ศาสนสถานและศาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์

11 แห่ง

ผลการค้นหา : 11 แห่ง

วัดท่ากระบือ อำเภอกระทุ่มแบน

วัดท่ากระบือ เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ตั้งอู่ริมแม่น้ำท่าจีน ฝั่งทิศตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน แต่เดิมเป็นสำนักสงฆ์ ยกฐานะขึ้นเป็นวัดเมื่อ พ.ศ.2439 เดิมทีชาวบ้านเรียกว่า “วัดท่าควาย” เนื่องจากบริเวณนี้แต่เดิมเป็นท่าน้ำสำหรับให้วัวควายลงกินน้ำ และใช้ข้ามไปมาที่บริเวณด้านหน้าวัด พระไพโรจน์วุฒาจารย์ (หลวงปู่รุ่ง ติสฺสโร) ได้ก่อสร้างเสนาสนะต่างๆ ขึ้นใน พ.ศ.2441 เป็นต้นมา (สุริยา สุดสวาท และเดชา สุดสวาท 2553 : 144) สิ่งสำคัญภายในวัด (สุริยา สุดสวาท และเดชา สุดสวาท 2553 : 144) อุโบสถ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2485 ปัจจุบันได้รับากรบูรณะใหม่ ลักษณะเป็นอาคารทรงไทยก่ออิฐถือปูนทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาเครื่องไม้ทรงจั่วลดชั้น 2 ชั้น มุงกระเบื้องซ้อนกันชั้นละ 3 ตับ ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันไม้แกะสลักประดับกระจกสามสี ด้านหน้ามีมุขลด รองรับโครงหลังคาด้วยปูนสี่เหลี่ยม ด้านข้างมีคันทวย ผนังก่ออิฐถือปูนตั้งอยู่บนฐานบัว ด้านหน้ามีประตูทางเข้า 2 ประตู ซุ้มประตูทรงมณฑป ผนังตอนบนระหว่างซุมหน้าต่างมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง โดยรอบอาคารเป็นระเบียงทางเดินและมีบันไดทางขึ้นทางด้านหน้าและด้านข้าง ภายในอุโฐถประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปประทับนั่ง ปางสมาธิ บริเวณฝาผนังมีจิตรกรรมที่เขียนขึ้นใหม่ วิหาร 2 หลัง ตั้งอยู่ด้านข้างอุโบสถ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2493 ลักษณะเป็นอาคารทรงไทยก่ออิฐถือปูน หลังคาเคร่องไม้ทรงจั่วลด 2 ชั้น มุงกระเบื้องซ้อนกันชั้นละ 2 ตับ มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ด้นาหน้ามีมุขลด รองรับโครงหลังคาด้วยเสา 4 ต้น ด้านข้างมีชายคาปีกนก เสาหลอกและคันทวย ผนังอาคารก่ออิฐถือปูนตั้งอยู่บนฐานบัว เจดีย์ราย ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าอุโบสถ จำนวน 4 องค์ เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานรูปเรือ 3 องค์ และด้านข้างวิหาร 8 องค์ ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆัง ตั้งอยู่บนฐานบัว ถัดขึ้นไปเป็นชุดฐานสิงห์ และมีบังรองรับปากระฆัง องคระฆังงย่อมุมไม้สิบสอง ส่วนยอดเป็นบัวกลุ่มเถา ปล้องไฉน และปลียอด บางองค์ส่วนยอดชำรุดหักพัง ปรางค์ จำนวน 4 องค์ ตั้งอู่ด้านตะวันออกของอุโบสถ ติดกับแม่น้ำท่าจีน ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงปรางค์ ตั้งอยู่บนฐานเขียง ที่ฐานมีคำอุทิศจารึกอยู่บนแผ่นหินอ่อน ถัดขึ้นไปเป็นชุดฐานสิงห์ เรือนธาตุมีซุ้มจระนำทั้งสี่ทิศ ส่วนยอดทรงปรางค์ มีนพศูลโลหะปักอยู่ ศาลาการเปรียญ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2462 และได้รับการบูรณะเมื่อ พ.ศ.2533 ลักษณะเป็นอาคารทรงไทยยกพื้นสูง หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง มีชายคาปีกนกโดยรอบ ศาลาทรงจตุรมุข ลักษณะเป็นศาลาไม้ทรงจตุรมุข ด้านล่างโปร่าง หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง บริเวณหน้าบัน ชายคา และไม้คอสอง ตกแต่งด้วยไม้ฉลุลาย

