Blog

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

ปฏิจจสมุปบาท

ปฏิจจสมุปบาท

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส
โพสต์เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2567 เวลา 13:22:18
บทความโดย : ทีมงาน

               ภาพปริศนาธรรมจากสมุดภาพวัดพระรูป ภาพที่ 26-28 นี้เป็นภาพชุดที่มีเนื้อหาต่อเนื่องกัน ภาพที่ 26 หรือในที่นี้จะกำหนดเป็นภาพที่ 1 จะเป็นภาพรวมของปริศนาธรรมข้อนี้ ส่วนภาพที่ 27 และ 28 ซึ่งในที่นี้จะกำหนดเป็นภาพที่ 2 และ ภาพที่ 3 จะเป็นเหมือนภาพขยายหรือซูมให้เห็นรายละเอียดของภาพที่ 1 เป็นส่วน ๆ ไป
               ภาพที่ 1 ของชุดนี้ แบ่งเป็น 2 ท่อน คือท่อนบนและท่อนล่าง ท่อนบนถ้ามองเผิน ๆ จะเห็นเป็นภาพนกอยู่บนกอต้นไม้ชนิดหนึ่งที่มีใบสีเขียวและมีข้อของลำต้นเป็นปล้อง ๆ มีหนู 4 ตัวล้อมเฝ้าอยู่ และเมื่อเพ่งดูภาพอย่างละเอียดอีกครั้งจะพบว่า ในตัวนกอ้วนสีเขียวอ่อนขนปุยนั้น มีลำตัวอันยาวของงูสีกรมท่านอนขดเป็นวงกลมอยู่ และภายในวงขดของงูนั้นก็มีกบตัวสีเหลืองที่ในท้องมีช้างสีเผือกที่มีวงกลมเล็ก ๆ 3 วงอยู่ในท้องอีกที และในทำนองเดียวกัน ท่อนล่างของภาพเหมือนเป็นภาพขยายให้เห็นรายละเอียดส่วนหนึ่งของภาพท่อนบน คือภาพของวงขดของงูสีกรมท่าท้องแดง ในวงขดนั้นมีกบตัวอ้วนพองสีเหลืองและในท้องกบก็มีช้างสีเผือกตัวเล็กอยู่ข้างใน
               ภาพที่ 2 เป็นภาพขยายบางส่วนของภาพที่ 1 แบ่งเป็น 2 ท่อนคือท่อนบนและท่อนล่างเช่นเดียวกัน ท่อนบนเป็นรูปกบตัวสีเหลือง ภายในท้องมีช้างสีเผือกหนึ่งตัว ภาพท่อนล่างเป็นภาพขยายรายละเอียดจากภาพท่อนบน คือภาพช้างสีดำ-ท้องหูงางวงสีขาวที่มีวงกลมสามวงอยู่ในท้อง ในวงกลมแต่ละวงนั้นมีลวดลายของเกลียวคลื่นเขียนด้วยลายเส้นสีส้มแดง
               และภาพที่ 3 ซึ่งเป็นภาพสุดท้ายของชุดนี้ เป็นภาพช้างสีดำ-ท้องหูงางวงสีขาว ยืนอยู่ข้างหลังวงกลมสามวง ภายในวงกลมมีรูปดอกบัวสีส้มและใบบัวสีเขียวในเกลียวคลื่นเป็นเส้นสีส้มแดง ซึ่งก็คือภาพขยายให้เห็นรายละเอียดของช้างที่อยู่ในท้องนกตั้งแต่ภาพแรกนั่นเอง  

ภาพปริศนาธรรม ภาพที่ 26


คำอ่านตามรูปอักษร[1]


ภาพปริศนาธรรม ภาพที่ 27

คำอ่านตามรูปอักษร[2]

ภาพปริศนาธรรม ภาพที่ 28


คำอ่านตามรูปอักษร[3]

ในหนังสือ สมุดข่อย[4] ได้อธิบายภาพปริศนาธรรมทั้ง 3 ภาพนี้ไว้ว่า
นกกลืนงูคือโมหะ งูกลืนกบคือโลภะ กบกลืนช้างคือชาติ ตัณหาทั้งหลายคือต้นอ้อ คือรูปกายนี้แล หนู 4 ตัวกัดรากอ้อ คือ ชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ทั้งหลายนั้นแล งูกลืนกบ กบกลืนช้าง ช้างกลืนกินน้ำสามสระ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา งูคือโทโสแล
กบกลืนช้าง ช้างกลืนน้ำสามสระ กบคือโลภะแล ช้างสารคือชาติ กลืนน้ำสามสระ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหาแล”

คำอ่าน
๏ นกกฺลืนงู คฺือโมห
งูกฺลืนกบฺ คฺือโลภ
กบฺกฺลืนช้างฺ คฺือชาติ
ตณฺหาทั้งฺสามฺคฺือต้นฺอฺ้อ คฺือรูปกายฺนี้แล
หฺนู 4 ตัวกัดฺรากฺอฺ้อ คฺือชาติทุกฺข ชราทุกฺข
พฺยาธิทุกฺข มรณทุกฺขทั้งฺหฺลายฺแล
๏ งูกฺลืนกบฺ ๆ กฺลืนช้างฺ ๆ กฺลืนน้ำสามฺสฺระ คฺือกามตณฺหา ภวตณฺหา วิภวตณฺหา งูคฺือโทโสแล
๏ กบฺกฺลืนช้างฺ ช้างกฺลืนน้ำสามฺสฺระ คฺือกามตณฺหา ภวตณฺหา วิภวตณฺหา กบฺคฺือโลภแล
๏ ช้างฺสารคฺือชาติ กฺลืนน้ำสามฺสฺระ คฺือกามตณฺหา ภวตณฺหา วิภวตณฺหานิ้แล
กามตณฺหา ภวตณฺหา วิภวตณฺหา

