 งาน "สรรค์ศิลป์ ถิ่นท่ากาน" เพื่อหารายได้สมทบทุนในการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์เวียงท่ากาน กระทั่งสืบเนื่องมาถึงปีนี้" รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เผย          งานดังกล่าวได้รับการสนับสนุนและได้รับความร่วมมือจากจังหวัดเชียงใหม่ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ภาครัฐและเอกชน ในการร่วมดำเนินงานกับกองทุนพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ โดยอำเภอสันป่าตอง องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกลาง ได้ร่วมกันจัดงานครั้งนี้ โดยมีกิจกรรมหลัก ดังนี้ คลิกอ่านเพิ่มเติม ข้อมูลจาก ไทยโพสต์ วันที่ 3 ตุลาคม 2556

กรมศิลป์ เตรียมขนโบราณวัตถุหนีน้ำ

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ล่าสุดสำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี รายงานมาว่าที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปราจีนบุรี ได้มีน้ำท่วมบริเวณด้านหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สูง 20 เซนติเมตร แต่ยังไม่ไหลเข้าไปท่วมภายในอาคารจัดแสดงโบราณวัตถุ จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง คาดว่า 2-3 วัน ปริมาณระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น จึงให้เตรียมแผนการขนย้ายโบราณวัตถุ ถ้าประเมินสถานการณ์แล้วว่าจะไม่สามารถรับมือได้ให้ย้ายโบราณวัตถุไปยังสถานที่ปลอดภัยทันที          “น้ำเริ่มท่วม ทำให้เจ้าหน้าที่เข้าไปทำงานไม่ได้ จึงสั่งการให้ ผอ.สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี ช่วยจัดหาพื้นที่ให้เจ้าหน้าที่ย้ายไปทำงาน นอกจากนี้ ยังมีโบราณสถานวัดแก้วพิจิตร ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพราะตอนนี้มีน้ำท่วมขัง เจ้าหน้าที่กำลังเร่งดำเนินการสูบน้ำออกจากพื้นที่ ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมโบราณสถานที่ จ.พระนครศรีอยุธยานั้น คาดว่าภายใน 2-3 วันปริมาณน้ำที่ไหลจาก จ.นครสวรรค์และ จ.อุทัยธานี จะส่งผลให้ปริมาณน้ำในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพิ่มสูงขึ้นอีก เจ้าหน้าที่รายงานล่าสุดปริมาณน้ำหน้าวัดไชยวัฒนารามเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องวันนี้น้ำสูงขึ้นจากสันพนังกั้นน้ำเป็น 50 เซนติเมตร หลังจากเมื่อวันที่ 29 กันยายนสูงเพียง 30 เซนติเมตร” นายเอนก กล่าว   ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์  วันที่ 30 กันยายน 2556

พิมายเสริมคันกั้นน้ำป้องพิพิธภัณฑ์จม

เมื่อวันที่ 26 ก.ย. เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย จ.นครราชสีมา เร่งเสริมกระสอบทรายเป็นคันกั้นน้ำเก่าให้สูงขึ้นเพื่อป้องกันน้ำจากลำน้ำมูลที่อาจจะไหลทะลักเข้าท่วมวัตถุโบราณล้ำค่าได้ หลังจากที่ระดับน้ำห่างจากขอบตลิ่งเพียง 20-30 เซนติเมตร โดยเจ้าหน้าที่ของทางพิพิธภัณฑได้นำถุงพลาสติกมาห่อวัตถุโบราณที่อยู่เก็บไว้บริเวณโดยรอบตัวอาคารพิพิธภัณฑ เพื่อป้องกันหากปริมาณน้ำได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนไม่สามรารถขนย้ายได้ทัน ขณะที่บริเวณสะพานข้ามลำน้ำมูลที่ไหลผ่านตัวเมืองพิมาย เจ้าหน้าที่จากเทศบาลตำบลพิมายกว่า 20 คน เร่งนำเรือท้องแบน ทำการกำจัดผักตบชวาที่ถูกกระแสน้ำพัดพามาจากพื้นที่ต่างๆ แล้วมาติดอยู่ที่บริเวณคอสะพาน เพื่อให้น้ำในลำน้ำไหลลงสู่พื้นที่ได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น อีกทั้งเพื่อป้องกันปริมาณน้ำที่จะไหลจากลำตะคอง , ลำเชียงไกร , ลำบริบูรณ์ และลำมูลที่จะไหลมาสมทบกับปริมาณน้ำในพื้นที่ ก็ทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นจนน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ติดกับลำน้ำได้     ข้อมูลจาก โพสต์ทูเดย์ วันที่ 26 กันยายน 2556  

