อายุ-จารึกพุทธศตวรรษที่ 17, อายุ-จารึกพุทธศตวรรษที่ 18, อายุ-จารึกพุทธศตวรรษที่ 17-18, ยุคสมัย-จารึกอาณาจักรหริภุญชัย, วัตถุ-จารึกบนดินเผา, ลักษณะ-จารึกบนพระพิมพ์, ที่อยู่ปัจจุบัน-จารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์, เรื่อง-การสรรเสริญบุคคล-ปิณโฑลภารทวาชเถระ, บุคคล-ปิณโฑลภารทวาชเถระ,
โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2566 13:13:33 )
ชื่อจารึก |
จารึกอักษรมอญโบราณบนพระพิมพ์ 2 |
อักษรที่มีในจารึก |
มอญโบราณ |
ศักราช |
พุทธศตวรรษ 17-18 |
ภาษา |
มอญโบราณ |
ด้าน/บรรทัด |
จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 1 บรรทัด |
วัตถุจารึก |
ดินเผา |
ลักษณะวัตถุ |
พระพิมพ์ |
ขนาดวัตถุ |
กว้าง 12 ซม. สูง 11.5 ซม. |
บัญชี/ทะเบียนวัตถุ |
1) ในบัญชีทะเบียนวัตถุของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี กำหนดเป็น “23/2523” |
ปีที่พบจารึก |
ไม่ปรากฏหลักฐาน |
สถานที่พบ |
อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ |
ผู้พบ |
ไม่ปรากฏหลักฐาน |
ปัจจุบันอยู่ที่ |
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี |
พิมพ์เผยแพร่ |
The Journal of the Siam Society vol. LXXIX part 2 (1991) : 61-80. |
ประวัติ |
พระพิมพ์องค์นี้ถูกพบที่ อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ โดยจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี ตั้งแต่ พ.ศ. 2523 จารึกบนพระพิมพ์องค์ดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกใน วารสารสยามสมาคม ปีที่ 79 (JSS LXXIX part 2, 1991) พ.ศ. 2534 ในบทความชื่อ “NOTES ON MON EPIGRAPHY” ของ คริสเตียน บาวเออร์ (Christian Bauer) โดยมีการอ่าน-แปล วิเคราะห์รูปอักษร และกำหนดอายุไว้ในราวพุทธศตวรรษที่ 17-18 เช่นเดียวกับจารึกบนพระพิมพ์อีก 2 องค์ที่พบในแหล่งเดียวกัน โดยถูกกล่าวไว้ในบทความดังกล่าวเช่นกัน |
เนื้อหาโดยสังเขป |
กล่าวถึงพระอรหันต์ นามว่า ปิณโฑลภารทวาชเถระ ซึ่งเป็นพระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรพราหมณ์มหาศาลภารทวาชโคตร ในกรุงราชคฤห์ เมื่อเรียนจบไตรเพทแล้วออกบวชในพระพุทธศาสนา จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ที่บริบูรณ์ด้วยสติ สมาธิ ปัญญา เป็นเอตทัคคะในทางบันลือสีหนาท คือ เปล่งออกมาด้วยความมั่นใจในอรหัตผลที่บรรลุ เนื่องจากท่านได้ประกาศอย่างองอาจว่า หากผู้ใดมีความสงสัยในเรื่องของมรรคผล นิพพานให้ถามท่านได้ นอกจากนี้ยังมีอิทธิฤทธิ์ และความสามารถในการแสดงธรรมเป็นเลิศ |
ผู้สร้าง |
ไม่ปรากฏหลักฐาน |
การกำหนดอายุ |
คริสเตียน บาวเออร์ กำหนดอายุจารึกบนพระพิมพ์นี้ จากรูปอักษรมอญโบราณ และอักขรวิธี ซึ่งสัมพันธ์กับจารึกหลักอื่นๆ จากลำพูน และเชียงใหม่ ดังเช่นจารึกเวียงมะโน (แม่หินบดเวียงมะโน) ที่มีการกำหนดอายุไว้ก่อนแล้ว โดยศาสตราจารย์ กอร์ดอน แฮนนิงตัน ลูซ (Gordon Hannington Luce) และ ศาสตราจารย์ แฮรี่ เลียวนาร์ด ชอร์ตโต (Harry Leonard Shorto) ในบทความชื่อ “An inscription in Old Mon from Wieng Manó in Chiangmai Province” ของอเล็กซานเดอร์ บราวน์ กริสโวลด์ (Alexzander Brown Griswold) และ ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ซึ่งตีพิมพ์ใน วารสารสยามสมาคม ปีที่ 59 (JSS LIX, 1971) พ.