ศาสนสถานและศาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์

2 แห่ง

ผลการค้นหา : 2 แห่ง

ศาลหลวงตาทอง อำเภอกระทุ่มแบน

ศาลหลวงตาทอง อยู่ในซ.ศรีสุคนธ์ ถ.สุคนธวิท ต.กระทุ่มแบน อ.กระทุ่มแบน ประวัติของหลวงตาทอง เป็นพระที่มาจำพรรษาที่วัดใหม่หนองพะอง ต.สวนหลวง อ.กระทุ่มแบน และย้ายไปที่วัดนางสาว ต.ท่าไม้  เมื่ออายุได้ประมาณ 50 ปีเศษ ได้เดินทางมาถึงกระทุ่มแบนและเห็นว่าเหมาะสมสำหรับการตั้งกุฎินั่งวิปัสสนา เพราะบริเวณนี้เป็นป่าที่สงบเงียบเปลี่ยว วังเวง มีแต่หลุมฝังศพของคนตาย ปราศจากผู้คน หลวงตาทองจึงสร้างกุฏิขึ้น และจำพรรษาอยู่ที่นี้จนมรณภาพเมื่ออายุราว 70 ปีเศษ ผู้ดูแลศาลเล่าว่า “สมัยก่อนแถวนี้เป็นป่า หลวงตาทองมาจากวัดใหม่หนองพะอง ท่านก็ธุงดงค์มา แล้วก็มาอยู่ที่นี่ อยู่จนท่านเสียที่นี่ เมื่อก่อนที่นี่มันเป็นวัดร้าง ท่านก็มาธุดงค์อยู่วัดร้าง ชาวบ้านก็เลยสร้างกุฏิไว้ให้หลังหนึ่งจนท่านเสีย คนเขานับถือกัน ท่านรักษาก็ได้ มีเรื่องทุกข์ร้อนอะไรก็มาหา ท่านมีคาถาอาคม พอท่านเสียไปก็เลยสร้างเป็นศาลเล็ก ๆ แล้วก็จนใหญ่ขึ้นมาถึงทุกวันนี้ ปีหน้า (พ.ศ.2560) ก็ว่าจะจัดฉลองครบ 130 ปี” (สัมภาษณ์ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559)หลวงตาทองเป็นพระที่สูญเสียการมองเห็น แม้ท่านจะมองไม่เห็นแต่ก็สามารถเดินไปไหนมาไหนได้คล่องแคล่ว ท่านยังเคร่งครัดในธรรมะ มีความสามารถในการสวดพระปาฏิโมกข์  มีความรู้ในเวทมนตร์คาถาที่ช่วยให้อยู่ยงคงกระพัน และเรื่องเมตตามหานิยม ชาวบ้านในตลาดกระทุ่มแบนจึงเลื่อมใสศรัทธาและเคารพนับถือมาก เมื่อมีคนเจ็บป่วยก็จะมาหาหลวงตาทองเพื่อให้ช่วยรักษาโรค ชาวบ้านที่เคารพท่านมักจะสร้างศาลเล็กๆไว้ในบ้านของตัวเองและกราบไหว้บูชาเพื่อให้หลวงตาทองช่วยคุ้มครองให้อยู่เย็นเป็นสุขและเจริญรุ่งเรืองผู้เริ่มก่อตั้งศาลหลวงตาทอง คือ นายศิริ เติมประยูร  โดยในปี พ.ศ.2499 ได้หารือกับชาวบ้าน ได้แก่ นายลิมฮ้อ แซ่แต้  นายเทียมอี แซ่เจ็ง นายบันเบ้ง แซ่ลิ้ม นายตั๊งกัง แซ่เตาะ นายสันุนท์ อังศิรานนท์ และนายโซวบั๊ก แซ่โคว้  ทุกคนเห็นว่าควรสร้างศาลโดยจัดงาน 4 วัน 4 คืน และรับบริจาคเงินจากชาวบ้าน เมื่อได้เงินก็นำไปสร้างศาล ศาลรุ่นแรกเป็นศาลไม้กว้างประมาณ 2 เมตร  ยาว 1.5 เมตร  หลังคามุงสังกะสี ภายในมีรูปปั้นของหลวงตาทอง 1 องค์ ซึ่งนายศิรินำมาจากร้านค้าแถวสะพานหัน กรุงเทพฯ เป็นรูปปั้นสมเด็จพุฒาจารย์(โต) พรหมรังษี วัดระฆัง