คาราวานไทย-สหรัฐฯหนุนโครงการพิพิธภัณฑ์เรดาร์อุดรธานี

อุดรธานี-คาราวานไทย-สหรัฐฯ บนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ EWEC เยี่ยมชมพื้นที่อุดรธานี พร้อมเห็นโครงการพิพิธภัณฑ์เรดาร์ จ.อุดรธานี รวบรวมภาพประวัติศาสตร์ ระหว่างไทย-อเมริกา ชี้เกิดประโยชน์สานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เผยแพร่ภาพถ่ายที่สำคัญในอดีตให้สาธารณะชนรับรู้         เมื่อวันที่ 22 ก.ย.56 ที่กองกำลังสุรศักดิ์มนตรี / กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 2 ส่วนแยก 1 นายศศิวัฒน์ ว่องสินสวัสดิ์ ผู้อำนวยการกองอเมริกาเหนือ กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ พร้อมผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ และMr.Pepper Richhart political councilor สมาชิกสภาการเมือง พร้อมคณะตัวแทนสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย จัดคาราวานไทย-สหรัฐฯ บนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก - ตะวันออก (East-West Economic Corridor)         คณะได้เดินทางโดยรถยนต์ตามเส้นทางยุทธศาสตร์ใน 7 จังหวัดประกอบด้วย จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดอุดรธานี จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดตาก โดยการจัดคาราวานฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เจ้าหน้าที่ไทยและสหรัฐฯ ทราบถึงความสำคัญทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของเส้นทาง East-West Economic Corridor ซึ่งเชื่อมโยงจากเมียนมาร์ผ่านไทย ไปยังลาวและเวียดนาม เห็นถึงโอกาสและศักยภาพการพัฒนาด้านต่างๆ บนเส้นทางดังกล่าว         สำหรับจังหวัดอุดรธานี คณะคาราวานฯ ได้เข้าร่วมประชุมพร้อมหารือกับคณะทำงานโครงการพิพิธภัณฑ์เรดาร์ จังหวัดอุดรธานี ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี , สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุดรธานี , กองกำลังสุรศักดิ์มนตรี, และสำนักงานหนังสือเดินทางจังหวัดอุดรธานี         นายศศิวัฒน์ ว่องสินสวัสดิ์ ผู้อำนวยการกองอเมริกาเหนือ กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กล่าวว่า โครงการพิพิธภัณฑ์เรดาร์ จังหวัดอุดรธานี เป็นโครงการที่มีประโยชน์ ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยโครงการการจะรวบรวมภาพประวัติศาสตร์ ระหว่างไทย-อเมริกา ให้สาธารณะชนรับรู้กิจกรรมที่ร่วมกันทำในสมัยนั้น ทั้งนี้ข้องมูลที่ทางฝ่ายไทยได้ร้องขอไปแล้วนั้น ได้ประสานงานเป็นการภายในไปแล้ว         ด้าน พ.อ.ประสิทธิ์ ทิศวงศ์ เสนาธิการกองกำลังสุรศักดิ์มนตรี ได้ให้ข้อคิดว่า สถานที่ในการปรับปรุงก่อสร้างนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้รับการอนุมัติ แต่หากเกิดขึ้นจริงขอให้นำข้อมูลรูปภาพที่จะนำมาจัดแสดงนั้น ควรนำเสนอให้เป็นกลางมากที่สุด และไม่ควรนำภาพที่กระทบต่อจิตใจทั้ง 2 ฝ่าย ภายหลังการหารือกันนานกว่า 2 ชั่วโมง คณะได้ลงพื้นที่อาคารและบริเวณสนามเรดาร์เก่า   ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 22 กันยายน 2556

