ศาสนสถานและศาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์

5 แห่ง

ผลการค้นหา : 5 แห่ง

ศาลปู่ดำ อำเภอกระทุ่มแบน

ศาลปู่ดำ ตั้งอยู่ใน ต.คลองมะเดื่อ อ.กระทุ่มแบน เป็นศาลาทรงไทยกว้างประมาณ 1 เมตร ภายในศาลมีรูปปั้นชายชราผมขาว หนวดเคราขาว นุ่งห่มผ้าขาว นั่งขัดสมาธิ  เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชน ความเป็นมาของศาลปู่ดำ เริ่มจากเจ้าของที่ดินบนบานของให้ขายที่ดินได้ จึงสร้างศาลขึ้นมา แต่เดิมเป็นศาลเล็กๆ ต่อมาได้พังลง จึงได้ย้ายมาสร้างใหม่ริมถนน ศาลหลังใหม่สร้างเมื่อประมาณปี 2542 และมีการจัดงานประจำปีในวันลอยกระทง แต่ในปีแรกที่จัดงาน มีวัยรุ่นทะเลาะกันและฆ่ากันตาย ทำให้หลังจากนั้นไม่มีการจัดงาน เพราะกลัวว่าจะมีคนตายอีก ชาวบ้านละแวกนั้นกล่าวมา คนต่างถิ่นจะมาขอโชคลาภ ขอหวย และได้โชคตามที่ขอ แต่คนในชุมชนมักจะไม่ได้โชคลาภชาวบ้านเล่าถึงความศักดิ์สิทธิ์ของศาลปู่ดำว่า “เวลาใครวิ่งผ่านไปผ่านมาตอนกลางวันก็รถล้ม เห็นมีคนเดินตัดหน้ารถ ส่วนกลางคืน คนเขาบอกว่าเห็นหมาดำตัวเบ้อเร้อเลย ช่วงแรกๆเขาถูกหวยกันเยอะ ก็ต่างคนต่างมาไหว้ คนที่อื่นมาถูกกันเยอะ เป็นที่ดวง แต่ผมก็เชื่อนะ พวกม้า พวกไก่ ก็คนที่เขาโดนมาแก้กัน ลอยกระทงเนี่ยเป็นงานปีปู่จริงๆ เมื่อก่อนเขาจัด ปีแรกเลย แล้วก็ตีกันตาย แต่ไม่ได้ตายที่นี่นะ ตายระหว่างทาง  เป็นคนจากที่อื่นเป็นอริกัน แล้วมาเจอกัน ตีกัน เป็นญาติพี่น้องกัน ร่างทรงก็พูดกันว่า ถ้าเกิดมีงานประจำปีก็จะต้องมีตัวตายตัวแทน ก็เลยไม่มีเลย หลังจากนั้นก็ไม่มีใครกล้าจัด ประมาณ 10 ปีได้แล้ว” (สัมภาษณ์ 10 พฤศจิกายน 2559)

