ข่าวสารพิพิธภัณฑ์

"เที่ยวให้รู้ ดูให้คุ้ม" เล่มเดียวเที่ยวฟรี 20 พิพิธภัณฑ์

"เที่ยวให้รู้ ดูให้คุ้ม" กับเทศกาลเที่ยวพิพิธภัณฑ์  ซื้อ Muse Pass เล่มเดียวเที่ยวฟรี 20 พิพิธภัณฑ์ เปิดขายแล้ววันนี้ ราคาเล่มละ 199 บาท     พิพิธภัณฑ์ที่เข้าร่วม : พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, พิพิธภัณฑ์ศิริราช, พระราชวังพญาไท, พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์, พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา, พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ, พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย, หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ, หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน, หอศิลป์กรุงไทย, พิพิธภัณฑ์สื่อสาธารณะ, พิพิธภัณฑ์ตำรวจวังปารุสกวัน, จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. , ไปรสนียาคาร, บ้านสัตว์ประหลาดสยาม, 3 ศิลป์รัตนโกสินทร์ มรภ.สวนสุนันทา, พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก, พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร สามเสนใน, นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ (ยังไม่เปิดให้บริการ), และมิวเซียมสยาม   *หาซื้อบัตรได้ที่พิพิธภัณฑ์ที่เข้าร่วมโครงการ (ยกเว้นพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, หอศิลป์กรุงไทย, หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน)   **พิเศษ : สมาชิกมิวเซียมสยาม (Muse Plus) สามารถซื้อบัตร Muse Pass ที่มิวเซียมสยามได้ในราคา 150 บาทเท่านั้น!!   สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 0-2225-2777 ต่อ 123 www.museumsiam.org/museumsiamprivilege/musepass   ข้อมูลจาก Facebook-Museum Siam วันที่ 23 พฤษภาคม 2557

“นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี”

“นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี”  เป็นนิทรรศการศิลปะสัญจรซึ่งจัดโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่ทรงบันทึกในวโรกาสต่างๆตลอดช่วงเวลา พ.ศ.2555 – 2556 และเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย ที่จะได้เห็นมุมมองการถ่ายภาพที่เปี่ยมล้นด้วยความสุขของพระองค์ต่อภาพทิวทัศน์ธรรมชาติ ภาพบ้านเมือง ภาพเด็กๆ ภาพกิจกรรมประเพณี ภาพศิลปะสร้างสรรค์ และไม่เว้นแม้แต่ภาพสัตว์ต่างๆอันแสดงถึงน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงพระเมตตาต่อชีวิตเล็กๆ   หอศิลป์ริมน่าน รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและได้รับเกียรติอย่างสูงยิ่งที่ได้ร่วมเผยแพร่พระอัจฉริยภาพด้านการถ่ายภาพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีณ โอกาสนี้.                    นิทรรศการศิลปกรรม   “นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 2555 - 2556”        Art Exhibition :Traveling Photos จัดแสดง     ณ หอศิลป์ริมน่าน ระหว่างวันที่ 30  พฤษภาคม  - 30 มิถุนายน  2557 สอบถามรายละเอียดได้ที่ หอศิลป์ริมน่าน 122 หมู่ 2  ถ.น่าน – ทุ่งช้าง  อ.เมือง  จ.น่าน 55000 โทร. 081 989 2912 / 097 9230 350                   Email. Winai_nrg@hotmail.com facebook : Winai prabripoo. เปิดบริการเวลา : 09.00 – 17.00 น. /ปิดบริการ :  เฉพาะวันพุธ  

วัดดอยสุเทพฯสั่งปรับลดความสูง"มณฑปหอพิพิธภัณฑ์"