"กรมธนารักษ์" จัดพิธีบวงสรวงโครงการพิพิธภัณฑ์เหรียญ

นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากรัฐบาลได้ตระหนักถึงคุณค่าของพื้นที่บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ซึ่งมีอัตลักษณ์โดดเด่นทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชุมชน มีคุณค่ายาวนานคู่กับกรุงรัตนโกสินทร์กว่า 231 ปี จึงมีนโยบายปรับปรุงบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ โดยย้ายสถานที่หน่วยงานราชการต่าง ๆ ออก และกรมธนารักษ์ก็ได้นำร่องเป็นตัวอย่างแก่หน่วยงานอื่น ๆ โดยการปรับปรุงอาคารสำนักบริหารเงินตราเดิมเป็นพิพิธภัณฑ์เหรียญ ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของเหรียญกษาปณ์ ซึ่งไม่เพียงเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน แต่ยังเป็นเสมือนบันทึกเรื่องราวความเป็นมาของมนุษยชาติทุกยุคทุกสมัย เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสำหรับชาวไทยและชาวต่างประเทศ และเป็นแหล่งข้อมูลแก่เยาวชน และประชาชนทั่วไป เพื่อค้นคว้าศึกษาและเรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์วัฒนธรรม และเศรษฐกิจสังคมของประเทศไทย และนานาชาติในแต่ละยุคสมัยเชื่อมโยงถึงปัจจุบัน ผ่านเรื่องราวที่ปรากฏบนเหรียญ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางสำหรับนักสะสมเหรียญ และผู้สนใจทั่วไปในการพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูลและกิจกรรมด้านเหรียญกษาปณ์และศิลปวัฒนธรรม นายนริศกล่าวต่อว่า พิพิธภัณฑ์เหรียญแห่งนี้เป็นอาคาร 3 ชั้น ขนาดพื้นที่ประมาณ 4,948 ตรม. และพื้นที่โดยรอบอาคารรวมประมาณ 10,365 ตรม. แบ่งระยะเวลาดำเนินการเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 กำหนดแล้วเสร็จเปิดให้ประชาชนเข้าชมประมาณต้นเดือนมกราคม 2557 และระยะที่ 2 กำหนดแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2559 มีเนื้อหาการจัดแสดงภายใต้แนวคิด “วิถีแห่งเงินตรา สินล้ำค่าของแผ่นดิน” จัดแบ่งพื้นที่สำหรับนำเสนอเรื่องราวต่าง ๆ เช่น ปฐมบทแห่งเงินตรา ความเป็นมาของการแลกเปลี่ยนก่อนการก่อกำเนิดเงินตรา ผ่านจอ 360 องศา แบบแอมิเนชั่น 4D อันเป็นนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีของพิพิธภัณฑ์ไทยแห่งแรก ซึ่งผู้ชมสามารถสัมผัสได้ด้วยภาพ เสียง และความรู้สึก เช่น อุณหภูมิ ความสั่นสะเทือน เป็นต้น เพื่อให้ได้สัมผัสถึงบรรยากาศ และเรื่องราวเสมือนจริงย้อนเวลากลับไปกว่า 10,000 ปี จัดแสดงเส้นทางวิวัฒนาการเหรียญ นิทรรศการ “ย้อนรอยเงินตรา” นิทรรศการเหรียญนานาชาติ และนิทรรศการเทิดพระเกียรติรัชกาลที่ 4 โดยนำเสนอด้วยสื่อประสมและสื่อ interactive ที่ทันสมัย นอกจากนั้น ในการออกแบบปรับปรุงอาคารกรมธนารักษ์ยึดหลัก Universal Design ซึ่งให้ความสำคัญในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และเด็ก เช่น มีลิฟท์และทางลาดสำหรับรถเข็น จัดทำคำบรรยายอักษรเบรลล์ และจำลองทรัพย์สินจัดแสดง เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาสามารถอ่านข้อมูลและสัมผัสทรัพย์สินได้  ทั้งนี้การปรับปรุงพิพิธภัณฑ์เหรียญมีความคืบหน้าแล้วประมาณ 36.20% เร็วกว่าแผนดำเนินการประมาณ 18%           กรมธนารักษ์เชื่อมั่นว่าพิพิธภัณฑ์เหรียญแห่งนี้ จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่บนเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งได้รับการกล่าวขวัญถึงอย่างแพร่หลาย และยอมรับในระดับนานาชาติ และกำหนดเป็นพื้นที่ในคู่มือท่องเที่ยวเมืองไทยในด้าน Edu Tourism ต่อไป นายนริศกล่าวในที่สุด   ข้อมูลจาก ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 26 สิงหาคม 2556

