ศาสนสถานและศาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์

44 แห่ง

ผลการค้นหา : 44 แห่ง

คริสตจักรมหาชัย อำเภอเมืองสมุทรสาคร

คริสตจักรมหาชัย ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2521 (ค.ศ.1978) เป็นโบสถ์ของชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนมหาชัย ที่นับถือศาสนาคริสต์ นิกายโปรแตสแตนต์

มัสยิดนูรุ้ลลอฮฺ (สุเหร่าขาว,สุเหร่ากาขาว) อำเภอเมืองสมุทรสาคร

สถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาแห่งนี้เริ่มต้นโดย ลุงขาว ผู้นับศาสนาอิสลาม อายุ 97 ปี ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยมากว่า 70 ปีได้สร้างมัสยิดขึ้น ท่านได้เริ่มต้นตามธรรมเนียมปฏิบัติของมุสลิมปาทาน คือ เดลา ใช้สำหรับที่ประกอบธรรมปฏิบัติและสถานที่ที่ใช้ในการละหมาดชั่วคราว แลกเปลี่ยนพบปะของหมู่มิตร ต่อมาได้พัฒนา เดลาเป็นรูปแบบของมัสยิด โดยช่วงแรกนั้นมัสยิดเป็นเพียงอาคารไม้ ผู้ที่เข้ามาส่วนใหญ่เป็นมุสลิมจากเมียนมา รวมทั้งชาวกะเหรี่ยงที่นับถือศาสนาอิสลามก็จะมาประกอบศาสนกิจที่นี่ จนทุกวันนี้หากเป็นวันศุกร์ ช่วงเย็น จะผู้มารวมตัวประกอบศาสนกิจกว่าสองร้อยคน ส่วนมากมาจากกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ที่มัสยิดแห่งนี้ยังสอนการอ่านคัมภีร์ อัล-กุรอาน

วัดกลางอ่างแก้ว อำเภอเมืองสมุทรสาคร

ไม่ทราบประวัติการก่อสร้าง แต่อาจตั้งเมื่อ พ.ศ.2410 สิ่งสำคัญได้แก่ อุโบสถเก่า ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน

วัดคลองครุ อำเภอเมืองสมุทรสาคร

วัดคลองครุ เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ไม่มีประวัติการก่อสร้างแน่ชัด ชื่อวัดคลองครุมาจากตำแหน่งที่ตั้งวัดซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับคลองครุ ในเอกสารประวัติวัดจังหวัดสมุทรสาคร ระบุว่าสร้างเมื่อ พ.ศ.2430 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2479 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 12 เมตร ยาว 26 เมตร (กองพุทธศาสนสถาน 2545 : 8)มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาเกี่ยวกับประวัติวัดคลองครุว่า เดิมเป็นสำนักสงฆ์สมัยต้นธนบุรี สร้างเมื่อประมาณ 200 ปีเศษ ชาวรามัญได้อพยพเข้ามาทำมาหากินในคลองครุเป็นจำนวนมาก และมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาจึงได้พร้อมใจกันสร้างสำนักสงฆ์แห่งนี้ขึ้นเพื่อเป็นสถานที่บำเพ็ญกุศลและกระทำพิธีทางศาสนา มีเจ้าสำนักสงฆ์ผลัดเปลี่ยนกันปกครองเรื่อยมา ที่ปรากฏปกครองอยู่นานถึง 20 พรรษา ชื่อพระพุก อาคารเสนาสนะ ส่วนใหญ่มีการปรับปรุงซ่อมแซมเป็นอาคารสมัยใหม่ ยังคงเหลือศาลาการเปรียญหลังเก่า และกุฏิสงฆ์ศาลาการเปรียญ  ลักษณะเป็นอาคารไม้ยกพื้นเตี้ย ไม่สูงมาก ตัวอาคารเปิดโล่งไม่มีผนัง หลังคาทรงปั้นหยา มุงด้วยกระเบื้องว่าวซีเมนต์ ต่อชายคาทั้งสี่ด้านมุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์ลอนคู่ ภายในเป็นเสากลม พื้นทีใช้งานตรงกลางยกพื้นเพื่อเป็นเสนาสนะสำหรับพระสงฆ์  เป็นจากข้อมูลสัมภาษณ์ พระอาจารย์มนัส จันทร์ทอง พระลูกวัดคลองครุ ระบุว่าสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 70  ปีมาแล้ว สมัยพระอธิการปิ่น เป็นเจ้าอาวาส (วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2481)

วัดชัยมงคล อำเภอเมืองสมุทรสาคร

วัดชัยมงคล เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ตั้งเมื่อ พ.ศ.2466 โดยมีนายคำ-นางแกละ ปัญญารัตน์ เป็นผู้บริจาคที่ดินให้สร้างวัด และชาวบ้านได้ร่วมใจกันสร้างกุฏิขึ้น เพื่อใช้ประกอบพิธีทางศาสนา และได้อาราธนาพระเปลี่ยน กนฺตสีโล จากวัดคลองครุมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เดิมชื่อว่าวัดหัวตะเข้ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นวัดชัยมงคล รายนามเจ้าอาวาสที่มาปกครองได้แก่        รูปที่ 1 พระครูสาครสีลาจารย์ พ.ศ.2466-2519        รูปที่ 2 พระครูสาครมงคลชัย พ.ศ.2519-2549        รูปที่ 3 พระครูพิพัฒน์ชัยมงคล พ.ศ.2549-ปัจจุบัน

