Blog

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

อรหัตตมัคคญาณ

อรหัตตมัคคญาณ

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส
โพสต์เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 เวลา 08:57:15
บทความโดย : ทีมงาน

              ภาพปริศนาธรรมจากสมุดภาพวัดพระรูป ภาพที่ 13 นี้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือภาพด้านบนและด้านล่าง ภาพด้านบนประกอบไปด้วยภาพคนและสัตว์ ทางซ้ายเป็นภาพงูกำลังคาบหัวกบที่กางแข้งกางขาท่าทางตกอกตกใจ ทางขวามีชายคนหนึ่งยืนมองและเอามือชื้ไปที่งูและกบ ส่วนภาพด้านล่างเป็นภาพพระสงฆ์นั่งขัดสมาธิบนธรรมาสน์เตี้ยท่ามกลางกิ่งไม้และต้นไม้ที่มีดอกใบสวยงาม             

ภาพปริศนาธรรม ภาพที่ 13


คำอ่านตามรูปอักษร[1]

ในหนังสือ สมุดข่อย[2] ได้อธิบายภาพปริศนาธรรมภาพนี้ไว้ว่า
โยคาวจร พิจารณาเห็นภัยในสังสารแลกลัว จะใคร่พ้นจากสังสาร ดุจดังกบอันจะใคร่พ้นจากปากงูนั้นแล
โยคาวจร พิจารณาเห็นอรหัตตมัคคญาณ ละเสียซึ่งมานะ อุธัจจะ เสร็จแล้วถึงปัญญาบริบูรณ์แล

คำอ่าน
(ข้อความด้านบนซ้าย 2 บรรทัด)
บ. 1        ๏ โยคาวจรพิจฺจารณาเหนฺภยฺยในสงฺสารแลกฺลัว จไคฺร่พ้นฺจากฺสงฺสาร ฑุจฺจฑังฺกปฺ
บ. 2        อันฺจใคร่พ้นฺจากฺปากฺงูนั้นแล
(ข้อความด้านขวากลาง 3 บรรทัด)
บ. 1        โยคาวจรพิจฺจารณาเหนฺอรหตฺตมคฺค
บ. 2        ญาณ ลเสียฺชึ่งฺมานอุทฺธจฺจเสฺรจฺจแล้วฺ
บ. 3        จึ่งฺปญฺญาปริปูรณแล

คำปริวรรต
(ข้อความด้านบนซ้าย 2 บรรทัด)
บ. 1        โยคาวจรพิจารณาเห็นภัยในสังสารแลกลัว จะใคร่พ้นจากสังสารดุจดังกบ
บ. 2        อันจะใคร่พ้นจากปากงูนั้นแล
(ข้อความด้านขวากลาง 3 บรรทัด)
บ. 1        โยคาวจรพิจารณาเห็นอรหัตตมัคค-
บ. 2        ญาณ ละเสียซึ่งมานะ อุธัจจะ เสร็จแล้ว
บ. 3        จึ่ง[3]ปัญญาบริบูรณ์แล

คำอธิบายเพิ่มเติม
              ข้อความท่อนซ้ายบนกล่าวถึงความกลัวการเวียนว่ายในสังสารวัฏคล้าย ๆ กับปริศนาธรรมเรื่อง ภัยในสังสาร ภาพที่ 10[4] ซึ่งที่จริงก็มีการกล่าวถึงความกลัวลักษณะนี้ในอีกหลายภาพเพราะเป็นเนื้อหาหลักของภาพปริศนาธรรมชุดนี้ ส่วนข้อความท่อนขวากลางที่กล่าวถึง อรหัตตมัคคญาณ นั้นก็จะมีความเชื่อมโยงกับปริศนาธรรมภาพที่ 11[5] เรื่อง พระอริยบุคคล 4 ขั้น โดยในที่นี้จะเกี่ยวข้องกับพระอริยบุคคล ลำดับที่ 1 คือ พระอรหันต์ ซึ่งเป็นพระอริยบุคคลผู้ละสังโยชน์ (กิเลสที่ผูกมัดสัตว์) ได้ 10 อย่าง ได้แก่ 1) สักกายทิฏฐิ (ความเห็นว่าร่างกายเป็นของตน) 2) วิจิกิจฉา (ความสงสัยว่าพระรัตนตรัยดีจริงหรือ) 3) ศีลพตปรามาส (การเชื่อพิธีกรรมทางไสยศาสตร์) 4) กามราคะ (ความติดใจในกามารมณ์) 5) ปฏิฆะ (ความขัดเคืองใจ) 6) รูปราคะ (ความติดใจในรูป เช่น ชอบของสวยงาม) 7) อรูปราคะ (ติดใจในของไม่มีรูป เช่น ความสรรเสริญ) 8) มานะ (ความยึดถือว่าตัวเป็นนั่นเป็นนี่ เช่น ติดในสมณศักดิ์) 9) อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่านแห่งจิต ไม่สงบใจ) และ 10) อวิชชา (ความไม่รู้อริยสัจสี่)[6] โดยข้อความในภาพนี้มีกล่าวถึงคำว่า อุทธัจจะ ชัดเจน