เร่งบูรณะพิพิธภัณฑ์ให้ทันสมัย

เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นายอนันต์ ชูโชติ รองอธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ถวายเครื่องปัจจัยไทยธรรมพระสงฆ์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 139 ปี พิพิธภัณฑสถานในประเทศไทย และครบรอบ 18 ปี วันพิพิธภัณฑ์ไทย 19 กันยายน 2556 นายอนันต์ กล่าวว่า กรมศิลปากร ได้จัดกิจกรรมวันพิพิธภัณฑ์ไทยขึ้น เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดตั้งมิวเซียม และเปิดให้ประชาชนเข้าชม ณ หอคองคอเดีย ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2417 โดยในปีนี้ กรมศิลปากร ได้จัดกิจกรรมพิเศษ ได้แก่ การเสวนาหัวข้อ “เก็บวันนี้ พรุ่งนี้เก่า เราก็ตั้งพิพิธภัณฑ์ได้” การเสวนา “อวดโฉมวังหน้า” เปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดปรับปรุงการจัดแสดงนิทรรศการถาวรของพิพิธภัณฑ์ พระนคร ที่สำคัญการจัดงานครั้งนี้ ยังถือเป็นการเปิดตัวการจัดแสดงของโรงราชรถใหม่ หลังมีการปิดปรับปรุงตัวอาคารมานานกว่า 1 ปี โดยมีการจัดราชรถเป็นหมวดหมู่ต่างๆ มีคำอธิบายภาษาไทย-อังกฤษ มีผู้นำชม 5 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น เยอรมัน รวมทั้งจัดวิดีทัศน์เกี่ยวกับขบวนพระราชพิธีงานพระศพ ตลอดจนขั้นตอนในพระราชพิธีทั้งหมดเป็นครั้งแรก         ในปีงบประมาณ 2557 นี้ กรมศิลปากร มีแผนดำเนินการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์วังหน้าอย่างเต็มรูปแบบตามโครงการอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานวังหน้า โดยจะมีการปรับปรุงอาคาร จัดแสดงประวัติวังหน้า และประวัติชาติไทย พัฒนาพิพิธภัณฑ์ให้มีชีวิต มีความทันสมัย บูรณะราชรถน้อย จำนวน 9 องค์ ซึ่งตั้งอยู่ตามจุดต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์ แล้วนำมาบูรณะให้งดงามก่อนจะเคลื่อนย้ายมาจัดแสดงไว้ ณ สถานที่เดียวกัน จัดทำประวัติเป็นแหล่งเรียนรู้ รวมถึงดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณสนามด้านหน้าโรงราชรถ พร้อมทั้งมีแนวคิดจะจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงประวัติความเป็นมาของวังหน้าและวังหลวง ประสานบริษัทนำเที่ยวในการนำนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเดินทางมาพิพิธภัณฑ์วังหน้ามากขึ้น         ทั้งนี้ จากสถิติการเข้าชมของพิพิธภัณฑ์วังหน้า ในปี 2555 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาชมประมาณ 4 แสนคน เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยกว่า 3 แสน นักท่องเที่ยวต่างชาติอีกกว่า 4 หมื่นคน ยอมรับว่า ยังเป็นจำนวนที่น้อยอยู่ และน่าจะเพิ่มให้ได้มากกว่านี้ เพราะวังหน้านี้ไม่ไกลจากวังหลวง ถ้าเราเทียบตัวเลขระหว่างพระบรมมหาราชวัง กับวังหน้า ห่างกันมาก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องปรับปรุงฟื้นฟูโบราณสถานให้น่าสนใจเชื่อมต่อกันให้ได้เพื่อให้ประชาชนรับรู้ ว่าวังหลวงและวังหน้ามีคุณค่า และความสำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ต้องทำให้นักท่องเที่ยวคิดว่า หากมาวังหลวงและมาวังหน้าด้วย   ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 20 กันยายน 2556