ศาลหลวงตาทอง อำเภอกระทุ่มแบน

ศาลหลวงตาทอง อยู่ในซ.ศรีสุคนธ์ ถ.สุคนธวิท ต.กระทุ่มแบน อ.กระทุ่มแบน ประวัติของหลวงตาทอง เป็นพระที่มาจำพรรษาที่วัดใหม่หนองพะอง ต.สวนหลวง อ.กระทุ่มแบน และย้ายไปที่วัดนางสาว ต.ท่าไม้  เมื่ออายุได้ประมาณ 50 ปีเศษ ได้เดินทางมาถึงกระทุ่มแบนและเห็นว่าเหมาะสมสำหรับการตั้งกุฎินั่งวิปัสสนา เพราะบริเวณนี้เป็นป่าที่สงบเงียบเปลี่ยว วังเวง มีแต่หลุมฝังศพของคนตาย ปราศจากผู้คน หลวงตาทองจึงสร้างกุฏิขึ้น และจำพรรษาอยู่ที่นี้จนมรณภาพเมื่ออายุราว 70 ปีเศษ ผู้ดูแลศาลเล่าว่า “สมัยก่อนแถวนี้เป็นป่า หลวงตาทองมาจากวัดใหม่หนองพะอง ท่านก็ธุงดงค์มา แล้วก็มาอยู่ที่นี่ อยู่จนท่านเสียที่นี่ เมื่อก่อนที่นี่มันเป็นวัดร้าง ท่านก็มาธุดงค์อยู่วัดร้าง ชาวบ้านก็เลยสร้างกุฏิไว้ให้หลังหนึ่งจนท่านเสีย คนเขานับถือกัน ท่านรักษาก็ได้ มีเรื่องทุกข์ร้อนอะไรก็มาหา ท่านมีคาถาอาคม พอท่านเสียไปก็เลยสร้างเป็นศาลเล็ก ๆ แล้วก็จนใหญ่ขึ้นมาถึงทุกวันนี้ ปีหน้า (พ.ศ.2560) ก็ว่าจะจัดฉลองครบ 130 ปี” (สัมภาษณ์ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559)หลวงตาทองเป็นพระที่สูญเสียการมองเห็น แม้ท่านจะมองไม่เห็นแต่ก็สามารถเดินไปไหนมาไหนได้คล่องแคล่ว ท่านยังเคร่งครัดในธรรมะ มีความสามารถในการสวดพระปาฏิโมกข์  มีความรู้ในเวทมนตร์คาถาที่ช่วยให้อยู่ยงคงกระพัน และเรื่องเมตตามหานิยม ชาวบ้านในตลาดกระทุ่มแบนจึงเลื่อมใสศรัทธาและเคารพนับถือมาก เมื่อมีคนเจ็บป่วยก็จะมาหาหลวงตาทองเพื่อให้ช่วยรักษาโรค ชาวบ้านที่เคารพท่านมักจะสร้างศาลเล็กๆไว้ในบ้านของตัวเองและกราบไหว้บูชาเพื่อให้หลวงตาทองช่วยคุ้มครองให้อยู่เย็นเป็นสุขและเจริญรุ่งเรืองผู้เริ่มก่อตั้งศาลหลวงตาทอง คือ นายศิริ เติมประยูร  โดยในปี พ.ศ.2499 ได้หารือกับชาวบ้าน ได้แก่ นายลิมฮ้อ แซ่แต้  นายเทียมอี แซ่เจ็ง นายบันเบ้ง แซ่ลิ้ม นายตั๊งกัง แซ่เตาะ นายสันุนท์ อังศิรานนท์ และนายโซวบั๊ก แซ่โคว้  ทุกคนเห็นว่าควรสร้างศาลโดยจัดงาน 4 วัน 4 คืน และรับบริจาคเงินจากชาวบ้าน เมื่อได้เงินก็นำไปสร้างศาล ศาลรุ่นแรกเป็นศาลไม้กว้างประมาณ 2 เมตร  ยาว 1.5 เมตร  หลังคามุงสังกะสี ภายในมีรูปปั้นของหลวงตาทอง 1 องค์ ซึ่งนายศิรินำมาจากร้านค้าแถวสะพานหัน กรุงเทพฯ เป็นรูปปั้นสมเด็จพุฒาจารย์(โต) พรหมรังษี วัดระฆัง หล่อด้วยสัมฤทธิ์ ราคาเช่า 100 บาท เมื่อสร้างศาลเสร็จได้จัดพิธีฉลองโดยนิมนต์พระสงฆ์ 9 รูปมาเจริญพระพุทธมนต์ และถวายภัตตาหารเช้า จากนั้นจึงเชิญรูปปั้นของหลวงตาทองแห่ไปรอบตลาดกระทุ่มแบน ตอนกลางคืนมีการแสดงงิ้วและลิเก เป็นเวลา 4 คืน เมื่อถึงเทศกาลสำคัญ เช่น ตรุษจีน สารทจีน ชาวบ้านจะนิยมนำเครื่องเซ่นมาไหว้ที่ศาลหลวงตาทองรูปปั้นหลวงตาทองเคยมีคนขโมยไป นายศิริ เติมประยูร จึงออกติดตามหาไปที่ ต.ท่าเสา อ.กระทุ่มแบน และก็พบที่บ้านของชายชราคนหนึ่งซึ่งไปเจอรูปปั้นหลวงตาทองที่วัด และนำบูชาที่บ้าน นายศิริจึงขอคืนและนำไปไว้ที่ศาลเหมือนเดิม ต่อมาในปี พ.ศ.2504 มีการปรับปรุงศาลให้ใหญ่กว่าเดิมมีขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 5 เมตร ผนังคอนกรีต หลังคามุงกระเบื้อง พลเรือตรีชัชวาลย์ ศรีสุวรรณ ได้มอบที่ดินให้สำหรับสร้างศาลใหม่ และยังช่วยออกแบบศาล  มีประชาชนร่วมบริจาคเงินและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆเพื่อสร้างศาล ในวันเปิดศาลวันที่ 26 มีนาคม 2504 นายอำเภอกระทุ่มแบนได้มาเป็นประธาน นอกจากนั้น ยังได้สร้างรูปจำลองของหลวงตาทองเท่าองค์จริง ออกแบบโดยมหาเงิน แช้มสาครและนายศิริ เติมประยูร จ้างช่างจากกรุงเทพฯมาทำการหล่อ พร้อมกับจัดพิธีกรรมเชิญดวงวิญญาณของหลวงตาทองมาสิงสถิตย์ในรูปหล่อนี้ด้วย  โดยเชิญพระญวณจากวัดหลวงพ่อบ๋าวเอิงสะพานขาวมาทำพิธีในเดือนมีนาคมของทุกปี จะมีการจัดงานประจำปีขึ้น พร้อมทั้งมีการแสดงมหรสพและการละเล่น โดยเฉพาะการประชันงิ้วแต้จิ๋วและงิ้วไหหลำจะขาดไม่ได้ ที่ศาลหลวงตาทอง ไม่มีการเข้าทรง ผู้ดูแลศาลอธิบายว่า “ไม่ให้ทรง เพราะว่าทรงแล้วจะยุ่ง จริงไม่จริงเราก็ไม่แน่ใจ ก็มีมาขอกัน  เราก็ไม่ให้มายุ่งตรงนี้  เมื่อก่อนเขามาทรงข้างหลังนี้ ผมก็บอกว่าเลิกเถอะ อย่าทำเลย” (สัมภาษณ์ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559)ในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ ผู้ดูแลศาลเล่าว่า “ขออะไรได้หมด รถไม่มีก็ขอได้ ผมขอออกรถมาใช้ในงานแห่หลวงตา เพราะเราต้องใช้รถในการแห่  เมื่อก่อนเราก็ต้องยืมชาวบ้าน แต่เขาก็เต็มใจให้ยืม  แต่เราก็ต้องรอเวลา ก็เลยซื้อ แต่ผมก็ไปวางดาวน์แล้วล่ะ แล้วก็มาบอกท่าน ท่านก็เลยให้ ผมก็บอกท่านว่าเวลาจะแห่ก็ลำบาก ตอนกลางคืนท่านก็เลยมาให้ ผมแทงไปเลย 2000 บาท ได้ ล้านนึงเลย” (สัมภาษณ์ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559)

