จารึกพระราชสาส์นสุพรรณบัฏพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก 3

จารึก

จารึกพระราชสาส์นสุพรรณบัฏพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก 3

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2550 12:59:34 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2566 19:21:38 )

ชื่อจารึก

จารึกพระราชสาส์นสุพรรณบัฏพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก 3

อักษรที่มีในจารึก

ไทยธนบุรี-รัตนโกสินทร์

ศักราช

พุทธศักราช 2335

ภาษา

ไทย

วัตถุจารึก

ทองคำ

ลักษณะวัตถุ

แผ่นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

ในหนังสือ พระราชสาส์นในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระราชทานไปยังประเทศจีน กับประวัติวัดเศวตฉัตร กำหนดเป็น “พระราชสาส์นไปเมืองจีน ครั้งรัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปีชวด จัตวาศก จุลศักราช 1154 พ.ศ. 2335”

ปีที่พบจารึก

ไม่ปรากฏหลักฐาน

สถานที่พบ

ไม่ปรากฏหลักฐาน

ผู้พบ

ไม่ปรากฏหลักฐาน

ปัจจุบันอยู่ที่

ไม่ปรากฏหลักฐาน

พิมพ์เผยแพร่

พระราชสาส์นในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระราชทานไปยังประเทศจีน กับประวัติวัดเศวตฉัตร ([กรุงเทพฯ] : กรมศิลปากร, 2505), 26-29.

ประวัติ

คำอ่านจารึกพระราชสาส์นสุพรรณบัฏนี้ กรมศิลปากรได้คัดลอกมาจากสมุดไทยดำเส้นหรดาน หมายเลข 1/6 ซึ่งกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มอบให้เมื่อ วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2482 พระราชสาส์นของกษัตริย์ไทยสมัยธนบุรี-รัตนโกสินทร์นั้น เดิมถูกเก็บรักษาไว้ในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ใน พ.ศ. 2475 รัฐบาลได้ตั้งกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีขึ้น เอกสารทั้งหมดจึงอยู่ในความครอบครองของหน่วยงานดังกล่าวซึ่งมีจำนวนหลายร้อยเล่ม เมื่อกรมศิลปากรทำการตรวจสอบ ได้พบสำเนาพระราชสาส์นที่พระราชทานแด่กษัตริย์จีนตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากสินจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทำการคัดลอกเอกสารดังกล่าวด้วยการพิมพ์ดีด แต่ยังไม่มีการตีพิมพ์เผยแพร่ จนเมื่อ พ.ศ. 2505 มีการขออนุญาตตีพิมพ์คำอ่านพระราชสาส์นเพื่อเป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมราชวงศ์หญิงเจียน ฉัตรกุลโดยเจาะจงเฉพาะพระราชสาส์นของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกที่พระราชทานไปยังกษัตริย์จีนเท่านั้น

เนื้อหาโดยสังเขป

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงระลึกถึงพระราชไมตรีที่มีต่อพระเจ้าต้าฉิง (พระเจ้าเกาจง) จึงโปรดให้อัญเชิญพระราชสาส์นพร้อมด้วยเครื่องมงคลราชบรรณาการรวมทั้งพระราชสาส์นคำหับอักษรจีนถวายแด่พระเจ้าต้าฉิงตามขนบที่มีมาแต่โบราณ

ผู้สร้าง

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1)

การกำหนดอายุ

จารึกนี้ไม่ปรากฏศักราช แต่สามารถกำหนดอายุได้จากพระราชสาส์นคำหับที่กำกับไปพร้อมกับพระราชสาส์นสุพรรณบัฏซึ่งระบุถึงวันเดือนปีว่า วันพฤหัสบดี เดือน 7 ขึ้น 4 ค่ำ จุลศักราช 1154 ตรงกับ พ.ศ. 2335 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1)

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2548, จาก :
1) ก่องแก้ว วีระประจักษ์, “จารึกพระราชสาส์นสุพรรณบัฏ,” ศิลปากร 39, 6 (พฤศจิกายน-ธันวาคม 2539), 13-23.
2) จยาหรง โจว, ประวัติศาสตร์จีน (กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, 2547).
3) ดนัย ไชยโยธา, ประวัติศาสตร์ไทย : ยุคกรุงธนบุรีถึงกรุงรัตนโกสินทร์ (กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2546).
4) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก, 2279-2352, พระราชสาส์นในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระราชทานไปยังประเทศจีน กับประวัติวัดเศวตฉัตร ([กรุงเทพฯ] : กรมศิลปากร, 2505), 26-29.