จารึกบนแผ่นไม้บุษบกธรรมาสน์ วัดมณีชลขัณฑ์

จารึก

จารึกบนแผ่นไม้บุษบกธรรมาสน์ วัดมณีชลขัณฑ์

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2550 11:08:09 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2567 11:13:09 )

ชื่อจารึก

จารึกบนแผ่นไม้บุษบกธรรมาสน์ วัดมณีชลขัณฑ์

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

ลบ. 32

อักษรที่มีในจารึก

ไทยอยุธยา

ศักราช

พุทธศักราช 2225

ภาษา

ไทย

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 11 บรรทัด

วัตถุจารึก

ไม้

ลักษณะวัตถุ

แผ่นรูปสี่เหลี่ยม

ขนาดวัตถุ

กว้าง 48 ซม. สูง 67 ซม. หนา 14 มม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

ในหนังสือ สมเด็จพระนารายณ์และพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 : บทวิเคราะห์ทางวิชาการเกี่ยวกับสัมพันธภาพไทย-ฝรั่งเศส รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ กำหนดเป็น “จารึกบนแผ่นไม้บุษบกธรรมาสน์ วัดมณีชลขัณฑ์”

ปีที่พบจารึก

ไม่ปรากฏหลักฐาน

สถานที่พบ

วัดมณีชลขัณฑ์ ตำบลพรหมมาสตร์ อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี

ผู้พบ

ไม่ปรากฏหลักฐาน

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี (สำรวจเมื่อ 17-20 มีนาคม 2560)

พิมพ์เผยแพร่

สมเด็จพระนารายณ์และพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 : บทวิเคราะห์ทางวิชาการเกี่ยวกับสัมพันธภาพไทย-ฝรั่งเศส รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2530), 80-82.

ประวัติ

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2525 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี ได้ขอรับมอบชิ้นส่วนธรรมาสน์ ที่เก็บรักษาอยู่ในศาลาวัดมณีชลขัณฑ์ มาจัดแสดง ลักษณะของบุษบกเป็นเรือนยอดขนาดเล็กรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หลังคาซ้อนกันเป็นชั้นๆ เรียวเล็กขึ้นไปจนถึงปลายสุดเป็นยอดแหลม ตัวเรือนโปร่งสำหรับภิกษุนั่งแสดงธรรม มีบันไดทางขึ้นข้างบุษบก จุดเด่นคือ ทรวดทรงหรือเส้นโค้งที่สอบเข้าในแนวดิ่ง หรือผายออกอย่างสัมพันธ์กัน ตั้งแต่ฐาน เรือน และหลังคา เส้นอ่อนโค้งในแนวระนาบ ลักษณะเป็นโค้งสำเภาของฐานและหลังคาซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะอยุธยาตอนปลาย ฝีมือการสร้างอยู่ในระดับช่างหลวง ส่วนต่างๆ ที่น่าสนใจของบุษบกนี้ ได้แก่ ฐานสิงห์ มีลักษณะโค้งสำเภา บันไดนาค (ไม่สมบูรณ์) ลำตัวนาคสลักเป็นเกล็ดซ้อนกัน หัวนาคชูคอตั้งขึ้น ปากคาบลูกแก้ว บันแถลง ใช้เป็นส่วนประดับหลังคา นาคปัก เป็นนาค 5 เศียรปักมุมหลังคา กระจัง มีลักษณะเป็นลายคล้ายรูปกลีบบัวที่เรียงต่อกัน พรหมพักตร์ อยู่ใต้บัวกลุ่ม สวมศิราภรณ์และกุณฑลเป็นตุ้มแหลมขนาดใหญ่ ช่างที่สร้างบุษบกนี้มีการสลักตัวเลขบนชิ้นส่วนต่างๆ ของธรรมาสน์แต่ละชิ้น ไว้ภายใน คงเพื่อเป็นที่สังเกตเมื่อจะประกอบส่วนต่างๆ ตัวเลขที่ปรากฏมีรูปแบบที่เทียบเคียงได้กับตัวเลขไทยสมัยพระนารายณ์มหาราช ที่ ลา ลูแบร์ ทูตฝรั่งเศสที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทยเมื่อ พ.ศ. 2230 รวบรวมไว้ สอดคล้องกับศักราชที่ปรากฏในจารึกซึ่งระบุ พ.ศ. 2225 ในรัชกาลเดียวกัน จารึกดังกล่าวอยู่บริเวณด้านล่างของแผ่นไม้ปูพื้นที่นั่งสำหรับภิกษุ จารึกนี้นับว่ามีคุณค่ามาก เนื่องจากมีโบราณวัตถุจำนวนน้อยชิ้นที่มีการระบุประวัติการสร้างอย่างชัดเจน นักประวัติศาสตร์ศิลปะสามารถนำรูปแบบลวดลายต่างๆ ที่ปรากฏ ไปเทียบเคียงกับงานศิลปกรรมอื่นๆ ที่ไม่ปรากฏศักราชได้ อนึ่ง ในสมัยอยุธยามีความนิยมในการสร้างบุษบกธรรมาสน์เพื่อถวายวัด เนื่องด้วยความศรัทธาหรือเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ ได้ลดความนิยมลงไป เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลาในการสร้างนาน เพราะต้องใช้ไม้เนื้อดี และช่างต้องมีความประณีตสูง

เนื้อหาโดยสังเขป

กล่าวถึงประวัติการสร้างบุษบกธรรมาสน์หลังนี้เมื่อ พ.ศ. 2225 และรายละเอียดเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย

ผู้สร้าง

ขุนศรีเทพบาลราชรักษาและแม่ออกบัน

การกำหนดอายุ

กำหนดอายุจากศักราชที่ปรากฏในจารึก คือ พ.ศ. 2225 ตรงกับสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ครองราชย์ พ.ศ. 2199-2231)

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก :
กรมศิลปากร, สมเด็จพระนารายณ์และพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 : บทวิเคราะห์ทางวิชาการเกี่ยวกับสัมพันธภาพไทย-ฝรั่งเศส รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2530), 80-82.

ภาพประกอบ

ภาพถ่ายจารึกจากการสำรวจภาคสนาม : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), สำรวจเมื่อ 17-20 มีนาคม 2560