นายวัลลภ นามวงศ์พรหม กรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า กรณีการก่อสร้างอาคารจุดชมวิว "มณฑปหอพิพิธภัณฑ์ ลานชมวิว" บริเวณวัดพระธาตุดอยสุเทพฯ เป็นการก่อสร้างขึ้นมาเพื่อทดแทนจุดชมวิวเดิม ที่อยู่บริเวณลานกลางแจ้ง เมื่อฝนตกหรือแดดร้อนจัด ผู้ที่ขึ้นมาทำบุญและท่องเที่ยวบริเวณวัดไม่สามารถที่จะไปชมวิวทิวทัศน์ความสวยงามของเมืองเชียงใหม่ได้ ประกอบกับในช่วงที่มีบุคคลสำคัญเดินทางขึ้นมาทำบุญหรือเยี่ยมชมความสวยงาม ทางวัดไม่มีห้องรับรอง จึงได้มีแนวคิดที่จะทำการก่อสร้างอาคารดังกล่าวขึ้นมาโดยใช้งบประมาณ 20-30ล้านบาท   ภายในอาคารดังกล่าวจะประกอบไปด้วย พิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงความสวยงามของพระพุทธรูปและศิลปะล้านนาที่เก่าแก่ รวมทั้งจัดให้มีศูนย์สารสนเทศและห้องสมุดที่รวบรวมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวล้านนา มีห้องรับรองสำหรับต้อนรับบุคคลสำคัญของประเทศ รวมถึงอาคันตุกะที่มาเยือน นอกจากนั้นยังจัดให้เป็นจุดชมวิว มีกล้องส่องทางไกล เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถชมวิวทิวทัศน์ของเมืองเชียงใหม่ ได้ตลอด   สำหรับตัวอาคารที่ทำการก่อสร้างมีลักษณะคล้ายมงกุฎพระมหากษัตริย์ที่ก่อสร้างวัดพระธาตุดอยสุเทพฯ ซึ่งได้รับการออกแบบจากวิศวกรของทางวัดเอง ไม่ได้มีการลอกเลียนแบบมาจากต่างประเทศตามที่เป็นข่าว ตามแบบเดิมตัวหลังคาโดมไม่ได้มีความสูงเหมือนเช่นที่กำลังก่อสร้างนี้ ซึ่งได้ทักท้วงให้ช่างผู้รับเหมาทำการลดความสูงลงแล้ว แต่ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องของหลังคาโดมที่สูงกว่าองค์พระธาตุก่อน ซึ่งจากการตรวจสอบแล้วนั้น องค์พระธาตุสร้างขึ้นบนพื้นที่บริเวณยอดดอยมีความสูงประมาณ 15เมตร   ในขณะที่อาคารวุดชมวิวสร้างอยู่ในจุดที่ต่ำลงมาจากบริเวณยอดดอย มีความสูงจากฐานก่อสร้าง ประมาณ 21เมตร ซึ่งอาคารจุดชมวิวเป็นอาคารสูง 4ชั้น ชั้นที่ 3ของอาคารอยู่บริเวณเดียวกับฐานพระธาตุ จึงไม่ได้มีความสูงกว่าองค์พระธาตุและไม่เป็นการบดบังทัศนียภาพขององค์พระธาตุ อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ศรัทธาเชียงใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับองค์พระธาตุ เกิดความไม่สบายใจกับการก่อสร้างอาคารดังกล่าว ทางคณะกรรมการวัดจะเร่งทำการปรับลดขนาดความสูงยอดโดมลง เพื่อให้วางใจในการก่อสร้างว่าอาคารดังกล่าวจะไม่สูงกว่าองค์พระธาตุ   ด้านนายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานมูลนิธิสืบสานล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในหลักการแล้วพระธาตุดอยสุเทพเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งไม่น่าที่จะมีอะไรมาบดบังทัศนียภาพ ที่สามารถมองเห็นได้จากระยะไกล การที่จะมีสิ่งปลูกสร้างเกิดขึ้นมาใหม่และบดบังองค์พระธาตุไม่น่าที่จะเกิดขึ้น ปัจจุบันเชียงใหม่ได้ถูกบดบังไปด้วยสิ่งก่อสร้างที่หลากหลายพออยู่แล้ว วัฒนธรรมเดิมที่มีอยู่เริ่มหายไป จึงน่าที่จะยังคงหลงเหลือสิ่งที่ทุกคนศรัทธาไว้บ้าง   องค์พระธาตุดอยสุเทพ ถือเป็นจุดรวมใจของชาวล้านนา ที่ให้ความเคารพศรัทธาอย่างมาก การที่ทางวัดจะดำเนินการใดๆ ควรที่จะฟังความเห็นของชาวเชียงใหม่ด้วยว่าต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หรือต้องการให้ปรับปรุงในส่วนไหน ควรศึกษาถึงความต้องการของชาวเชียงใหม่ก่อนที่จะทำการก่อสร้าง ดังนั้นหากสามารถที่หลีกเลี่ยงการก่อสร้างได้ก็ควรดำเนินการ แต่หากไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงก็ควรที่ทำการปรับแก้ตามที่ร้องขอ เพื่อไม่ให้เสียทัศนียภาพที่สวยงามของเชียงใหม่ที่นับวันจะถูกสิ่งก่อสร้างต่างๆ บดบัง    ข้อมูลจาก Nation Breakingnews วันที่ 17 พฤษภาคม 2557

พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ชวนสนับสนุนอย่าทิ้งงานฝีมือคนไทย

ได้รับการตอบรับอย่างดี “เทศกาลเปิดบ้านพิพิธภัณฑ์ฯ” กิจกรรมพิเศษที่จัดขึ้นเพื่อฉลอง 2 ปี พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งจัดขึ้นเพียง 4 วัน (9-12 พ.ค.) โดยมีการแสดงและ สาธิต เพื่อเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจถึงวิธีการทำงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ซึ่งในงาน ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และ ปิยวรา ทีขะระ เนตรน้อย หัวหน้าโครงการพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ได้ร่วมพูดคุยในเรื่อง “การพัฒนาผ้าสู่พิพิธภัณฑ์ผ้า” ที่พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง   ปิยวรา หัวหน้าโครงการพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ กล่าวว่า เป้าหมายหลักของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ คือให้เป็นสถานที่เรียนรู้ โดยเฉพาะคนไทย ถึงเรื่องราวของผ้าไทย ซึ่งที่ผ่านมาเราได้จัดกิจกรรมหลายอย่าง โดยเฉพาะในปีนี้ได้จัดกิจกรรมพิเศษทุกเดือน เพื่อให้คนที่มาแล้วก็อยากที่จะมาอีก ด้าน ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ กล่าวว่า อยากให้คนไทยสนับสนุน โดยเข้ามาชื่นชมความสามารถของคนไทยด้วยกัน จะได้เห็นว่าคนไทยด้วยกันเก่งและมีความสามารถแค่ไหน เราจะเอาแต่สิ่งใหม่ๆ เท่านั้นหรือ สิ่งที่ดีๆ ที่เรามีอยู่ ก็ควรที่จะสานต่อ อย่าทิ้ง ตนอยากเห็นความเจริญของประเทศเติบโตไปข้างหน้า โดยที่คนไทยเราคงมีความเป็นไทยที่ไม่ด้อยกว่าคนชาติอื่น   นอกจากนี้ในงานยังเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมกระบวนการและขั้นตอน การเตรียมวัตถุก่อนการจัดแสดงอย่างละเอียดเป็นครั้งแรก ซึ่งวัตถุจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ มีที่มา 3ช่องทาง คือ รับบริจาคจากประชาชน หรือรับพระราชทาน, ซื้อ และการยืมมาจัดแสดง ขั้นตอนการเตรียมวัตถุ ขั้นตอนแรก คือ ลงทะเบียนเพื่อระบุตัวตนของวัตถุ และบันทึกภาพเป็นหลักฐานเพื่อแสดงสภาพ หลังจากนั้นนำเข้ากระบวนการกำจัดเชื้อราและแมลง ต่อด้วยดูดฝุ่น จากนั้นจึงให้เจ้าหน้าที่อนุรักษ์ ประเมินสภาพว่า สามารถนำมาจัดแสดงได้หรือไม่ และอยู่ในสภาพใด ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้าย การจัดเก็บวัสดุเข้าสู่ห้องคลัง โดยจะเลือกวัสดุที่ปลอดภัยกับวัตถุ เป็นกระดาษไร้กรด โฟมชนิดพิเศษ มาใช้ในการจัดเก็บ รวมทั้งต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของวัตถุเวลาเคลื่อนย้าย ต้องไม่ให้เกิดความเสียหาย ในการนำมาจัดแสดงในลำดับต่อไป   ข้อมูลจาก ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 13 พฤษภาคม 2557