คำปริวรรต
๏ นกกลืนงู คือโมหะ
งูกลืนกบ คือโลภะ
กบกลืนช้าง คือชาติ
ตัณหาทั้งสามคือต้นอ้อ คือรูปกายนี้แล
หนู 4 ตัวกัดรากอ้อ คือชาติทุกข์ ชราทุกข์
พยาธิทุกข์ มรณทุกขทั้งหลายแล
๏ งูกลืนกบ ๆ กลืนช้าง ๆ กลืนน้ำสามสระ คือกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา งูคือโทโสแล
๏ กบกลืนช้าง ช้างกลืนน้ำสามสระ คือกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา กบคือโลภแล
๏ ช้างสารคือชาติ กลืนน้ำสามสระ คือกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหานี้แล
กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ชาติ

คำอธิบายเพิ่มเติม
ข้อความในภาพทั้งสามนี้กล่าวถึง ปฏิจจสมุปบาท ซึ่งก็คือ องค์ประกอบแห่งชีวิต เป็นวงจรความทุกข์ ทั้ง 12 ข้อ ที่เกิดขึ้นสืบเนื่องกันตามลำดับ ได้แก่ อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป อายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา การแสดงหลักปฏิจจสมุปบาทเป็นการแสดงให้เห็นความเกิดขึ้นแห่งธรรมต่าง ๆ โดยอาศัยปัจจัยสืบทอดกันไปอย่างนี้[5] อย่างในปริศนาธรรมสามภาพนี้ก็ได้กำหนดตัวสัตว์ต่าง ๆ ได้แก่ นก งู กบ ช้าง ที่กลืนกินกันเป็นทอด ๆ และอธิบายด้วยข้อความให้เข้าใจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

 
หมายเหตุ

เกี่ยวกับสมุดภาพวัดพระรูป จังหวัดเพชรบุรี เล่มที่ 2
สมุดภาพปริศนาธรรมของวัดพระรูปเล่มนี้ เป็นสมุดไทยขาว อักษรขอม เขียนด้วยหมึกสีดำ ข้อความเป็นภาษาบาลีและภาษาไทย  ขนาด ยาว 41.4 เซนติเมตร กว้าง 14.8 เซนติเมตร หนา 4.7 เซนติเมตร ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่วัดพระรูป อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
สมุดภาพเล่มนี้มีจำนวน 76 หน้า เขียนเป็นภาพปริศนาธรรมจำนวน 38 ภาพ โดยภาพ 1 ภาพเขียนบนหน้า 2 หน้า   ในการเขียนไม่ลงสีพื้น ภาพจึงมีความสวยงามเรียบง่ายแบบฝีมือช่างพื้นบ้าน ไม่มีการระบุชื่อผู้เขียน จึงไม่ทราบรายละเอียดของผู้เขียนและอายุของสมุดภาพเล่มนี้ แม้จะพบว่าลักษณะกลวิธีการเขียนหลายอย่างมีลักษณะคล้ายภาพจิตรกรรมสมัยอยุธยา เช่น นิยมใช้สีสดสว่าง รูปแบบการเขียนภาพคลื่นกระแสน้ำมีความคล้ายคลึงกับที่พบในสมุดภาพฉบับวัดลาด จังหวัดเพชรบุรี เล่มที่ 1 และสมุดภาพฉบับวัดสุวรรณภูมิ จังหวัดสุพรรณบุรี เล่มที่ 1 อีกทั้งในส่วนของภาษาก็มีภาษาเก่าปะปนอยู่มาก เช่น คำว่า สลุด (หมายถึง หล่ม) มีเมียเยียชู้ สเภา (หมายถึง สำเภา) เป็นต้น แต่ท่านผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของภาษาโบราณก็ยังเห็นว่าทั้งเทคนิคการเขียนภาพและความเก่าของภาษาดังกล่าวมานั้นยังมิใช่หลักฐานที่จะมีน้ำหนักพอที่จะกำหนดสมัยของสมุดภาพเล่มนี้ได้
 
 
[1] อ่านโดยผู้เขียน - นวพรรณ ภัทรมูล, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
[2] อ่านโดยผู้เขียน - นวพรรณ ภัทรมูล, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
[3] อ่านโดยผู้เขียน - นวพรรณ ภัทรมูล, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
[4] บุญเตือน ศรีวรพจน์ และประสิทธิ์ แสงหับ, สมุดข่อย (กรุงเทพฯ : โครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย, 2542), 275-276.
[5] https://th.wikipedia.org/wiki/ปฏิจจสมุปบาท

ผู้เขียน : นวพรรณ ภัทรมูล

คำสำคัญ : ปริศนาธรรม สมุดภาพ วัดพระรูป สมุดไทยขาว