วัดนางสาว อำเภอกระทุ่มแบน

วัดนางสาวเป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย จากตำนานและคำบอกเล่าของชาวบ้าน กล่าวว่าในสมัยอยุธยาตอนปลายได้เกิดสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับพม่า กองทัพพม่ายกเข้ามารุกรานจนถึงบ้านบางท่าไม้ในเขตอำเภอกระทุ่มแบน พวกผู้ชายออกไปรบเพื่อป้องกันบ้านเมืองกันหมด เหลือแต่ผู้หญิง เด็ก และคนชรา จึงพากันอพยพหลบหนีภัยสงคราม ในระหว่างทางได้ไปพบกับกองลาดตะเวนของทหารพม่า จึงได้พากันไปหลบซ่อนตัวในโบสถ์ของวัดร้างแห่งหนึ่ง ในจำนวนของผู้หนีภัยสงครามทั้งหมดมีพี่น้องสองสาวคู่หนึ่งได้อธิษฐานกับพระประธานว่า ถ้าพวกตนสามารถรอดพ้นจากเงื้อมมือของทหารพม่าไปได้จะกลับมาบูรณะซ่อมแซมวัดแห่งนี้ หลังจากเหตุการณ์สงครามสงบ พี่น้องทั้งสองคนก็ได้กลับมายังวัดแห่งนี้ พี่สาวเห็นว่าสภาพของวัดทรุดโทรมมากควรจะสร้างวัดขึ้นใหม่ จึงได้ไปสร้างวัดใหม่ขึ้นเรียกชื่อว่า “วัดกกเตย” (ปัจจุบันวัดแห่งนี้ล่มลงในแม่น้ำหมดแล้ว) แต่น้องสาวต้องการกระทำตามสัจจาธิษฐาน จึงได้ดำเนินการบูรณะจนแล้วเสร็จ และตั้งชื่อว่า “วัดพรหมจารีย์ราม” ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดน้องสาว” และได้เพี้ยนมาเป็น “วัดนางสาว” ในปัจจุบัน (สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี 2553 : 130)พระอุโบสถ มีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดเล็กรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหลังคาเครื่องไม้ทรงจั่วมุงกระเบื้อง ด้านหน้ามีพาไลยื่นออกมา 1 ห้อง มีเสาปูนสี่เหลี่ยมรองรับโครงหลังคาจำนวน 4 ต้น ช่อฟ้าใบระกาปูนปั้นประดับกระจก (แต่เดิมช่อฟ้าใบระกาเป็นไม้ หน้าบันเป็นไม้ประจุเรียบ ต่อมาวัดได้ดำเนินการซ่อมแซมขึ้นใหม่) ผนังอุโบสถก่ออิฐถือปูน มีประตูทางเข้าด้านหน้าเพียงประตูเดียว ด้านอื่นๆปิดทึบไม่มีหน้าต่าง แบบ “โบสถ์มหาอุด” ปัจจุบันโบสถ์หลังนี้ได้รับการซ่อมแซมใหม่ (สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี 2553 : 130)เจดีย์ ตั้งอยู่บริเวณด้านข้างศาลาการเปรียญ ลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ย่อมุมไม้สิบสองทรงระฆัง องค์ระฆังมีการตกแต่งด้วยลวดลายดอกไม้และพวงอุบะ ส่วนยอดเป็นบัวคลุ่มเถาและปลียอด (สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี 2553 : 130)

