ข่าวสารพิพิธภัณฑ์

พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณและเมืองโบราณ เปิดเข้าฟรี

วันอาสาฬหบูชา 2557 พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณและเมืองโบราณ เปิดเข้าฟรี พร้อมร่วมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา   พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ เปิดเข้าชมฟรี เวลา 09.00 – 12.00น. -      เวลา 09.00น. พิธีเจริญพระพุทธมนต์ สวดอุปปาตะสันติ (ครั้งที่ 8) และ สวดพระปริตร โดยพระสงฆ์จากวัดพิชัยญาติการาม -      เวลา 11.00-12.00น. เข้าชมภายในตัวอาคารพิพิธภัณฑ์   เมืองโบราณ เปิดเข้าชมฟรี เวลา 16.00-20.00น. -      เวลา 16.30น. พระสงฆ์แสดงธรรมเทศนา -      เวลา 17.00น. พิธีเจริญพระพุทธมนต์ สวดธัมมจักกัปปวัตนสูตรและ สวดพระปริตร โดยพระสงฆ์จากวัดบางปิ้ง พร้อมร่วมทำบุญถวายเทียนจำนำพรรษาและผ้าอาบน้ำฝน ณ พระธาตุบังพวน -      เวลา 18.30-20.00น. ร่วมเวียนเทียน รอบพระธาตุบังพวน ที่ได้ประดิษฐานดิน ที่อัญเชิญจากประเทศอินเดีย   สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม 02-323-4094-9 /www.facebook.com/ancientsiam ------------------------------------------------------------- หมายเหตุ : เมืองโบราณ ตั้งแต่เวลา 16.00-20.00 น. บริการรถรางฟรี เส้นทางรถราง เริ่มจากหน้าเมืองโบราณ-ภาคใต้-ตลาดบก-พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท-ป่าเจดีย์–ปราสาทพระวิหาร-พระธาตุพนม-จอดให้นักท่องเที่ยวลงจุดเดียวที่ พระธาตุบังพวน(บริเวณงาน) / นำรถยนต์เข้าชมมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม   ข้อมูลจาก เมืองโบราณ – พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งทางศิลปวัฒนธรรมระดับโลกแห่งสยาม วันที่ 3 กรกรฎาคม 2557

กิจกรรมดีๆ ที่พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้

Workshop พิเศษ พับกระดาษเป็นพวงมาลัยโดย วิริน เชาวนะ คลาสเดียว วันเดียวเท่านั้น ในวันอาทิตย์ที่ 3 สิงหาคม 2557 เวลา 13.00-17.00 น. ณ พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ สนใจขอรายละเอียดเพิ่มเติม และลงทะเบียนเรียนได้ที่ พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ โทร. 02 669 3633-4  วันอังคาร - วันอาทิตย์ 10.00 - 18.00 น. สมัครด่วน รับจำนวนจำกัด *ประวัติ วิริน เชาวนะ วิริน เชาวนะ เกิดที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2533 มีความสนใจทางด้านศิลปะ วาดรูป และทำงานฝีมือมาตั้งแต่เด็ก เพราะได้รับอิทธิพลจากพ่อและแม่ที่เรียนมาทางด้านศิลปะทั้งคู่ เมื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยจึงเลือกเรียนภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมัณฑณศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เริ่มทำงานกระดาษในช่วงที่เรียนชั้นปีที่ 4 และได้ทำศิลปนิพนธ์เป็นการออกแบบงานกระดาษชุด "พับ เพียบ เรียบ ร้อย" ที่ได้รับแรงบันดาลใจมากจากงานดอกไม้สดของไทย ซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับรางวัลสุดยอดไอเดียสร้างสรรค์จากโครงการ Brand's Gen 6 ได้จัดแสดงในงานปล่อยแสง ครั้งที่ 10 ของ TCDC และเป็น 1 ใน 5 ของรางวัล Degree Shows 2013 ประเภท Graphic Design วิรินจบการศึกษาศิลปบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 1 ในปีการศึกษา 2555 ปัจจุบันทำงานเกี่ยวกับการออกแบบงานกระดาษ ในด้านการพับกระดาษขึ้นเป็นรูปทรงต่างๆ และการดุนกระดาษ ที่มีลักษณะคล้ายภาพนูนต่ำ วิรินยังคงศึกษา และทดลองเรื่องกระดาษเพื่อสร้างผลงานใหม่ๆ อยู่เสมอ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.floralmuseum.com/ ข้อมูลจาก Sakul Intakul วันที่ 29 มิถุนายน 2557

