จารึก

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

คำอ่าน-แปล

จารึกวัดศรีเมืองแอม

จารึก

จารึกวัดศรีเมืองแอม

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2566 14:57:08 )

ชื่อจารึก

จารึกวัดศรีเมืองแอม

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

ศิลาจารึกพระเจ้ามเหนทรวรมัน อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-13, ขก. 15, K. 1120

อักษรที่มีในจารึก

ปัลลวะ

ศักราช

พุทธศตวรรษ 12

ภาษา

สันสกฤต

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 3 บรรทัด

วัตถุจารึก

ศิลา ประเภทหินชนวนสีเขียว

ลักษณะวัตถุ

แท่งสี่เหลี่ยม ชำรุด

ขนาดวัตถุ

กว้าง 30 ซม. ยาว 78 ซม. หนา 30 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “ขก. 15”
2) ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 กำหนดเป็น “จารึกวัดศรีเมืองแอม”
3) ในวารสาร ศิลปากร ปีที่ 31 ฉบับที่ 5 (พฤศจิกายน-ธันวาคม 2530) กำหนดเป็น “ศิลาจารึกพระเจ้ามเหนทรวรมัน อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-13”

ปีที่พบจารึก

พุทธศักราช 2527

สถานที่พบ

วัดศรีเมืองแอม ตำบลดงเมืองแอม อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น

ผู้พบ

เจ้าหน้าที่กองหอสมุดแห่งชาติ

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑ์เมืองโบราณดงเมืองแอม ตำบลดงเมืองแอม อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น (สำรวจ 26 มีนาคม 2559)

พิมพ์เผยแพร่

1) จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 155-157.
2) วารสารศิลปากร ปีที่ 31 ฉบับที่ 5 (พฤศจิกายน-ธันวาคม 2530) : 79-84.

