จารึกฐานพระพุทธรูปยืนวัดข่อย

จารึก

จารึกฐานพระพุทธรูปยืนวัดข่อย

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2567 09:15:46 )

ชื่อจารึก

จารึกฐานพระพุทธรูปยืนวัดข่อย

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

หลักที่ 17 จารึกบนฐานพระพุทธรูปยืนวัดข่อย, จารึกที่ 17 จารึกบนฐานพระพุทธรูปยืนพบที่วัดข่อย, K. 695 Văt Khôy, K. 695, ลบ. 9

อักษรที่มีในจารึก

ปัลลวะ

ศักราช

พุทธศตวรรษ 12

ภาษา

มอญโบราณ

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 1 บรรทัด

วัตถุจารึก

ศิลา ประเภทหินทรายละเอียด

ลักษณะวัตถุ

ฐานบัว พระพุทธรูปประทับยืน (พระหัตถ์ทั้งสองหัก)

ขนาดวัตถุ

ฐานบัว กว้าง 41 ซม. สูง 13 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “ลบ. 9”
2) ในหนังสือ Inscriptions du Cambodge vol. VIII กำหนดเป็น “K. 695 Văt Khôy”
3) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึกสยาม ภาคที่ 2 กำหนดเป็น “หลักที่ 17 จารึกบนฐานพระพุทธรูปยืนวัดข่อย”
4) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 2 กำหนดเป็น “จารึกที่ 17 จารึกบนฐานพระพุทธรูปยืนพบที่วัดข่อย”
5) ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 2 กำหนดเป็น “จารึกฐานพระพุทธรูปยืนวัดข่อย”

ปีที่พบจารึก

ไม่ปรากฏหลักฐาน

สถานที่พบ

วัดข่อย (ไม่ทราบว่าหมายถึงวัดไหนในปัจจุบัน) อำเภอบ้านหมี่ (ข้อมูลเดิมว่า อำเภอบ้านเซ่า) จังหวัดลพบุรี

ผู้พบ

ไม่ปรากฏหลักฐาน

ปัจจุบันอยู่ที่

มุขพระระเบียงนอกกำแพงพระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

พิมพ์เผยแพร่

1) ประชุมศิลาจารึกสยาม ภาคที่ 2 (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2472), 19-20.
2) Recueil des Inscriptions du Siam Deuxième Partie (Bangkok : Institute Royal Service Archeologique, 1929), 15.
3) ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 2 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2504), 7.
4) Recueil des Inscriptions du Siam Deuxième Partie (Bangkok : Deuxième édition revue et mise à jour) (Bangkok : Department de Silpakorn, 1961), 6.
5) จารึกในประเทศไทย เล่ม 2 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529), 34-37.
6) ข่าวสารมอญ ปีที่ 9 ฉบับที่ 37 (มีนาคม-เมษายน 2546), 10-12.
7) จารึกในประเทศไทย เล่ม 2, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2559), 44-45.