สวท.เตรียมผุดหอสมุดเมือง-พิพิธภัณฑ์การ์ตูนอีก 2 ปี ไม่หวั่นถูกหั่นงบ 35 ล้านบาท

นายมานิต เตชอภิโชค รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีที่โครงการรณรงค์ให้เป็นมหานครแห่งการอ่าน ของสำนักวัฒนธรรมฯ (สวท.) ที่ของบไป 100 ล้านบาท แต่ถูกตัดงบลงไป 35 ล้านบาท ว่า การถูกตัดงบลงไปนั้นก็อาจจะส่งผลกระทบทำให้กิจกรรมต่างๆ ของโครงการไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้ตามยุทธศาสตร์ที่ทางคณะกรรมการพิจารณากำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางพัฒนากรุงเทพมหานครแห่งการอ่าน เพราะการดำเนินงานนั้นจะต้องทำไปตามกรอบ 9 ข้อ ที่ กทม.ได้เซ็นสัญญากับองค์การยูเนสโก การที่โครงการดังกล่าวถูกตัดงบไปนั้นไม่ได้ส่งแค่การทำงานตามยุทธศาสตร์เท่านั้น แต่ยังร่วมไปถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน ทำการสร้างวัฒนธรรมการให้แก่ประชาชนนั้นไม่บรรลุตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากว่าการมีโครงการกรุงเทพมหานครเมืองหนังสือโลกนั้น เป็นการกระตุ้นการอ่านของคนกรุงเทพฯ ทั้งนี้ตนเห็นไม่ใช่เพียงงบประมาณเท่านั้นที่เป็นตัวแปรสำคัญ แต่ผ่านมาระบบการทำงานต่างๆ ยังไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานของ กทม.เท่าที่ควร อาจจะเป็นเพราะว่ายังขาดความรู้ความเข้าใจ รวมทั้งไม่มีส่วนในการกระตุ้นให้คนกรุงเทพฯรักการอ่าน และคิดว่าโครงการเมืองหนังสือโลกสำนักกีฬา การท่องเที่ยว และวัฒนธรรม เป็นผู้รับผิดชอบเพียงผู้เดียว โดยจะสังเกตได้จากกิจกรรมหนังสือบนรถเมล์ ป้ายรถเมล์ หรือตามรถขนส่งมวลชนต่างๆ ซึ่งทางสำนักการที่เกี่ยวข้องนั้นไม่ให้การตอบรับโครงการก็ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ตนคิดว่าหากจะให้โครงการเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นกว่านี้ หน่วยงานทั้งภายใน และภายนอก กทม.ต้องร่วมกันกระตุ้น มีความเข้าใจ และเห็นความสำคัญในการสร้างทรัพยากรณ์ได้อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการนำหนังสือไปแจก โครงการตักบาตรหนังสือ         นายมานิต กล่าวต่อว่า สำหรับในปี พ.ศ.2557 นั้น สวท.มีโครงการที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์การ์ตูน เพื่อเป็นการสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก รวมทั้งยังเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เด็กมีความอยากที่จะอ่านหนังสือ ซึ่งขณะนี้ได้กำหนดใช้พื้นที่ที่ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง มีเนื้อที่ทั้งหมด 5 ไร่โดยการออกแบบนั้นกำลังจะจัดให้มีการประกวดเพื่อหาสถาปนิกที่เข้ามารับงาน นอกจากนี้ยังมีโครงการสร้างหอสมุดเมือง ที่บริเวณอาคารสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (หลังเก่า) ซึ่งตั้งอยู่ที่สีแยกคอกวัว เนื้อที่ประมาณ 6,000 ตร.ม.โดยคาดว่าทั้ง 2 โครงการจะแล้วเสร็จภายใน 2 ปีและทาง สวท.จะจัดให้มีรถตู้ขนาดเล็กทำเป็นห้องสมุดเคลื่อนที่ โดยปรับปรุงจากรถที่มีอยู่แล้ว เพื่อที่จะได้สามารถเข้าไปบริการประชาชนในชุมชนที่มีขนาดเล็กได้ แต่เบื้องต้นอาจจะต้องขอความช่วยเหลือจากสำนักงานเขตให้ทั้ง 50 เขต จัดทำรถตู้ในลักษณะดังกล่าวอย่างน้อยให้ได้เขตละ 1 คันก่อน รวมทั้งอาจจะต้องมีการหารื้อกับคณะกรรมการ เพื่อเสนอให้จัดทำหนังสืออักษรเบรลสำหรับผู้พิการทางสายตาด้วย อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่างบประมาณจะถูกตัดออกไป ตนยืนยันว่ากิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเมืองหนังสือโลกยังจะคงดำเนินต่อไป และยังจะผักดันในคนกรุงเทพฯอ่านหนังสือ จาก 5 เล่มต่อปี เป็น 15 เล่มต่อปีให้ได้    ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 9 กันยายน 2556