ประวัติ

ในบรรดาจารึกอักษรปัลลวะ ที่พบในภาคอีสานของประเทศไทย มีจารึกกลุ่มหนึ่งจำนวน 7 หลัก ซึ่งเป็นของพระเจ้าศรีมเหนทรวรมัน มีรูปอักษรเหมือนกัน ข้อความเหมือนกัน ต่างกันเพียงข้อความที่กล่าวถึงสิ่งสร้างขึ้นเพื่อเคารพบูชาเท่านั้น กลุ่มจารึกดังกล่าวประกอบด้วย
1. จารึกวัดศรีเมืองแอม (ขก. 15) จังหวัดขอนแก่น (สร้างพระศิวลึงค์)
2. จารึกปากน้ำมูล 1 (อบ. 1) จังหวัดอุบลราชธานี (สร้างพระศิวลึงค์)
3. จารึกปากน้ำมูล 2 (อบ. 2) จังหวัดอุบลราชธานี (สร้างพระศิวลึงค์)
4. จารึกวัดสุปัฏนาราม (อบ. 4) จังหวัดอุบลราชธานี (สร้างพระศิวลึงค์)
5. จารึกปากโดมน้อย (อบ. 28) จังหวัดอุบลราชธานี (สร้างพระศิวลึงค์)
6. จารึกถ้ำภูหมาไน (อบ. 9) จังหวัดอุบลราชธานี (สร้างพระโค)
7. จารึกสุรินทร์ (วัดชุมพล) จังหวัดสุรินทร์ (สร้างพระโค) (จารึกหลักนี้ สาบสูญไปแล้ว)
อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาเกี่ยวกับจารึกของพระเจ้ามเหนทรวรมันที่จารึกข้อความเดียวกันนี้ ได้มีการศึกษากันมาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2448 (ค.ศ. 1903) โดยพบว่าในประเทศลาวมีจารึกภูละคอน (Phou Lokhon) ซึ่งนายโอกุสต์ บาร์ต (Auguste Barth) ได้ทำการอ่านและแปล ตีพิมพ์ลงใน Bulletin de l’École Française d’Éxtrême-Orient, tome III : 1903 (พ.ศ. 2446) เรื่อง Inscription Sanscrite du Phou Lokhon (Laos) ต่อมา ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับจารึกที่พบในจังหวัดอุบลราชธานี ทำให้พบว่าที่จังหวัดอุบลราชธานีนี้ มีจารึกที่มีข้อความเหมือนกันกับจารึกภูละคอนจำนวน 3 หลัก คือ จารึกขันเทวดา 2 หลัก (จารึกขันเทวดานี้มี 2 หลัก ต่อมา หอสมุดแห่งชาติ ตั้งชื่อใหม่ให้ว่า “จารึกปากมูล 1 (อบ. 1)” และ “จารึกปากมูล 2 (อบ. 2)” และ จารึกถ้ำปราสาท (บางครั้งเรียกกันว่า จารึกภูหมาไน (อบ. 4) แต่เนื่องจากที่ภูหมาไนมีจารึกอีกหลักหนึ่ง มีข้อความเช่นเดียวกัน ทำให้มีการตั้งชื่อเรียกใหม่ คือ จากเดิมชื่อจารึกถ้ำปราสาท หรือ จารึกภูหมาไน (อบ. 4) ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “จารึกวัดสุปัฏนาราม (อบ. 4)” ส่วนจารึกอีกหลักที่ภูหมาไนก็ได้เรียกว่า “จารึกภูหมาไน (อบ. 9)” แทน)
ต่อมา เอริก ไซเด็นฟาเด็น (Erik Seidenfaden) ได้เขียนรายงานการสำรวจโบราณคดีใน 4 จังหวัดในแถบอีสานใต้ของประเทศไทย โดยในส่วนที่เกี่ยวกับศิลาจารึกที่สำรวจพบนั้น ได้รับความช่วยเหลือจาก ศ. ยอร์ช เซเดส์ ทำการอ่านและแปล ซึ่งได้แก่ จารึกขันเทวดา และ จารึกถ้ำปราสาท โดยความช่วยเหลือแล้วนำไปตีพิมพ์ใน Bulletin de l’École Française d’Éxtrême-Orient XXII, 1922 (พ.ศ. 2465) ในบทความชื่อว่า Complément a l’inventaire descriptif des monuments du Cambodge pour les quatre provinces du Siam Oriental. อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2524 ชะเอม แก้วคล้าย กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้เขียนบทความเรื่อง ศิลาจารึกวัดสุปัฏนาราม ศิลาจารึกปากน้ำมูล ลงในวารสารศิลปากร ปีที่ 25 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม 2524 หน้า 47 ได้อ่านและแปลจารึกของพระเจ้าศรีมเหนทรวรมันจำนวน 3 หลักขึ้นใหม่อีกครั้ง คือ
1. จารึกปากน้ำมูล (อบ. 1) (เดิมเรียกกันว่า จารึกขันเทวดา ถูกกล่าวถึงและตีพิมพ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2465 ใน Bulletin de l’École Française d’Éxtrême-Orient XXII, 1922. ต่อมาในปี พ.ศ. 2529 จึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “จารึกปากน้ำมูล 1”
2. จารึกปากน้ำมูล (อบ. 2) (เดิมเรียกกันว่า จารึกขันเทวดา ถูกกล่าวถึงและตีพิมพ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2465 ใน Bulletin de Bulletin de l’École Française d’Éxtrême-Orient XXII, 1922. ต่อมาในปี พ.ศ. 2529 จึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “จารึกปากน้ำมูล 2”
3. จารึกวัดสุปัฏนาราม (อบ. 4) (เดิมเรียกกันว่า จารึกถ้ำปราสาท หรือ จารึกภูหมาไน ถูกกล่าวถึงและตีพิมพ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2465 ใน Bulletin de l’École Française d’Éxtrême-Orient XXII, 1922.
ต่อมาในปี พ.ศ. 2529 กองหอสมุดแห่งชาติได้ตีพิมพ์หนังสือชุด จารึกในประเทศไทย จำนวน 5 เล่ม โดยในเล่มที่ 1 ได้มีการรวบรวมจารึกของพระเจ้ามเหนทรวรมัน (ศรีจิตรเสน) ที่พบในประเทศไทยทั้งของที่พบแต่เดิมและที่เพิ่งสำรวจพบใหม่ รวมจำนวนได้ 4 หลัก ได้แก่ 1) จารึกวัดศรีเมืองแอม (ขก. 15) (สำรวจพบเมื่อ พ.ศ. 2527)(2) จารึกปากน้ำมูล 1 (อบ. 1) (3) จารึกปากน้ำมูล 2 (อบ. 2) และ (4) จารึกวัดสุปัฏนาราม 1 (อบ. 4)
อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2530 ชะเอม แก้วคล้าย กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้เขียนบทความเรื่อง “ศิลาจารึกพระเจ้ามเหนทรวรมัน อักษรปัลลวะภาษาสันสกฤต ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-13” ตีพิมพ์ใน วารสารศิลปากร ปีที่ 31 ฉบับที่ 5 (พฤศจิกายน-ธันวาคม 2530) หน้า 79-84 โดยได้นำเสนอเปรียบเทียบคำอ่านและแปลของกลุ่มจารึกของพระเจ้ามเหนทรวรมันจำนวน 3 หลัก คือ
(1) จารึกภูหมาไน (อบ. 9) (2) จารึกวัดศรีเมืองแอม (ขก. 15) และ (3) จารึกถ้ำเป็ดทอง (บร. 4) (จารึกหลักนี้ ข้อความต่างออกไป แต่ก็ยังคงกล่าวสรรเสริญพระเจ้ามเหนทรวรมัน)
ต่อมา พ.ศ. 2535 ชะเอม แก้วคล้าย ได้เขียนบทความเรื่อง “รายงานผลการศึกษาวิเคราะห์ศิลาจารึกปากโดมน้อย” และ “รายงานผลการศึกษาวิเคราะห์ศิลาจารึกถ้ำภูหมาไน (ถ้ำปราสาท)” ลงในหนังสือ “โบราณคดีเขื่อนปากมูล” ซึ่งในรายงานฉบับดังกล่าวนี้ ได้กล่าวถึงภาพรวมของกลุ่มจารึก ศรีมเหนทรวมันนี้ด้วย