วัดตึกมหาชยาราม อำเภอเมืองสมุทรสาคร

วัดตึกมหาชยาราม เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ไม่พบหลักฐานว่าผู้ใดเป็นผู้สร้าง ตามประวัติกล่าวว่าสร้างขึ้นประมาณ พ.ศ.2230 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ เดิมชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดคงคาราม” ต่อมามีนายอากรชาวจีน ชื่อ “ตั๋วตี๋” ได้อพยพครอบครัวมาจากจังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อแสวงหาภูมิลำเนาใหม่ในการประกอบอาชีพ ได้เดินทางมาทางเรือและแวะเข้ามาพักที่บริเวณหน้าวัดนี้ในระหว่างเดินทางเกิดนิมิตว่า พระประธานในพระอุโบสถแนะนำให้ไปตั้งภูมิลำเนาแถบแม่น้ำสมุทรปราการจะมีโชคใหญ่ ครั้นไปตั้งภูมิลำเนาตามที่นิมิต ปรากฏว่าต่อมาร่ำรวยมากขึ้น จึงเกิดความเลื่อมใสได้มาทำนุบำรุงวัดนี้ขึ้น โดยสร้างกุฏิเป็นตึกแบบจีน 2 หลัง วิหาร 1 หลัง กับศาลาตึก 1 หลัง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวบ้านจึงเปลี่ยนมาเรียกชื่อวัดย่อๆ ว่า “วัดตึก” (สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี 2553 : 100-101)  จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ.2468 พระธรรมสิริชัย (ชิต ชิตวิปุโล) มาดำรงเจ้าอาวาส ได้เริ่มให้มีการศึกษาสอนบาลี และมีพระภิกษุสอบได้มหาเปรียญเป็นจำนวนมาก จึงได้มีการต่อนามวัดเป็น “วัดตึกมหาชยาราม” ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อพ.ศ. 2400 (กองพุทธศาสนสถาน 2545 : 21)อาคารเสนาสนะที่สำคัญมีดังนี้ คือพระอุโบสถ  เป็นอาคารไม้ทรงไทย หลังคาทรงจั่วลดชั้น 2 ชั้น มุงกระเบื้องดินเผาซ้อนกันชั้นละ 3 ตับ ด้านหน้าและด้านหลังทำเป็นมุขลดด้านละ 1 ห้อง ด้านข้างต่อชายคาปีกนกมีเสาไม้กลมรองรับโครงหลังคา หน้าบ้านทำเป็นรูปครุฑยุดนาคล้อมรอบด้วยลวดลายพันธุ์พฤกษา ช่อฟ้าใบระกาไม้ประดับกระจก มีประตูทางเข้าด้าน 2 ประตู บานประตูไม้แกะสลักลายกนกเปลวเพลิงทาสีทอง ผนังอาคารทาสีทอง ทำเป็นช่องหน้าต่างด้านละ 6 บาน ภายนอกรอบพระอุโบสถ มีซุ้มใบเสมาภายในมีเสมาหินทรายแดงตั้งอยู่ภายในวิหาร  ลักษณะเป็นเก๋งจีน ก่ออิฐถือปูนหลังเล็กๆ หลังคามุงกระเบื้องดินเผามีปูนปั้นเป็นสันตามแนวยาวแบบจีน สันหลังคาประดับลวดลายปูนปั้น มีประตูทางเข้าด้านหน้า 1 ประตู ด้านหลังทึบ ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปเจดีย์ ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าพระอุโบสถจำนวน 3 องค์ มีลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนขนาดเล็กย่อมุมไม้สิบสองจำนวน 2 องค์ อีกองค์เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงระฆังกลม รอบองค์เจดีย์เป็นฐานสี่เหลี่ยมยกสูงขึ้นมีระเบียงล้อมรอบ ฐานเจดีย์เป็นฐานบัวกลมถัดขึ้นไปเป็นชุดมาลัยเถา องค์ระฆังกลม ส่วนยอดเป็นบังลังก์สี่เหลี่ยม มีเสาหานโดยรอบรองรับปล้องไฉนและปลียอด สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 (กองพุทธศาสนสถาน 2545 : 21)การสร้างวัดคงคาราม หรือวัดตึกมหาชยาราม ที่บริเวณริมแม่น้ำท่าจีนฝั่งตะวันออก ตรงข้ามกับท่าฉลอม สะท้อนให้เห็นถึงชุมชนคนไทในสมัยสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จนถึงสมัยธนบุรี ที่ได้ขยายตัวไปตามลำคลองสุนัขหอนและคลองมหาชัย รวมถึงขยายตัวขึ้นไปทางเหนือเพื่อบุกเบิกพื้นที่ปลูกข้าวบริเวณวัดคอกกระบือ ในสมัยอยุธยาตอนปลาย 

