Blog

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

คนขาว-คนดำ ธรรมขาว-ธรรมดำ : ปริศนาธรรมจากภาพจิตรกรรมวัดบวรฯ

คนขาว-คนดำ ธรรมขาว-ธรรมดำ : ปริศนาธรรมจากภาพจิตรกรรมวัดบวรฯ

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส
โพสต์เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2559 เวลา 16:12:46
บทความโดย : ทีมงาน

ณ โคนเสาสี่เหลี่ยมคู่หน้าทั้ง 2 ต้น ในพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร มีจารึกความว่า
            “อนึ่ง ได้มีพระพุทธสุภาษิตแสดงฉฬาภิชาติไว้ดังนี้
            1. กัณหาภิชาติยะ บุคคลผู้เกิดมาดำ คือต่ำต้อยและขัดสน ทั้งเกิดนิยมธรรมดำ คืออกุศลจริตต่างๆ
            2. กัณหาภิชาติยะ บุคคลผู้เกิดมาดำ แต่เกิดนิยมธรรมขาว คือกุศลจริตต่างๆ
            3. กัณหาภิชาติยะ บุคคลผู้เกิดมาดำ แต่เกิดนิยมนิพพานอันไม่ดำไม่ขาว
            4. สุกกาภิชาติยะ บุคคลผู้เกิดมาขาว คือสูงและมั่งมี แต่เกิดนิยมธรรมดำ
            5. สุกกาภิชาติยะ บุคคลผู้เกิดมาขาว ทั้งเกิดนิยมธรรมขาว
            6. สุกกาภิชาติยะ บุคคลผู้เกิดมาขาว เกิดนิยมนิพพานอันไม่ดำไม่ขาว”         
            ตามด้วยกรอบภาพจิตรกรรมฝาผนังที่อยู่ด้านล่างของเสาร่วมในพระประธานที่มีจำนวน 6 คู่ โดยภาพจะประดิษฐานอยู่ในช่องระหว่างเสาด้านตรงกันข้าม ภาพเหล่านี้แสดงปริศนาธรรม เปรียบกับน้ำใจคน 6 ประเภท ดังจารึกกล่าวไว้แล้วข้างต้น



ภาพที่ 1 กัณหาภิชาติยะ บุคคลผู้เกิดมาดำ ทั้งเกิดนิยมธรรมดำ


ภาพที่ 2 กัณหาภิชาติยะ บุคคลผู้เกิดมาดำ แต่เกิดนิยมธรรมขาว



ภาพที่ 3 กัณหาภิชาติยะ บุคคลผู้เกิดมาดำ แต่เกิดนิยมนิพพานอันไม่ดำไม่ขาว



ภาพที่ 4 สุกกาภิชาติยะ บุคคลผู้เกิดมาขาว แต่เกิดนิยมธรรมดำ



ภาพที่ 5 สุกกาภิชาติยะ บุคคลผู้เกิดมาขาว ทั้งเกิดนิยมธรรมขาว



ภาพที่ 6 สุกกาภิชาติยะ บุคคลผู้เกิดมาขาว เกิดนิยมนิพพานอันไม่ดำไม่ขาว
 

           ในพระไตรปิฎก เล่มที่ 22  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต ได้กล่าวแสดงฉฬาภิชาติไว้ดังนี้

           “[328] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ปูรณกัสสป บัญญัติชาติ 6 ประการ คือ บัญญัติชาติดำ 1 ชาติเขียว 1ชาติแดง 1 ชาติเหลือง 1 ชาติขาว 1 ชาติขาวจัด 1     

           ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญปูรณกัสสปบัญญัติคนฆ่าแพะ คนฆ่าสุกร คนฆ่านก พรานเนื้อ ชาวประมงโจร เพชฌฆาต เจ้าหน้าที่เรือนจำ ก็หรือคนที่ทำงานหยาบช้าอื่นใด ว่าเป็นชาติดำ บัญญัติพวกภิกษุ พวกผู้เชื่อไปในฝ่ายดำ หรือพวกกรรมวาท กิริยาวาทอื่นใด ว่าเป็นชาติเขียว บัญญัติพวกนิครนถ์ใช้ผ้าผืนเดียวว่าเป็นชาติแดง บัญญัติคฤหัสถ์นุ่งห่มผ้าขาว สาวกของอเจลก (นักบวชเปลือยกาย) ว่าเป็นชาติเหลืองบัญญัติอาชีวก อาชีวิกา ว่าเป็นชาติขาว บัญญัติเจ้าลัทธิชื่อนันทวัจฉโคตร ชื่อกัจจสังกิจจโคตร มักขลิโคสาล ว่าเป็นชาติขาวจัด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญปูรณกัสสปบัญญัติชาติ 6 เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรอานนท์การที่ปูรณกัสสปบัญญัติชาติ 6 นี้นั้น โลกทั้งปวงเห็นด้วยหรือ ฯ

           อา. หามิได้ พระเจ้าข้า ฯ

            พ. ดูกรอานนท์ เปรียบเหมือนคนทั้งหลายบังคับให้บุรุษผู้ยากจนขัดสนเข็ญใจ ผู้ไม่ปรารถนา ให้รับส่วนเนื้อว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ ท่านพึงกินเนื้อนี้และต้องใช้ราคาเนื้อ ฉันใด ปูรณกัสสปก็ฉันนั้นเหมือนกัน บัญญัติชาติ 6แห่งสมณพราหมณ์เหล่านั้น โดยที่โลกไม่รับรอง เหมือนดังคนพาลไม่เฉียบแหลม ไม่รู้เขตบัญญัติ ไม่ฉลาด ดูกรอานนท์ ก็เราแลจะบัญญัติชาติ 6 ประการเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว

           ท่านพระอานนท์ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรอานนท์ ก็ชาติ 6 เป็นไฉน คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีชาติดำ ประพฤติธรรมดำ 1 บางคนมีชาติดำ ประพฤติธรรมขาว 1 บางคนมีชาติดำ บรรลุนิพพานที่ไม่ดำไม่ขาว 1 บางคนมีชาติขาวประพฤติธรรมดำ 1 บางคนมีชาติขาว ประพฤติธรรมขาว 1 บางคนมีชาติขาวบรรลุนิพพานที่ไม่ดำไม่ขาว 1 ฯ

           ดูกรอานนท์ ก็บุคคลผู้มีชาติดำ ประพฤติธรรมดำเป็นอย่างไร คือบุคคลบางคนในโลกนี้ เกิดในสกุลต่ำ คือ สกุลจัณฑาล สกุลพรานป่า สกุลช่างจักสาน สกุลทำรถ สกุลเทหยากเยื่อ ซึ่งยากจน มีข้าวน้ำโภชนะน้อย เป็นอยู่ฝืดเคือง ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มโดยยาก และเขาผู้นั้นเป็นผู้มีผิวพรรณทราม ไม่น่าดู เป็นคนแคระ ขี้โรค ตาบอด ง่อย กระจอก เป็นอัมพาตไม่ได้ข้าวน้ำเครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่ เครื่องประทีป เขายังประพฤติทุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ครั้นประพฤติทุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบายทุคติ วินิบาต นรก ดูกรอานนท์ บุคคลมีชาติดำ ประพฤติธรรมดำอย่างนี้แล ฯ

           ดูกรอานนท์ ก็บุคคลผู้มีชาติดำ ประพฤติธรรมขาวเป็นอย่างไร คือบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เกิดในสกุลต่ำ คือ สกุลจัณฑาล สกุลพรานป่าสกุลช่างจักสาน สกุลทำรถ สกุลเทหยากเยื่อ ซึ่งยากจน มีข้าวน้ำโภชนะน้อยเป็นผู้ฝืดเคือง ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มโดยยาก และเขาผู้นั้นเป็นผู้มีผิวพรรณทราม ไม่น่าดู เป็นคนแคระ ขี้โรค ตาบอด ง่อย กระจอก เป็นอัมพาตไม่ได้ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ที่นอน ที่อยู่ เครื่องประทีป แต่เขาประพฤติสุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจครั้นประพฤติสุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดูกรอานนท์ บุคคลมีชาติดำ ประพฤติธรรมขาว อย่างนี้แล ฯ