ศาลเจ้าแม่ตะเคียน วัดหนองพะอง อำเภอกระทุ่มแบน

ศาลเจ้าแม่ตะเคียนทอง อยู่ในวัดหนองพะอง ต.สวนหลวง อ.กระทุ่มแบน ศาลตั้งอยู่ริมคลองภาษีเจริญ หรือมุมวัดด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ศาลกว้างประมาณ 1 เมตร สูงประมาณ 2 เมตร สร้างด้วยโครงเหล็ก ตั้งอยู่ใต้ใต้ไทรขนาดใหญ่ ภายในมีท่อนไม้ตะเคียน 3 ท่อน แต่ละท่อนจะผูกด้วยผ้าสี  ตุ๊กตานางกวัก มีตุ๊กตาพญานาควางอยู่ ชาวบ้านเล่าว่าในอดีตพบท่อนไม่ลอยมาตามคลองภาษีเจริญ จึงนำขึ้นมาไว้บนบกข้างๆวัดและสร้างศาลให้ คนต่างถิ่นที่เข้ามาในวัดจะมาขอหวย เมื่อถูกหวยก็จะนำของมาถวาย เช่น ชุดไทยที่มาของชื่อ "หนองพะอง" มาจากชื่อชุมชนที่เคยเป็น(หมู่)บ้านที่มีหนองและพะอง โดยทั่วไปแล้ว พะอง จะมีความหมายถึงการใช้สำหรับผูกพาดขึ้นต้นไม้ต่างบันได แต่ในที่นี้กลับใช้ขึ้นลงตลิ่งเพื่อลงไปตักน้ำมาใช้อุปโภคบริโภค แต่ปัจจุบันไม่มีหนองน้ำแล้ว น่าจะถูกถมไปนานแล้ว ชื่อ บ้านหนองพะอง ในแผนที่บ้านเขมร จังหวัดนครปฐม พิมพ์ที่กรมแผนที่ พ.ศ.2469 ปรากฏชื่อ “บ.หนองพะอง” และวัดหนองพะอง ตรงกับตำแหน่งชุมชนบ้านหนองพะอง ในปัจจุบัน

ศาลเจ้าแม่ตะเคียนทอง วัดศรีสำราญราษฎร์บำรุง อำเภอกระทุ่มแบน

ศาลเจ้าแม่ตะเคียนทอง ตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดศรีสำราญราษฎร์บำรุง ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน ติดกับศาลพระพรหม ศาลกว้างประมาณ 2 เมตรหลังคามุงกระเบื้อง ภายในศาลมีท่อนไม้ตะเคียน ตุ๊กตากุมารทอง ตุ๊กตานางรำ ชุดไทย รูปเคารพต่าง ๆ เช่น เจ้าแม่กวนอิม รัชกาลที่ 5 พระพุทธรูป ชาวบ้านจะนำผลไม้ น้ำแดง และนม มาเซ่นไหว้

ศาลแม่ตะเคียน วัดสุวรรณรัตนาราม อำเภอกระทุ่มแบน

ศาลแม่ตะเคียน ตั้งอยู่ในวัดสุวรรณรัตนาราม ต.แคราย อ.กระทุ่มแบน ศาลสร้างเป็นหลังคาอะลูมิเนียมยาวประมาณ 10 เมตร สร้างคลุมต้นตะเคียน ภายในมีหุ่นโมเดลสวมชุดไทยสีทอง รูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม ตุ๊กตากุมารทอง ตุ๊กตานางรำ มีศาลทรงไทยสูงประมาณ 2 เมตร ชาวบ้านจะมากราบไหว้บูชา บางคนนำชุดไทยมาถวาย รวมทั้งโต๊ะเครื่องแป้ง ตู้เสื้อผ้า ชาวบ้านจะนำพวงมาลัยและผ้าสีมาผูกที่ต้นตะเคียน และมีร่องรอยของการขูดหาเลขบนเปลือกต้นตะเคียน

close