โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2567 18:11:13 )
ชื่อจารึก |
จารึกบนตราดินเผาเมืองจันเสน 5 (เลขทะเบียน 2992/38) |
ชื่อจารึกแบบอื่นๆ |
จส. 2992/38 |
อักษรที่มีในจารึก |
ยังไม่เป็นที่ยุติ |
ศักราช |
ไม่ปรากฏศักราช |
ภาษา |
ยังไม่เป็นที่ยุติ |
ด้าน/บรรทัด |
จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 2 บรรทัด |
วัตถุจารึก |
ดินเผา |
ลักษณะวัตถุ |
ตรา (sealings) สีน้ำตาล รูปร่างค่อนข้างกลม แบน |
ขนาดวัตถุ |
เส้นผ่าศูนย์กลาง 4.6 ซม. หนา 2.2 ซม. |
บัญชี/ทะเบียนวัตถุ |
พิพิธภัณฑ์จันเสน กำหนดเป็น “จส. 2992/38” |
ปีที่พบจารึก |
ไม่ปรากฏหลักฐาน |
สถานที่พบ |
เมืองจันเสน ตำบลจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ |
ผู้พบ |
ชาวบ้านตำบลจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ |
ปัจจุบันอยู่ที่ |
พิพิธภัณฑ์จันเสน ตำบลจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ |
พิมพ์เผยแพร่ |
สังคมและวัฒนธรรมจันเสน เมืองแรกเริ่มในลุ่มลพบุรี-ป่าสัก (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์, 2539), 190-197. |
ประวัติ |
ตราดินเผาชิ้นนี้ถูกพบในบริเวณเนินดินที่เรียกว่า “โคกจันเสน” ภายในเมืองโบราณจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ชาวบ้านได้พบตราดินเผาจำนวนหนึ่งขณะทำการเกษตรกรรม จึงนำมาถวายแก่วัดจันเสนซึ่งมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ในเวลาต่อมา ในส่วนของตัวอักษรจารึกอยู่ทางด้านข้างของตราดินเผาซึ่งมีภาพนูนต่ำรูปคนขี่ม้า 2 คน กำลังเล่นคลี มีการอ่าน-แปล และตีพิมพ์ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2539 ในบทความชื่อ “จารึกดินเผาประทับตรา อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ประมาณพุทธศตวรรษที่ 14” โดย ชะเอม แก้วคล้าย ในหนังสือ สังคมและวัฒนธรรมจันเสน เมืองแรกเริ่มในลุ่มลพบุรี-ป่าสัก ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นเพื่อนำรายได้บำรุงพิพิธภัณฑ์จันเสน ต่อมา ใน พ.ศ. 2547 มีอ่านจารึกดังกล่าวอีกครั้ง โดย Prof. Dr. Ravindra Vasishtha จาก มหาวิทยาลัย Delhi ผศ. ดร. จิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา ผศ. กรรณิการ์ วิมลเกษม และ อ. ชัยณรงค์ กลิ่นน้อย จากภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ข้อมูลเกี่ยวกับจารึกรวมทั้งคำอ่าน-คำแปลในครั้งล่าสุดนี้ปรากฏใน วิทยานิพนธ์เรื่อง “การศึกษาความหมายและรูปแบบของตราประทับสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี” ของ อนันต์ กลิ่นโพธิ์กลับ ซึ่งเป็นการศึกษาความหมายและลักษณะทางประติมานวิทยาเพื่อให้ทราบหน้าที่ และประโยชน์ใช้สอย เพื่อศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของ ตราประทับที่พบในเมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี กับเมืองโบราณอื่นๆ ตราประทับที่พบมีทั้งที่ปรากฏตัวอักษรและเป็นรูปภาพต่างๆ โดยแบ่งเป็นตราประทับ (seals) และตรา (sealings) อย่างไรก็ตามการอ่าน-แปลและกำหนดอายุในแต่ละครั้งมีความคิดเห็นที่แตกต่าง กันไป กล่าวคือ ชะเอม แก้วคล้าย แสดงความคิดเห็นว่า อักษรในจารึกเป็นอักษรปัลลวะที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14 (ในปัจจุบันมีการเรียกอักษรในช่วงเวลาดังกล่าวว่า “อักษรหลังปัลลวะ“) ในขณะที่ ผศ. กรรณิการ์ วิมลเกษม วิเคราะห์ว่าเป็นอักษรปัลลวะ ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 นอกจากนี้ ชะเอม แก้วคล้ายได้ระบุว่าจารึกดังกล่าวเป็นภาษาสันสกฤต ส่วน Prof. Dr. Ravindra Vasishtha ผศ. ดร. จิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา และ อ. ชัยณรงค์ กลิ่นน้อย ยังไม่สามารถวินิจฉัยถึงคำแปลและภาษาที่ใช้ได้ |
เนื้อหาโดยสังเขป |
เนื้อหาจากการอ่าน-แปลของ ชะเอม แก้วคล้าย หมายถึง “การได้รับชัยชนะของเจ้าชายหนุ่ม” ส่วนของท่านอื่น ยังไม่สามารถวินิจฉัยถึงคำแปลของจารึกนี้ได้ |
ผู้สร้าง |
ไม่ปรากฏหลักฐาน |
การกำหนดอายุ |
การกำหนดอายุของจารึกจากรูปแบบตัวอักษรยังไม่เป็นที่ยุติ เนื่องจากยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น |
ข้อมูลอ้างอิง |
เรียบเรียงข้อมูลโดย: ตรงใจ หุตางกูร, นวพรรณ ภัทรมูล และพันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547 และ 2549, จาก : |
ภาพประกอบ |
ภาพถ่ายจารึกจาก : สังคมและวัฒนธรรมจันเสน เมืองแรกเริ่มในลุ่มลพบุรี-ป่าสัก (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์, 2539) |