จารึกที่ฐานมณฑปพระคันธารราษฎร์ 1

จารึก

จารึกที่ฐานมณฑปพระคันธารราษฎร์ 1

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2567 13:50:44 )

ชื่อจารึก

จารึกที่ฐานมณฑปพระคันธารราษฎร์ 1

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

หลักที่ 257 จารึกบนหินอ่อน, อย.49

อักษรที่มีในจารึก

ไทยธนบุรี-รัตนโกสินทร์

ศักราช

ไม่ปรากฏศักราช

ภาษา

ไทย

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 15 บรรทัด

วัตถุจารึก

หินอ่อน สีขาว

ลักษณะวัตถุ

แผ่นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า

ขนาดวัตถุ

กว้าง 78 ซม. สูง 48 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “อย. 49”
2) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 6 ตอนที่ 2 กำหนดเป็น “หลักที่ 257 จารึกบนหินอ่อน”

ปีที่พบจารึก

ไม่ปรากฏหลักฐาน

สถานที่พบ

วัดนิเวศธรรมประวัติ ตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ผู้พบ

ไม่ปรากฏหลักฐาน

ปัจจุบันอยู่ที่

ฐานมณฑปพระคันธารราษฎร์ หน้าพระอุโบสถวัดนิเวศธรรมประวัติ ตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (สำรวจ 22-24 กุมภาพันธ์ 2565)

พิมพ์เผยแพร่

ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 6 ตอนที่ 2 (พระนคร : สำนักนายกรัฐมนตรี, 2521), 165-166.

ประวัติ

จารึกนี้ นายประสาร บุญประคอง เป็นผู้อ่าน โดยมีการตีพิมพ์ลงใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 6 ตอนที่ 2 ใน พ.ศ. 2521 โดยเรียกว่า “หลักที่ 257 จารึกบนหินอ่อน” วัดนิเวศธรรมประวัติ ตั้งอยู่ตรงข้ามกับพระราชวังบางปะอิน ร. 5 โปรดให้สร้างพระอุโบสถตามแบบโบสถ์คริสต์ ในศิลปะโกธิค (Gothic) ยุคกลางของยุโรป วัดแห่งนี้สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2421 เป็นวัดฝ่ายธรรมยุติกนิกาย รัชกาลที่ 5 โปรดให้สร้างพระคันธารราษฎร์ (ปางขอฝน) ขึ้นเพื่อเป็นขวัญแก่ประชาชนในบางปะอิน ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา วันทำบุญพระสงฆ์จะนั่งสวดเจริญพระพุทธมนต์รอบองค์พระเป็นวงกลม แล้วชาวบ้านนั่งล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง ใช้เวลาราว 1 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ได้มีการทำบุญขอฝนเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น พระพุทธรูปดังกล่าวแสดงปางขอฝน ประทับยืน พระหัตถ์ขวายกขึ้น พระหัตถ์ซ้ายยกเสมอเอว ตามตำนานกล่าวว่า ในสมัยพุทธกาลเมื่อพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่พระเชตวันวิหาร ในเมืองสาวัตถี ครั้งหนึ่งได้เกิดฝนแล้งอย่างมาก ผู้คนเดือดร้อน พระองค์จึงตรัสเรียกพระอานนท์ให้นำผ้าชุบสรงมาถวาย ทรงนำชายผ้าข้างหนึ่งตวัดพาดพระอังสะ (บ่า) ยกพระหัตถ์ขวาเรียกน้ำฝน ส่วนพระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นรองรับ ทันใดนั้นฝนก็ตั้งเค้าและตกลงมา

เนื้อหาโดยสังเขป

อธิบายถึงวิธีอธิษฐานขอฝน

ผู้สร้าง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. 5) แห่งราชวงศ์จักรี

การกำหนดอายุ

น่าจะสร้างขึ้นในคราวเดียวกับการสร้างพระคันธารราษฎร์ คือ ในสมัยรัชกาลที่ 5

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2548, จาก :
ประสาร บุญประคอง, “หลักที่ 257 จารึกบนหินอ่อน,” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 6 ตอนที่ 2 : ประมวลจารึกสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ที่พบในภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง (กรุงเทพฯ : คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี, 2521), 165-166.

ภาพประกอบ

ภาพถ่ายจารึกจาก : โครงการพัฒนาฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), สำรวจเมื่อ 26-28 มิถุนายน 2550