จารึกตำรายาวัดบวรนิเวศวิหาร แผ่นที่ 1 (ว่าด้วยลักษณะสิสิรฤดู)

จารึก

จารึกตำรายาวัดบวรนิเวศวิหาร แผ่นที่ 1 (ว่าด้วยลักษณะสิสิรฤดู)

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2564 22:21:33 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2566 19:50:17 )

ชื่อจารึก

จารึกตำรายาวัดบวรนิเวศวิหาร แผ่นที่ 1 (ว่าด้วยลักษณะสิสิรฤดู)

อักษรที่มีในจารึก

ไทยธนบุรี-รัตนโกสินทร์

ศักราช

ไม่ปรากฏศักราช

ภาษา

ไทย

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 16 บรรทัด

วัตถุจารึก

หินอ่อนสีดำ

ลักษณะวัตถุ

แผ่นหินทรงห้าเหลี่ยมผนึกไว้ในกรอบทรงซุ้ม

ขนาดวัตถุ

กว้าง 44 ซม. สูง 38.5 ซม.

ปีที่พบจารึก

ไม่ปรากฏหลักฐาน

สถานที่พบ

วัดบวรนิเวศวิหาร แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ผู้พบ

ไม่ปรากฏหลักฐาน

ปัจจุบันอยู่ที่

ผนังในศาลาฤาษีด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (ข้างศาลาการเปรียญ) วัดบวรนิเวศวิหาร แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ประวัติ

วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ฝ่ายธรรมยุต ตั้งอยู่ริมถนนบวรนิเวศ และถนนพระสุเมรุ ในท้องที่แขวงวัดบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เดิมชื่อว่า "วัดใหม่" อยู่ใกล้กับวัดรังษีสุทธาวาสที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ทรงสถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2366 ซึ่งต่อมาภายหลังพระบาทสมเด็จมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าร่วงโรยมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกับวัดบวรนิเวศวิหารเสีย เมื่อ พ.ศ. 2458  ในปัจจุบันยังคงเรียกส่วนที่เป็นวัดรังษีสุทธาวาสมาเดิมว่า "คณะรังษี"
วัดบวรนิเวศวิหารนี้ได้รับการทำนุบำรุงและสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ ขึ้นจนเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่ง โดยเฉพาะในสมัยปลายรัชกาลที่ 3 เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงอาราธนาสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าฟ้ามงกุฏซึ่งผนวชเป็นพระภิกษุ อยู่วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) เสด็จมาครอง เมื่อ พ.ศ. 2375 ทำให้วัดนี้ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์และเสริมสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมากมาย ต่อมาได้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ที่เสด็จออกทรงผนวชทุกพระองค์ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5, พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6, พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่  7 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ รัชกาลที่  9   ตลอดถึงพระบรมวงศ์ชั้นสูงที่ทรงผนวชเกือบทุกพระองค์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 4  ต่อเนื่องมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน 
จารึกตำรายาของวัดบวรนิเวศนั้นได้ผนึกอยู่ในช่องที่ผนังในศาลาฤาษีด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (ข้างศาลาการเปรียญ) เป็นจารึกสร้างด้วยศิลา ทรงห้าเหลี่ยม จารด้วยอักษรและภาษาไทยสมัยรัตนโกสินทร์ เนื้อหาว่าด้วยโรคและการรักษาด้วยตำรับยาแผนไทย เทียบอายุได้ใกล้เคียงกับจารึกตำรายาวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามเนื่องจากสร้างในรัชสมัยเดียวกันคือรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. 3) ประกอบกับเนื้อหาจารึกและตำรับยาทั้ง 5 แผ่นนี้มีความคล้ายคลึงกับ ‘จารึกตำรายาวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม’ มาก สันนิษฐานว่าน่าจะคัดลอกมาจากแหล่งข้อมูลเดียวกัน แม้จะมีความแตกต่างบ้างเล็กน้อยในส่วนของการสะกดคำ ชื่อเรียกสมุนไพร และชื่อเรียกเครื่องยาอื่นๆ

เนื้อหาโดยสังเขป

กล่าวถึงลักษณะสิสิรฤดู (วัณโรค) และโรคที่เกิดในฤดูนี้รวมถึงตัวยาที่ใช้ในการรักษา ระบุอาการของโรค รายชื่อสมุนไพรที่ใช้ประกอบเครื่องยา วิธีปรุงยา และวิธีใช้ยา

ผู้สร้าง

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3)

การกำหนดอายุ

กำหนดอายุโดยเทียบกับจารึกตำรายาวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามเนื่องจากสร้างในรัชสมัยเดียวกันคือรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. 3)

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : นวพรรณ ภัทรมูล (2564), โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., จาก :  
จารึกตำรายาวัดบวรนิเวศวิหาร.” ใน ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2559 (online). เปิดข้อมูลเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2564 หาข้อมูลจาก  https://db.sac.or.th/inscriptions/articles/detail/16884.

ภาพประกอบ

ภาพถ่ายจารึกจาก : โครงการพัฒนาฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), สำรวจเมื่อ 10 พฤษภาคม 2558