วัดบางยาง อำเภอกระทุ่มแบน

วัดบางยางเป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ในรายงานทะเบียนวัดของสำนักงานพระพุทธศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า สร้างวัดเมื่อ พ.ศ.2364 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ครั้งล่าสุด วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2557 เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน พระครูสาครธรรมโกศล (คุณ เมตฺติโก)ลำดับเจ้าอาวาส 1. พระเยิ้ม 2. พระพ่วง 3. พระวัด 4. พระชื้น 5. พระช้าง 6. พระแหยม 7. พระหวาย 8. พระอธิการผ่อง สุขปุญฺโญ 9. พระอธิการกุศล กุสีโล 10. พระครูสาครธรรมประสาท 11. พระครูศรีธวัช 12. พระครูสาครธรรมโกศล ดำรงตำแหน่งเมื่อประมาณปี 2540 - ปัจจุบัน อาคารเสนาสนะในวัด - อุโบสถเก่า สร้างเมื่อ พ.ศ.2440 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กทรงไทยประยุกต์ ภายในประดิษฐานหลวงพ่อแดง เป็นประธาน  - ศาลาการเปรียญ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2479 เป็นอาคารไม้ทรงไทย ส่วนฐานมีการปรับปรุงโดยก่อคอนกรีตเสริมเหล็ก - อุโบสถใหม่ สร้างเมื่อประมาณปีพ.ศ. 2557 ปิดทองฝังลูกนิมิตปีพ.ศ.2559 - กุฏิสงฆ์ไม้เรือนไทย ไม่ระบุปีพ.ศ.ที่สร้าง เป็นอาคารไม้ทรงไทย - กุฏิธรรมกิจกุศล สร้างเมื่อปีพ.ศ. 2552 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น - ศาลาบำเพ็ญกุศล จำนวน 3 หลัง เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก - เมรุ เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก - วิหารหลวงพ่อศรีธรรมราช เป็นอาคารจัตุรมุข สร้างเมื่อปีพ.ศ.2534 เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ภายในประดิษฐานหลวงพ่อศรีธรรมราช พระพุทธรูปปางสมาธิ บริเวณพื้นที่เสาและหน้าอุดปีกนกด้านในมีการวาดภาพจิตกรรมลวดลายเทพนม และลวดลายพันธุ์พฤกษา - วิหารหลวงพ่อสังกัจจายย์ สร้างเมื่อ วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2527 เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก - วิหารหลวงสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)สร้างเมื่อปีพ.ศ.2537 เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก - ศาลาท่าน้ำ มีจำนวน 4 หลัง ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าวัด ริมคลองดำเนินสะดวก อาคารไม้ทรงไทย 2 หลัง ระบุปีพ.ศ.สร้างเมื่อ พ.ศ. 2508 และพ.ศ.2510 อีก 2 หลังเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคามุงกระเบื้องดินเผา 1 หลัง ไม่ระบุปีพ.ศ.ที่สร้าง ส่วนอีกหนึ่งหลังมุงหลังคาด้วยกระเบื้องซีเมนต์ลอน ระบุสร้างปีพ.ศ.2535 - โรงเรียนในเขตวัด 1. โรงเรียนบางยางวิทยาคาร 2. โรงเรียนกุศลวิทยา พระพุทธรูปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญ - หลวงพ่อศรีธรรมราช ภายในวิหารหลวงพ่อศรีธรรมราช พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านให้ความเคารพศรัทธา กราบไหว้ขอพร - หลวงพ่อแดง พระประธานประจำอุโบสถหลังเก่า เกจิอาจารย์ ประเพณี/งานประจำปี - ทุกวันที่ 1 มกราคม ทำบุญตักบาตรวันขึ้นปีใหม่ - ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 วันมาฆบูชา ทำบุญ เวียนเทียน - ทำบุญตักบาตรทุกวันตรุษไทย - วันที่ 13-15 เมษายน ทำบุญ ตักบาตร วันสงกรานต์ - ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 วันวิสาขบูชา ทำบุญ ตักบาตร เวียนเทียน - ขึ้น 13-15 ค่ำ เดือน 6 งานประจำปีปิดทองหลวงพ่อศรีธรรมราช - ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 วันอาสาฬหบูชา ทำบุญ ตักบาตร เวียนเทียน - แรม 1 ค่ำ เดือน 8 วันเข้าพรรษา ทำบุญ ตักบาตร ถวายผ้าอาบน้ำฝน - 12 สิงหาคม ทำบุญวันแม่แห่งชาติ - ทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ทำบุญวันมหาปวารณาออกพรรษา - ทุกแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ตักบาตรเทโวโรหณะ - 5 ธันวาคม ทำบุญวันพ่อแห่งชาติ - 31 ธันวาคม สวดมนต์ข้ามปี

