ควันหลงงานเทศกาลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นครั้งที่ 3

          จบไปแล้ว  สำหรับงานเทศกาลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นครั้งที่ 3 “ภูมิรู้ สู้วิกฤต” เมื่อวันที่ 23-27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ชาวพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกว่า 70 แห่ง ได้คิดสร้างสรรค์และตระเตรียมข้าวของและเรื่องราวมาจัดแสดง ให้ชาวกทม.และสังคมไทยได้เรียนรู้และตระหนักถึง ความคิดสร้างสรรค์และภูมิปัญญาของชุมชน ที่นำมาปรับใช้แก้วิกฤตปัญหาต่างๆ 

สิ่งที่ผู้ชมเห็น เรียนรู้ และสัมผัส แม้จะเป็นระยะเวลาเพียงสั้นๆ เพียง 5 วัน ณ พื้นที่จัดงาน ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ตลิ่งชัน กทม. แต่รู้หรือไม่ว่า กระบวนการเตรียมงานของชาวพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในการมาร่วมงานแต่ละครั้ง เป็นการทำแบบฝึกหัดพิพิธภัณฑ์วิทยาน้อยๆ เลยทีเดียว

เริ่มด้วยการทำความรู้จักข้าวของในพิพิธภัณฑ์ของตนเอง ที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตและเรื่องราวของชุมชน เลือกเรื่องราวของตนเองที่เห็นว่าสัมพันธ์กับหัวเรื่อง “ภูมิรู้สู้วิกฤต” ที่ตั้งไว้ ลงพื้นที่เก็บข้อมูลและบันทึกเรื่องราวจากความทรงจำและคำบอกเล่าของผู้คนใน ชุมชน ออกแบบการจัดแสดงอย่างไรให้น่าสนใจ ภายใต้พื้นที่นิทรรศการอันจำกัดราวๆ 4x3 เมตร ของบู๊ธ สุดท้าย “การบ้าน” และ “ร่างกระดาษ” ก็กลายเป็นนิทรรศการเล็กๆ ในงานเทศกาลที่บอกเล่าเรื่องราวท้องถิ่นได้อย่างน่าสนใจ

“การได้มางาน เทศกาลฯ เปิดให้ชาวพิพิธภัณฑ์ได้เห็นและรู้จักเรื่องคนอื่นๆ ความรู้บางอย่างก็เชื่อมโยงและนำมาเปรียบเทียบกันได้ ประทับใจบ้านเก่าเล่าเรื่องชุมชนเจริญไชย ทำให้เห็นความทุกข์ที่เขาไม่อยากทิ้งที่ตรงนี้ไป ซึ่งมันมีคุณค่ามากพอๆ กับการเก็บอนุรักษ์ข้าวของเป็นชิ้นๆ ตรงนั้นมันของที่นับค่าไม่ได้ มันมีความทรงจำ มีจิตวิญญาณ” ความรู้สึกของท่านพระครูสังฆรักษ์ไพฑูรย์ สุภาโร แห่งพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา วัดหนังราชวรวิหาร กทม. หนึ่งในตัวแทนชาวพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่มาร่วมงานในครั้งนี้

ผู้ชมงานนี้กว่าครึ่งคือเด็กนักเรียนในกทม.และจังหวัดใกล้เคียง ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่าน feedback จากผู้ชมตัวน้อยโดยบังเอญในเว็บ gotoknow ด.ญ.ปลาทู จากร.ร.เพลินพัฒนา เธอบอกว่า

“ภูมิรู้สู้วิกฤต”ประโยคนี้บอกถึงอะไรหลายอย่างที่มนุษย์เราได้ทำมัน เป็นประโยคที่แฝงกับชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคน เมื่อพูดถึงปัญหาก็ย่อมถามถึงทางออก ในนิทรรศการนี้ทำให้เรารู้ถึงทางออกของหลายคน หลายที่ หลายปัญหา ที่เรา “ไม่เคย”นึกถึงมาก่อน คลิกอ่านรายละเอียดต่อ

คงไม่เกินจริงที่จะบอกว่า งานเทศกาลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่ศูนย์ฯ จัดขึ้นร่วมกับชาวพิพิธภัณฑ์ เป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างความรู้ในโลกวิชาการด้าน พิพิธภัณฑ์วิทยาและมานุษยวิทยากับชุมชนท้องถิ่นและเจ้าของวัฒนธรรม ระหว่างเครือข่ายชาวพิพิธภัณฑ์ด้วยกันเอง ระหว่างพิพิธภัณฑ์และชุมชนของเขา และระหว่างเจ้าของวัฒนธรรมกับคนนอกหรือผู้ชม ที่เป็นการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม ทั้งหลายนี้จะช่วยเสริมพลังความเข้มแข็งให้กับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ได้พัฒนาตัวเองให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนและสังคมอย่างแท้จริง ชมภาพอื่นๆ เพิ่มเติมได้ใน facebook งานเทศกาลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น

อ้างอิง :

-

ชื่อผู้แต่ง : ปณิตา สระวาสี