จารึกอาณาจักรปุนไชย

จารึก

จารึกอาณาจักรปุนไชย

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2566 13:15:38 )

ชื่อจารึก

จารึกอาณาจักรปุนไชย

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

ลพ. 5, Vat Kukut II, จารึกวัดกู่กุฎหรือจามเทวี หลักที่ 2, ศิลาจารึกวัดกู่กุด หรือวัดจามเทวี

อักษรที่มีในจารึก

มอญโบราณ

ศักราช

พุทธศตวรรษ 17

ภาษา

มอญโบราณ

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 8 บรรทัด

วัตถุจารึก

หินทราย

ลักษณะวัตถุ

ใบเสมา

ขนาดวัตถุ

กว้าง 68 ซม. สูง 100 ซม. หนา 23 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “ลพ. 5”
2) ในวารสาร Bulletin de l’École Française d’Éxtrême-Orient XXX (1930) กำหนดเป็น “Vat Kukut II”
3) ในวารสาร โบราณคดี ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 (ตุลาคม 2515) กำหนดเป็น “จารึกวัดกู่กุฎหรือจามเทวี หลักที่ 2”
4) ในหนังสือ วิเคราะห์ศิลาจารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย (พ.ศ. 2522) กำหนดเป็น “ศิลาจารึกวัดกู่กุด หรือวัดจามเทวี”
5) ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 2 กำหนดเป็น “จารึกอาณาจักรปุนไชย (วัดกู่กุด)”
6) ในหนังสือ วิเคราะห์ศิลาจารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย (พ.ศ. 2533) กำหนดเป็น “จารึกอาณาจักรปุนไชย (ลพ./5, พช. 31, 359)”

ปีที่พบจารึก

ไม่ปรากฏหลักฐาน

สถานที่พบ

วันสันมหาพน (วัดจามเทวีหรือกู่กุด) ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

ผู้พบ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย จังหวัดลำพูน

พิมพ์เผยแพร่

1) Bulletin de l’École Française d’Éxtrême-Orient XXX (1930) : 6-105.
2) โบราณคดี ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 (ตุลาคม 2515) : 163-168.
3) วิเคราะห์ศิลาจารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2522), 24-26.
4) จารึกในประเทศไทย เล่ม 2 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529), 131-132.
5) วิเคราะห์ศิลาจารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2533), 22-23.
6) จารึกในประเทศไทย เล่ม 2, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2559), 174-176.

ประวัติ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และ ศ. ยอร์ช เซเดส์ (George Cœdès) พบจารึกหลักนี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2465 พร้อมกับจารึกพระเจ้าสววาธิสิทธิ (กู่กุด) บริเวณฐานด้านทิศตะวันออกของวัดจามเทวี หรือ กู่กุด (วัดสันมหาพน) ซึ่งอยู่ห่างจากวัดพระธาตุหริภุญไชยออกไปทางทิศตะวันตกราว 1 กิโลเมตร ต่อมา ศ. โรเบิร์ต ฮัลลิเดย์ (Robert Halliday) และ ศ. ชาร์ลส์ อ๊อตโต บล็ากเด็น ได้ร่วมกันอ่าน-แปลและตีพิมพ์ลงในวารสารของสมาคมฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ (BEFEO) ปีที่ 30 ค.ศ. 1930 (พ.ศ. 2473) ซึ่ง ศ. ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงแปลลงในวารสารโบราณคดี ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2515 จากนั้นกรมศิลปากรได้ตีพิมพ์ข้อมูลเกี่ยวกับจารึกดังกล่าวในหนังสือ วิเคราะห์ศิลาจารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เสด็จเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย จังหวัดลำพูน ใน พ.ศ. 2522 และ จารึกในประเทศไทย เล่มที่ 2 ใน พ.ศ. 2529 ต่อมามีการตีพิมพ์หนังสือวิเคราะห์ศิลาจารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย อีกครั้งใน พ.ศ. 2533 โดยทั้งหมดไม่มีการตีพิมพ์คำอ่าน แต่ได้มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปอักษรในจารึก โดย นายจำปา เยื้องเจริญ กล่าวว่าตัวอักษรในจารึกค่อนข้างกลมกว่าในจารึกพระเจ้าสววาธิสิทธิ ซึ่งมีรูปร่างเหลี่ยม ส่วนนายเทิม มีเต็ม ให้ความเห็นว่า ผู้จารอาจเป็นภิกษุ ตัวอักษรจึงไม่สวยงามเท่าจารึกของพระเจ้าสววาธิสิทธิซึ่งน่าจะถูกจารขึ้นโดยอาลักษณ์ รูปอักษรจึงมีความสวยงามกว่า ความคิดเห็นดังกล่าวใกล้เคียงกับที่ ศ. โรเบิร์ต ฮัลลิเดย์ และ ศ. ชาร์ลส์ อ๊อตโต บล็ากเด็น กล่าวไว้ในบทความว่าการเว้นจังหวะในบรรทัดต่างๆ ในจารึกไม่เท่ากัน ซึ่งอาจเป็นการสลักโดยผู้ที่ไม่ได้มีอาชีพนี้โดยตรง

