ศาสนสถานและศาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์
35 แห่ง
ศาลเจ้าพ่อสุวรรณสาม ตั้งอยู่ในชุมชนชาวมอญ ตั้งอยู่ริมคลองเขื่อนขันธ์ (คลองหลวง) ต.หลักสอง มีอายุเก่าแก่ประมาณ 100 ปี แต่เดิมเป็นศาลเล็กๆ ต่อมาเมื่อ 20 ปีที่แล้วปรับปรุงให้ใหญ่ขึ้น มีความกว้างประมาณ 2 เมตรครึ่ง ฝาผนังทำจากไม้ ภายในมีโต๊ะบูชา มีรูปปั้นชายชรานุ่งขาวห่มขาว สมัยก่อนเคยมีพระพุทธรูปอยู่ในศาล แต่ถูกขโมยไป สมัยก่อนเคยมีร่างทรง แต่เมื่อร่างทรงเสียชีวิตไปแล้ว ปัจจุบันไม่มีการเข้าทรง ชาวบ้านที่อยู่บริเวณนี้จะมาขอให้เจ้าพ่อช่วยให้ค้าขายผลไม้ได้
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร อยู่ในตำบลมหาชัย ซึ่งมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงเป็น 3 ช่วงเวลา คือ (1) ยุคเทพเจ้าจอมเมือง ศาลเจ้าพ่อเป็นแผ่นไม้โพธิ์ สูงประมาณ 1 เมตร แกะสลักเป็นรูปเทวดา หัตถ์ขวายกประทานพร หัตถ์ซ้ายถือพระขรรค์ คล้ายองค์พระสยามเทวาธิราช อยู่ในท่าประทับยืนบนเกี้ยวมีกุมารน้อย 2 คน เป็นบริวารอยู่ด้านข้าง (สมัยอยุธยาถึงรัชกาลที่ 6) (2) ยุคเจ้าพ่อหลักเมืองแบบราชการราวปี พ.ศ. 2460-2461 (รัชกาลที่ 6) มีการปรับปรุงศาลเป็นอาคารทรงไทย ในสมัยพระยาสาครคณาถิรักษ์ เจ้าเมืองสมุทรสาคร โดยร่วมมือกับหลวงอนุรักษ์นฤผดุง นายอำเภอเมืองสมุทรสาคร ขุนสมุทรมณีรัตน์ (เม่งฮะ หรือ มิ่ง มณีรัตน์) กำนันตำบลท่าฉลอม ขุนเชิดมหาชัย และนายยงกุ่ย หทัยธรรม เป็นผู้นำในการบริจาคเงินส่วนตัวและรวบรวมเงินบริจาคจากชาวบ้านมาสร้างศาลใหม่ (3) ยุคเจ้าพ่อแบบวัฒนธรรมจีน (พ.ศ.2524 –ปัจจุบัน) ในปี พ.ศ. 2524 ผู้ว่าราชการจังหวัดสมัยนั้นได้ให้มีการสร้างศาลหลักเมืองแห่งใหม่ขึ้นด้านหลังศาลหลักเมืองสมุทรสาครหลังเดิม และได้อัญเชิญเจ้าพ่อหลักเมืองไปประดิษฐาน ณ ที่เดียวกัน โดยได้รื้อศาลเจ้าพ่อหลักเมืองทิ้ง แต่ชาวบ้านไม่พอใจและลงความเห็นว่าควรจะสร้างศาลใหม่ขึ้นในที่เดิม จากนั้นจึงมีการระดมทุนจากชาวบ้านเพื่อสร้างศาลใหม่ตามรูปทรงสถาปัตยกรรมจีนในปี พ.ศ.2525 และได้อัญเชิญเจ้าพ่อลงมาประดิษฐานยังศาลที่สร้างขึ้นใหม่ ทั้งชาวประมง ชาวจีน และชาวบ้านต่างศรัทธาในเจ้าพ่อ เมื่อมีเรื่องเดือดร้อนมักจะมาขอให้เจ้าพ่อช่วย ถ้าได้สมดังคำขอก็จะมาแก้บนด้วยฝิ่นและนำไปป้ายที่ปากเจ้าพ่อ