วัดราษฏร์บำรุง อำเภอกระทุ่มแบน

วัดราษฎร์บำรุง เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ในหนังสือที่พิมพ์ขึ้นแจกในพิธีปิดทองฝังลูกนิมิตพระอุโบสถหลังใหม่เมื่อปี พ.ศ.2512 กล่าวว่า วัดหงอนไก่ตั้งขึ้นเป็นสำนักสงฆ์ เมื่อ พ.ศ.2438 มีท่านสมภารเทียนเป็นผู้ริเริ่มในการก่อสร้าง นางพวง รอดสมหวัง เป็นผู้มอบที่ดินให้วัดจำนวน 16 ไร่ 3 งาน 85 ตารางวา หมื่นยงค์ มักสันต์ และกำนันแก้ว จันทร์เต็มดวง เป็นผู้อุปถัมภ์ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ.2444 พระอุโบสถหลังเก่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ปีใดไม่มีหลักฐานระบุ แต่มีพิธีผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิตในปี พ.ศ.2450 (สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี 2553 : 139 )อุโบสถหลังเก่า อาคารก่ออิฐถือปูนขนาดค่อนข้างเล็ก หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องว่าว มีพาไลมุงสังกะสียื่นออกมาทั้งด้านหน้าและหลังด้านละ 1 ห้อง รองรับโครงหลังคาด้วยเสาไม้กลม ช่อฟ้าไม้ชำรุด ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพระอุโบสถ และรวยระกาไม้แบบมอญ หน้าบันปูนปั้นตกแต่งลวดลายแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ด้านบนเป็นรูปเทพนม ถัดลงมาเป็นหงส์สองตัวหันหน้าเข้าหากัน มีลวดลายดอกไม้ประดับด้วยเครื่องถ้วยชามเคลือบสี และเครื่องลายครามแบบจีน ด้านล่างของหน้าบันเป็นรูปมังกรคู่หันหน้าชนกัน อิทธิพลศิลปะแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ปัจจุบันเป็นอาคารร้าง สภาพทรุดโทรมมากผนังอุโบสถก่ออิฐถือปูน มีประตูทางเข้าด้านหน้าและหลังด้านละ 2 ประตู ซุ้มประตูและหน้าต่างปูนปั้นลายพันธุ์พฤกษา ภายในพระอุโบสถมีฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูป “หลวงพ่อโต” ปัจจุบันได้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถหลังใหม่ และศาลาการเปรียญจำนวนทั้งสิ้น 10 องค์ ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในจำนวนนี้มีพระพุทธรูปที่ทำจากหินทรายแดง ศิลปะอยุธยาตอนปลาย 1 องค์ และมีพระพุทธรูปสององค์มีจารึกที่ฐานระบุปี พ.ศ.2475 พระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งมีจารึกเป็นตัวอักษรคล้ายอักษรขอมและตัวเลข 2440 (สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี 2553 : 139)อุโบสถเก่าแห่งนี้ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากรร ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 119 ตอนพิเศษ 117 ง วันที่ 29 พฤศจิกายน 2545 พื้นที่โบราณสถานประมาณ 1 ไร่ 86.5 ตารางวา

วัดอ่างทอง อำเภอกระทุ่มแบน

สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2404 ไม่ปรากฏหลักฐานผู้สร้างและผู้บริจาคถวายที่ดินเพื่อสร้างวัด ที่มาของชื่อวัดมีตำนานกล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวมีต้นไม้ใหญ่ จำเป็นต้องโค่นเพื่อใช้สถานที่สร้างวัด ในยามค่ำคืนก่อนที่จะทำการโค่นต้นไม้นี้ ได้เกิดปรากฏการณ์มหัศจรรย์ มีแสงประหลาดพวยพุ่งขึ้นมาจากพื้นดิน สูงคล้ายดอกไม้เพลิงสว่างโชติช่วง ตามโบราณกล่าวว่าทรัพย์แผ่นดินเคลื่อนที่ จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นทอง

วัดอ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน

วัดอ้อมน้อยตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.2410 โดยนายอ่วม นางฉิม(เสม) เกิดเจริญ มีหลวงพ่อเพ็ง ประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถ

ศาลปู่ดำ อำเภอกระทุ่มแบน

ศาลปู่ดำ ตั้งอยู่ใน ต.คลองมะเดื่อ อ.กระทุ่มแบน เป็นศาลาทรงไทยกว้างประมาณ 1 เมตร ภายในศาลมีรูปปั้นชายชราผมขาว หนวดเคราขาว นุ่งห่มผ้าขาว นั่งขัดสมาธิ  เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชน ความเป็นมาของศาลปู่ดำ เริ่มจากเจ้าของที่ดินบนบานของให้ขายที่ดินได้ จึงสร้างศาลขึ้นมา แต่เดิมเป็นศาลเล็กๆ ต่อมาได้พังลง จึงได้ย้ายมาสร้างใหม่ริมถนน ศาลหลังใหม่สร้างเมื่อประมาณปี 2542 และมีการจัดงานประจำปีในวันลอยกระทง แต่ในปีแรกที่จัดงาน มีวัยรุ่นทะเลาะกันและฆ่ากันตาย ทำให้หลังจากนั้นไม่มีการจัดงาน เพราะกลัวว่าจะมีคนตายอีก ชาวบ้านละแวกนั้นกล่าวมา คนต่างถิ่นจะมาขอโชคลาภ ขอหวย และได้โชคตามที่ขอ แต่คนในชุมชนมักจะไม่ได้โชคลาภชาวบ้านเล่าถึงความศักดิ์สิทธิ์ของศาลปู่ดำว่า “เวลาใครวิ่งผ่านไปผ่านมาตอนกลางวันก็รถล้ม เห็นมีคนเดินตัดหน้ารถ ส่วนกลางคืน คนเขาบอกว่าเห็นหมาดำตัวเบ้อเร้อเลย ช่วงแรกๆเขาถูกหวยกันเยอะ ก็ต่างคนต่างมาไหว้ คนที่อื่นมาถูกกันเยอะ เป็นที่ดวง แต่ผมก็เชื่อนะ พวกม้า พวกไก่ ก็คนที่เขาโดนมาแก้กัน ลอยกระทงเนี่ยเป็นงานปีปู่จริงๆ เมื่อก่อนเขาจัด ปีแรกเลย แล้วก็ตีกันตาย แต่ไม่ได้ตายที่นี่นะ ตายระหว่างทาง  เป็นคนจากที่อื่นเป็นอริกัน แล้วมาเจอกัน ตีกัน เป็นญาติพี่น้องกัน ร่างทรงก็พูดกันว่า ถ้าเกิดมีงานประจำปีก็จะต้องมีตัวตายตัวแทน ก็เลยไม่มีเลย หลังจากนั้นก็ไม่มีใครกล้าจัด ประมาณ 10 ปีได้แล้ว” (สัมภาษณ์ 10 พฤศจิกายน 2559)