“อย่าลืมฉัน” นิทรรศการเชิงสืบสวน ชวนค้นหา “2020เห็นอะไรในสยาม”

สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ และ มิวเซียมสยาม ขอเชิญชมนิทรรศการ “อย่าลืมฉัน” เหตุแห่งการละเลยมรดกของชาติที่คนไทยต้องจดจำ ผลงานของกลุ่มนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้ชนะเลิศจาก โครงการ "ปั้นนักพิพิธภัณฑ์สายพันธุ์สยาม ครั้งที่ 4"  หรือ "Young Muse Project"   "อย่าลืมฉัน” นิทรรศการเชิงสืบสวนที่ท้าให้คุณค้นหาคำตอบ  เมื่อ “ความภูมิใจ-ภูมิปัญญาไทย-เอกลักษณ์ไทย” กำลังถูกละเลยจนอาจไม่เหลือความทรงจำให้คนรุ่นใหม่ได้ภาคภูมิใจอีกต่อไป โดยมี สมุนไพรไทย ช้างไทย และ มวยไทย เป็นตัวอย่างบางส่วนของภูมิปัญญาไทยที่กำลังจะถูกลืม     ร่วมสืบหา “ความเป็นไทยที่ถูกละเลย” ผ่านนิทรรศการ “อย่าลืมฉัน” ตั้งแต่วันนี้ - 30 มิถุนายน 2557 ตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. ณ. ห้องนิทรรศการชั่วคราว มิวเซียมสยาม สนามไชย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย   *สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร.02-225-2777  ต่อ 123 หรือ www.facebook.com/museumsiamfan และ www.museumsiam.org   ข้อมูลจาก มิวเซียมสยาม