วัดนักบุญอันนา อำเภอเมืองสมุทรสาคร

ชุมชนผู้นับถือศาสนาคริสต์ ในหมู่ชาวจีน ปรากฏมานานแล้วในราว เมื่อปี พ.ศ. 2378 แต่ยังไม่มีสถานที่ไว้ประกอบกิจทางศาสนา ต่อมาจึงร่วมกันซื้อที่ดินแปลงหนึ่งในปี พ.ศ. 2430 และสร้างวัดนักบุญอันนา อันเป็นวัดที่สำคัญของชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก เพื่อเป็นศาสนสถานที่ชาวคริสตังท่าจีน ท่าฉลอมและชุมชนใกล้เคียง ภายใต้การสนับสนุนของ คุณพ่อปีโอ ชาวฝรั่งเศส ปลัดวัดบางช้าง (บางนกแขวก สมุทรสงคราม) เมื่อปี พ.ศ. 2425

วัดนาขวาง อำเภอเมืองสมุทรสาคร

วัดนาขวาง เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ไม่ทราบประวัติ และผู้สร้างที่ชัดเจน ในเอกสารประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร ระบุว่าตั้งเมื่อ พ.ศ.2315 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.2465 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 9 เมตร ยาว 18.5 เมตร (กองพุทธศาสนสถาน 2545 : 33) และในเอกสาร “ประวัติวัดในจังหวัดสมุทรสาคร สังกัดมหานิกาย จำนวน 96 วัด” ระบุว่า สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สมัยพระเจ้าเสือ โดยมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า “พระเจ้าเสือเสด็จประพาสทางชลมารค ผ่านทางหมู่บ้านนาขวาง พบต้นไม้ใหญ่ขึ้นตามริมคลองกิ่งทอดก่ายกันเกะกะมองดูเหมือนถ้ำ จึงทรงตั้งชื่อให้ว่า “วัดคูหาสวรรค์” และได้มีการเปลี่ยนชื่อจากวัดคูหาสวรรค์มาเป็นชื่อ “วัดนาขวาง” ตามชื่อหมู่บ้านสมัยสุนทรภู่ได้เดินทางไปเมืองเพชรบุรี ซึ่งได้แต่งนิราศเมืองเพชรซึ่งเป็นหลักฐานที่บ่งบอกความเป็นมาพระอุโบสถ  เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้ลดชั้น 3 ชั้น มุงกระเบื้องสีชั้นละ 3 ตับ มีช่อฟ้าใบระกาไม้แกะสลัก ด้านหน้าพระอุโบสถซ่อมแซมต่อเติมขึ้นในภายหลัง ทำเป็นชายคายื่นลาดต่ำออกมา 1  มีเสาปูนสี่เหลี่ยม 2 ต้น กลม 2 ต้น รองรับโครงหลังคา ช่อฟ้าใบระกาไม้ประดับกระจก หน้าบันด้านหน้าเป็นไม้แกะสลักรูปเทพพนม และกนกเป็นลำตัวนาคและเศียรนาค  ด้านหน้ามีประตูทางเข้า 2 ประตู ด้านหลัง 2 ประตู ประตูไม้ทาสีแดงไม่มีลวดลายแกะสลัก  ผนังด้านข้างทั้งสองด้านมีช่องหน้าต่างด้านละ 5 ช่อง บานประตูหน้าต่างทาสีแดง ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย พระพุทธรูปประทับยืน และนั่ง แสดงปางต่างๆ ศิลปะอยุธยาตอนปลาย-รัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้านหน้าพระอุโบสถมีเจดีย์ทรงระฆังกลม 2 องค์ สภาพชำรุดยอดหักหาย พระอุโบสถนี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย-รัตนโกสินทร์ตอนต้น และได้รับการบูรณะซ่อมแซมในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

วัดนาโคก อำเภอเมืองสมุทรสาคร

วัดนาโคก เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ไม่มีประวัติการก่อสร้างที่แน่ชัด สันนิษฐานว่าตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2420 (กองพุทธศาสนสถาน 2545 : 34) แต่เดิมสภาพเหมือนกุฏิสงฆ์ที่มุงด้วยใบจาก ต่อมาเมื่อสมัยพระครูสาครธรรมคุณ เจ้าอาวาสที่ปกครองวัดในช่วง พ.ศ.2492-2539 ท่านได้พัฒนาปรับปรุงก่อสร้างอาคารเสนาสนะต่างๆ ขึ้นมาใหม่จำนวนหลายสิ่ง เช่น ศาลาการเปรียญ ศาลาอเนกประสงค์พระอุโบสถ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2460 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระประธานอุโบสถ และพระพุทธรูปยืนสำริดปางห้ามสมุทร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ชาวบ้านบริเวณให้ความเคารพนับถือกราบไว้เป็นอย่างมาก ในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี ทางวัดจะมีงานประจำปีปิดทองหลวงพ่อสัมฤทธิ์ 

close