จารึกพระอภิธรรม

จารึก

จารึกพระอภิธรรม

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2566 15:39:12 )

ชื่อจารึก

จารึกพระอภิธรรม

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

จารึกพระอภิธรรม พุทธศตวรรษที่ 20

อักษรที่มีในจารึก

ขอมสุโขทัย

ศักราช

พุทธศตวรรษ 20

ภาษา

บาลี

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 2 ด้าน มี 57 บรรทัด ด้านที่ 1 มี 22 บรรทัด ด้านที่ 2 มี 35 บรรทัด

วัตถุจารึก

หินดินดาน

ลักษณะวัตถุ

แผ่นสี่เหลี่ยม

ขนาดวัตถุ

กว้าง 71 ซม. สูง 67 ซม. หนา 5.5 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “สท. 19”
2) ในหนังสือ จารึกสมัยสุโขทัย กำหนดเป็น “จารึกพระอภิธรรม พุทธศตวรรษที่ 20”

ปีที่พบจารึก

ไม่ปรากฏหลักฐาน

สถานที่พบ

ริมแม่น้ำโจน ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย

ผู้พบ

กองโบราณคดี กรมศิลปากร

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ถนนหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

พิมพ์เผยแพร่

จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526), 284-298.

ประวัติ

ศิลาจารึกพระอภิธรรม มีผู้อ่านไว้แล้วเป็นบางส่วนที่ยังไม่จบบริบูรณ์ เพราะบางตอนศิลาจารึกชำรุดและลบเลือนมาก แต่ยังไม่มีการแปลเป็นภาษาไทย ฉะนั้นการอ่านใหม่ครั้งนี้ ได้ค้นหาคำจารึกจากตำราบาลีต่างๆ ที่เป็นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเท่าที่คิดว่าน่าจะมี ก็ได้พบว่า คำจารึกในศิลาจารึกพระอภิธรรม มีตรงกันกับข้อความเริ่มต้นของพระอภิธรรมปิฎกธรรมสังคณี พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย เล่มที่ 56 พระอภิธรรมปิฎก เล่ม 1 ธรรมสังคณีปกรณ์ ภาค 1 ฉบับอนุสรณ์งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ พุทธศักราช 2500 จึงได้นำข้อความที่ชำรุดหักหายไปใส่เป็นเครื่องหมายวงเล็บไว้ในการอ่านการ แปลครั้งนี้ด้วย

เนื้อหาโดยสังเขป

เป็นที่น่าสังเกตว่า การจารึกเป็นบรรทัดของศิลาจารึกพระอภิธรรม มีการตีกรอบเป็น 2 ชั้น กรอบชั้นใน ใจกลางของด้านที่ 1 จารึกบทมหาปัฏฐานของพระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์ กรอบชั้นนอกจารึกพระธรรมสังคณีล้อมรอบบทมหาปัฏฐาน โดยเริ่มต้นบทพระธรรมสังคณีที่บรรทัดในสุดของกรอบชั้นนอก ซึ่งติดกับบทมหาปัฏฐาน แล้วเดินบรรทัดเป็นรูป 4 เหลี่ยม ตามกรอบชั้นในเมื่อครบ 4 ด้านของกรอบก็ถือว่าเป็น 1 บรรทัด ฉะนั้นการเขียนคำอ่านในจารึกนี้ แต่ละบรรทัดจะใส่ ก. ข. ค. และ ง. ไว้เพื่อพิจารณาคำอ่านตามด้านทั้ง 4 ของกรอบ ข้อความของบทพระธรรมสังคณีในด้านที่ 1 ยังไม่จบ จึงมีต่อในด้านที่สอง แต่ด้านที่สองนี้ มีการจารึกธรรมดาคือ จากบรรทัดบนลงล่าง ส่วนคำจารึกตั้งแต่บรรทัดที่ 1 ถึงกลางบรรทัดที่ 14 มีข้อความซ้ำกันกับตอนกลางบรรทัดที่ 10 จนจบของด้านที่ 1 คือ ตั้งแต่ “สญฺโชนสมฺปยุตฺตา ฯลฯ โน จ สญฺโชนา” จากลักษณะของการจารึกเป็นกรอบโดยนำบทพระธรรมสังคณีห่อหุ้มเป็นกรอบล้อมรอบพระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์ บทมหาปัฏฐาน เข้าใจว่าผู้จารึกคงจะแฝงไว้ด้วยความหมายอันลึกซึ้งเกี่ยวกับเนื้อความของอภิธรรม หรือที่เรียกกันว่า แฝงไว้ด้วยปรัชญาธรรม บทมหาปัฏฐานเป็นบทที่กล่าวถึงเหตุ บทธรรมสังคณีกล่าวถึงผลที่มาจากเหตุ ฉะนั้นผู้จารึกจึงถือเอาเหตุเป็นบทสำคัญ ผลจะดีหรือชั่ว อยู่ที่เหตุ เป็นการอธิบายขยายความบทพระพุทธพจน์ “เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุ ํ ตถาคโต เตสญฺจโย นิโรโธจ เอวํ วาทีมหาสมโณ” นั้นเอง บทมหาปัฏฐาณอยู่ด้านในใจกลางของกรอบจารึก บทธรรมสังคณีห่อหุ้มไว้เป็นกรอบนอกเพราะผู้จารึกเห็นความสำคัญของเหตุ ประหนึ่งผู้เห็นเพชรเม็ดล้ำค่า จึงเอาผ้าหรือวัสดุอื่นห่อหุ้มถือประคับคองไว้เป็นอย่างดี เพราะกลัวตกหล่นจะได้รับความเสียหาย

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

กองหอสมุดแห่งชาติกำหนดเป็น จารึกอักษรขอมสุโขทัย อายุพุทธศตวรรษที่ 20

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2546, จาก :
ชะเอม แก้วคล้าย, “จารึกพระอภิธรรม พุทธศตวรรษที่ 20,” ใน จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526), 284-298.

ภาพประกอบ

1) อยู่ในระหว่างตรวจสอบที่มา
2) ภาพถ่ายความละเอียดสูงจากการสำรวจภาคสนาม : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, สำรวจเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2566