จารึก

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

คำอ่าน-แปล

จารึกซับจำปา 1

จารึก

จารึกซับจำปา 1

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2567 08:56:26 )

ชื่อจารึก

จารึกซับจำปา 1

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

จารึกเมืองซับจำปา 1, จารึกฐานและเสาธรรมจักรแปดเหลี่ยม, ลบ. 17

อักษรที่มีในจารึก

ปัลลวะ

ศักราช

พุทธศตวรรษ 12

ภาษา

บาลี

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 8 ด้าน มี 9 บรรทัด ความเรียงต่อกันในแต่ละด้าน

วัตถุจารึก

ศิลา

ลักษณะวัตถุ

เป็นชิ้นส่วนที่แตกหักจากเสาแปดเหลี่ยม

ขนาดวัตถุ

สูง 227 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 29 ซม. (วัดขนาดใหม่ สูง 202 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 29 ซม. สำรวจเมื่อ 17-20 มีนาคม 2560)

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “ลบ. 17”
2) ในหนังสือ จารึกโบราณรุ่นแรกพบที่ลพบุรีและใกล้เคียง กำหนดเป็น “จารึกเมืองซับจำปา 1”
3) ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 กำหนดเป็น “จารึกซับจำปา 1”
4) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ กำหนดเป็น "จารึกฐานและเสาธรรมจักรแปดเหลี่ยม "

ปีที่พบจารึก

พ.ศ. 2516

สถานที่พบ

บ้านซับจำปา ตำบลซับจำปา อำเภอท่าหลวง (ข้อมูลเดิมคือ บ้านซับจำปา อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี) จังหวัดลพบุรี

ผู้พบ

ราษฎรบ้านซับจำปา, พระภิกษุชงค์ ติสฺสโร และภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี (สำรวจเมื่อ 17-20 มีนาคม 2560)

พิมพ์เผยแพร่

1) ศิลปและโบราณคดีในประเทศไทย เล่ม 2 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2518), 64-69.
2) จารึกโบราณรุ่นแรกพบที่ลพบุรีและใกล้เคียง (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2524), 74-81.
3) จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529), 116-122.

