จารึกขอบบานประตูวิหารหลวง (อุโบสถ) วัดบุญยืน

จารึก

จารึกขอบบานประตูวิหารหลวง (อุโบสถ) วัดบุญยืน

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2566 09:42:47 )

ชื่อจารึก

จารึกขอบบานประตูวิหารหลวง (อุโบสถ) วัดบุญยืน

อักษรที่มีในจารึก

ธรรมล้านนา

ศักราช

พุทธศักราช 2343

ภาษา

ไทย

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 2 ด้าน มี 6 บรรทัด คือ ด้านละ 3 บรรทัด

วัตถุจารึก

ไม้

ลักษณะวัตถุ

ขอบบานประตูบานซ้ายและขวาของวิหารหลวง

ขนาดวัตถุ

กว้างบานละ 78 ซม. หนา 11 ซม. สูง 371 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “นน. 60”
2) ในหนังสือ เมืองน่าน : โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และศิลปะ กำหนดเป็น “จารึกขอบบานประตูวิหารหลวง (อุโบสถ) วัดบุญยืน”

ปีที่พบจารึก

10 กรกฎาคม พ.ศ. 2529

สถานที่พบ

วัดบุญยืน อำเภอเวียงสา จังหวัดน่านวัดบุญยืน ตำบลกลางเวียง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน

ผู้พบ

กรมศิลปากร

ปัจจุบันอยู่ที่

วัดบุญยืน อำเภอเวียงสา จังหวัดน่านวัดบุญยืน ตำบลกลางเวียง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน

พิมพ์เผยแพร่

เมืองน่าน : โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และศิลปะ (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2530), 269-271.

ประวัติ

นายสุรศักดิ์ ศรีสำอาง ภัณฑารักษ์งานวิชาการ กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และนายเทิม มีเต็ม นักภาษาโบราณ งานบริการหนังสือภาษาโบราณ กองหอสมุดแห่งชาติ ร่วมกันสำรวจโบราณวัตถุในจังหวัดน่าน 2 ครั้ง ครั้งแรกระหว่างวันที่ 25 ตุลาคม ถึง 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2523 ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 2-12 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 ได้พบจารึกฐานพระพุทธรูปจำนวน 43 องค์ จารึกบนหีบพระธรรม 3 ใบ และจารึกบนบานประตูวิหาร 2 บาน จารึกดังกล่าวมีทั้งที่จารด้วยอักษรไทย สมัยสุโขทัย อักษรฝักขาม และอักษรธรรมล้านนา สำหรับจารึกหีบบนขอบบานประตู วัดบุญยืนนี้ ถูกพบในการสำรวจครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2529โดยมีการตีพิมพ์คำอ่านในหนังสือ “เมืองน่าน โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และศิลปะ” ซึ่งกรมศิลปากรจัดพิมพ์เนื่องในโอกาสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2530 อนึ่ง เทิม มีเต็ม ได้แสดงความคิดเห็นว่า จารึกนี้น่าจะเป็นฝีมือของอาลักษณ์เนื่องจากลักษณะตัวอักษรที่สวยงาม ส่วนเนื้อหาในจารึกนั้น น่าจะหมายถึง การบำเพ็ญกุศลในการสร้างวัดบุญยืนและพระวิหารหลวงของวัด ดังที่ปรากฏใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 10 ฉบับพิมพ์ พ.ศ. 2461 หน้า 137-138 ความว่า “เถิง จุลศักราช 1159 ตัว บีเมิงไซ้ อาชญาเจ้าอัตถวรปัญโญ ก็พาเอาเจ้านายท้าวขุนไพร่ไทยทั้งหลาย ก่อแรกสร้างก่อเสาพระวิหารหลวง วัดบุญยืนเวียงสาที่นั้น ในวันเดิน 9 ออก 5 ค่ำ เม็งวันเสาร์ ไทยกดซง้า ยามตูตซ้าย จุลศักราช 1159 ตัว บีเมิงไซ้หั้นแล จุลศักราช 1160 ตัว บีเบิกซง้านั้น ก็ตั้งอยู่สร้างวัดบุญยืนที่นั้น ท่านก็หื้อหมื่นสัพช่างเป็นสล่าตัดไม้วิหารนั้นแล ฯะ”

เนื้อหาโดยสังเขป

กล่าวถึงการบำเพ็ญกุศลของเจ้าอัตถวรปัญโญและมหาอารามชัยภิกขุ รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนางและลูกศิษย์วัดทั้งหลายในจุลศักราช 1162 (พ.ศ. 2343)

ผู้สร้าง

เจ้าอัตถวรปัญโญและมหาอารามชัยภิกขุ รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนางและลูกศิษย์วัด

การกำหนดอายุ

กำหนดอายุจากศักราชที่ปรากฏในจารึกคือ จุลศักราช 1162 (พ.ศ. 2343) 

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2548, จาก :
เทิม มีเต็ม, “จารึกฐานพระพุทธรูป ฝาหีบพระธรรมและบานประตู ที่พบในเมืองน่าน,” ใน เมืองน่าน : โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และศิลปะ (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2530), 245-333.

ภาพประกอบ

ภาพถ่ายจารึกจาก : เมืองน่าน : โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และศิลปะ (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2530)