คืนอีกทองที่พัทลุง-'นิพิฏฐ์' ชงกรมศิลป์สร้างพิพิธภัณฑ์

เมื่อวันที่ 13มิ.ย. 57 นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พัทลุง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เปิดเผยว่า ตนได้ทำหนังสือไปถึงอธิบดีกรมศิลปากร เรื่อง ขอให้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์ หรืออาคารสำหรับเก็บรักษาทองคำที่ขุดได้ที่ อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง เนื่องจากเห็นว่า ขณะนี้กรมศิลปากรได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบ และขุดค้นหาทองในพื้นที่ดังกล่าวตามหลักวิธี อีกทั้งยังมีประชาชนในพื้นที่ส่วนหนึ่ง เริ่มทยอยนำทองคำที่ได้จากการขุดค้นมาคืนให้กับกรมศิลปากร โดยผู้คืนทองคำมีความประสงค์ให้กรมศิลปากรเก็บรักษาทองคำนี้ไว้ที่ จ.พัทลุง เพื่อให้ลูกหลาน คนรุ่นหลังได้ทราบที่มา   "เนื่องจากจังหวัดพัทลุง ยังไม่มีพิพิธภัณฑ์ จึงยังไม่มีสถานที่เก็บรักษาทองคำอย่างปลอดภัย จึงทำเรื่องเสนอเพื่อขอความกรุณาจากกรมศิลปากร ได้ตั้งงบประมาณในการก่อสร้างพิพิทธภัณฑ์ หรืออาคารสำหรับเก็บรักษาทองคำไว้ที่บริเวณวัดเขียนบางแก้ว อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง เพื่อเป็นแหล่งวัฒนธรรม และแหล่งประวัติศาสตร์ของประชาชนในพื้นที่ต่อไป" นายนิพิฏฐ์ กล่าว   ขณะเดียวกัน ที่ จ.พัทลุง นายวิ ทับแสง อายุ 55 ปี อยู่บ้านเลขที่ 1 ม.6 ต.เขาชัยสน อ.เขาชัยสน ซึ่งเป็นเจ้าของแหล่งทองคำในท้องที่ ม.7 ต.เขาชัยสน ได้นำ นางสุวรรณา หนูโม อายุ 43 ปี อยู่บ้านเลขที่ 4 ม.11 ต.เขาชัยสน อ.เขาชัยสน และนางหนูพา หนูคง อายุ 45 ปี อยู่บ้านเลขที่ 14 ม.11 ต.เขาชัยสน พร้อมครอบครัว นำทองคำที่ขุดพบในแปลงปาล์มน้ำมันของนายวิ มามอบให้กับทางกรมศิลปากร ณ ห้องประชุมสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง โดยมี นายศรัณยู เสมา หน.สำนักงานจังหวัดพัทลุง และนางศิริพร ทองทวี วัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง ร่วมกันรับมอบ   สำหรับทองคำที่นำมามอบให้กับกรมศิลปากรในครั้งนี้ ในส่วนของนางสุวรรณาได้มอบทองคำแผ่น น้ำหนักประมาณ 38 กรัม จำนวน 1 แผ่น ส่วนนางหนูพา มอบจี้ทองคำจำนวน 2 ชิ้น น้ำหนักรวมกันประมาณ 14 กรัม จากการสอบถามทั้ง 2 คน ซึ่งเป็นชาวสวนยางพารา บอกว่า ทั้ง 2 ได้เข้าไปขุดทองในพื้นที่ดังกล่าวตามคำบอกกล่าวของชาวบ้าน ในตอนสายวันที่ 27พ.ค. 57 โดยนางหนูพา เป็นผู้ขุดทองพบเป็นคนแรก หลังจากนั้นอีกประมาณ 30 นาที นางสุวรรณาก็ขุดพบเช่นเดียวกัน หลังจากที่ทั้ง 2 คนขุดพบทองคำได้มีพ่อค้ามาขอซื้อทองจากทั้ง 2 คน ในราคาคนละ 35,000 บาท แต่พวกตนไม่ยอมขายให้   ต่อมา เมื่อข่าวขุดทองโด่งดังไปทั่วประเทศ ได้มีพ่อค้าทองคำและนักสะสมของเก่า วัตถุโบราณ 4-5 ราย เดินทางมาขอซื้อทองคำที่ขุดได้ ให้าราคาคนละ 1 แสนบาท แต่พวกตนทั้ง 2 ก็ไม่ยอมขายให้เช่นกัน กระทั่งมีข่าวการมอบทองคำคืนให้แก่แผ่นดิน จึงนำเรื่องการมอบทองไปปรึกษากับนายวิ เจ้าของแหล่งทองคำ นายวิจึงพาเข้าพบ นายสมศักดิ์ เวชพาณิชย์ นายอำเภอเขาชัยสน เมื่อวานนี้ (12มิ.ย.) ตอนเย็น เพื่อติดต่อนำทองมอบคืนให้แก่กรมศิลปากรในวันนี้ ซึ่งทองคำที่มอบ มีจำนวนรวมกัน 52 กรัม น้ำหนัก 3.42 บาท หากรวมกับทองคำที่มีผู้นำมามอบมาก่อนนี้ทั้งหมด จะมีน้ำหนักรวม 2,166 กรัม หรือประมาณ 142.5 บาท   อย่างไรก็ตาม ทั้งสอง ยังเผยอีกว่า พวกตนมีอาชีพทำสวนยางพาราประมาณคนละ 10 ไร่ มีรายได้ไม่มากนัก เพราะราคายางพาราตกต่ำมาก แต่ก็ภูมิใจในตัวเองและครอบครัว ที่ได้สร้างคุณงามความดีให้กับประเทศชาติในครั้งนี้ ในส่วนของชาวบ้านคนอื่นๆ ที่พบทองและของมีค่าในที่ดินดังกล่าวนั้น ส่วนใหญ่ได้ขายออกไปยังต่างจังหวัดเกือบหมดแล้ว โดยจะขายกันหลังจากที่ขุดพบทองคำและของมีค่าเพียง 2-3 วัน   ในส่วนขอการขุดค้นทางโบราณคดีในบริเวณแปลงปาล์มน้ำมันของนายวิ ของกลุ่มนักโบราณคดีและกำลังทหารจากกองพันทหารช่าง 401 ค่ายอภัยบริรักษ์ อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง ในวันที่ 13 มิ.ย. ยังดำเนินการกันตามปกติ โดยวันนี้เป็นการขุดหน้าดินลงลึกไปประมาณ 90 ซม. โดยในขั้นต้นยังไม่พบทองคำ และสิ่งมีค่าอื่นๆ แต่อย่างใด.   ข้อมูลจาก ไทยรัฐ วันที่ มิถุนายน 2557

