จารึก

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images
  • images

จารึกเจ้าครูศีลาภิรัตน์

จารึก

จารึกเจ้าครูศีลาภิรัตน์

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2567 13:11:26 )

ชื่อจารึก

จารึกเจ้าครูศีลาภิรัตน์

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

นพ. 6, จารึกวัดพระธาตุพนม 3, คำจารึกอิฐเผา

อักษรที่มีในจารึก

ไทยน้อย, ธรรมอีสาน

ศักราช

พุทธศักราช 2349 และ 2464

ภาษา

ไทย

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 2 ด้าน มี 32 บรรทัด ด้านที่ 1 มี 19 บรรทัด ด้านที่ 2 มี 13 บรรทัด

วัตถุจารึก

ศิลา ประเภทหินทราย

ลักษณะวัตถุ

รูปใบเสมา

ขนาดวัตถุ

กว้าง 24 ซม. สูง 35 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “นพ. 6”
2) ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 5 กำหนดเป็น “จารึกเจ้าครูศีลาภิรัตน์”
3) ในหนังสือ ศิลาจารึกอีสานสมัยไทย-ลาว กำหนดเป็น “จารึกวัดพระธาตุพนม 3” (มีเฉพาะด้านที่ 2)
4) ในหนังสือ อุรังคนิทาน กำหนดเป็น “คำจารึกอิฐเผา” (มีเฉพาะจารึกด้านที่ 2)

ปีที่พบจารึก

28 กุมภาพันธ์ 2495

สถานที่พบ

ประตูด้านทิศตะวันออกของวิหารทิศใต้ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม

ผู้พบ

เจ้าหน้าที่แผนกศึกษาธิการจังหวัดนครพนม

ปัจจุบันอยู่ที่

ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมรัตนโมลีศรีโคตรบูร วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม

พิมพ์เผยแพร่

1) จารึกในประเทศไทย เล่ม 5 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 308-313.
2) ศิลาจารึกอีสานสมัยไทย-ลาว (กรุงเทพฯ : คุณพินอักษรกิจ, 2530), 369-371.
3) อุรังคนิทาน (กรุงเทพฯ : นีลนาราการพิมพ์, 2537), 137-139.

ประวัติ

จารึกเจ้าครูศีลาภิรัตน์นี้ เจ้าหน้าที่แผนกศึกษาธิการจังหวัดนครพนม ได้พบเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495 เป็นศิลาจารึกรูปใบเสมา พบที่ประตูด้านทิศตะวันออกของวิหารทิศใต้ วัดพระธาตุพนม ตำบลธาตุพนม จังหวัดนครพนม มีจารึก 2 แห่ง คือ ด้านหน้าและด้านหลัง พระพนมเจติยานุรักษ์ ได้คัดจำลองอักษรจารึกไว้ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495 และศึกษาธิการจังหวัดนครพนมได้นำสำเนาอักษรจารึกที่คัดนั้น ส่งให้เจ้าหน้าที่กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2495 เมื่อเจ้าหน้าที่หอสมุดแห่งชาติได้อ่านแปลจารึกนี้แล้ว จึงทราบว่า ข้อความในสำเนาจารึกทั้ง 2 แผ่นนั้นไม่ต่อเนื่องกัน อีกทั้งจารึกขึ้นต่างยุคสมัย และต่างรูปแบบอักษรอีกด้วย ในระหว่างเดือนเมษายน พ.ศ. 2524 เจ้าหน้าที่งานบริการหนังสือภาษาโบราณ กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้เดินทางไปสำรวจเอกสารโบราณในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้ทราบว่า ศิลาจารึกเจ้าครูศีลาภิรัตน์นี้ ได้ถูกเคลื่อนย้ายไปจากที่เดิมแล้ว ต่อมาในการสำรวจครั้งเดือนเมษายน 2529 ได้พบจารึกหลักนี้ที่กุฏิรองเจ้าอาวาส และจากการสำรวจและถ่ายภาพจารึกที่วัดพระธาตุพนม โดยคณะทำงานโครงการพัฒนาฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ได้พบจารึกหลักนี้อยู่ใน ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมรัตนโมลีศรีโคตรบูร ด้วยสภาพจารึกถูกผนึกติดไว้ที่เสา ทำให้สามารถเห็นอักษรจารึกได้เพียงด้านเดียวคือ ด้านที่ 2

เนื้อหาโดยสังเขป

จารึกด้านที่ 1 จารึกด้วยอักษรธรรมอีสาน เนื้อความในจารึกกล่าวถึงเจ้าครูศีลาภิรัตน์ พร้อมด้วยภิกษุ สามเณร และสัปบุรุษ ประดิษฐานพัทธสีมาไว้ในพระบวรพุทธศาสนา เมื่อ พ.ศ. 2464 จารึกด้านที่ 2 จารึกด้วยอักษรไทยน้อย เนื้อความในจารึก กล่าวถึงเจ้าพระยาจันทสุริยวงศา เมืองมุกดาหาร ได้สร้างพัทธสีมาไว้ในพระพุทธศาสนา เมื่อ พ.ศ. 2349

ผู้สร้าง

พระยาหลวงเมืองจัน (เฉพาะด้านที่ 2)

การกำหนดอายุ

ข้อความในจารึกทั้งสองด้านนั้น ไม่ต่อเนื่องกัน อีกทั้งจารึกขึ้นต่างยุคสมัยกัน กล่าวคือ ข้อความจารึกด้านที่ 2 บรรทัดที่ 1 ระบุ จ.ศ. (1)168 (เข้าใจว่ามีการละเลข 1 ตัวหน้า) ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2349 อันเป็นสมัยที่อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ขึ้นกับราชอาณาจักรไทย มีเจ้าอนุวงศ์เป็นเจ้าครองนคร (พ.ศ. 2346-2370) ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2325-2352) ส่วนข้อความจารึกด้านที่ 1 บรรทัดที่ 3 ได้ระบุ จ.ศ. 1283 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2464 อันเป็นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2453-2468)

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : นวพรรณ ภัทรมูล, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2549, จาก :
1) ธวัช ปุณโณทก, “จารึกวัดพระธาตุพนม 3,” ใน ศิลาจารึกอีสานสมัยไทย-ลาว : ศึกษาทางด้านอักขรวิทยาและประวัติศาสตร์อีสาน (กรุงเทพฯ : คุณพินอักษรกิจ, 2530), 369-371.
2) บุญนาค สะแกนอก, “จารึกเจ้าครูศีลาภิรัตน์,” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 5 : อักษรธรรมและอักษรไทย พุทธศตวรรษที่ 19-24 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 308-313.
3) ฝ่ายวิชาการ สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 53 พระมหากษัตริย์ไทย : ธ ทรงครองใจไทยทั้งชาติ (กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2543), 261-287, 411-432.
4) พระธรรมราชานุวัตร (แก้ว อุทุมมาลา), อุรังคนิทาน : ตำนานพระธาตุพนม (พิสดาร), พิมพ์ครั้งที่ 10 (กรุงเทพฯ : นีลนาราการพิมพ์, 2537), 137-139.
5) สิลา วีระวงส์, เรียบเรียง ; สมหมาย เปรมจิตต์, แปล, ประวัติศาสตร์ลาว, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ : มติชน, 2540), 170-174.

ภาพประกอบ

1) ภาพคัดจำลองอักษรจารึกจาก : จารึกในประเทศไทย เล่ม 5 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529)
2) ภาพสำเนาจารึกจาก : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545 (เลขทะเบียน CD; INS-TH-14, ไฟล์; Nph_00300_c)