เปิดพิพิธภัณฑ์ชัยศีลพุทธภิรักษ์ ศิลปสมัยล้านนาที่เชียงใหม่

อธิบดีกรมศิลปากร เปิดพิพิธภัณฑ์ชัยศีลพุทธภิรักษ์ วัดพระนอนหนองผึ้ง เชียงใหม่ เพื่อเป็นการอนุรักษ์มรดก ศิลปะโบราณวัตถุ วัฒนธรรม ประเพณี ของล้านนา   เมื่อวันที่ 14พ.ค. ที่วัดพระนอนหนองผึ้ง จ.เชียงใหม่ นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานเปิดพิพิธภัณฑ์ชัยศีลพุทธภิรักษ์ ซึ่งเป็นจัดเก็บงานศิลปวัฒนธรรม เพื่อการอนุรักษ์มรดกศิลปะล้านนา โบราณวัตถุล้ำค่าในสมัยล้านนา ประการแรก ถือเป็นความสำเร็จในการร่วมมือกันทำงานอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน ระหว่างภาคท้องถิ่น ซึ่งพระครูพุทธไสยาภิรักษ์ เจ้าอาวาสวัดพระนอนหนองผึ้ง นำชมรมศิลปวัฒนธรรมล้านนาวัดพระนอนหนองผึ้ง และชาวบ้านหนองผึ้ง กับภาคราชการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ กรมศิลปากร และสถานศึกษา คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บางชิ้นเป็นมรดกล้านนาล้ำค่าอายุเก่าแก่มากจัดแสดงโบราณวัตถุสมัยล้านนา และเพื่อปกป้อง ดูแลโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ โบราณสถานตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีของประเทศ ให้คงอยู่เป็นมรดกสืบต่อไปสู่ลูกหลานคนไทยในอนาคต   นายเอนก กล่าวด้วยว่า ประการที่ 2 เป็นความสำเร็จของโครงการเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น จังหวัดเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน ของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เชียงใหม่ที่สามารถประสานเข้ากับเจตนารมณ์ของท้องถิ่นในการดูแลรักษามรดกศิลปวัฒนธรรมจนก่อเกิดเป็นรูปธรรม "พิพิธภัณฑ์ชัยศีลพุทธภิรักษ์ วัดพระนอนหนองผึ้ง" แห่งนี้ โครงการเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น จังหวัดเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน ของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ของเชียงใหม่นั้น เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเครือข่ายมรดกศิลปวัฒนธรรม กรมศิลปากร ที่มีวัตถุประสงค์สนับสนุนการดำเนินงานรูปแบบต่างๆ ของภาคประชาชน ในการร่วมมือกับกรมศิลปากร พิพิธภัณฑ์ชัยศีลพุทธภิรักษ์ วัดพระนอนหนองผึ้งแห่งนี้ จึงเป็นผลสัมฤทธิ์ของโครงการเครือข่ายมรดกศิลปวัฒนธรรม กรมศิลปากรที่ดียิ่ง   ข้อมูลจาก ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 14 พฤษภาคม 2557