ผบ.กปช.จต.แถลงข่าวการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์จังหวัดจันทบุรี

เมื่อวันที่ 14มิ.ย.57 ที่อู่ต่อเรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช บ้านเสม็ดงาม หมู่ 10ต.หนองบัว อ.เมือง จ.จันทบุรี พลเรือโท สนธยา น้อยฉายา ผู้บัญชาการกองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด พร้อมด้วย นายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นายธนภณ กิจกาญจน์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี และนายนิพนธ์หนองริมบ้าน ประธานมูลนิธิอนุสรณ์สถานอู่ต่อเรือบ้านเสม็ดงาม จันทบุรี ได้ร่วมกันแถลงข่าวการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์จังหวัดจันทบุรี ที่ภายในกองพันทหารราบที่ 2กรมทหารราบที่ 1กองพลนาวิกโยธิน ค่ายตากสิน จังหวัดจันทบุรี   โดยผู้บัญชาการกองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์จังหวัดจันทบุรีว่า เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและระลึกถึงมหาวีรกรรมของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และใช้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ของจังหวัด ของนักเรียน นักศึกษา รวมทั้งนักท่องเที่ยว อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมสนับสนุนแผนพัฒนาจังหวัดจันทบุรี คือเสริมสร้างศักยภาพการท่องเที่ยวเชื่อมโยงประเทศกลุ่มอาเซียน และยุทธศาตร์การพัฒนาสังคมให้เข้มแข็มขององค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรีด้วย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่าโดยในเบื้องต้น ทางได้องค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี สนับสนุนงบประมาณการการก่อสร้างจำนวน 20ล้านบาท โดยใช้พื้นที่ก่อสร้าง ที่บริเวณสนามเทนนิสภายในค่ายตากสินจังหวัดจันทบุรี กำหนดแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2558   ข้อมูลจาก สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 14 มิถุนายน 2557

งานเสวานาวิชาการเรื่อง "ธรรมเนียมการแต่งกายในพระราชพิธีโสกันต์"

พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ขอเชิญชวนบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมเสวนาวิชาการเรื่อง "ธรรมเนียมการแต่งกายในพระราชพิธีโสกันต์" ในวันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน 2557 เวลา 13.00 น. เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชพิธีโสกันต์ (โกนจุก) ตลอดจนเครื่องแต่งกายในพระราชพิธีดังกล่าว โดยได้รับเกียรติจาก พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ (ชวิน รังสิพราหมณกุล) ประธานพระครูพราหมณ์และหัวหน้าพราหมณ์ สังกัดกองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง และอาจารย์บุหลง ศรีกนก นักอักษรศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กรมศิลปากร ร่วมบอกเล่าประวัติความเป็นมาของพระราชพิธีโสกันต์และการโกนจุกในประเทศไทย พร้อมชมการสาธิตการแต่งกายในพิธีโกนจุกประกอบการบรรยายจากอาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ประธานกลุ่มจันทร์โสมา จังหวัดสุรินทร์   ข้อมูลจาก Facebook-Queen Sirikit Museum of Textiles 

