โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2567 15:26:54 )
ชื่อจารึก |
จารึกฐานพระพุทธรูปศิลาเขียววัดข้าวสาร |
ชื่อจารึกแบบอื่นๆ |
สท. 36, จารึกที่ฐานพระพุทธรูปนั่ง, หลักที่ 90 ศิลาจารึกฐานพระพุทธรูปนั่ง, จารึกฐานพระพุทธรูปศิลาเขียววัดข้าวสาร พุทธศตวรรษที่ 20 |
อักษรที่มีในจารึก |
ไทยสุโขทัย |
ศักราช |
พุทธศตวรรษ 20 |
ภาษา |
บาลี, ไทย |
ด้าน/บรรทัด |
จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 5 บรรทัด |
วัตถุจารึก |
หินชนวนสีเขียว |
ลักษณะวัตถุ |
แผ่นหิน ปลายมน จำหลักรูปพุทธปฏิมากร (ชำรุด) |
ขนาดวัตถุ |
กว้าง 26.3 ซม. สูง 37.5 ซม. หนา 7 ซม. |
บัญชี/ทะเบียนวัตถุ |
1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “สท. 36” |
ปีที่พบจารึก |
ไม่ปรากฏหลักฐาน |
สถานที่พบ |
วัดข้าวสาร ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย |
ผู้พบ |
นายจิตร พ่วงแผน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย |
ปัจจุบันอยู่ที่ |
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย |
พิมพ์เผยแพร่ |
1) วารสาร ศิลปากร ปีที่ 7 ฉบับที่ 4 (พฤศจิกายน 2506) : 57-58. |
ประวัติ |
จารึกนี้เป็นจารึกที่อยู่ใต้ฐานพระพุทธรูปศิลาจำหลักลายเส้น พุทธลักษณะประทับนั่งขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย พบโดยนายจิตร พ่วงแผน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ตำบลเมืองเก่า จังหวัดสุโขทัย ซึ่งได้นำมามอบให้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง ต่อมา ศ. ฉ่ำ ทองคำวรรณ ได้อ่านคำจารึกและนำไปตีพิมพ์ลงในวารสารศิลปากร เมื่อปี พ.ศ. 2506 ต่อมา ในปี พ.ศ. 2521 คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี จึงได้นำมาตีพิมพ์อีกครั้งในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 4 ต่อมา พ.ศ. 2527 กรมศิลปากรได้นำมาตีพิมพ์ในรวมอยู่ในหนังสือ จารึกสมัยสุโขทัย และในครั้งนี้ ได้มีการเพิ่มเติมคำอธิบายเกี่ยวกับการกำหนดอายุของ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ลงไปด้วย |
เนื้อหาโดยสังเขป |
เป็นจารึกสั้นๆ กล่าวถึง ชีผ้าขาวผู้หนึ่งชื่อ เวสสันดร (เพสสันดร) ขอบูชาพระรัตนตรัย |
ผู้สร้าง |
ไม่ปรากฏหลักฐาน |
การกำหนดอายุ |
จากการอ่านจารึกครั้งแรกในปี พ.ศ. 2506 โดย ศ. ฉ่ำ ทองคำวรรณ ท่านได้กำหนดว่าเป็นอักษรไทย สมัย พ.ศ. 1900 ซึ่งต่อมา ในปี พ.ศ. 2527 หนังสือจารึกสมัยสุโขทัยได้เสนอข้อสันนิษฐานเพิ่มเติมของ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ว่าน่าจะเป็นจารึกในรุ่นพุทธศตวรรษที่ 20 (พ.ศ. 1901-2000) กล่าวคือ อักขรวิธีที่ใช้ในจารึกดังกล่าว อย่างคำจารึกในบรรทัดที่ 1 คำว่า “รดัดนดด” รดัดนดด = รัดดนดด = รัตนัต โดยให้สังเกตว่า รดัด ใช้ไม้หันอากาศ ส่วนคำว่า นัด นั้น ไม่ใช้ไม้หันอากาศปนกับพยัญชนะคู่แทนไม้หันอากาศมีปรากฏในจารึกอักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย ซึ่งส่วนมากจะจารึกขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 20 (พ.ศ. 1901-2000) เนื่องจากจารึกหลักนี้ ไม่ปรากฏปีศักราช ดังนั้น เมื่อพิจารณาและอาศัยหลักวิชาการในด้านอักขรวิธีในจารึกอักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย หลักอื่นๆ คือ การใช้ไม้หันอากาศเป็นแนวเปรียบเทียบแล้ว น่าจะจารึกในพุทธศตวรรษที่ 20 |
ข้อมูลอ้างอิง |
เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2546, จาก : |
ภาพประกอบ |
ภาพถ่ายความละเอียดสูงจากการสำรวจภาคสนาม : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, สำรวจเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2566 |