จารึกตราตำแหน่งสมณศักดิ์ 11 หน้าต่างด้านหลัง

จารึก

จารึกตราตำแหน่งสมณศักดิ์ 11 หน้าต่างด้านหลัง

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2555 10:18:05 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2567 10:18:21 )

ชื่อจารึก

จารึกตราตำแหน่งสมณศักดิ์ 11 หน้าต่างด้านหลัง

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

หน้าต่างด้านหลัง

อักษรที่มีในจารึก

ขอมธนบุรี-รัตนโกสินทร์

ศักราช

ไม่ปรากฏศักราช

ภาษา

ไทย

ด้าน/บรรทัด

บานซ้ายมี 6 บรรทัด, บานขวามี 6 บรรทัด

วัตถุจารึก

ไม้

ลักษณะวัตถุ

บานหน้าต่าง

สถานที่พบ

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ผู้พบ

ไม่ปรากฏหลักฐาน

ปัจจุบันอยู่ที่

พระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

พิมพ์เผยแพร่

ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน (กรุงเทพฯ : คณะสงฆ์วัดพระเชตุพน, 2544), 263.

ประวัติ

จารึกตราตำแหน่งสมณศักดิ์ ปรากฏอยู่บนบานหน้าต่างภายในพระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ โดยถูกจารไว้ร่วมกับลายรดน้ำรูปตราประจำตำแหน่งเจ้าคณะสงฆ์ การปกครองคณะสงฆ์ในรัชกาลที่ 3 แบ่งออกเป็น 4 คณะใหญ่ คือ คณะเหนือ ได้แก่ หัวเมืองทางภาคเหนือทั้งหมด คณะใต้ ได้แก่หัวเมือง ทางปักษ์ใต้ทั้งหมด คณะกลางได้แก่ พระอารามหลวงและวัดราษฎร์ในกรุงเทพทั้งหมด เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3 และคณะอรัญวาสี ได้แก่ฝ่ายวิปัสสนา แต่ละคณะมีเจ้าคณะใหญ่ปกครอง มีเจ้าคณะรองรูปหนึ่งคือ 1 คณะเหนือ สมเด็จพระสังฆราช เป็นเจ้าคณะใหญ่ พระพิมลธรรม เป็นเจ้าคณะรอง 2 คณะใต้ สมเด็จพระวันรัตน์  เป็นเจ้าคณะใหญ่ ถือว่าเป็นสังฆราชฝ่ายซ้าย พระธรรมอุดมเป็นเจ้าคณะรอง 3 คณะกลาง กรมหมื่นนุชิตชิโนรส (พระยศในขณะนั้น) เป็นเจ้าคณะใหญ่ นอกจากนี้ยังมีคณะรามัญ ซึ่งมีพระมหาสุเมธาจารย์ เป็นเจ้าคณะปกครอง แต่มิใช่คณะใหญ่มีศักดิ์เสมอพระราชาคณะผู้ใหญ่ สังเกตได้จากตราประจำตำแหน่งมีลักษณะเหมือนกับตราตำแหน่งพระราชาคณะผู้ใหญ่ ตราประจำตำแหน่งสมณศักดิ์เป็นเครื่องหมายบ่งบอกฐานานุศักดิ์ของพระสงฆ์อีกอย่างหนึ่งทำเป็นดวงตรากลมภายในมีรูปต่างๆ กัน ที่ปรากฏในบานหน้าต่างพระอุโบสถมี 8 แบบ คือ 
1. ตราตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เป็นรูปบุษบก ภายในมีอักษรขอมจารึกว่า “อุ” อยู่ด้านบนมาจากคำว่า “อุตตม” (สูงสุด) หมายถึงเป็นเจ้าคณะปกครองสูงสุด อีกนัยหนึ่งมาจากคำว่า “อุตตร” หมายถึง อุดร ที่แปลว่า เหนือ คือทรงเป็นเจ้าคณะใหญ่คณะเหนือ และมีอักษรย่อว่า “พุทธ” จารึกด้วยอักษรขอมอยู่แถวล่างแทนพระนามของสมเด็จพระสังฆราชอยู่เหนือพานแว่นฟ้า มีรูปเทวดาถือฉัตรเบญจาอยู่สองข้าง มีลายกนกเปลว ทรงเป็นเจ้าคณะใหญ่ ปกครองคณะเหนือ ถือเป็นสังฆราชฝ่ายขวาหรือสกลมหาสังฆปริณายก 
2. ตราตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ เป็นรูปบุษบก และมีอักษรขอมย่อว่า “ว” มาจากคำว่า “วาม” แปลว่า “ซ้าย” หมายถึง เป็นสังฆราชฝ่ายซ้าย และมีอักษรขอมจารึกคำว่า “พุทธ” เหมือนกัน มีฉัตรเบญจาอยู่สองข้าง ไม่มีเทวดาถือ  สำหรับตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ คือ สมเด็จพระวันรัตน์ เจ้าคณะใหญ่คณะใต้ เป็นสังฆราชฝ่ายซ้าย ส่วนกรมหมื่นนุชิตชิโนรส เจ้าคณะกลาง ไม่ปรากฏตราและชื่อในจารึก เพราะเป็นคณะที่ทรงตั้งขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ 3 นี้เอง คงเป็นช่วงเวลาหลังจากที่ได้มีการจารึกตราตำแหน่งเหล่านี้แล้ว ส่วนพระพุฒาจารย์ เจ้าคณะใหญ่อรัญวาสี ปกครองคณะสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสีหรือฝ่ายวิปัสสนา ตราตำแหน่งมีลักษณะเช่นเดียวกันต่างแต่อักษรย่อภายในใช้คำว่า “พุทธา” เท่านั้น 
3. ตราตำแหน่งเจ้าคณะรองเป็นรูปวิมาน มีจามรอยู่สองข้าง ตรงกลางเขียนอักษรย่อบอกนามของเจ้าคณะคือคำว่า “วิ” หมายถึง พระพิมลธรรม เจ้าคณะรองคณะเหนือ และคำว่า “ธัมมะ” หมายถึง พระธรรมอุดม เจ้าคณะรองคณะใต้
4. ตราตำแหน่งพระราชาคณะผู้ใหญ่ เป็นรูปบุษบก ตรงกลางจารึกชื่อพระราชาคณะ เช่น พระพุทธโฆสาจารย์ พระธรรมเจดีย์ เป็นต้น และตำแหน่งพระมหาสุเมธาจารย์ เจ้าคณะรามัญก็อยู่ในชั้นนี้
5. ตราตำแหน่งพระราชาคณะฝ่ายอรัญวาสีหรือฝ่ายวิปัสสนา ซึ่งถือพัดงาสาน เป็นรูปดอกบัวอยู่บนบัลลังก์ฐานสิงห์ภายใต้ม่านแหวก มีลายกนกเปลว ตรงกลางดอกบัวจารึกชื่อพระราชาคณะตำแหน่งนั้นๆ 
6. ตราตำแหน่งพระราชาคณะฝ่ายคามวาสีหรือคันถธุระ เป็นรูปดอกบัวอยู่บนบัลลังก์ฐานสิงห์ ด้านบนมีพระกลดกางกั้น สองข้างมีพัดโบก มีลายกนกเปลว ตรงกลางจารึกชื่อพระราชาคณะนั้นๆ ส่วนตราของพระราชาคณะฝ่ายรามัญ  มีลักษณะคล้ายกันต่างแต่ลวดลายของพัดโบกเท่านั้น
7. ตราตำแหน่งพระครูสังฆปาโมกข์ หรือสังฆราชาหัวเมือง ที่ถือพัดเปลวเพลิง และพระครูปลัดชั้นเอก ฐานานุกรมของสมเด็จพระสังฆราช เจ้าคณะใหญ่และเจ้าคณะรอง เป็นรูปบัลลังก์ฐานสิงห์ ตรงกลางมีหมอนรองจารึกชื่อตำแหน่งนั้นๆ ด้านบนเป็นลายกนกเปลว
8. ตราตำแหน่งพระครูสัญญาบัตรและฐานานุกรมนอกนั้นเป็นรูปดอกบัวอยู่ตรงกลาง จารึกชื่อตำแหน่งนั้นๆ รอบๆ เป็นลายดอกพุดตาน

เนื้อหาโดยสังเขป

กล่าวถึงตำแหน่งสมณศักดิ์ของสงฆ์คณะรามัญ

ผู้สร้าง

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3)

การกำหนดอายุ

กำหนดอายุจากประวัติการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ซึ่งมีหลักฐานปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุเรื่องการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน (ถอดจากโคลงดั้นพระนิพนธ์กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส)
 

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร (2550) ; นวพรรณ ภัทรมูล (2556), แก้ไขเพิ่มเติม, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., จาก :
1) “จดหมายเหตุเรื่อง การปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน : ถอดจากโคลงดั้นพระนิพนธ์กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส,” ใน ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน (กรุงเทพฯ : คณะสงฆ์วัดพระเชตุพน, 2544), 57-73.
2) “ตราตำแหน่งสมณศักดิ์,” ใน ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน (กรุงเทพฯ : คณะสงฆ์วัดพระเชตุพน, 2544), 243-274.