นักท่องเที่ยวเฮ กรมศิลป์งดเก็บค่าเข้าชมโบราณสถานและพิพิธภัณฑ์แห่งชาติทั่วประเทศ

กรมศิลปากรดำเนินนโยบายตามแผนเสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ และคืนความสุขให้แก่คนไทยทั้งชาติ รวมทั้งเพื่อเป็นการเสริมความเชื่อมั่น สร้างภูมิคุ้มกันสร้างภาพลักษณ์ให้กับการท่องเที่ยวของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดังนั้น เพื่อเป็นการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว กรมศิลปากรจึงออกประกาศงดเก็บค่าเข้าชมโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทุกแห่งทั่วประเทศ สำหรับชาวไทย โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมาเป็นต้นไป จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง โดยในเบื้องต้นตามแผนงานจะงดเก็บค่าเข้าประมาณ 3 เดือน หลังจากนั้นจะมีการประเมินผล หากมีประชาชนให้ความสนใจเข้าชมเพิ่มมากขึ้นก็จะมีการขยายออกวันและเวลาออกไปอีกได้ ทั้งนี้ การเก็บค่าเข้าชมสำหรับชาวต่างชาตินั้นยังคงเหมือนเดิม   ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 12 มิถุนายน 2557

นักสะสมวัตถุโบราณเมืองจันท์ โชว์ของสะสมอายุตั้งแต่ 400-4,000 กว่าปี

นายเจริญ กุมพล อายุ 57ปี อยู่บ้านเลขที่ 119/3หมู่ที่ 5ตำบลทรายขาว อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี เจ้าของรีสอร์ต และธุรกิจหลายชนิดในจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดสระแก้ว เผยว่า ตนเป็นคนชอบสะสมวัตถุโบราณ ซึ่งภายในบ้านจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อม มีทั้งเทวรูป พระพุทธรูป ใบเสมา และแท่นศิวลึงค์ รวมทั้งโบราณวัตถุเก่าแก่อีกจำนวนมาก        โดยเฉพาะเทวรูป และพระพุทธรูป มีจำนวนไม่น้อยกว่า 400องค์ ทุกองค์ได้รับการตรวจสอบจากนักโบราณคดีแล้วว่ามีอายุตั้งแต่กว่า 400ปี ถึงกว่า 4,000ปี เคยมีผู้มาขอซื้อให้ราคาไม่ต่ำกว่า 100ล้านบาท แต่ไม่ขาย เนื่องจากต้องการเก็บรักษาไว้ให้ชนรุ่นนี้ และรุ่นต่อไปศึกษา ที่สำคัญโบราณวัตถุเหล่านี้มีค่ามากยิ่งกว่าเงินทอง        พร้อมกันนี้ นายเจริญ ยังได้เปิดให้ประชาชน นักท่องเที่ยว เยาวชน นักเรียน และศึกษาได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้โบราณวัตถุเก่าแก่ที่หาชมได้ยากฟรีอีกด้วย         “ตระกูลของตนเองสะสมมาโบราณวัตถุมาตั้งแต่รุ่นทวด ซึ่งแทบทุกองค์เป็นมรดกตกทอดกันมาหลายชั่วรุ่นคน โดยทวดของตนเอง คือ “ขุนละครวาปรี” เจ้าเมืองลพบุรี ได้รับเทวรูป และพระพุทธรูปจากคนทั่วไปทั้งให้เพื่อเป็นของกำนัล และให้เพื่อครอบครอง ตนจึงได้รวบรวมและสะสมมานานกว่า 20ปี”        ที่ผ่านมา มีผู้สนใจ และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ มาดู มาศึกษาเทวรูป และพระพุทธรูปเป็นระยะๆ ซึ่งเปิดให้ชม ได้ศึกษาฟรี เพื่อต้องการให้โบราณวัตถุเหล่านี้เป็นเหมือนความรู้ให้คนรุ่นนี้ และรุ่นต่อไปได้ศึกษา และทำให้คนท้องถิ่นได้รับประโยชน์จากการมีผู้มาท่องเที่ยวดูโบราณวัตถุอีกด้วย   ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 8 มิถุนายน 2557