หล่อด้วยสัมฤทธิ์ ราคาเช่า 100 บาท เมื่อสร้างศาลเสร็จได้จัดพิธีฉลองโดยนิมนต์พระสงฆ์ 9 รูปมาเจริญพระพุทธมนต์ และถวายภัตตาหารเช้า จากนั้นจึงเชิญรูปปั้นของหลวงตาทองแห่ไปรอบตลาดกระทุ่มแบน ตอนกลางคืนมีการแสดงงิ้วและลิเก เป็นเวลา 4 คืน เมื่อถึงเทศกาลสำคัญ เช่น ตรุษจีน สารทจีน ชาวบ้านจะนิยมนำเครื่องเซ่นมาไหว้ที่ศาลหลวงตาทองรูปปั้นหลวงตาทองเคยมีคนขโมยไป นายศิริ เติมประยูร จึงออกติดตามหาไปที่ ต.ท่าเสา อ.กระทุ่มแบน และก็พบที่บ้านของชายชราคนหนึ่งซึ่งไปเจอรูปปั้นหลวงตาทองที่วัด และนำบูชาที่บ้าน นายศิริจึงขอคืนและนำไปไว้ที่ศาลเหมือนเดิม ต่อมาในปี พ.ศ.2504 มีการปรับปรุงศาลให้ใหญ่กว่าเดิมมีขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 5 เมตร ผนังคอนกรีต หลังคามุงกระเบื้อง พลเรือตรีชัชวาลย์ ศรีสุวรรณ ได้มอบที่ดินให้สำหรับสร้างศาลใหม่ และยังช่วยออกแบบศาล  มีประชาชนร่วมบริจาคเงินและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆเพื่อสร้างศาล ในวันเปิดศาลวันที่ 26 มีนาคม 2504 นายอำเภอกระทุ่มแบนได้มาเป็นประธาน นอกจากนั้น ยังได้สร้างรูปจำลองของหลวงตาทองเท่าองค์จริง ออกแบบโดยมหาเงิน แช้มสาครและนายศิริ เติมประยูร จ้างช่างจากกรุงเทพฯมาทำการหล่อ พร้อมกับจัดพิธีกรรมเชิญดวงวิญญาณของหลวงตาทองมาสิงสถิตย์ในรูปหล่อนี้ด้วย  โดยเชิญพระญวณจากวัดหลวงพ่อบ๋าวเอิงสะพานขาวมาทำพิธีในเดือนมีนาคมของทุกปี จะมีการจัดงานประจำปีขึ้น พร้อมทั้งมีการแสดงมหรสพและการละเล่น โดยเฉพาะการประชันงิ้วแต้จิ๋วและงิ้วไหหลำจะขาดไม่ได้ ที่ศาลหลวงตาทอง ไม่มีการเข้าทรง ผู้ดูแลศาลอธิบายว่า “ไม่ให้ทรง เพราะว่าทรงแล้วจะยุ่ง จริงไม่จริงเราก็ไม่แน่ใจ ก็มีมาขอกัน  เราก็ไม่ให้มายุ่งตรงนี้  เมื่อก่อนเขามาทรงข้างหลังนี้ ผมก็บอกว่าเลิกเถอะ อย่าทำเลย” (สัมภาษณ์ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559)ในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ ผู้ดูแลศาลเล่าว่า “ขออะไรได้หมด รถไม่มีก็ขอได้ ผมขอออกรถมาใช้ในงานแห่หลวงตา เพราะเราต้องใช้รถในการแห่  เมื่อก่อนเราก็ต้องยืมชาวบ้าน แต่เขาก็เต็มใจให้ยืม  แต่เราก็ต้องรอเวลา ก็เลยซื้อ แต่ผมก็ไปวางดาวน์แล้วล่ะ แล้วก็มาบอกท่าน ท่านก็เลยให้ ผมก็บอกท่านว่าเวลาจะแห่ก็ลำบาก ตอนกลางคืนท่านก็เลยมาให้ ผมแทงไปเลย 2000 บาท ได้ ล้านนึงเลย” (สัมภาษณ์ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559)