ศาลหลวงตาทอง อำเภอกระทุ่มแบน

ศาลหลวงตาทอง อยู่ในซ.ศรีสุคนธ์ ถ.สุคนธวิท ต.กระทุ่มแบน อ.กระทุ่มแบน ประวัติของหลวงตาทอง เป็นพระที่มาจำพรรษาที่วัดใหม่หนองพะอง ต.สวนหลวง อ.กระทุ่มแบน และย้ายไปที่วัดนางสาว ต.ท่าไม้  เมื่ออายุได้ประมาณ 50 ปีเศษ ได้เดินทางมาถึงกระทุ่มแบนและเห็นว่าเหมาะสมสำหรับการตั้งกุฎินั่งวิปัสสนา เพราะบริเวณนี้เป็นป่าที่สงบเงียบเปลี่ยว วังเวง มีแต่หลุมฝังศพของคนตาย ปราศจากผู้คน หลวงตาทองจึงสร้างกุฏิขึ้น และจำพรรษาอยู่ที่นี้จนมรณภาพเมื่ออายุราว 70 ปีเศษ ผู้ดูแลศาลเล่าว่า “สมัยก่อนแถวนี้เป็นป่า หลวงตาทองมาจากวัดใหม่หนองพะอง ท่านก็ธุงดงค์มา แล้วก็มาอยู่ที่นี่ อยู่จนท่านเสียที่นี่ เมื่อก่อนที่นี่มันเป็นวัดร้าง ท่านก็มาธุดงค์อยู่วัดร้าง ชาวบ้านก็เลยสร้างกุฏิไว้ให้หลังหนึ่งจนท่านเสีย คนเขานับถือกัน ท่านรักษาก็ได้ มีเรื่องทุกข์ร้อนอะไรก็มาหา ท่านมีคาถาอาคม พอท่านเสียไปก็เลยสร้างเป็นศาลเล็ก ๆ แล้วก็จนใหญ่ขึ้นมาถึงทุกวันนี้ ปีหน้า (พ.ศ.2560) ก็ว่าจะจัดฉลองครบ 130 ปี” (สัมภาษณ์ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559)หลวงตาทองเป็นพระที่สูญเสียการมองเห็น แม้ท่านจะมองไม่เห็นแต่ก็สามารถเดินไปไหนมาไหนได้คล่องแคล่ว ท่านยังเคร่งครัดในธรรมะ มีความสามารถในการสวดพระปาฏิโมกข์  มีความรู้ในเวทมนตร์คาถาที่ช่วยให้อยู่ยงคงกระพัน และเรื่องเมตตามหานิยม ชาวบ้านในตลาดกระทุ่มแบนจึงเลื่อมใสศรัทธาและเคารพนับถือมาก เมื่อมีคนเจ็บป่วยก็จะมาหาหลวงตาทองเพื่อให้ช่วยรักษาโรค ชาวบ้านที่เคารพท่านมักจะสร้างศาลเล็กๆไว้ในบ้านของตัวเองและกราบไหว้บูชาเพื่อให้หลวงตาทองช่วยคุ้มครองให้อยู่เย็นเป็นสุขและเจริญรุ่งเรืองผู้เริ่มก่อตั้งศาลหลวงตาทอง คือ นายศิริ เติมประยูร  โดยในปี พ.ศ.2499 ได้หารือกับชาวบ้าน ได้แก่ นายลิมฮ้อ แซ่แต้  นายเทียมอี แซ่เจ็ง นายบันเบ้ง แซ่ลิ้ม นายตั๊งกัง แซ่เตาะ นายสันุนท์ อังศิรานนท์ และนายโซวบั๊ก แซ่โคว้  ทุกคนเห็นว่าควรสร้างศาลโดยจัดงาน 4 วัน 4 คืน และรับบริจาคเงินจากชาวบ้าน เมื่อได้เงินก็นำไปสร้างศาล ศาลรุ่นแรกเป็นศาลไม้กว้างประมาณ 2 เมตร  ยาว 1.5 เมตร  หลังคามุงสังกะสี ภายในมีรูปปั้นของหลวงตาทอง 1 องค์ ซึ่งนายศิรินำมาจากร้านค้าแถวสะพานหัน กรุงเทพฯ เป็นรูปปั้นสมเด็จพุฒาจารย์(โต) พรหมรังษี วัดระฆัง หล่อด้วยสัมฤทธิ์ ราคาเช่า 100 บาท เมื่อสร้างศาลเสร็จได้จัดพิธีฉลองโดยนิมนต์พระสงฆ์ 9 รูปมาเจริญพระพุทธมนต์ และถวายภัตตาหารเช้า จากนั้นจึงเชิญรูปปั้นของหลวงตาทองแห่ไปรอบตลาดกระทุ่มแบน ตอนกลางคืนมีการแสดงงิ้วและลิเก เป็นเวลา 4 คืน เมื่อถึงเทศกาลสำคัญ เช่น ตรุษจีน สารทจีน ชาวบ้านจะนิยมนำเครื่องเซ่นมาไหว้ที่ศาลหลวงตาทองรูปปั้นหลวงตาทองเคยมีคนขโมยไป นายศิริ เติมประยูร จึงออกติดตามหาไปที่ ต.ท่าเสา อ.กระทุ่มแบน และก็พบที่บ้านของชายชราคนหนึ่งซึ่งไปเจอรูปปั้นหลวงตาทองที่วัด และนำบูชาที่บ้าน นายศิริจึงขอคืนและนำไปไว้ที่ศาลเหมือนเดิม ต่อมาในปี พ.ศ.2504 มีการปรับปรุงศาลให้ใหญ่กว่าเดิมมีขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 5 เมตร ผนังคอนกรีต หลังคามุงกระเบื้อง พลเรือตรีชัชวาลย์ ศรีสุวรรณ ได้มอบที่ดินให้สำหรับสร้างศาลใหม่ และยังช่วยออกแบบศาล  มีประชาชนร่วมบริจาคเงินและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆเพื่อสร้างศาล ในวันเปิดศาลวันที่ 26 มีนาคม 2504 นายอำเภอกระทุ่มแบนได้มาเป็นประธาน นอกจากนั้น ยังได้สร้างรูปจำลองของหลวงตาทองเท่าองค์จริง ออกแบบโดยมหาเงิน แช้มสาครและนายศิริ เติมประยูร จ้างช่างจากกรุงเทพฯมาทำการหล่อ พร้อมกับจัดพิธีกรรมเชิญดวงวิญญาณของหลวงตาทองมาสิงสถิตย์ในรูปหล่อนี้ด้วย  โดยเชิญพระญวณจากวัดหลวงพ่อบ๋าวเอิงสะพานขาวมาทำพิธีในเดือนมีนาคมของทุกปี จะมีการจัดงานประจำปีขึ้น พร้อมทั้งมีการแสดงมหรสพและการละเล่น โดยเฉพาะการประชันงิ้วแต้จิ๋วและงิ้วไหหลำจะขาดไม่ได้ ที่ศาลหลวงตาทอง ไม่มีการเข้าทรง ผู้ดูแลศาลอธิบายว่า “ไม่ให้ทรง เพราะว่าทรงแล้วจะยุ่ง จริงไม่จริงเราก็ไม่แน่ใจ ก็มีมาขอกัน  เราก็ไม่ให้มายุ่งตรงนี้  เมื่อก่อนเขามาทรงข้างหลังนี้ ผมก็บอกว่าเลิกเถอะ อย่าทำเลย” (สัมภาษณ์ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559)ในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ ผู้ดูแลศาลเล่าว่า “ขออะไรได้หมด รถไม่มีก็ขอได้ ผมขอออกรถมาใช้ในงานแห่หลวงตา เพราะเราต้องใช้รถในการแห่  เมื่อก่อนเราก็ต้องยืมชาวบ้าน แต่เขาก็เต็มใจให้ยืม  แต่เราก็ต้องรอเวลา ก็เลยซื้อ แต่ผมก็ไปวางดาวน์แล้วล่ะ แล้วก็มาบอกท่าน ท่านก็เลยให้ ผมก็บอกท่านว่าเวลาจะแห่ก็ลำบาก ตอนกลางคืนท่านก็เลยมาให้ ผมแทงไปเลย 2000 บาท ได้ ล้านนึงเลย” (สัมภาษณ์ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559)

