ศาลหลวงตาทอง

ศาลหลวงตาทอง

เผยแพร่เมื่อ: 16 สิงหาคม 2564 | 

ปรับปรุงแก้ไขเมื่อ: 8 เมษายน 2565

ที่ตั้งตามการปกครอง ตำบลตลาดกระทุ่มแบน อำเภอกระทุ่มแบน
ละติจูด 13.653554
ลองจิจูด 100.261292
รายละเอียดศาสนสถานและศาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์

ศาลหลวงตาทอง อยู่ในซ.ศรีสุคนธ์ ถ.สุคนธวิท ต.กระทุ่มแบน อ.กระทุ่มแบน ประวัติของหลวงตาทอง เป็นพระที่มาจำพรรษาที่วัดใหม่หนองพะอง ต.สวนหลวง อ.กระทุ่มแบน และย้ายไปที่วัดนางสาว ต.ท่าไม้  เมื่ออายุได้ประมาณ 50 ปีเศษ ได้เดินทางมาถึงกระทุ่มแบนและเห็นว่าเหมาะสมสำหรับการตั้งกุฎินั่งวิปัสสนา เพราะบริเวณนี้เป็นป่าที่สงบเงียบเปลี่ยว วังเวง มีแต่หลุมฝังศพของคนตาย ปราศจากผู้คน หลวงตาทองจึงสร้างกุฏิขึ้น และจำพรรษาอยู่ที่นี้จนมรณภาพเมื่ออายุราว 70 ปีเศษ

ผู้ดูแลศาลเล่าว่า “สมัยก่อนแถวนี้เป็นป่า หลวงตาทองมาจากวัดใหม่หนองพะอง ท่านก็ธุงดงค์มา แล้วก็มาอยู่ที่นี่ อยู่จนท่านเสียที่นี่ เมื่อก่อนที่นี่มันเป็นวัดร้าง ท่านก็มาธุดงค์อยู่วัดร้าง ชาวบ้านก็เลยสร้างกุฏิไว้ให้หลังหนึ่งจนท่านเสีย คนเขานับถือกัน ท่านรักษาก็ได้ มีเรื่องทุกข์ร้อนอะไรก็มาหา ท่านมีคาถาอาคม พอท่านเสียไปก็เลยสร้างเป็นศาลเล็ก ๆ แล้วก็จนใหญ่ขึ้นมาถึงทุกวันนี้ ปีหน้า (พ.ศ.2560) ก็ว่าจะจัดฉลองครบ 130 ปี” (สัมภาษณ์ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559)

หลวงตาทองเป็นพระที่สูญเสียการมองเห็น แม้ท่านจะมองไม่เห็นแต่ก็สามารถเดินไปไหนมาไหนได้คล่องแคล่ว ท่านยังเคร่งครัดในธรรมะ มีความสามารถในการสวดพระปาฏิโมกข์  มีความรู้ในเวทมนตร์คาถาที่ช่วยให้อยู่ยงคงกระพัน และเรื่องเมตตามหานิยม ชาวบ้านในตลาดกระทุ่มแบนจึงเลื่อมใสศรัทธาและเคารพนับถือมาก เมื่อมีคนเจ็บป่วยก็จะมาหาหลวงตาทองเพื่อให้ช่วยรักษาโรค ชาวบ้านที่เคารพท่านมักจะสร้างศาลเล็กๆไว้ในบ้านของตัวเองและกราบไหว้บูชาเพื่อให้หลวงตาทองช่วยคุ้มครองให้อยู่เย็นเป็นสุขและเจริญรุ่งเรือง

ผู้เริ่มก่อตั้งศาลหลวงตาทอง คือ นายศิริ เติมประยูร  โดยในปี พ.ศ.2499 ได้หารือกับชาวบ้าน ได้แก่ นายลิมฮ้อ แซ่แต้  นายเทียมอี แซ่เจ็ง นายบันเบ้ง แซ่ลิ้ม นายตั๊งกัง แซ่เตาะ นายสันุนท์ อังศิรานนท์ และนายโซวบั๊ก แซ่โคว้  ทุกคนเห็นว่าควรสร้างศาลโดยจัดงาน 4 วัน 4 คืน และรับบริจาคเงินจากชาวบ้าน เมื่อได้เงินก็นำไปสร้างศาล ศาลรุ่นแรกเป็นศาลไม้กว้างประมาณ 2 เมตร  ยาว 1.5 เมตร  หลังคามุงสังกะสี ภายในมีรูปปั้นของหลวงตาทอง 1 องค์ ซึ่งนายศิรินำมาจากร้านค้าแถวสะพานหัน กรุงเทพฯ เป็นรูปปั้นสมเด็จพุฒาจารย์(โต) พรหมรังษี วัดระฆัง หล่อด้วยสัมฤทธิ์ ราคาเช่า 100 บาท เมื่อสร้างศาลเสร็จได้จัดพิธีฉลองโดยนิมนต์พระสงฆ์ 9 รูปมาเจริญพระพุทธมนต์ และถวายภัตตาหารเช้า จากนั้นจึงเชิญรูปปั้นของหลวงตาทองแห่ไปรอบตลาดกระทุ่มแบน ตอนกลางคืนมีการแสดงงิ้วและลิเก เป็นเวลา 4 คืน เมื่อถึงเทศกาลสำคัญ เช่น ตรุษจีน สารทจีน ชาวบ้านจะนิยมนำเครื่องเซ่นมาไหว้ที่ศาลหลวงตาทอง