ศ. 2514 อนึ่ง พระพิมพ์องค์นี้อยู่ในสภาพชำรุด เหลือเพียงส่วนฐานเท่านั้น เมื่อพิจารณาแล้วพบว่ามีการประทับนั่งขัดสมาธิเพชร (วัชราสน์) ซึ่งเห็นฝ่าพระบาททั้ง 2 ข้าง อยู่บนฐานบัวคว่ำบัวหงาย ซึ่ง อาจารย์ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้ความเห็นว่า “การประทับนั่งขัดสมาธิเพชรนั้น น่าจะเป็นอิทธิพลจากอินเดียภาคเหนือ ซึ่งก็ปรากฏในศิลปะทวารวดีทางภาคกลางของประเทศไทย ส่วนลักษณะของกลีบบัวซ้อนกัน 2 ชั้น แสดงถึงการรับอิทธิพลศิลปะอินเดียภาคเหนือ ผ่านทางพุกาม” หากพระพิมพ์องค์นี้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ก็น่าจะมีลักษณะเช่นเดียวกับพระพิมพ์มีจารึก ที่พบในอำเภอสารภีอีก 2 องค์ (ชื่อจารึกอักษรมอญโบราณบนพระพิมพ์ 1 และ 3) ซึ่งมีข้อความจารึกในลักษณะเดียวกัน คือ กล่าวถึงนามของพระอรหันต์ด้วยความเคารพ โดยพระพิมพ์องค์ที่สมบูรณ์นั้นเป็นรูปพระสาวกศิลปะหริภุญชัย (ดูเพิ่มใน “จารึกอักษรมอญโบราณบนพระพิมพ์ 1”) แนวความคิดดั้งเดิมในการสร้างพระพิมพ์นั้น เกิดขึ้นในประเทศอินเดีย โดยสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึก ในการไปบูชาสังเวชนียสถานทางพุทธศาสนา 4 แห่ง ได้แก่ สถานที่ประสูติ (สวนลุมพินี) ตรัสรู้ (พุทธคยา) ปฐมเทศนา (สารนาถ) และปรินิพพาน (กุสินารา) จึงมักพบพระพิมพ์ในรูปแบบที่อยู่ใต้ซุ้มปรกโพธิ์ และซุ้มพุทธคยา เป็นต้น โดยเมื่อมีการไปบูชาสถานที่ดังกล่าว ก็จะมีการนำพระพิมพ์ของศาสนสถานนั้นๆ ติดตัวกลับไป ต่อมากลายเป็นวัตถุที่คนยากจนนิยมสร้างไว้เพื่อบูชา หลังจากนั้นได้เกิดความเชื่อที่ว่า พุทธศาสนาจะเสื่อมลงในพุทธศักราช 5000 ตามคัมภีร์ของลังกา จึงได้มีการสร้างพระพิมพ์และจารึกคาถาเย ธมฺมา ซึ่งเป็นหัวใจพุทธศาสนาขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยมีการฝังพระพิมพ์ไว้ตามเจดีย์ต่างๆ หากพุทธศาสนาเสื่อมไป ไม่มีใครรู้จักหลักธรรมต่างๆ อีก เมื่อมาพบพระพิมพ์เหล่านี้ ก็อาจมีการฟื้นฟูศาสนาขึ้นใหม่ ผู้คนจะได้กลับมานับถือพุทธศาสนาอีกครั้ง นอกจากนี้ในคติเถรวาทสมัยทวารวดี ยังมีการสร้างขึ้นเพื่อเป็นรูปเคารพ หรือเป็นภาพเล่าเรื่องแสดงพุทธประวัติ หรือเหตุการณ์ตอนสำคัญในทางพุทธศาสนา ตามที่ปรากฏในคัมภีร์ ส่วนศรีวิชัยทางภาคใต้ ซึ่งส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนามหายาน มีการสร้างพระพิมพ์รูปโพธิสัตว์ เพื่ออุทิศแก่ผู้ตาย โดยนำเถ้ากระดูกมาผสมกับดิน แล้วทำเป็นพระพิมพ์โดยไม่เผา (พระพิมพ์ดินดิบ) เพราะถือว่าเผาผู้ตายไปแล้วครั้งหนึ่ง ส่วนที่นิยมทำเป็นรูปโพธิสัตว์นั้น ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้ความคิดเห็นว่า อาจเกี่ยวข้องกับความเชื่อว่า พระโพธิสัตว์จะพาวิญญาณผู้ตายให้พ้นทุกข์ ขึ้นสวรรค์ แต่ในปัจจุบัน พระพิมพ์กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนนิยมมีไว้เป็นเครื่องราง ของขลัง เพื่อป้องกันอันตรายต่างๆซึ่งต่างไปจากแนวคิดเดิม |
ข้อมูลอ้างอิง |
เรียบเรียงข้อมูลโดย : พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก : |
ภาพประกอบ |
ภาพถ่ายจารึกจาก : The Journal of the Siam Society vol. LXXIX part 2 (1991) |