1. ก่องแก้ว วีระประจักษ์ (พ.ศ. 2539) : “พระราชสาส์น” ก่อนรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใช้ “พระราชสาร”
2. ก่องแก้ว วีระประจักษ์ (พ.ศ. 2539) : “สมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยา” คือ พระนามของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยที่จารึกลงในแผ่นพระสุพรรณบัฏ
3. พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร : “สมเด็จพระเจ้าเตากวง” คือ กษัตริย์จีนสมัยราชวงศ์ชิง ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2364-2393 ต่อจากพระเจ้าเกียเข้งซึ่งสวรรคตลง พระนามของกษัตริย์พระองค์นี้ ตรี อมาตยกุล (พ.ศ. 2520) ได้อธิบายว่า ในคำแปลพระราชสาส์นที่พระองค์ส่งมานั้น มีการเรียกว่า พระเจ้าเตากวง เต้ากวง และเตาก่ง แล้วแต่ชาวจีนผู้แปลจะออกเสียงอย่างไร คนไทยก็จดไปตามที่บอก จึงสันนิษฐานว่าคือองค์เดียวกันทั้งสิ้น
4. ก่องแก้ว วีระประจักษ์ (พ.ศ. 2539) : “ทองสื่อใหญ่” ทองสื่อ หรือ ท่องสือ เป็นชื่อตำแหน่งล่ามภาษาจีน ท่องสือใหญ่ น่าจะหมายถึงหัวหน้าล่ามภาษาจีน
5. ก่องแก้ว วีระประจักษ์ (พ.ศ. 2539) : “พระสุพรรณบัฏ” หมายถึง แผ่นทองคำ
6. ก่องแก้ว วีระประจักษ์ (พ.ศ. 2539) : “สุวรรณพระราชสาส์น” หมายถึง พระราชสาส์นแผ่นทองคำ
7. ก่องแก้ว วีระประจักษ์ (พ.ศ. 2539) : “พระราชสาส์นคำหับอักษรจีน” คือ พระราชสาส์นที่เขียนบนกระดาษสีเหลืองหรือสีส้มด้วยอักษรจีน เป็นพระราชสาส์นเคียงคู่หรือกำกับไปพร้อมกับพระราชสาส์นสุพรรณบัฏ ข้อความในพระราชสาส์นคำหับตอนต้นจะเหมือนกับข้อความในพระราชสาส์นสุพรรณบัฏทุกประการ แต่จะมีข้อความเพิ่มเติมต่อไปอีก เป็นรายการสิ่งของเครื่องมงคลราชบรรณาการที่จัดส่งไปพร้อมกับพระราชสาส์นสุพรรณบัฏ การที่ต้องมีพระราชสาส์นคำหับกำกับไปด้วยก็เพราะพระราชสาส์นสุพรรณบัฏทำด้วยทองคำ อักษรที่จารึกอ่านยาก อีกทั้งราคาแพงหากทำเป็นแผ่นใหญ่จะต้องสิ้นเปลืองมากด้วย
8. ก่องแก้ว วีระประจักษ์ (พ.ศ. 2539) : “บันสิ้ว” เป็นคำถวายพระพรตรงกับภาษาไทยว่า ทรงพระเจริญ
9. พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร : การส่งเครื่องราชบรรณาการแด่กษัตริย์จีนที่เรียกว่า “จิ้มก้อง” นั้น เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมานาน เนื่องจากหากชาติใดต้องการติดต่อค้าขายกับจีน จะต้องมีพระราชสาส์นและเครื่องบรรณาการไปเจริญพระราชไมตรีก่อน จึงจะได้รับความสะดวก ดังนั้นประเทศต่างๆทั้งทางตะวันออกและตะวันตก จึงมีการส่งสาส์นและเครื่องบรรณาการเพื่อเป็นใบเบิกทางในการค้าอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยได้ยกเลิกการปฏิบัติดังกล่าวในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีการลงมติในที่ประชุมรัฐมนตรีสภาให้เลิกติดต่อกับจีนโดยเด็ดขาด เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 4 ทางฝ่ายไทยได้ทราบถึงความเป็นจริงว่า ที่ผ่านมาประเทศจีนเข้าใจผิด คิดว่าไทยยอมเป็นเมืองขึ้น ในขณะที่ทางฝ่ายไทยปฏิบัติตามประเพณีดังกล่าวเพื่อสัมพันธไมตรีและผลประโยชน์ทางการค้าเท่านั้น
|