ภาพปริศนาธรรมจากสมุดภาพวัดพระรูป ภาพที่ 8 นี้ประกอบไปด้วยภาพ 2 ภาพ เป็นภาพบนและภาพล่าง ภาพบนประกอบด้วยผู้ชาย 4 คน นั่งเรียงกัน คนที่นั่งริมนอกทั้ง 2 ฝั่งซ้าย-ขวา เป็นชายผิวขาว ผมสีขาว ส่วนชายที่นั่งด้านใน 2 คน ผิวสีเหลือง ผมสีดำ ทั้ง 4 คนสวมเครื่องประดับศีรษะที่มียอดแหลมเป็นหยัก ๆ คล้ายมงกุฎ ไม่สวมเสื้อ มีเครื่องประดับที่คอ กรองคอ และแขนทั้งสอง ต่างนุ่งผ้าโจงกระเบนมีห้อยหน้าสองชายเหมือน ๆ กัน ชายทั้ง 4 นั่งท่าถวายบังคม หันหน้าเข้าหาตรงของกลางภาพซึ่งมีบัลลังก์ตั้งอยู่ บัลลังก์เป็นบัลลังก์เปล่า ๆ ไม่มีคนนั่ง ที่บริเวณเชิงบัลลังก์ 2 ด้าน ซ้าย-ขวามีลำตัวของเสือ 2 ตัวโผล่ออกมาตัวละครึ่งท่อน
ส่วนภาพล่างประกอบไปด้วยผู้ชาย 2 คน คนทางซ้ายผิวขาวนุ่งกางเกงขาสั้นสีแดง กำลังจับต้นไม้ต้นหนึ่งไว้ อาการคล้าย ๆ ลมพัดแรงและกำลังจะปลิว กับชายอีกคนผิวสีเข้ม มีผ้าคลุมตั้งแต่ศีรษะถึงหลัง นั่งตกปลาอยู่ริมน้ำ มีปลาตัวโตสีทองตัวหนึ่งกำลังกินเบ็ด
ภาพปริศนาธรรม ภาพที่ 8

คำอ่านตามรูปอักษร

ในหนังสือ สมุดข่อย ได้อธิบายภาพปริศนาธรรมภาพนี้ไว้ว่า
“บัลลังก์ที่สถิตของพระยาตัณหา บริวารคือธาตุ 4 ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ
“อันธการ หลงอยู่ในสังสาร แลเห็นชาติปุถุชนอันหลงอยู่ในภวตัณหา บมิรู้จักพระจตุราริยสัจ”
อุปาทานปัญญา คือเทวดาถือพระขรรค์ อุบัติจากดอกบัว เป็นอุปาทานชาติปุถุชน บุรุษที่อยู่ตรงกลางคืออันธการ”
คำอ่าน
บ. 1 |
อาโป ปถวี พฺรยาตณฺหา เตโช วาโย |
บ. 2 |
อันฺธการ อันฺหฺลังอฺยู่ในสงฺสาร แลเหนฺชาติ ปุถุชนอันฺหฺลัง |
บ. 3 |
อฺยู่ในภวตณฺหา บิมฺรู้จักฺพฺระจตุราริยสัจฺจ |
คำปริวรรต
บ. 1 |
อาโป ปฐพี พระยาตัณหา เตโช วาโย |
บ. 2 |
อันธการ อันหลงอยู่ในสงสาร แลเห็นชาติ ปุถุชนอันหลง |
บ. 3 |
อยู่ในภวตัณหา บมิรู้จักพระจตุราริยสัจ |
ภาพและเนื้อหาด้านบนของหน้านี้ จะคล้ายกับ ภาพปริศนาธรรมจากสมุดภาพวัดพระรูป ภาพที่ 3 https://db.sac.or.th/inscriptions/blog/detail/27125 แต่ภาพที่ 3 นั้นมีพระยาตัณหาอยู่ในภาพด้วย “พระยาตัณหา” ในที่นี้เป็นบุคลาธิษฐานแทนสิ่งที่เรียกว่า ตัณหา ซึ่งในทางธรรมกล่าวถึง ตัณหา ไว้ว่า คือ ความอยาก ความใคร่ ความพอใจ ในรูป เสียง กลิ่น เป็นต้น ส่วน ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ หรือเราเรียกกันง่าย ๆ ว่า ดิน น้ำ ไฟ ลม นั้นเป็นองค์ประกอบของ มหาภูต 4 รูปใหญ่ หรือ มหาภูตรูป 4 ซึ่งก็คือ ธาตุ 4 ที่รู้จักกันทั่วไป
