เชิงอรรถอธิบาย |
1. ศานติ ภักดีคำ และนวรัตน์ ภักดีคำ : ”รัชสมัยเต้ากวาง“ หมายถึง พระเจ้าเซวียนจง ซึ่งมีพระนามเดิม คือ อ้ายชิงเจวี๋ยหลัว หมินหนิง (การระบุรัชสมัยของพระจักรพรรดิ เป็นการใช้เรียกแทนพระนามจริงของพระองค์) ส่วน ”ปีที่ 18“ เป็นจำนวนปีที่พระเจ้าแผ่นดินครองราชย์
2. ศานติ ภักดีคำ และนวรัตน์ ภักดีคำ : ”ปีอู้ซวี“ เป็นปีตามระบบการนับแบบเก่าที่เรียกว่า ”กานจือ“ (รอบหนึ่งมี 60 ปี) ตามธรรมเนียมของจีน เมื่อผู้ใดสร้าง (หรือบูรณะ) ศาสนสถาน เช่น วัด หรือ ศาลเจ้า ก็มักจารึกวันเดือนปีแบบจีนกำกับไว้ด้วย โดยวันเดือนปีในจารึกภาษาจีนจะระบุปีจีน ได้แก่ การบอกราชวงศ์จีนที่ครองราชย์อยู่ในเวลานั้น (ในจารึกนี้ระบุว่าเป็นราชวงศ์ ชิง)
3. ศานติ ภักดีคำ และนวรัตน์ ภักดีคำ : ”มณฑลฮกเกี้ยน จังหวัดจางโฉว อำเภอไห่เฉิง“ เป็นการบอกถึงบ้านเดิมของผู้สร้าง/บูรณะวัด
4. พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร : ผู้บูรณะวัดประเสริฐสุทธาวาสตามที่ปรากฏในจารึกว่า พระประเสริฐวานิช ซึ่งมีแซ่จีนว่าเจิ้งหรือแต้นั้น นรนิติ เศรษฐบุตร สันนิษฐานว่า น่าจะเป็น พระประเสริฐวานิช (โป้) เนื่องจากหลักฐานเอกสารที่หอจดหมายเหตุ ในบัญชีเอกสารของพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ซึ่งปรากฏรายชื่อขุนนางกรมท่าซ้ายจำนวน 28 คน หนึ่งในนั้นคือ “พระยาประเสริฐวานิช” โดยระบุว่าชื่อเดิมคือ “จีนโป๊” นอกจากนี้ยังปรากฏชื่อบุตรชายคนที่สามด้วยว่า ชื่อ “จีนมะลิ” สำหรับแซ่ของพระยาประเสริฐวานิช (โป้) นั้น มีการแสดงความคิดเห็นว่า น่าจะเป็น “แซ่เจิ้ง” ตามแบบฮกเกี้ยน (ตามที่ปรากฏข้อความในจารึกว่า มณฑล ฮกเกี้ยน ซึ่งศานติ และนวรัตน์ ภักดีคำ (พ.ศ. 2546) อธิบายว่าเป็นการบอกถึงบ้านเดิมของผู้บูรณะวัด) หากเป็นคนแต้จิ๋วจึงจะออกเสียงเป็น แซ่แต้ ประวัติของพระประเสริฐวานิช (โป้) จากการค้นคว้า ของ นรนิติ เศรษฐบุตร พบว่า ชายจีนต้นสกุล ชื่อ เทียนบี้ มีภรรยาชื่อเพงหนิว ทั้งสองมีบุตรชาย 2 คน คือ อี๋ กับ โป้ และนายเทียนบี้ยังมีภรรยาอีกคนเชื้อชาติญวน ไม่ทราบชื่อ มีบุตรด้วยกันอีกคนชื่อฮวก หลังจากนายโป้ ได้เป็น พระประเสริฐวานิช แล้ว มีข้อมูลระบุว่า มีภรรยา 2 คน มีบุตรชาย 5 คน คือ นายกีเหียง นายแย้ม นายมะลิ นายเตียงอัน และนายเตียงเสง ซึ่งทั้งหมดคือที่มาของต้นตระกูล เศรษฐบุตร โปษยะจินดา ประนิช ภิรมย์ภักดี และเสถบุตร ในปัจจุบัน (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในหนังสือ “สู่สยามนามขจร” โดย นรนิติ เศรษฐบุตร)
5. พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร : “สัมฤทธิศก” คือ จุลศักราชที่ลงท้ายด้วย 0 ในที่นี้ หมายถึง จ.ศ. 1200 (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542, 1171)
6. พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร : “การปฏิสังขรณ์” ในสมัยโบราณหมายถึงการรื้อแล้วสร้างใหม่โดยอาจมีรูปแบบหรือตำแหน่งเดิมหรือไม่ก็ได้ ต่างจากในปัจจุบันซึ่งหมายถึงการทำให้คืนสู่สภาพเดิมอย่างที่เคยเป็นมา
7. พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร : “โกฐาส” หมายถึง ส่วน (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542, 155)
8. พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร : “อนุพันธ์” หมายถึง ที่ติดต่อ, ที่เกี่ยวเนื่อง (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542, 1327)
9. พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร : “การบุเรียน” คือ (ศาลา) การเปรียญ ในสมัยโบราณเป็นอาคารที่พระสงฆ์ใช้เรียนหนังสือ แต่ในปัจจุบันถูกใช้ในลักษณะอาคารอเนกประสงค์ เช่น การทำบุญ เลี้ยงพระ เป็นต้น
10. พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร : “สระอุทกัง” หมายถึง สระน้ำ
11. พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร : “ถาน” คือ วัจจกุฎีหรือเว็จกุฎี (ส้วมของพระสงฆ์)
12. พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร : “กำแพงแก้ว” คือ กำแพงที่ล้อมรอบศาสนสถานหรือพระมณเฑียร
13. ศานติ ภักดีคำ และนวรัตน์ ภักดีคำ : “วัดพระประเสริฐบุญพสุทธาวาส” ปัจจุบัน คือ วัดประเสริฐสุทธาวาส เป็นวัดราษฎร์ ตั้งอยู่ในเขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพฯ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “วัดกลาง” เป็นวัดมีขนาดไม่ใหญ่นักเมื่อเปรียบเทียบกับวัดหลวงอื่นๆ ที่สร้างหรือบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นร่วมสมัยกัน ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่วัดนี้มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะพระอุโบสถและพระวิหาร พระอุโบสถของวัดประเสริฐสุทธาวาสสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมจีน ลักษณะโครงสร้างภายในมีการวางตำแหน่งขื่อคานตามสถาปัตยกรรมจีนทั้งหมด ดังที่ น. ณ ปากน้ำ กล่าวถึงอุโบสถวัดประเสริฐสุทธาวาสไว้ว่า “...ลวดลายปูนปั้นประดับกระเบื้องบนหลังคาเป็นแบบศิลปะจีนแท้ๆ น่าดูมาก ควรรักษาไว้เพื่อเป็นประวัติศาสตร์ศิลปกรรมในเมืองไทย ซึ่งมีศิลปะจีนเข้ามาผสมผสานด้วย...” ภายในพระอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสามก๊ก วาดด้วยเส้นหมึกดำบนพื้นขาว มีอักษรจีนบอกชื่อตอนและชื่อบุคคลในภาพกำกับไว้ด้วยทุกภาพ จึงอาจสันนิษฐานว่าช่างผู้วาดน่าจะเป็นช่างจีน ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่นี่น่าจะถือว่า เป็นจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสามก๊กชุดใหญ่ที่สุดที่พบในไทย มีภาพเล่าเรื่องตั้งแต่ตอนเล่าปี่อ่านใบประกาศรับสมัครเป็นทหาร เพื่อปราบโจรโพกผ้าเหลือง ไปจนถึงตอนขงเบ้งมอบตำแหน่งเจ้าเมืองจิ๋วให้กวนอู แล้วยกทัพจากเมืองเกงจิ๋วไปช่วยเล่าปี่ตีเมืองเสฉวนแทนบังทองที่เสียชีวิต
14. พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร : “พระศรีอาริยสรรเพชญพุทธาจารย์” (พระศรีอารย์) คือ อนาคตพุทธเจ้าซึ่งจะลงมาตรัสรู้ เป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปหลังจากที่องค์ปัจจุบัน (โคตมะ/สมณโคดม) ปรินิพพานไปแล้ว 5,000 ปี
|