เนื้อหาโดยสังเขป

ข้อความในจารึกกล่าวถึงพระเจ้าจิตรเสน กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ทรงได้ชัยชนะเหนือกัมพูประเทศ และได้เฉลิมพระนามว่า “ศรีมเหนทรวรมัน” อีกทั้งโปรดให้สร้างรูปเคารพต่างๆ ในลัทธิไศวนิกายไว้เพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะของพระองค์ ซึ่งในจารึกวัดศรีเมืองแอมนี้ เป็นการสร้างพระศิวลึงค์ ดังนั้น จากจารึกทั้ง 7 หลักนี้ จึงเป็นหลักฐานอย่างดีว่า อารยธรรมแถบลุ่มแม่น้ำชี และลุ่มแม่น้ำมูลในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11-12 นั้น มีผู้นำของอาณาจักรนับถือศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกาย

ผู้สร้าง

ศรีมเหนทรวรมัน

การกำหนดอายุ

กำหนดอายุตามรูปแบบของตัวอักษรปัลลวะ ได้อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 นอกจากนี้ เนื้อความยังกล่าวถึงรัชสมัยของพระเจ้าศรีมเหนทรวรมัน ซึ่งครองราชย์อยู่ราว พ.ศ. 1150-1159 ดังนั้น จึงอาจกำหนดอายุเป็นราวกลางพุทธศตวรรษที่ 12 ก็ได้เช่นกัน

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2546, จาก :
1) Auguste Barth, “Inscription Sanscrite du Phou Lokhon (Laos),” Bulletin de l’École Française d’Éxtrême-Orient III (1903) : 442-446.
2) Erik Seidenfaden, “Complément a l’inventaire descriptif des monuments du Cambodge pour les quatre provinces du Siam Oriental,” Bulletin de l’École Française d’Éxtrême-Orient XXII (1923) : 58.
3) “Chronique : Siam,” Bulletin de l’École Française d’Éxtrême-Orient XXII (1923) : 385.
4) R. C. Majumdar, “No. 15 Phu Lokhon Inscription of Citrasena,” in Inscriptions of Kambuja (Calcutta : The Asiatic Society, 1953), 20-21.
5) George Cœdès, “Liste générale des inscriptions du Cambodge : K. 363 (Čăn Năk‛ôn ou Phou Lokhon),” in Inscriptions du Cambodge vol. VIII (Hanoi : Imprimerie d'Extrême-Orient, 1966), 138-139.
6) George Cœdès, “Liste générale des inscriptions du Cambodge : K. 508 (Thăm Prasat ou Thăm Ph´u Ma Nai),” in Inscriptions du Cambodge vol. VIII (Hanoi : Imprimerie d'Extrême-Orient, 1966), 160-161.
7) ชะเอม แก้วคล้าย, “ศิลาจารึกพระเจ้ามเหนทรวรมัน อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-13,” ศิลปากร 31, 5 (พฤศจิกายน-ธันวาคม, 2530) : 79-84.
8) ชะเอม แก้วคล้าย, “จารึกวัดศรีเมืองแอม,” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 : อักษรปัลลวะ หลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ 12-14 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 155-157.

ภาพประกอบ

1) ภาพสำเนาจารึกจาก : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545 (เลขทะเบียน CD; INS-TH-07, KhK_010)
2) ภาพถ่ายจารึกจากการสำรวจภาคสนาม : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), สำรวจเมื่อ 23-27 มีนาคม 2559
3) ภาพถ่ายความละเอียดสูงจากการสำรวจภาคสนาม : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, สำรวจเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2566