อายุ-จารึกพุทธศตวรรษที่ 17, ยุคสมัย-จารึกอาณาจักรหริภุญชัย, วัตถุ-จารึกบนหิน, วัตถุ-จารึกบนหินทราย, ลักษณะ-จารึกบนใบเสมา, ที่อยู่ปัจจุบัน-จารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย, ศาสนา-จารึกในพระพุทธศาสนา, เรื่อง-การบริจาคและการทำบุญ, เรื่อง-การบริจาคและการทำบุญ-สร้างวัดหรือศาสนสถาน, เรื่อง-การบริจาคและการทำบุญ-สร้างฉัตร, เรื่อง-การบริจาคและการทำบุญ-สร้างกำแพง, เรื่อง-การบริจาคและการทำบุญ-ถวายสัตว์, เรื่อง-พิธีกรรมทางศาสนา, เรื่อง-พิธีกรรมทางศาสนา-ปลูกพระศรีมหาโพธิ, บุคคล-ตชุมหาเถร,
โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2567 15:00:22 )
ชื่อจารึก |
จารึกวัดแสนข้าวห่อ (ตะจุ๊มหาเถร) |
ชื่อจารึกแบบอื่นๆ |
ลพ. 7, Inscription de Vǎt Sễn Khẵo Hõ, Vat Sen Khao Ho, ศิลาจารึกวัดแสนข้าวห่อ, จารึกวัดแสนข้าวห่อ |
อักษรที่มีในจารึก |
มอญโบราณ |
ศักราช |
พุทธศตวรรษ 17 |
ภาษา |
มอญโบราณ |
ด้าน/บรรทัด |
จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 14 บรรทัด |
วัตถุจารึก |
หินทราย |
ลักษณะวัตถุ |
ใบเสมา |
ขนาดวัตถุ |
กว้าง 60 ซม. สูง 121 ซม. หนา 15 ซม. |
บัญชี/ทะเบียนวัตถุ |
1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “ลพ. 7” |
ปีที่พบจารึก |
ไม่ปรากฏหลักฐาน |
สถานที่พบ |
วัดแสนข้าวห่อ (ปัจจุบันคือที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย) อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน |
ผู้พบ |
ไม่ปรากฏหลักฐาน |
ปัจจุบันอยู่ที่ |
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน |
พิมพ์เผยแพร่ |
1) Bulletin de l’École Française d’Éxtrême-Orient XXV (1925) : 72-200. |
ประวัติ |
จารึกหลักนี้ถูกพบในบริเวณวัดแสนข้าวห่อ จังหวัดลำพูน (ที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ในปัจจุบัน) ได้รับการอ่าน-แปลครั้งแรกโดยศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (George Cœdès) ซึ่งตีพิมพ์ในบทความชื่อ “Liste des Chroniques et autres Documents Relatifs à l’Histoire du Laos Yuen Conservés à la Bibliothéque Nationale de Bangkok” ในวารสารของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ (BEFEO) ปีที่ 25 ค.ศ. 1925 (พ.ศ. 2468) ต่อมาศาสตราจารย์ โรเบิร์ต ฮัลลิเดย์ (Robert Halliday) และ ศาสตราจารย์ ชาร์ลส์ อ๊อตโต บล็ากเด็น (Charles Otto Blagden) (พ.ศ. 2473) เขียนบทความเรื่อง“Les Inscriptions Môn Du Siam” ในวารสารของสมาคมฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ (BEFEO) ปีที่ 30 ค.ศ. 1930 (พ.ศ. 2473) โดยมีการอ่าน-แปลจารึกดังกล่าว ซึ่งศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงแปลลงในวารสารโบราณคดี ปีที่ 4 ฉบับที่ 1-3 ปี 2515-16 (จารึกหลักนี้อยู่ในฉบับที่ 2) จากนั้นกรมศิลปากรได้ตีพิมพ์ข้อมูลเกี่ยวกับจารึกดังกล่าวในหนังสือ วิเคราะห์ศิลาจารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย (พ.ศ. 2522, 2533) และหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่มที่ 2 พ.