นิทรรศการศิลปกรรมชนบทศึกษา : ไทล้านนา-ไทเชียงตุง

หอศิลป์ริมน่านได้รับเกียรติจากโครงการนิทรรศการศิลปกรรมชนบทศึกษา : ไทล้านนา-ไทเชียงตุง ให้เป็นพื้นที่จัดแสดงศิลปกรรมของนักศึกษาปริญญาโท  สาขาวิชาศิลปกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า  เจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งเป็นผลงานศิลปะในลักษณะเชิงการวิจัย สืบค้น แสวงหาคุณค่าของศิลปวัฒนธรรม ประเพณี  วิถีชีวิต  ศิลปะพื้นบ้านและภูมิปัญญาของผู้คนที่เกี่ยวพันใกล้ชิด มีรากเหง้าทางภาษาเดียวกันกับชาวล้านนา  คือเมืองเชียงตุง ดินแดนของคนไทเขิน ไทลื้อ ไทใหญ่  ไทยวนอยู่อาศัย  และนำข้อมูลที่ได้รับเป็นแรงบันดาลใจสร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรมร่วมสมัยในรูปแบบต่าง ๆ ร่วมกับคณาจารย์และศิลปินรับเชิญ ออกเผยแพร่ เพื่อประโยชน์ในการศึกษา แสดงถึงศักยภาพและสร้างชื่อเสียงให้กับสถาบันฯ    จัดแสดง                ณ หอศิลป์ริมน่าน ระหว่างวันที่           5  กรกฎาคม ถึง 31 สิงหาคม  2557 เปิดบริการเวลา    19.00 – 17.00 น. และปิดบริการ ทุกวันวันพุธ สอบถามรายละเอียดได้ที่เบอร์  081-989-2912 Email : Winai_nrg@hotmail.com Facebook : Winai prabripoo

กัมพูชาวอนพิพิธภัณฑ์ต่างชาติคืนเทวรูปโบราณ

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อ 4 มิ.ย.ว่า รัฐบาลกัมพูชากำลังขอให้พิพิธภัณฑ์อื่นๆ ในต่างชาติคืนเทวรูปโบราณ มาให้แก่กัมพูชา หลังจากสามารถติดตามนำเทวรูปโบราณ 3 องค์ที่ถูกโจรกรรมไปนานนับ 40 ปี กลับคืนมาได้จากประเทศสหรัฐฯ เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา และทางการกัมพูชาได้จัดพิธีสมโภชฉลองด้วยความปลาบปลื้มยินดีที่กรุงพนมเปญ ในวันที่ 3 มิ.ย.   “การเดินทางที่แสนยาวไกลนานนับ 40 ปี ทั้งรอดพ้นจากสงครามกลางเมือง การถูกโจรกรรม การลักลอบนำไปขาย และการเดินทางไปทั่วโลก เหล่านี้คือเทวรูปโบราณซึ่งได้รับเสรีภาพ และกลับคืนมาสู่บ้านเก่า” นายสก อัน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวด้วยความตื้นตัน หลังจากสามารถติดตามเทวรูปทั้ง 3 ซึ่งเป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาติคืนมาได้   ทั้งนี้ เทวรูปโบราณ 3 องค์นั้น ถูกโจรกรรมไปจากวัดในจังหวัดเสียมราฐ ตั้งแต่สมัยเกิดสงครามกลางเมืองในประเทศ เมื่อ 40 ปีที่แล้ว โดยทั้ง 3 องค์ เป็นเทวรูปหินทรายโบราณเก่าแก่ โดยมีองค์หนึ่งเกือบจะถูกประมูลขายอีกรอบที่สถาบันโซธีบี ในนครนิวยอร์ก แต่การประมูลขายต้องหยุดลงเมื่อรัฐบาลกัมพูชาได้ยื่นอุทธรณ์ต่อทางการสหรัฐฯ​ ส่วนองค์ที่สองนั้น พิพิธภัณฑ์นอร์ตัน ไซมอน ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้ยอมส่งคืนให้เป็นของขวัญแก่รัฐบาลกัมพูชา ส่วนองค์ที่สาม ได้รับคืนตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลกัมพูชากับสถาบันประมูล คริสตี้ ในสหรัฐฯ   ข้อมูลจาก ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 4 มิถุนายน 2557