ตั้งอยู่ในวัดธรรมจริยาภิรมย์ ริมคลองดำเนินสะดวก เป็นศาลไม้ขนาดเล็กและเรือที่ชาวบ้านระบุว่าทำจากไม้ตะคียนทอง เป็นหนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดที่ชาวบ้านมักจะมาบนบานขอพร
ศาลเจ้าแม่ตะเคียนทอง อยู่ในวัดหนองพะอง ต.สวนหลวง อ.กระทุ่มแบน ศาลตั้งอยู่ริมคลองภาษีเจริญ หรือมุมวัดด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ศาลกว้างประมาณ 1 เมตร สูงประมาณ 2 เมตร สร้างด้วยโครงเหล็ก ตั้งอยู่ใต้ใต้ไทรขนาดใหญ่ ภายในมีท่อนไม้ตะเคียน 3 ท่อน แต่ละท่อนจะผูกด้วยผ้าสี ตุ๊กตานางกวัก มีตุ๊กตาพญานาควางอยู่ ชาวบ้านเล่าว่าในอดีตพบท่อนไม่ลอยมาตามคลองภาษีเจริญ จึงนำขึ้นมาไว้บนบกข้างๆวัดและสร้างศาลให้ คนต่างถิ่นที่เข้ามาในวัดจะมาขอหวย เมื่อถูกหวยก็จะนำของมาถวาย เช่น ชุดไทยที่มาของชื่อ "หนองพะอง" มาจากชื่อชุมชนที่เคยเป็น(หมู่)บ้านที่มีหนองและพะอง โดยทั่วไปแล้ว พะอง จะมีความหมายถึงการใช้สำหรับผูกพาดขึ้นต้นไม้ต่างบันได แต่ในที่นี้กลับใช้ขึ้นลงตลิ่งเพื่อลงไปตักน้ำมาใช้อุปโภคบริโภค แต่ปัจจุบันไม่มีหนองน้ำแล้ว น่าจะถูกถมไปนานแล้ว ชื่อ บ้านหนองพะอง ในแผนที่บ้านเขมร จังหวัดนครปฐม พิมพ์ที่กรมแผนที่ พ.ศ.2469 ปรากฏชื่อ “บ.หนองพะอง” และวัดหนองพะอง ตรงกับตำแหน่งชุมชนบ้านหนองพะอง ในปัจจุบัน
ศาลเจ้าแม่ตะเคียนทอง ตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดศรีสำราญราษฎร์บำรุง ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน ติดกับศาลพระพรหม ศาลกว้างประมาณ 2 เมตรหลังคามุงกระเบื้อง ภายในศาลมีท่อนไม้ตะเคียน ตุ๊กตากุมารทอง ตุ๊กตานางรำ ชุดไทย รูปเคารพต่าง ๆ เช่น เจ้าแม่กวนอิม รัชกาลที่ 5 พระพุทธรูป ชาวบ้านจะนำผลไม้ น้ำแดง และนม มาเซ่นไหว้
ศาลเจ้าแม่ทุ่งอินทรีย์ อยู่ริมคลองรางเชิงหวาย ต.หลักสาม ในชุมชนชาวมอญ แต่เดิมเป็นศาลเล็ก ๆ มีอายุเก่าแก่ประมาณ 100 ปี ปัจจุบันมีการปรับปรุงต่อเติมอาคารไม้หลังมุงกระเบื้องด้านหน้ายาวประมาณ 6 เมตร มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ ตัวศาลสร้างอยู่ตรงกลางเป็นอาคารแยกต่างหาก กว้างประมาณ 1 เมตร ภายในประดิษฐานแผ่นไม้เจว็ด รูปปั้นชายชรานุ่งขาวห่มขาว รูปปั้นผู้หญิง มีพวงมาลัยห้อยอยู่หน้าศาล
ศาลแม่ตะเคียน วัดสุวรรณรัตนาราม ต.แคราย อ.กระทุ่มแบน ชาวบ้านในละแวกนั้นมักจะมากราบไหว้บูชาและขอโชคลาภ
ศาลแม่ย่าตะเคียนทอง ตั้งอยู่ในวัดปทุมทองรัตนาราม ริมคลองโรงเรียนยง ภายในศาลมีซากตอไม้ขนาดใหญ่ ถูกพันด้วยผ้าสีและชุดไทย