จารึกเชตพน

จารึก

จารึกเชตพน

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2566 12:55:11 )

ชื่อจารึก

จารึกเชตพน

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

หลักที่ 287 จารึกเชตพน, สท.27/1

อักษรที่มีในจารึก

ไทยสุโขทัย

ศักราช

พุทธศักราช 1935-1947

ภาษา

ไทย

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 20 บรรทัด (อ่านอย่างกระท่อนกระแท่นได้เพียง 8 บรรทัดเท่านั้น ปัจจุบันอักษรเลือนลางแทบจับความไม่ได้)

วัตถุจารึก

หินทรายหยาบ

ลักษณะวัตถุ

รูปใบเสมา (ชำรุด)

ขนาดวัตถุ

กว้าง 116.5 ซม. สูง 161 ซม. หนา 19.2 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “สท. 27/1”
2) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 7 กำหนดเป็น “หลักที่ 287 จารึกเชตพน”

ปีที่พบจารึก

ไม่ปรากฏหลักฐาน

สถานที่พบ

ข้อมูลว่า ด้านหน้าศาลบูชาพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ในบริเวณวัดอินทารามวรวิหาร แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร แต่สันนิษฐานว่า น่าจะถูกขนย้ายมาจากวัดเชตพน ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย (ไม่ปรากฏหลักฐานว่าย้ายมาแต่เมื่อใด)

ผู้พบ

ไม่ปรากฏหลักฐาน

ปัจจุบันอยู่ที่

วัดอินทารามวรวิหาร แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร (สำรวจเมื่อ 24 พฤษภาคม 2564)

พิมพ์เผยแพร่

ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 7 (กรุงเทพฯ : สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2534), 24-26.

ประวัติ

จารึกเชตพน ปัจจุบันถูกโบกปูนที่ฐาน ตั้งอยู่ด้านหน้าศาลบูชาพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ในบริเวณวัดอินทารามวรวิหาร กรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรี เมื่อพิเคราะห์จากเนื้อความในจารึกแล้ว พอจะสันนิษฐานได้ว่า แต่เดิมศิลาจารึกหลักนี้น่าจะทำขึ้นที่วัดเชตพน (เชดพน) เมืองเก่าสุโขทัย อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏหลักฐานว่า ได้ถูกขนย้ายมาไว้ที่วัดอินทราราม ธนบุรี ตั้งแต่เมื่อใด ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ ได้รวมจารึกหลักนี้ไว้เป็นลำดับที่ 93 ในบัญชีจารึก ท้ายหนังสือ ประชุมจารึกภาคที่ 1 พ.ศ.2467 โดยบันทึกหมายเหตุว่า ชำรุด เมื่อหลายปีก่อนนั้น นายประสาร บุญประคอง และนายเทิม มีเต็ม ได้ไปสำรวจและทำสำเนาจารึกวัดเชตพนหลักนี้ แต่พบว่า ตัวอักษรที่จารึกชำรุดและลบเลือนมาก จึงยังมิได้อ่านถอดอักษรจารึกออกมา ครั้นเมื่อไม่นานมานี้ นายวินัย พงศ์ศรีเพียร ซึ่งได้ไปศึกษาศิลปกรรมวัดสมัยกรุงธนบุรี กับคณะอนุกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงธนบุรี เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2535 ได้ไปพบจารึกหลักนี้ตั้งอยู่ในทีกลางแจ้ง และเกรงว่าต่อไปอาจจะเสียหายมากขึ้น จึงปรึกษาขอให้นายประเสริฐ ณ นคร และนักอ่านจารึกของกรมศิลปากร ได้ใช้ความพยายามอ่านถอดตัวอักษรเสียใหม่ จากสำเนาจารึกที่ทำไว้เดิมเมื่อประมาณ 30 ปีก่อนหน้านี้ เพื่อจะได้นำออกเผยแพร่ ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 7 สำหรับการอ่านถอดตัวอักษรนั้น นางสาวจตุพร ศิริสัมพันธ์ ได้ใช้ความพยายามในการอ่านด้วยความระมัดระวังอยู่นานพอสมควร เมื่ออ่านเสร็จแล้ว นายเทิม มีเต็ม และนายประเสริฐ ณ นคร ได้ตรวจสอบดูอีกครั้งหนึ่ง

เนื้อหาโดยสังเขป

ข้อความจารึกมีประมาณ 20 บรรทัด แต่ที่พออ่านได้อย่างกระท่อนกระแท่นเพียง 8 บรรทัดนั้นกล่าวถึงเรื่องของคณะสงฆ์ว่า ได้นำศิลาหินมาในวัดเชตพน สุโขทัย และประชุมกันทำกิจการสงฆ์อย่างหนึ่ง ซึ่งอ่านไม่ได้ความแน่ชัด แต่มีรายนาม “บามหาเถร” และ “บาเถร” หลายรูป ในจำนวนนี้ มีการเอ่ยนามตรงกับนามพระสงฆ์ในจารึก หลักที่ 9 หรือ จารึกวัดป่าแดง ศรีสัชนาลัย อยู่ 2 รูป คือ บามหาเถรญาณคำภยร ซึ่งตรงกับ “มหาเถรญาณคัมภีร์”และ บาเถรธรรมเสนาปดิ ซึ่งตรงกับ “มหาเถรธรรมเสนาปตี” คณะสงฆ์นี้ในศิลาจารึกวัดป่าแดง ศรีสัชนาลัย ระบุว่าเป็นฝ่ายอรัญวาสี และอาจเป็นไปได้ว่า บาเถรธรรมเสนาปดิ ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น มหาเถรธรรมเสนาปตีแล้ว ใน พ.ศ. 1949 ตามจารึก หลักที่ 9

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

แม้ศิลาจารึกนี้อยู่ในสภาพชำรุดมากและมิได้ระบุปีศักราชใดๆ แต่ก็พอสอบดูตัวอักษรเพื่อกำหนดอายุได้ กล่าวคือ มีรูปสระ “อำ” แบบที่เริ่มใช้ใน พ.ศ. 1935 และรูป “ธ” ซึ่งใช้อยู่จนถึง พ.ศ. 1947 จึงควรทำขึ้นในระหว่าง พ.ศ. 1935-1947 นอกจากนี้ ลักษณะรูปอักษร “ก”, “ข”, “ง”, “ช”, “ด”, “ท”, “ว” และ “อ” คล้ายคลึงกับ จารึกหลักที่ 93 หรือจารึกวัดอโสการาม ซึ่งจารึกใน พ.ศ. 1942 ดังนั้นจึงสันนิษฐานว่า จารึกเชตพน ร่วมสมัยกับ จากรึกวัดอโสการาม และจารึกวัดบูรพาราม

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2546, จาก :
จตุพร สิริสัมพันธ์, “หลักที่ 287 จารึกเชตพน,” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 7 : ประมวลจารึกที่พบในประเทศไทยและต่างประเทศ (กรุงเทพฯ : คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2534), 24-26.