           ดูกรอานนท์ ก็บุคคลผู้มีชาติดำ บรรลุนิพพานที่ไม่ดำไม่ขาวเป็นอย่างไรคือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เกิดในสกุลต่ำ ฯลฯ มีผิวพรรณทราม ไม่น่าดู เป็นคนแคระ เขาปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะออกบวชเป็นบรรพชิตเขาบวชแล้วอย่างนี้ ละนิวรณ์ 5 ประการ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ ทำปัญญาให้ทุรพล เป็นผู้มีจิตตั้งอยู่ด้วยดีในสติปัฏฐานทั้ง 4 เจริญโพชฌงค์ 7 ตามความเป็นจริง แล้วได้บรรลุนิพพานอันไม่ดำไม่ขาว ดูกรอานนท์ บุคคลมีชาติดำบรรลุนิพพานอันไม่ดำไม่ขาว อย่างนี้แล ฯ

           ดูกรอานนท์ ก็บุคคลผู้มีชาติขาว ประพฤติธรรมดำเป็นอย่างไร คือบุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมเกิดในสกุลสูง  คือ สกุลกษัตริย์มหาศาล สกุลพราหมณ์มหาศาล สกุลคฤหบดีมหาศาล ซึ่งมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมากมีทองและเงินมาก มีอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจมาก มีทรัพย์ คือ ข้าวเปลือกมากและเขาผู้นั้นเป็นผู้มีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยผิวพรรณงามยิ่ง ได้ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอนที่อยู่ เครื่องประทีป เขาประพฤติทุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ครั้นประพฤติทุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบายทุคติ วินิบาต นรก ดูกรอานนท์ บุคคลมีชาติขาว ประพฤติธรรมดำ อย่างนี้แล ฯ

           ดูกรอานนท์ ก็บุคคลผู้มีชาติขาว ประพฤติธรรมขาว เป็นอย่างไร คือบุคคลบางคนในโลกนี้ เกิดในสกุลสูง ฯลฯ เขาประพฤติสุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ครั้นประพฤติสุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจแล้ว เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ ดูกรอานนท์ บุคคลมีชาติขาว ประพฤติธรรมขาวอย่างนี้แล ฯ

           ดูกรอานนท์ ก็บุคคลผู้มีชาติขาว บรรลุนิพพานอันไม่ดำไม่ขาว เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เกิดในสกุลสูง ฯลฯ เขาปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิต เขาบวชแล้วอย่างนี้ ละนิวรณ์ 5 ประการ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ ทำปัญญาให้ทุรพล เป็นผู้มีจิตตั้งอยู่ด้วยดีในสติปัฏฐานทั้ง 4 เจริญโพชฌงค์ 7 ตามความเป็นจริง แล้วได้บรรลุนิพพานที่ไม่ดำ ไม่ขาว ดูกรอานนท์ บุคคลมีชาติขาว บรรลุนิพพานอันไม่ดำ ไม่ขาว อย่างนี้แล ดูกรอานนท์ ชาติ 6 นี้แล ฯ”


           เนื้อหาโดยสังเขปคือ พระอานนท์ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลว่า ปูรณกัสสปะได้บัญญัติชาติไว้ 6 ประการ ดังต่อไปนี้

(1)    ชาติดำ ได้แก่ คนฆ่าแพะ คนฆ่าสุกร คนฆ่านก พรานเนื้อ ชาวประมงโจร เพชฌฆาต เจ้าหน้าที่เรือนจำ หรือคนที่ทำงานหยาบช้า
(2)    ชาติเขียว ได้แก่ พวกภิกษุ พวกผู้เชื่อไปในฝ่ายดำ พวกกรรมวาท กิริยาวาท
(3)    ชาติแดง ได้แก่ พวกนิครนถ์ที่ใช้ผ้าผืนเดียว
(4)    ชาติเหลือง ได้แก่ คฤหัสถ์นุ่งห่มผ้าขาว สาวกของอเจลก (นักบวชเปลือยกาย)
(5)    ชาติขาว ได้แก่ อาชีวก อาชีวิกา
(6)    ชาติขาวจัด ได้แก่ เจ้าลัทธิชื่อนันทวัจฉโคตร ชื่อกัจจสังกิจจโคตร มักขลิโคสาล