รูปปั้นหลวงตาทองเคยมีคนขโมยไป นายศิริ เติมประยูร จึงออกติดตามหาไปที่ ต.ท่าเสา อ.กระทุ่มแบน และก็พบที่บ้านของชายชราคนหนึ่งซึ่งไปเจอรูปปั้นหลวงตาทองที่วัด และนำบูชาที่บ้าน นายศิริจึงขอคืนและนำไปไว้ที่ศาลเหมือนเดิม ต่อมาในปี พ.ศ.2504 มีการปรับปรุงศาลให้ใหญ่กว่าเดิมมีขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 5 เมตร ผนังคอนกรีต หลังคามุงกระเบื้อง พลเรือตรีชัชวาลย์ ศรีสุวรรณ ได้มอบที่ดินให้สำหรับสร้างศาลใหม่ และยังช่วยออกแบบศาล  มีประชาชนร่วมบริจาคเงินและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆเพื่อสร้างศาล ในวันเปิดศาลวันที่ 26 มีนาคม 2504 นายอำเภอกระทุ่มแบนได้มาเป็นประธาน นอกจากนั้น ยังได้สร้างรูปจำลองของหลวงตาทองเท่าองค์จริง ออกแบบโดยมหาเงิน แช้มสาครและนายศิริ เติมประยูร จ้างช่างจากกรุงเทพฯมาทำการหล่อ พร้อมกับจัดพิธีกรรมเชิญดวงวิญญาณของหลวงตาทองมาสิงสถิตย์ในรูปหล่อนี้ด้วย  โดยเชิญพระญวณจากวัดหลวงพ่อบ๋าวเอิงสะพานขาวมาทำพิธีในเดือนมีนาคมของทุกปี จะมีการจัดงานประจำปีขึ้น พร้อมทั้งมีการแสดงมหรสพและการละเล่น โดยเฉพาะการประชันงิ้วแต้จิ๋วและงิ้วไหหลำจะขาดไม่ได้

ที่ศาลหลวงตาทอง ไม่มีการเข้าทรง ผู้ดูแลศาลอธิบายว่า ไม่ให้ทรง เพราะว่าทรงแล้วจะยุ่ง จริงไม่จริงเราก็ไม่แน่ใจ ก็มีมาขอกัน  เราก็ไม่ให้มายุ่งตรงนี้  เมื่อก่อนเขามาทรงข้างหลังนี้ ผมก็บอกว่าเลิกเถอะ อย่าทำเลย” (สัมภาษณ์ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559)


ในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ ผู้ดูแลศาลเล่าว่า “ขออะไรได้หมด รถไม่มีก็ขอได้ ผมขอออกรถมาใช้ในงานแห่หลวงตา เพราะเราต้องใช้รถในการแห่  เมื่อก่อนเราก็ต้องยืมชาวบ้าน แต่เขาก็เต็มใจให้ยืม  แต่เราก็ต้องรอเวลา ก็เลยซื้อ แต่ผมก็ไปวางดาวน์แล้วล่ะ แล้วก็มาบอกท่าน ท่านก็เลยให้ ผมก็บอกท่านว่าเวลาจะแห่ก็ลำบาก ตอนกลางคืนท่านก็เลยมาให้ ผมแทงไปเลย 2000 บาท ได้ ล้านนึงเลย” (สัมภาษณ์ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559)

ประเภท ศาลบูชาบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์
ศาสนา พุทธ
นิกาย/ลัทธิ เถรวาท
คำสำคัญ ไท,จีน,จีนบางยาง
รูปแบบลิขสิทธิ์ อ้างอิงแหล่งที่มา ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า (CC-BY-NC)

บรรณานุกรม

รายงานวิจัย เรื่องชุมชนกับความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในอำเภอบ้านแพ้วและอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร
ผู้แต่ง นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ปัณวัฒน์ ผ่องจิต
ชื่อหนังสือ/วารสาร รายงานวิจัย เรื่องชุมชนกับความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในอำเภอบ้านแพ้วและอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร
สำนักพิมพ์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ปีที่พิมพ์ 2560

รูปภาพ

close