ส่วนภาพล่างกล่าวถึงอันธการ ซึ่งก็คือความมืดมน ความมืดมนที่ทำให้ปุถุชนหลงอยู่ในภวตัณหา ซึ่งก็คือความอยาก อยากเกิด อยากมี อยากเป็น จนไม่อาจได้พบความจริงอันประเสริฐทั้ง 4 ประการ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
หมายเหตุ
เกี่ยวกับสมุดภาพวัดพระรูป จังหวัดเพชรบุรี เล่มที่ 2
สมุดภาพปริศนาธรรมของวัดพระรูปเล่มนี้ เป็นสมุดไทยขาว อักษรขอม เขียนด้วยหมึกสีดำ ข้อความเป็นภาษาบาลีและภาษาไทย ขนาด ยาว 41.4 เซนติเมตร กว้าง 14.8 เซนติเมตร หนา 4.7 เซนติเมตร ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่วัดพระรูป อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
สมุดภาพเล่มนี้มีจำนวน 76 หน้า เขียนเป็นภาพปริศนาธรรมจำนวน 38 ภาพ โดยภาพ 1 ภาพเขียนบนหน้า 2 หน้า ในการเขียนไม่ลงสีพื้น ภาพจึงมีความสวยงามเรียบง่ายแบบฝีมือช่างพื้นบ้าน ไม่มีการระบุชื่อผู้เขียน จึงไม่ทราบรายละเอียดของผู้เขียนและอายุของสมุดภาพเล่มนี้ แม้จะพบว่าลักษณะกลวิธีการเขียนหลายอย่างมีลักษณะคล้ายภาพจิตรกรรมสมัยอยุธยา เช่น นิยมใช้สีสดสว่าง รูปแบบการเขียนภาพคลื่นกระแสน้ำมีความคล้ายคลึงกับที่พบในสมุดภาพฉบับวัดลาด จังหวัดเพชรบุรี เล่มที่ 1 และสมุดภาพฉบับวัดสุวรรณภูมิ จังหวัดสุพรรณบุรี เล่มที่ 1 อีกทั้งในส่วนของภาษาก็มีภาษาเก่าปะปนอยู่มาก เช่น คำว่า สลุด (หมายถึง หล่ม) มีเมียเยียชู้ สเภา (หมายถึง สำเภา) เป็นต้น แต่ท่านผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของภาษาโบราณก็ยังเห็นว่าทั้งเทคนิคการเขียนภาพและความเก่าของภาษาดังกล่าวมานั้นยังมิใช่หลักฐานที่จะมีน้ำหนักพอที่จะกำหนดสมัยของสมุดภาพเล่มนี้ได้
อ่านโดยผู้เขียน - นวพรรณ ภัทรมูล, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
บุญเตือน ศรีวรพจน์ และประสิทธิ์ แสงหับ, สมุดข่อย (กรุงเทพฯ : โครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย, 2542), 266.
ข้อความส่วนที่เป็นตัวเอียงนี้ ตั้งแต่คำว่า “อุปาทานปัญญา” ไปจนถึง “คืออันธการ” ปรากฏในหนังสือ สมุดข่อย แต่ไม่ปรากฏมีในภาพสมุดไทย ไม่แน่ใจว่าข้อความนี้มาจากตรงไหน หรือข้อความจะอยู่ด้านล่างของภาพและถูกตัดไป อันนี้ยังไม่อาจทราบได้
ผู้เขียน : นวพรรณ ภัทรมูล
คำสำคัญ :
ปริศนาธรรม
สมุดภาพ
วัดพระรูป
สมุดไทยขาว