ศาลเจ้าแม่ตะเคียน วัดหนองพะอง อำเภอกระทุ่มแบน

ศาลเจ้าแม่ตะเคียนทอง อยู่ในวัดหนองพะอง ต.สวนหลวง อ.กระทุ่มแบน ศาลตั้งอยู่ริมคลองภาษีเจริญ หรือมุมวัดด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ศาลกว้างประมาณ 1 เมตร สูงประมาณ 2 เมตร สร้างด้วยโครงเหล็ก ตั้งอยู่ใต้ใต้ไทรขนาดใหญ่ ภายในมีท่อนไม้ตะเคียน 3 ท่อน แต่ละท่อนจะผูกด้วยผ้าสี  ตุ๊กตานางกวัก มีตุ๊กตาพญานาควางอยู่ ชาวบ้านเล่าว่าในอดีตพบท่อนไม่ลอยมาตามคลองภาษีเจริญ จึงนำขึ้นมาไว้บนบกข้างๆวัดและสร้างศาลให้ คนต่างถิ่นที่เข้ามาในวัดจะมาขอหวย เมื่อถูกหวยก็จะนำของมาถวาย เช่น ชุดไทยที่มาของชื่อ "หนองพะอง" มาจากชื่อชุมชนที่เคยเป็น(หมู่)บ้านที่มีหนองและพะอง โดยทั่วไปแล้ว พะอง จะมีความหมายถึงการใช้สำหรับผูกพาดขึ้นต้นไม้ต่างบันได แต่ในที่นี้กลับใช้ขึ้นลงตลิ่งเพื่อลงไปตักน้ำมาใช้อุปโภคบริโภค แต่ปัจจุบันไม่มีหนองน้ำแล้ว น่าจะถูกถมไปนานแล้ว ชื่อ บ้านหนองพะอง ในแผนที่บ้านเขมร จังหวัดนครปฐม พิมพ์ที่กรมแผนที่ พ.ศ.2469 ปรากฏชื่อ “บ.หนองพะอง” และวัดหนองพะอง ตรงกับตำแหน่งชุมชนบ้านหนองพะอง ในปัจจุบัน

close