เนื้อหาโดยสังเขป

เนื้อหาที่แปลโดย ศ. โรเบิร์ต ฮัลลิเดย์ และ ศ. ชาร์ลส์ อ๊อตโต บล็ากเด็น (พ.ศ. 2473) กับ จำปา เยื้องเจริญ และเทิม มีเต็ม (พ.ศ. 2533) นั้นมีรายละเอียดที่ค่อนข้างแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ การกล่าวถึงกษัตริย์ผู้ครองหริภุญชัย และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา

ผู้สร้าง

ตชุ กษัตริย์องค์หนึ่งของอาณาจักรหริภุญไชย

การกำหนดอายุ

กำหนดอายุจากรูปอักษรมอญโบราณ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับตัวอักษรที่ปรากฏบนศิลา จารึก “มยเจดีย์” (Mayazedi) ของพระเจ้าจันสิตถา (Kyanzittha) (อักษรโรมัน Ky ในภาษาพม่าแทนเสียง /c/ ซึ่งเท่ากับ จ ในภาษาไทย) กษัตริย์พุกาม (พม่า) ซึ่งจารึกไว้เมื่อ พ.ศ. 1628 และ 1630 ดังนั้นจารึกหลักนี้จึงน่าจะมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 เช่นเดียวกัน อนึ่ง อาณาจักรพุกามมีการรับอิทธิพลด้านตัวอักษรไปจากมอญ เมื่อพระเจ้าอนิรุทธ (อโนรธามังฉ่อ) กษัตริย์พุกาม (พม่า) ทรงยกทัพไปตีเมืองสะเทิม (ถะทนหรือสุธรรมวดี) ซึ่งเป็นราชธานีของหัวเมืองมอญฝ่ายใต้สำเร็จ จึงได้มีการกวาดต้อนผู้คน ช่างฝีมือ ตลอดจนภิกษุสงฆ์และคัมภีร์ทางพุทธศาสนาที่มีอยู่ในดินแดนดังกล่าวไปสู่พุกาม ทำให้วัฒนธรรมมอญแพร่หลายในพุกาม รวมไปถึงการใช้ตัวอักษร โดย ศ. เรอชินาลด์ เลอ เมย์ (Reginald Le May) กล่าวว่า พม่ารับวัฒนธรรมการเขียนหนังสือไปจากมอญ เมื่อราว พ.ศ. 1606 ซึ่งพระเจ้าจันสิตถานั้น ก็คือกษัตริย์ที่ครองราชย์ต่อจากพระเจ้าอนิรุทธ (อโนรธามังฉ่อ) นั่นเอง

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก :
1) Okell John, A reference grammar of colloquial Burmese (Oxford : Oxford University Press, 1969), 16.
2) Robert Halliday, “Les Inscriptions Môn du Siam,” Bulletin de l’École Française d’Éxtrême-Orient XXX (1930) : 6-105.
3) จำปา เยื้องเจริญ, เทิม มีเต็ม และคงเดช ประพัฒน์ทอง, “จารึกอาณาจักรปุนไชย,” ใน วิเคราะห์ศิลาจารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2533), 22-23.
4) จำปา เยื้องเจริญ, เทิม มีเต็ม และคงเดช ประพัฒน์ทอง, “ศิลาจารึกวัดกู่กุดหรือวัดจามเทวี,” ใน วิเคราะห์ศิลาจารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2522), 24-26.
5) เทิม มีเต็ม, “จารึกอาณาจักรปุนไชย (วัดกู่กุด),” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 2 : อักษรปัลลวะ อักษรมอญ พุทธศตวรรษที่ 12-21 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 131-132.
6) ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล, “ศิลาจารึกภาษามอญที่เมืองลำพูน หลักที่ 2, 3 และ 4,” โบราณคดี 4, 2 (ตุลาคม 2515) : 163-168.

ภาพประกอบ

ภาพสำเนาจารึกจาก : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545 (เลขทะเบียน CD; INS-TH-27, ไฟล์; LPh_0500_c)