จารึกฐานอนุสาวรีย์ย่าเหล

จารึก

จารึกฐานอนุสาวรีย์ย่าเหล

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2566 14:39:36 )

ชื่อจารึก

จารึกฐานอนุสาวรีย์ย่าเหล

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

นฐ. 13, หลักที่ 278 จารึกบนแผ่นทองสัมฤทธิ์

อักษรที่มีในจารึก

ไทยธนบุรี-รัตนโกสินทร์

ศักราช

ไม่ปรากฏศักราช

ภาษา

ไทย

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 16 บรรทัด

วัตถุจารึก

ทองสัมฤทธิ์

ลักษณะวัตถุ

แผ่นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า

ขนาดวัตถุ

กว้าง 112 ซม. สูง 66 ซม. หนา 3 มม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) หอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “นฐ. 13”
2) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึกภาคที่ 6 ตอนที่ 2 กำหนดเป็น “หลักที่ 278 จารึกบนแผ่นทองสัมฤทธิ์”

ปีที่พบจารึก

ไม่ปรากฏหลักฐาน

สถานที่พบ

ฐานอนุสาวรีย์ย่าเหล หน้าพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม

ผู้พบ

ไม่ปรากฏหลักฐาน

ปัจจุบันอยู่ที่

ฐานอนุสาวรีย์ย่าเหล หน้าพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม

พิมพ์เผยแพร่

ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 6 ตอนที่ 2 (พระนคร : สำนักนายกรัฐมนตรี, 2521), 212-213.

ประวัติ

จารึกหลักนี้ นายประสาร บุญประคอง เป็นผู้อ่าน โดยมีการตีพิมพ์ลงใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 6 ตอนที่ 2 ใน พ.ศ. 2521 โดยเรียกว่า “หลักที่ 278 จารึกบนแผ่นทองสัมฤทธิ์” จารึกนี้อยู่ที่ฐานอนุสาวรีย์ย่าเหล หน้าพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ ภายในระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. 6) เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ย่าเหล สุนัขของพระองค์ อนุสาวรีย์ดังกล่าวหล่อด้วยทองแดง เป็นรูปย่าเหล ยืนบนแท่น ย่าเหล เป็นสุนัขเพศผู้ พันทาง เป็นลูกผสมระหว่างพ่อพันธุ์จูกับแม่พันธุ์ไทย ขนยาว ปุยสีขาว คางดำ ขนที่หน้าเป็นสีขาวครึ่งศีรษะ สีดำครึ่งศรีษะ ขนบนหลังสีดำเหมือนอานม้า หูตก หางเป็นพวง มีลักษณะพิเศษคือ ขนที่คอและหางเป็นพวงเหมือนสิงโต ย่าเหลเกิดในเรือนจำจังหวัดนครปฐม ราว พ.ศ. 2447-2448 เดิมเป็นสุนัขของหลวงชัยอาญา (โพธิ์ เคหะนันท์) เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จตรวจเรือนจำ ทรงพบย่าเหลแล้วต้องพระราชหฤทัย จึงทรงมีรับสั่งให้ขอย่าเหลจากหลวงชัยอาญา พระองค์ทรงโปรดสุนัขตัวนี้มาก ถึงกับพระราชทานเข็มในฐานะมหาดเล็ก และมีการทำเข็มกลัดรูปย่าเหลแจกข้าราชบริพารอีกด้วย ย่าเหลตายเนื่องจากถูกยิงด้วยปืน โดยไม่ทราบว่าใครเป็นคนยิง ศพย่าเหลถูกพบใต้ต้นก้ามปู หลังกรมมหาดเล็กรักษาพระองค์หน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ท่าเตียน รัชกาลที่ 6 โทมนัสมาก โปรดให้นำศพกลับไปนครปฐมซึ่งเป็นบ้านเกิดของย่าเหล และพระราชทานหีบทองบรรจุศพ พร้อมทั้งจัดขบวนแห่จากพระราชวังสนามจันทร์ไปตามถนนราชวิถี ขึ้นสู่เมรุที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะ ที่วัดพระปฐมเจดีย์ และโปรดให้สร้างอนุสาวรีย์ รวมทั้งจารึกคำกลอนซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของพระองค์เอง

เนื้อหาโดยสังเขป

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพรรณนาถึงความโทมนัสของพระองค์ จากการตายของย่าเหล และการสร้างอนุสาวรีย์เพื่อระลึกถึงความจงรักภักดีของย่าเหล

ผู้สร้าง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6)

การกำหนดอายุ

จากข้อความในจารึก ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ถึงการสร้างอนุสาวรีย์ย่าเหล ทำให้ทราบว่าจารึกนี้สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2548, จาก :
1) สมชาย พุ่มสอาด, “ย่าเหล สุนัขตัวโปรดของรัชกาลที่ 6,” วัฒนธรรมไทย 12, 10 (ธันวาคม 2515) : 42-44.
2) ประสาร บุญประคอง, “หลักที่ 278 จารึกบนแผ่นทองสัมฤทธิ์” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 6 ตอนที่ 2 : ประมวลจารึกสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ที่พบในภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง (กรุงเทพฯ : คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี, 2521), 212-213.
3) เทพมนตรี ลิมปพยอม, “อยากรู้จริงว่าใครยิงย่าเหล,” ศิลปวัฒนธรรม 22, 7 (พฤษภาคม 2544) : 44-61.

ภาพประกอบ

ภาพถ่ายจารึกจาก : ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 6 ตอนที่ 2 (พระนคร : สำนักนายกรัฐมนตรี, 2521)