เทศกาลเปิดบ้านพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ

นับเป็นโอกาสพิเศษยิ่ง เมื่อ พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เปิดดำเนินการครบ 2 ปี จึงจัดกิจกรรม "เทศกาลเปิดบ้านพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ" (QSMT Festival: Open House) ขึ้น โดยแถลงข่าวการจัดงาน ณ พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง   ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ กล่าวว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชดำริให้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ขึ้นเพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับผ้าไทย และประวัติศาสตร์เครื่องแต่งกายของคนไทย พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ จึงเป็นสถานที่   รวบรวมจัดเก็บรักษาผ้าไทย และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนจัดแสดงงานหัตถศิลป์จากผ้าอันทรงคุณค่าของราชสำนักและผ้าพื้นเมืองต่างๆ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานในการอนุรักษ์การทอผ้าของไทยให้คงอยู่เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติสืบไป   "เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสครบ 2 ปี การจัดงานครั้งนี้เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจให้บุคคลทั่วไปได้ทราบถึงการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ"   ปิยวรา ทีขะระ เนตรน้อย หัวหน้าโครงการพิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กล่าวว่า ในการจัดงานครั้งนี้พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ โรงเรียนช่างฝีมือในวัง ตลอดจนนักออกแบบและศิลปินผู้มีชื่อเสียงหลายแขนง กิจกรรมครั้งนี้จึงมีความหลากหลาย แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ การเปิดบ้านพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ การสาธิตและการออกร้าน งานเสวนาและเสวนาเชิงปฏิบัติการ และการแสดงต่างๆ   "ตลอดเทศกาลเปิดบ้านพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ผู้ที่มาร่วมงานจะได้พบกับกิจกรรมต่างๆ อาทิ การเปิดบ้านให้บุคคลทั่วไปได้เข้าชมกระบวนการและขั้นตอนการเตรียมวัตถุจัดแสดงอย่างละเอียดเป็นครั้งแรก การสาธิตต่างๆ จากสมาชิกศิลปาชีพ เช่น การสาวไหมแบบโบราณ การทำผ้าไหมมัดหมี่ งานปักซอยแบบไทย งานปักปีกแมลงทับ งานปักโขนพระราชทาน รวมทั้ง กิจกรรมสาธิตจากโรงเรียนช่างฝีมือในวังทั้งชายและหญิง เช่น งานเขียนหัวโขน งานลงรักปิดทอง งานแทงหยวก งานลายรดน้ำ งานประดับมุก งานแกะสลัก งานร้อยมาลัย และงานอาหารตามแบบฉบับชาววัง นอกจากนี้ ยังสามารถร่วมจับจ่ายผลิตภัณฑ์จากร้านมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถอีกด้วย"   พิเศษกับการเปิด ห้องคลัง และ ห้องอนุรักษ์ ซึ่งเป็นห้องที่ไม่เปิดให้เข้าชม แต่การจัดงานครั้งนี้จะเปิดให้เข้าชมอย่างใกล้ชิด โดยผู้สนใจเข้าชมต้องแจ้งความจำนงมาที่พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ   "ห้องคลังเป็นห้องเก็บฉลองพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ รวมทั้งผ้าราชสำนักของฝ่ายในตั้งแต่สมัย ร.4-ร.5 ซึ่งเมืองไทยหาดูได้ยาก ส่วนห้องอนุรักษ์ ผู้เข้าชมจะได้ชมขั้นตอนการอนุรักษ์ชุดตามมาตรฐานสากลและเป็นไปตามหลักวิชาการ ให้มีสภาพคงทนเพื่อเป็นมรดกทางวัฒนธรรมให้อนุชนรุ่นหลังเรียนรู้ต่อไป"   หัวหน้าโครงการพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ทิ้งท้ายว่า การจัดงานในครั้งนี้ มุ่งหวังจะเปลี่ยนทัศนคติของคนไทย และเยาวชนในการมาชมพิพิธภัณฑ์ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่น่าเบื่อ แต่จะได้รับทั้งความสนุก และความรู้ไปพร้อมๆ กัน ทั้งพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน ตลอดจนประวัติศาสตร์ผ้าไทย   สินจัย เปล่งพานิช ดารานักแสดงที่มาร่วมงาน กล่าวว่า เคยได้ร่วมถวายงานสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในหลายๆ โอกาส รวมเป็นเวลากว่า 20 ปี แต่งานที่ภาคภูมิใจมากที่สุด คือ การได้ร่วมเดินแบบงานผ้าไหมที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ โดยแสดงแบบหน้าพระที่นั่ง   "พระองค์มีพระวิสัยทัศน์ยาวไกล และทรงมีพระราชประสงค์ที่จะส่งเสริมให้ถึงที่สุด คือ ให้คนทอและคนใส่ได้ภาคภูมิใจในความเป็นไทย และให้กำลังใจชาวบ้านว่าสิ่งที่ตัวเองทำอยู่เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ ส่วนตัวก็ดีใจที่มีโอกาสได้สวมใส่ เพราะในชีวิตคงไม่มีโอกาสได้สัมผัสผ้าไหมสวยๆ เหล่านี้ ถ้าไม่ได้มีโอกาสถวายงาน หลายครั้งรู้สึกทึ่งในความสามารถในการทอของชาวบ้าน หลายผืนมีความสวยงามมากและยิ่งนำมาแปรเป็นชุดราตรี ชุดค็อกเทล ด้วยฝีมือดีไซเนอร์ ยิ่งทำให้เพิ่มมูลค่าของผ้าไหมให้มากเป็นทวีคูณ"   ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย วันที่ 9-12 พฤษภาคม ตั้งแต่เวลา 09.00-18.00 น. ณ พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง   สอบถามเพิ่มเติมและลงทะเบียนร่วมกิจกรรมที่ โทร.0-2225-9420, 0-2225-9430 ต่อ 0 หรือ 245 หรือ www.qsmtthailand.org และติดตามข่าวสารต่างๆ ได้ทางเฟซบุ๊กของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ www.facebook.com/qsmtthailand   ข้อมูลจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 6 พฤษภาคม 2557