ศ. 2529 โดยไม่มีการตีพิมพ์คำอ่าน จำปา เยื้องเจริญ และเทิม มีเต็ม ได้วิเคราะห์ถึงรูปอักษรและเนื้อหาในจารึกว่ามีความสัมพันธ์กับจารึกหลักอื่นๆ กล่าวคือ รูปอักษรของจารึกหลักนี้มีความใกล้เคียงกับจารึกวัดดอนแก้ว (ลพ. 4) และจารึกอาณาจักรปุนไชยอย่างมาก โดยอาจกล่าวได้ว่าผู้ที่ทำการจารึกเป็นบุคคลคนเดียวกัน ในส่วนของเนื้อหานั้นทั้ง 2 ท่านได้วิเคราะห์ไว้ว่า “ตชุกษัตริย์แห่งหริภุญไชย” ที่ถูกกล่าวถึงในจารึกวัดดอนแก้ว (ลพ. 4) และ ”ตชุมหาเถร” ในจารึกวัดแสนข้าวห่อนั้น อาจเป็นบุคคลเดียวกัน โดยพิจารณาถึงรูปอักษรที่คาดว่าน่าจะเป็นการจารึกโดยคนคนเดียวกัน จึงมีความเป็นไปได้ว่าก่อนที่ท่านจะทรงผนวช อาจเคยเป็นกษัตริย์ผู้ครองหริภุญไชยมาก่อน และคงมีความเกี่ยวข้องกับพระเจ้าสววาธิสิทธิด้วย เนื่องจากมักพบอยู่คู่กับจารึกของพระองค์เสมอ แม้แต่จารึกวัดมหาวัน (ลพ. 3) ก็อาจเคยอยู่คู่กับจารึกหลักนี้มาก่อนเนื่องจากมีการกล่าวถึง “มหาวัลล์” ด้วย (ศ. โรเบิร์ต ฮัลลิเดย์ และ ศ. ชาร์ลส์ อ๊อตโต บล็ากเด็น (พ.ศ. 2473) อ่านว่า “มหาคัลล์”) |
เนื้อหาโดยสังเขป |
ตชุมหาเถรแห่งเมืองหริภุญไชย ได้สร้างสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูป 10 องค์ ปลูกต้นมหาโพธิ์ และต้นมะพร้าว สร้างฉัตร ยอดพระไตรปิฎก คัมภีร์พระปริตต์ พร้อมที่เก็บคัมภีร์ รวมทั้งสร้างกำแพงและถวายวัว 1 คู่ |
ผู้สร้าง |
ไม่ปรากฏหลักฐาน |
การกำหนดอายุ |
กำหนดอายุจากรูปอักษรมอญโบราณ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับตัวอักษรที่ปรากฏบนศิลาจารึก”มยเจดีย์” (Mayazedi) ของพระเจ้าจันสิตถา (Kyanzittha) (อักษรโรมัน Ky ในภาษาพม่าแทนเสียง /c/ ซึ่งเท่ากับ จ ในภาษาไทย)กษัตริย์พุกาม (พม่า) ซึ่งจารึกไว้เมื่อ พ.ศ. 1628 และ 1630 ดังนั้นจารึกหลักนี้จึงน่าจะมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 เช่นเดียวกัน อีกทั้งรูปอักษรในจารึกหลักนี้มีความใกล้เคียงกับจารึกหลักอื่นๆ ที่จัดอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 มาก โดยเฉพาะ จารึกวัดดอนแก้ว และจารึกอาณาจักรปุนไชย ดังที่กล่าวมาข้างต้น ในการกำหนดอายุจารึกอักษรมอญโบราณนี้ ศ. ยอร์ช เซเดส์ เคยแสดงความคิดเห็นไว้ในบทความ “Liste des Chroniques et autres Documents Relatifs à l’Histoire du Laos Yuen Conservés à la Bibliothéque National de Bangkok” ในวารสารของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ (BEFEO) ปีที่ 25 ค.ศ. 1925 (EFEO : 1925) (พ.ศ. 2468) ว่าน่าจะมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 (แต่จากหลักฐานด้านต่างๆ ในปัจจุบันทั้งรูปอักษร และประวัติศาสตร์ศิลปะชี้ ให้เห็นว่าน่าจะอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 17) อนึ่ง อาณาจักรพุกามมีการรับอิทธิพลด้านตัวอักษรไปจากมอญ เมื่อพระเจ้าอนิรุทธ (อโนรธามังฉ่อ) กษัตริย์พุกาม (พม่า) ทรงยกทัพไปตีเมืองสะเทิม (ถะทนหรือสุธรรมวดี) ซึ่งเป็นราชธานีของหัวเมืองมอญฝ่ายใต้สำเร็จ จึงได้มีการกวาดต้อนผู้คน ช่างฝีมือ ตลอดจนภิกษุสงฆ์และคัมภีร์ทางพุทธศาสนาที่มีอยู่ในดินแดนดังกล่าวไปสู่พุกาม ทำให้วัฒนธรรมมอญแพร่หลายในพุกาม รวมไปถึงการใช้ตัวอักษร โดยศาสตราจารย์ เรอชินาลด์ เลอ เมย์ (Reginald Le May) กล่าวว่า พม่ารับวัฒนธรรมการเขียนหนังสือไปจากมอญ เมื่อราว พ.ศ. 1606 ซึ่งพระเจ้าจันสิตถานั้น ก็คือกษัตริย์ที่ครองราชย์ต่อจากพระเจ้าอนิรุทธ (อโนรธามังฉ่อ) นั่นเอง |
ข้อมูลอ้างอิง |
เรียบเรียงข้อมูลโดย : พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก : |
ภาพประกอบ |
ภาพสำเนาจารึกจาก : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545 (เลขทะเบียน CD; INS-TH-27, ไฟล์; LPh_0700_c) |