ประวัติ

สำหรับจารึกซับจำปา 1 นี้ เดิมคงเป็นชิ้นส่วนของเสาแปดเหลี่ยมที่ใช้รองพระธรรมจักร มีประวัติการค้นพบและการศึกษาดังนี้คือ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2516 วิชัย วงษ์สุวรรณ ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ช่วยหัวหน้าหน่วยศิลปากรที่ 1 ประจำอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี ได้นำสำเนาจารึกฉบับหนึ่งมามอบให้กองหอสมุดแห่งชาติ โดยวิชัย วงษ์สุวรรณ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับที่มาของจารึกว่าได้รับมอบมาจากชาวบ้าน ซึ่งพิจารณาชิ้นส่วนที่ได้มาแล้ว เชื่อได้ว่าจารึกหลักนี้ “น่าจะเป็นเสารองรับพระธรรมจักร” ที่มีทรงเหลี่ยม เพราะที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์นั้น ได้มีพระภิกษุชงค์ ติสฺสโร นำชิ้นส่วนของเสาจารึกในลักษณะนี้มามอบให้ ต่อมา อุไรศรี วรศะริน ได้ทำการศึกษาชิ้นส่วนจารึกนี้ และมีความเห็นในเบื้องต้นว่า เนื่องจากเป็นชิ้นส่วนที่ไม่สมบูรณ์จึงทำให้อ่านข้อความได้กระท่อนกระแท่น ไม่สามารถทราบได้ว่าเนื้อหาของจารึกนี้ นำมาจากคัมภีร์ใดบ้าง แต่อย่างไรก็ตาม ท่านได้สืบค้นกับคณะโบราณคดีว่าได้เคยพบจารึกในลักษณะนี้ จากการขุดค้นที่เมืองซับจำปาบ้างหรือไม่ อัญชนา อิ่มสมบัติ (หรือปัจจุบันคือ อัญชนา จิตสุทธิญาณ) อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก ของคณะโบราณคดีได้แจ้งให้ท่านทราบว่า คณะโบราณคดีได้เคยพบชิ้นส่วนจารึกในลักษณะนี้เช่นกัน ซึ่งอัญชนา อิ่มสมบัติ ได้แจ้งว่าได้อ่านจารึกที่พบนี้แล้ว และยังได้รับคำแนะนำจาก น.อ. แย้ม ประพัฒน์ทอง ว่าความในจารึกนั้น นำมาจากพุทธอุทาน ในพระวินัยปิฎก และอีกส่วนหนึ่งมาจากธรรมบท ในสุตฺตนฺตปิฎก เมื่อทราบดังนี้ อุไรศรี วรศะริน และ อัญชนา อิ่มสมบัติ จึงได้ร่วมกันเขียนบทความเกี่ยวกับจารึกหลักนี้ ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ “ศิลปและโบราณคดีในประเทศไทย เล่ม 2” เมื่อปี พ.ศ. 2518 โดยใช้ชื่อว่า “จารึกหลักใหม่จากบริเวณจังหวัดลพบุรี” โดยได้อธิบายว่า คำจารึกที่อ่านได้นี้เป็นพระธรรมในพระพุทธศาสนา 4 เรื่อง คือ (1) คาถา เย ธมฺมาฯ (2) คำพรรณนาถึงพระอริยสัจ 4 (3) วินัยปิฎก มหาวรรค (4) ธรรมบท และเนื่องจากชิ้นส่วนจารึกนั้นไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนั้น จึงได้ใช้พระธรรมดังที่ได้กล่าวมา มาต่อเติมข้อความที่ขาดหายไปจนได้ความสมบูรณ์ในการตีพิมพ์ในครั้งนั้น ต่อมา บทความเดียวกันนี้ได้ตีพิมพ์เป็นครั้งที่ 2 ในหนังสือ “จารึกโบราณรุ่นแรกพบที่ลพบุรีและใกล้เคียง” โดยใช้ชื่อว่า “จารึกเมืองซับจำปา 1” เมื่อปี พ.ศ. 2524 และตีพิมพ์เป็นครั้งที่ 3 ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 เมื่อปี พ.ศ. 2529 โดยใช้ชื่อว่า “จารึกซับจำปา 1”

เนื้อหาโดยสังเขป

จารึกเสาแปดเหลี่ยมหลักนี้ ประกอบด้วยคาถาจากพระไตรปิฎกที่สำคัญ 4 คาถา คือ (1) คาถาเย ธมฺมาฯ (2) คำพรรณนาถึงพระอริยสัจ 4 (3) พุทธอุทาน (4) คาถาธรรมบท

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

กำหนดอายุจากรูปอักษรปัลลวะ ได้อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2546, จาก :
1) อุไรศรี วรศะริน และอัญชนา จิตสุทธิญาณ, “จารึกหลักใหม่จากบริเวณจังหวัดลพบุรี,” ใน ศิลปและโบราณคดีในประเทศไทย เล่ม 2 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2518), 64-69.
2) อุไรศรี วรศะริน และอัญชนา จิตสุทธิญาณ, “จารึกใหม่จากบริเวณจังหวัดลพบุรี (จารึกเมืองซับจำปา 1),” ใน จารึกโบราณรุ่นแรกพบที่ลพบุรีและใกล้เคียง (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2524), 74-81.
3) อุไรศรี วรศะริน และอัญชนา จิตสุทธิญาณ, “จารึกซับจำปา 1,” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 : อักษรปัลลวะ หลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ 12-14 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 116-122.

ภาพประกอบ

ภาพสำเนาจารึกจาก : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545 (เลขทะเบียน CD; INS-TH-19, ไฟล์; LB_001)