รู้จัก “พิพิธภัณฑ์พญาคางคก” ก่อนได้ไปเที่ยว

อีกไม่กี่ปีข้างหน้าจังหวัดยโสธรจะมี “พิพิธภัณฑ์พญาคันคาก” พิพิธภัณฑ์ที่สอดแทรกตำนานเกี่ยวกับพญาคางคกและบั้งไฟ ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องราวอันเป็นตำนานพื้นเมืองของชาวอีสานแล้ว ยังสอดแทรกเรื่องราวด้านวิทยาศาสตร์และความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นความโดดเด่นของไทยที่พบได้ทุกภูมิภาค        นายสาคร ชนะไพฑูรย์ รักษาการผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) อธิบายถึงการก่อสร้าง “พิพิธภัณฑ์พญาคันคาก” ว่า ทางจังหวัดยโสธรมีโครงการสร้างพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับตำนานบั้งไฟ ซึ่งเป็นประเพณีที่โดดเด่นของ จ.ยโสธร แต่ต้องการความช่วยเหลือในเรื่องของนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์ และได้ปรึกษากับ นายพีรพันธุ์ พาลุสุข รักษาการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเพิ่งเสียชีวิตเมื่อ 30เม.ย. 57ที่ผ่านมา ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงมอบหมายให้ อพวช. เข้าไปดูแลและจัดทำนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์        ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์พญาคันคากเป็นพิพิธภัณฑ์แรกใน 3พิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับประเพณีบุญบั้งไฟที่ได้รับงบประมาณในการก่อสร้างก่อน โดยพิพิธภัณฑ์ที่เหลือคือ พิพิธภัณฑ์พญาแถน และพิพิธภัณฑ์พญานาค ซึ่งตามตำนานนั้นพญาคันคากเป็นโอรสของกษัตริย์ แต่มีผิวพรรณเหมือนคางคก ซึ่งภาษาอีสานเรียกว่า “คันคาก” แต่ด้วยมีบุญญาการมากจึงได้รับการช่วยเหลือจากพระอินทร์และเป็นที่นับถือของชาวบ้าน จนลืมเซ่นสรวงบูชาพญาแถน ทำให้พญาแถนไม่ปล่อยฝนลงมาบนโลก        “ตามตำนานชาวอีสาน เชื่อว่าโลกมีโลกมนุษย์และโลกเทวดา โดยโลกมนุษย์อยู่ใต้โลกเทวดา และเรียกเทวดาว่า “แถน” ส่วนฟ้าฝนหรือลมนั้นเป็นอิทธิพลของแถน การที่พญาแถนไม่ปล่อยฝนให้ตกลงบนโลกมนุษย์ทำให้พญาคันคากอาสานำสัตว์ต่างๆ อาทิ ช้าง ม้า วัว ควาย ปลวก ผึ้ง ต่อแตน ขึ้นไปรบกับพญาแถนจนชนะ และปล่อยให้ฝนตกตามเดิม แต่มีข้อแม้ว่าต้องจุดบั้งไฟขึ้นไปบอกกล่าว จึงเป็นที่มาของประเพณีบั้งไฟ” นายสาครกล่าว        รักษาการผู้อำนวยการ อพวช. กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์พญาคันคากจะก่อสร้างเป็นรูปคางคก และนิทรรศการภายในจะบอกเรื่องเกี่ยวกับที่มาของบั้งไฟ โดยจัดฉายเป็นภาพยนตร์ 4มิติ และนิทรรศการเกี่ยวกับคางคกชนิดต่างๆ ที่พบได้ในเมืองไทยที่มีอยู่กว่า 20ชนิด ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ อพวช. ร่วมศึกษากับมหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่อาจเพิ่มไปถึงคางคกชนิดต่างๆ ที่พบได้ทั่วโลกซึ่งมีกว่า 500ชนิด รวมทั้งรวบรวมของดีทางด้านเกษตรกรรมของเมืองยโสธรไว้ภายในพิพิธภัณฑ์ รวมถึงเกล็ดเล็กเกล็ดน้อย อาทิ จังหวัดยโสธรเป็นจังหวัดที่เกิดขึ้นก่อนจังหวัดอื่นๆ ในอีสานใต้ ในสมัยรัชกาลที่ 4มีชื่อว่า “ยศโสธร” ก่อนย่อเป็นยโสธร หรือเป็นจังหวัดที่มีข้าวหอมมะลิอร่อยที่สุดในประเทศไทย        “นัยยะจากตำนานบอกเราเกี่ยวกับเรื่องการเกษตร วัฒนธรรม และความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งตอนนี้พิพิธภัณฑ์กำลังก่อสร้างแล้ว และจะแล้วเสร็จในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ส่วนพิพิธภัณฑ์อื่นๆ ต้องรออนุมัติงบประมาณต่อไป โดยพิพิธภัณฑ์พญานาคมีการสร้างแบบแล้ว แต่เขาสร้างเป็นตัวพญานาคซึ่งแล้วอาจจะไม่ปลอดภัย จึงให้มีการแก้แบบ ส่วนพิพิธภัณฑ์พญาแถนจะเป็นรูปตึกธรรมดา” นายสาครกล่าว   ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 2 พฤษภาคม 2557