ประวัติ

พระพุทธรูปองค์นี้เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดข่อย อำเภอบ้านเซ่า (ปัจจุบันคือ อำเภอบ้านหมี่) จังหวัดลพบุรี ต่อมาได้ถูกย้ายนำมาประดิษฐานไว้ที่วัดเบญจมบพิตร โดยอยู่บริเวณมุขระเบียงด้านนอกกำแพงพระอุโบสถทิศใต้ พระพุทธรูปองค์นี้ เป็นพระพุทธรูปยืนบนฐานบัวบาน พระหัตถ์ทั้งสองหักหายไป แต่สันนิษฐานได้ว่าพระหัตถ์ขวาคงจะแสดงปางประทานอภัย ส่วนพระหัตถ์ซ้ายคงจะกำชายจีวรไว้ บนฐานรูปบัวบานมีจารึกอยู่หนึ่งบรรทัด ตัวอักษรลบเลือนไปบ้าง เหลือที่ชัดเจนอยู่เพียง 10ตัว ตัวอักษรดังกล่าวนี้ เป็นอักษรปัลลวะที่เขียนอย่างบรรจง เขียนด้วยภาษามอญโบราณ จารึกหลักนี้ ศ. ยอร์ช เซเดส์ ได้อ่านและตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือประชุมศิลาจารึกสยาม ภาคที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2472 ในครั้งนั้น ได้กำหนดเป็น “จารึกหลักที่ 17” แต่อย่างไรก็ตาม ศ. ยอร์ช เซเดส์ ได้แต่เพียงอ่านและสรุปว่า “เป็นอักษรที่มีลักษณะคล้ายตัวอักษรขอมบรรจง ที่ใช้ในกัมพูชาประเทศก่อนนครธมเป็นราชธานี” และเป็นจารึกที่เขียนด้วย “ภาษามอญ” เนื่องจากท่านมีความเห็นว่า “การอธิบายคำจารึกเป็นการยากเหลือกำลัง ที่จริงการแปลภาษามอญซึ่งใช้ครั้งราว พ.ศ. 1100-1200ไม่มีหลักฐานที่จะอ้างได้ เพราะบรรดาศิลาจารึกภาษามอญซึ่งเคยพบในประเทศพม่าทุกวันนี้ เกิดขึ้นภายหลังหลายร้อยปี ราว พ.ศ. 1600 เมื่อเวลาภาษามอญได้เปลี่ยนแปลงสำเนียงเสียมากแล้ว ข้าพเจ้าเข้าใจว่า คำจารึกบนฐานพระพุทธวัดข่อย เป็นแต่นามของพระพุทธรูปหรือนามของผู้สร้างเท่านั้น” แต่อย่างไรก็ตาม ในการตีพิมพ์ครั้งที่ 2 ซึ่งได้ชำระแก้ไขใหม่เนื้อหาใหม่ ในปี พ.ศ. 2504 ท่านได้อธิบายเกี่ยวกับตัวอักษรว่า “ตัวอักษร ซึ่งไม่มีเครื่องประดับข้างบน และใช้ขีดเป็นเส้นใหญ่ๆ ตั้งตรง คล้ายกับตัวอักษรในจารึกประเทศกัมพูชารุ่นแรก” ซึ่งในความหมายของท่านก็คงหมายถึง “อักษรปัลลวะ” นั่นเอง ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2529 กองหอสมุดแห่งชาติ ได้ตีพิมพ์หนังสือชุด “จารึกในประเทศไทย” ขึ้น โดยได้นำจารึกหลักที่ 17 นี้ มาอ่านและแปลความใหม่ โดยมอบหมายให้ เทิม มีเต็ม และ จำปา เยื้องเจริญ เป็นผู้รับผิดชอบในการอ่านและแปล ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 พงศ์เกษม สนธิไทย ได้เขียนบทความเรื่อง “ข้อคิดจากจารึกฐานพระพุทธรูปยืนวัดข่อย (ลบ. 9)” โดยได้ทำการอ่านแปลและวิเคราะห์ความหมายของคำอ่านใหม่อีกครั้ง

เนื้อหาโดยสังเขป

คำจารึกที่ฐานของพระพุทธรูป เป็นการบอกเล่าว่า เจ้าปู่และลูกหลานเป็นผู้สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ ขึ้น ซึ่งอาจเป็นการสร้างขึ้นเพื่อถวายแก่วัด

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

กำหนดอายุตามรูปแบบของตัวอักษรปัลลวะ ได้อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2546, จาก :
1) George Cœdès, “XVII Inscription sur un Buddha debout provenant de Văt Khòy,” in Recueil des Inscriptions du Siam Deuxième Partie : Inscriptions de Dvāravatī, de Çrīvijaya et de Lăvo (Bangkok : Institute Royal Service Archeologique, 1929), 15.
2) George Cœdès, “XVII Inscription sur un Buddha debout provenant de Văt Khòy,” in Recueil des Inscriptions du Siam Deuxième Partie : Inscriptions de Dvāravatī, de Çrīvijaya et de Lăvo, Deuxième édition revue et mise à jour (Bangkok : Department de Silpakorn, 1961), 6.
3) George Cœdès, “Liste générale des inscriptions du Cambodge : K. 695,” in Inscriptions du Cambodge vol. VIII (Hanoi : Imprimerie d'Extrême-Orient, 1966), 186-187.
4) เทิม มีเต็ม และจำปา เยื้องเจริญ, “จารึกฐานพระพุทธรูปยืนวัดข่อย,” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 2 : อักษรปัลลวะ อักษรมอญ พุทธศตวรรษที่ 12-21 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 34-37.
5) พงศ์เกษม สนธิไทย, “ข้อคิดจากจารึกฐานพระพุทธรูปยืนวัดข่อย (ลบ. 9),” ข่าวสารมอญ 9, 37 (มีนาคม-เมษายน 2546) : 10-12.
6) ยอร์ช เซเดส์, “จารึกที่ 17 จารึกบนฐานพระพุทธรูปยืนพบที่วัดข่อย,” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 2 : จารึกทวารวดี ศรีวิชัย ละโว้ = Recueil des inscriptions du Siam deuxieme partie : inscriptions de Dvaravati, de Crivijaya et de Lavo ([กรุงเทพฯ] : กรมศิลปากร, 2504), 7.<
7) ยอร์ช เซเดส์, “หลักที่ 17 จารึกบนฐานพระพุทธรูปยืนวัดข่อย,” ใน ประชุมศิลาจารึกสยาม ภาคที่ 2 : จารึกกรุงทวารวดี เมืองละโว้ และประเทศราชขึ้นแก่กรุงศรีวิชัย ([กรุงเทพฯ] : โรงพิมพ์พิพรรฒนากร, 2472), 19-20.

ภาพประกอบ

ภาพถ่ายจารึกจาก : จารึกในประเทศไทย เล่ม 2 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529)