 
หมายเหตุ

เกี่ยวกับสมุดภาพวัดพระรูป จังหวัดเพชรบุรี เล่มที่ 2
             สมุดภาพปริศนาธรรมของวัดพระรูปเล่มนี้ เป็นสมุดไทยขาว อักษรขอม เขียนด้วยหมึกสีดำ ข้อความเป็นภาษาบาลีและภาษาไทย  ขนาด ยาว 41.4 เซนติเมตร กว้าง 14.8 เซนติเมตร หนา 4.7 เซนติเมตร ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่วัดพระรูป อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
             สมุดภาพเล่มนี้มีจำนวน 76 หน้า เขียนเป็นภาพปริศนาธรรมจำนวน 38 ภาพ โดยภาพ 1 ภาพเขียนบนหน้า 2 หน้า   ในการเขียนไม่ลงสีพื้น ภาพจึงมีความสวยงามเรียบง่ายแบบฝีมือช่างพื้นบ้าน ไม่มีการระบุชื่อผู้เขียน จึงไม่ทราบรายละเอียดของผู้เขียนและอายุของสมุดภาพเล่มนี้ แม้จะพบว่าลักษณะกลวิธีการเขียนหลายอย่างมีลักษณะคล้ายภาพจิตรกรรมสมัยอยุธยา เช่น นิยมใช้สีสดสว่าง รูปแบบการเขียนภาพคลื่นกระแสน้ำมีความคล้ายคลึงกับที่พบในสมุดภาพฉบับวัดลาด จังหวัดเพชรบุรี เล่มที่ 1 และสมุดภาพฉบับวัดสุวรรณภูมิ จังหวัดสุพรรณบุรี เล่มที่ 1 อีกทั้งในส่วนของภาษาก็มีภาษาเก่าปะปนอยู่มาก เช่น คำว่า สลุด (หมายถึง หล่ม) มีเมียเยียชู้ สเภา (หมายถึง สำเภา) เป็นต้น แต่ท่านผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของภาษาโบราณก็ยังเห็นว่าทั้งเทคนิคการเขียนภาพและความเก่าของภาษาดังกล่าวมานั้นยังมิใช่หลักฐานที่จะมีน้ำหนักพอที่จะกำหนดสมัยของสมุดภาพเล่มนี้ได้
 
 
[1] อ่านโดยผู้เขียน - นวพรรณ ภัทรมูล, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
[2] บุญเตือน ศรีวรพจน์ และประสิทธิ์ แสงหับ, สมุดข่อย (กรุงเทพฯ : โครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย, 2542), 269.
[3] คำนี้ในหนังสือ สมุดข่อย ใช้เป็น “ถึง” แต่ผู้อ่านพิจารณาแล้วเห็นว่าในสมุดไทยขาวเขียน จึ่งฺชัดเจน จึงปริวรรตเป็น “จึ่ง”
[4] https://db.sac.or.th/inscriptions/blog/detail/27132
[5] https://db.sac.or.th/inscriptions/blog/detail/27133
[6] คำอธิบายเกี่ยวกับ “พระอริยบุคคล 4 ขั้น” เรียบเรียงโดยใช้ข้อมูลจาก :
สมบัติ จำปาเงิน. (2515). อริยบุคคล. ใน เปลื้อง ณ นคร (บ.ก.). ความรู้สารพัดชื่อ ด้านภาษา วัฒนธรรมไทย และ สังคมศึกษา. (น. 54-55). พระนคร : โอเดียนสโตร์.

ผู้เขียน : นวพรรณ ภัทรมูล

คำสำคัญ : ปริศนาธรรม สมุดภาพ วัดพระรูป สมุดไทยขาว