แถลงข่าวเปิดตัวพิพิธภัณฑ์ศิลปพระพิมพ์หริภุญชัย

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2557 เวลา 11.00 น. สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย รศ.ดร.ธนศ ศรีวิชัยลำพันธ์ และ อ.ดร.พิสิฏฐ์ โครตรสุโพธิ์ ร่วมกับคุณทีปอุทัย แสนกาศ รองประธานชมรมพระเครื่องจังหวัดเชียงใหม่ คุณนิตยา กนกมงคล ผอ.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดเชียงใหม่ และคุณลักษมณ์ บุญเรือง หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย แถลงข่าวเปิดตัวพิพิธภัณฑ์ศิลปพระพิมหริภุญชัย ณ ลานเอนกประสงค์ สถาบันวิจัยสังคม พิพิธภัณฑ์ศิลปพระพิมพ์หริภุญชัย จัดแสดงพระพิมพ์กว่า 2,000 ชิ้น อาทิ พระรอด และพระพิมพ์ในสมัยทราวดีตอนปลาย สมัยหริภุญชัย และจัดแสดงเครื่องปั้นดินเผาอีกจำนวนหนึ่ง พิพิธภัณฑ์ศิลปพระพิมพ์หริภุญชัย ตั้งอยู่ที่ กม.ที่ 46 อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม ติดกับด่านชั่งน้ำหนัก (เวียงเถาะโบราณ)   ข้อมูลจาก สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ 1 พฤษภาคม 2557

อาสาสมัครพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ถ่ายทอดความรู้′ผ้าไทย′

พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดกิจกรรมสำหรับบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจงานด้านพิพิธภัณฑ์ และมีใจรักงานบริการ เข้าร่วมอบรม "อาสาสมัครบริการวิชาการ" โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ด้านงานอนุรักษ์ผ้าไทย รวมถึงวัฒนธรรมการแต่งกายของคนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน... โดยอาสาสมัครทั้ง 22 คน ที่ผ่านการเข้ารับอบรมรุ่นแรก ได้รับมอบเกียรติบัตรและบัตรประจำตัวอาสาสมัคร เพื่อในอนาคตอาสาสมัครเหล่านี้จะได้ให้ความรู้แก่ผู้ที่มาเข้าชมพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ปิยวรา ทีขะระ เนตรน้อย หัวหน้าโครงการพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์ผ้าฯเป็นสถานที่ที่ให้ความรู้ด้านการส่งเสริมและอนุรักษ์ผ้าไทย เป็นศูนย์กลางการเก็บรักษาและจัดแสดงผ้าประเภทต่างๆ ซึ่งเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติ รวมทั้งจัดแสดงฉลองพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงนำความเป็นไทยออกสู่สากล จนก่อให้เกิดรายได้กลับมาสู่ผู้ผลิตในประเทศ "การอบรมครั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้กับบุคคลภายนอกที่มีความสนใจและใฝ่รู้เรื่องผ้าไทย ได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม รวมทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายพิพิธภัณฑ์อีกนัยหนึ่ง ซึ่งในแต่ละเดือนจะมีกิจกรรมที่น่าสนใจแตกต่างกันออกไป เวียนตลอดทั้งปี โดยคุณสมบัติของอาสาสมัครคือ ความเอาใจใส่ ต้องมีใจรักในงานบริการและสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับผ้าไทยโดยจำข้อมูลได้อย่างถูกต้องแม่นยำ" ปิยวรากล่าว  หนึ่งในตัวแทนผู้เข้าอบรม "อาสาสมัครบริการวิชาการ" รุ่นแรก "นที แก้วคำอ้าย" เจ้าหน้าที่ห้องสมุด มหาวิทยาลัยนานาชาติ แสตมฟอร์ดหัวหิน ผู้ที่มีความสนใจและศึกษาเกี่ยวกับผ้าไทย ผ้าไหม และผ้าพื้นบ้าน เป็นเวลาร่วม 20 ปี บอกว่า  การเข้าร่วมอบรมครั้งนี้ ได้ความรู้มากมายที่เป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการ และการดูแลพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ รวมทั้งประทับใจเจ้าหน้าที่ทุกคนที่พร้อมให้บริการเกินร้อย และมีความตั้งใจในการเผยแพร่องค์ความรู้ต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ สู่นักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ "ผ้าไทยถือเป็นเครื่องบ่งบอกเอกลักษณ์ความเป็นไทย และเป็นสิ่งที่สวยงามมีคุณค่า จึงอยากรณรงค์ให้คนไทยหันมาสวมใส่ผ้าไทยในช่วงเทศกาลสำคัญๆ ของไทย ดังนั้น เราต้องช่วยกันอนุรักษ์ และอีกสิ่งที่จะตามมาคือ ชาวบ้านที่มีอาชีพทอผ้า เขาก็จะมีรายได้ด้วย เพราะฉะนั้นเงินทองก็ไม่รั่วไหลไปไหน แต่หมุนเวียนอยู่ภายในประเทศของเรา" ผู้เข้าอบรมรุ่นแรกกล่าว ข้อมูลจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 18 เมษายน 2557

เมืองโบราณ-ช้างเอราวัณ ขยายเวลาเข้าชมถึง 2 ทุ่ม

เมืองโบราณฉลองขึ้นปีที่ 51 โดยเมืองโบราณและพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ ได้ขยายเวลาเปิดให้บริการทุกวัน จากเดิมเวลา 09.00-18.00 น. มาเป็นเวลา 09.00-20.00 น. เพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยว และประชาชนที่สนใจ          สำหรับ"เมืองโบราณ" ตั้งอยู่ที่ ต. บางปู อ. เมือง จ. สมุทรปราการ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2506 ด้วยการจำลองรูปแบบสถาปัตยกรรม และศิลปกรรมทั่วทั้ง 76 จังหวัดในประเทศไทย มารวมไว้มากมาย อาทิ พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท มณฑปพระพุทธบาท จ.สระบุรี พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณราม จ.เพชรบุรี พระพุทธรูปทวารวดี แห่งเมืองนครชัยศรี เป็นต้น โดยเมืองโบราณเปิดตัวครั้งแรกต่อสายตานักท่องเที่ยวเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 จวบจนปัจจุบัน   ส่วนพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ ตั้งอยู่บนถนนสุขุมวิท บริเวณที่ตัดกับถนนกาญจนาภิเษก ต.บางเมืองใหม่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ เป็นที่รวบรวมศิลปวัตถุและงานศิลปะอันงดงามแห่งภูมิปัญญาตะวันออกไว้ให้ชมกันมากมาย ตัวอาคารมีความสูงเท่ากับตึกสูงประมาณ 17 ชั้น ความสูงจากพื้นดินถึงโหนกหัวช้าง 43.60 ม. ภายในมีการแบ่งส่วนจัดแสดงเป็น ชั้นบาดาล ชั้นโลกมนุษย์ และชั้นสวรรค์         สถานที่ท่องเที่ยวทั้ง 2 แห่ง สร้างจากจินตนาการของ “เล็ก วิริยะพันธุ์” ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของ จ.สมุทรปราการ ซึ่งปัจจุบันจากกรุงเทพ หากไม่ขับรถยนต์มาเองก็สามารถใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ แท็กซี่ บีทีเอส(สถานีแบริ่ง) โดยผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2323-4094-9 หรือดูที่ www.facebook.com/Ancientsiam.   ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 13 มีนาคม 2557