ศาลเจ้าแม่อาม่า ปากคลองบางยาง อำเภอบ้านแพ้ว

ศาลเจ้าแม่อาม่า บริเวณปากคลองดำเนินสะดวก (ชาวบ้านเรียกคลองบางยาง) ที่เชื่อมกับแม่น้ำท่าจีน อยู่ในเขต ต.สวนส้ม อ.บ้านแพ้ว  มีอายุเก่าแก่เกินร้อยปี ชาวแต้จิ๋วในพื้นที่เรียก ศาลเจ้าแม่ทับทิม หรือ ศาลบน เป็นศาลเก่าแก่ในบริเวณปากคลองบางยางในสมัยก่อนบริเวณนี้เป็นที่อยู่อาศัยของชาวจีนที่อพยพมาในประเทศไทย ทำอาชีพค้าขาย นำผักผลไม้ล่องเรือไปขายที่กรุงเทพฯ  แต่เดิมศาลจะตั้งอยู่ในที่ดินริมตลิ่งยื่นออกไปในแม่น้ำ สร้างด้วยไม้หลังคามุงจาก ต่อมาเมื่อตลิ่งพังก็ย้ายเข้ามาในพื้นที่ที่อยู่ปัจจุบัน ชาวเรือที่แล่นผ่านศาลจะยกมือไหว้และจุดประทัดเพื่อเคารพเจ้าแม่ ทุกๆปีจะมีการจัดงาน 2 ครั้ง ในช่วงตรุษจีนและสารทจีน  ปัจจุบันในช่วงฤดูน้ำหลากระหว่างพฤศจิกายน น้ำจะท่วมเข้ามาในศาลเจ้า ชาวบ้านจึงต้องสร้างกำแพงปูนซีเมนต์กั้นน้ำ แต่น้ำก็จะซึมเข้ามาทางใต้ดิน ด้านข้างศาลเจ้าเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตวุ้นเส้น ซึ่งเจ้าของโรงงานจะส่งคนมาช่วยดูแลทำความสะอาด และบริจาคเงินช่วยเหลือเมื่อมีงาน  ทางทิศตะวันออกของศาลเจ้าอาม่า ล่องไปตามแม่น้ำท่าจีนจนถึงปากคลองภาษีเจริญ ยังมีศาลเจ้าแม่อาม่าอีกแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ใน ต.ท่าเสา อ.กระทุ่มแบน อายุเก่าแก่เกินร้อยปีเช่นเดียวกัน ช่วงนี้แม่น้ำท่าจีนจะไหลวกกลับลงไปทางทิศใต้ และไหลโค้งตวัดไปทางทิศตะวันตกอีกครั้ง จนถึงชุมชนบ้านท้องคุ้ง บริเวณนี้จะมีศาลเจ้าแม่อาเนี้ยว (กวนอิม) ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ แต่เดิมศาลแห่งนี้เป็นศาลเจ้าแม่ตะเคียนอายุเกินร้อยปี ชาวบ้านพบท่อนไม้ตะเคียนในแม่น้ำจึงนำขึ้นมาบูชาและสร้างศาลให้ จะพบแผ่นไม้เจว็ดที่เคยอยู่ในศาลเก่า ปัจจุบันศาลได้ย้ายเข้าไปสร้างในที่ตลิ่งไม่พัง เป็นอาคารปูนหลังมุงกระเบื้อง รูปเคารพในศาลได้แก่เจ้าแม่กวนอิม เจ้าพ่อไต้เสี่ย และหลวงพ่อวัดบ้านแหลมผู้ดูแลศาลเจ้าอาม้า เล่าถึงประวัติศาลอาม้าว่า “รูปปั้นเจ้าแม่ทั้งสามองค์เป็นของเก่าเป็นไม้ แต่ปลวกเริ่มกิน กระถางธูปเก่า เป็นไม้สัก รุ่นโบราณ เมื่อก่อนนี้ตุ้มหูอาม้าองค์ใหญ่ คราวก่อนนั้นเป็นทองข้างละบาท หายไป  หลังจากนั้น 7 วัน ถึงเอากลับมาวางไว้ที่เก่า ส่วนทองตอนนี้เขาเก็บไปแล้ว แต่ที่มันหายไปก็ไม่รู้นะว่าใครเป็นคนเอาไป ส่วนพวกตกแต่งนี่ก็เป็นของเก่าทั้งหมด แต่บางอย่างก็ใหม่  รูปปั้นกวนอูนี่ก็เก่ามาก ศาลนี่เก่าแก่มาก ยายที่อยู่ตรงปากคลองแกอายุ 102 ปี เขาตายไป 5ปีแล้ว ศาลนี้มีก่อนแกอีก  แต่เดิมเป็นหลังคามุงจาก มีเรียนอักษรจีนที่ศาล  แต่ก่อนแถวนี้คนจีนเยอะ   สมัยก่อนตรงปากคลองนี้เรือทุกลำต้องจุดประทัดหมดนะ ถ้าไม่จุดจมเลย แล้วตรงนี้น้ำแรงมาก ตอนสมัยเด็กๆผมไม่กล้าลงเลยนะ  แต่ก่อนเรือจอดเต็มไปหมดเลย แต่ก่อนนั้นตลิ่งยื่นออกไปอีก ประมาณ 4-5 เมตร ตอนนี้มันพังลงไป น้ำมันแรง”(สัมภาษณ์ 22 พฤศจิกายน 2559) ปัจจุบัน ศาลเจ้าแม่อาม้าได้รับการดูแลจากบริษัทสิทธินันท์ (โรงงานวุ้นเส้น)  ผู้ดูแลศาลเจ้าเล่าว่า “เวลามีงานตรุษจีนโรงงานช่วยบริจาคเงิน 5,000 บาท ส่วนสารทจีนให้ 10,000 บาท น้ำไฟพร้อม จะมีแม่บ้านมาทำความสะอาดให้ แม่บ้านก็ของโรงงาน เขาจัดการให้หมด เพราะโรงงานเขาอาศัยที่อาม้าอยู่  ที่นี่มีอยู่ครั้งหนึ่งเขาจะทำมูลนิธิ ก็ตั้งโต๊ะรับบริจาคตรงนี้ พอตั้งเสร็จได้เวลาประมาณบ่าย  ลมฝนมาพรวดเดียวหายหมดเลย โต๊ะกระจาย หลังจากนั้นเขาเลยไม่จัดอีกเลย คือถ้าตั้งมูลนิธินี่ไม่เอาเลย เจ้าแม่ไม่ต้องการเก็บเงิน มีเท่าไหร่พยายามใช้ออกให้หมด คือได้มาก็ใช้ เหลือไว้สำรองใช้จ่าย”  (สัมภาษณ์ 22 พฤศจิกายน 2559)

close