           พระพุทธเจ้าได้ตรัสถามว่า การที่ปูรณกัสสปะบัญญัติชาติ 6 ประการไว้ดังนี้นั้น โลกทั้งปวงเห็นด้วยหรือไม่ พระอานนท์ตอบว่า ไม่  พระพุทธเจ้าจึงได้แสดงอรรถาธิบายว่า การบัญญัติชาติ 6 ประการ นั้นไม่ถูกต้องและโลกไม่รับรอง ดังนั้นตนจะบัญญัติชาติ 6 ประการให้เอง ดังนี้

(1)    บุคคลผู้มีชาติดำ  ประพฤติธรรมดำ ได้แก่ บุคคลผู้เกิดในสกุลต่ำ ฐานะยากจน ความเป็นอยู่ฝืดเคือง มีผิวพรรณทราม ไม่น่าดู แล้วยังประพฤติทุจริตด้วยกายวาจาใจ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงทุคติ
(2)    บุคคลผู้มีชาติดำ ประพฤติธรรมขาว ได้แก่บุคคลผู้เกิดในสกุลต่ำ ฐานะยากจน ความเป็นอยู่ฝืดเคือง มีผิวพรรณทราม ไม่น่าดู แต่ประพฤติสุจริตด้วยกายวาจาใจ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติ
(3)    บุคคลผู้มีชาติดำ  บรรลุนิพพานที่ไม่ดำไม่ขาว ได้แก่ บุคคลผู้เกิดในสกุลต่ำ ฐานะยากจน ความเป็นอยู่ฝืดเคือง มีผิวพรรณทราม ไม่น่าดู ได้ปลงผมและหนวด ออกบวชเป็นบรรพชิต ละนิวรณ์ 5 ประการ มีจิตตั้งอยู่ในสติปัฏฐานทั้ง 4 แลเจริญโพชฌงค์ 7 ตามความเป็นจริง แล้วได้บรรลุนิพพานอันไม่ขาวไม่ดำ
(4)    บุคคลผู้มีชาติขาว  ประพฤติธรรมดำ ได้แก่ บุคคลผู้เกิดในสกุลสูง ฐานะมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีรูปงาม น่าดู   แต่ประพฤติทุจริตด้วยกายวาจาใจ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงทุคติ
(5)    บุคคลผู้มีชาติขาว  ประพฤติธรรมขาว ได้แก่ บุคคลผู้เกิดในสกุลสูง ฐานะมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีรูปงาม น่าดู   แล้วยังประพฤติทุจริตด้วยกายวาจาใจ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติ
(6)    บุคคลผู้มีชาติขาว  บรรลุนิพพานที่ไม่ดำไม่ขาว ได้แก่ บุคคลผู้เกิดในสกุลสูง ฐานะมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีรูปงาม น่าดู ได้ปลงผมและหนวด ออกบวชเป็นบรรพชิต ละนิวรณ์ 5 ประการ มีจิตตั้งอยู่ในสติปัฏฐานทั้ง 4 แลเจริญโพชฌงค์ 7 ตามความเป็นจริง แล้วได้บรรลุนิพพานอันไม่ขาวไม่ดำ


           อ่านมาถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่า ‘คนขาว’ ในความหมายของพระพุทธองค์ไม่ได้หมายถึง ‘คนผิวขาว’ และ ‘คนดำ’ ก็ไม่ได้หมายถึง ‘คนผิวดำ’ อย่างที่หลายๆ คนอาจจะเข้าใจว่าเช่นนั้น (เห็นได้จากภาพจิตรกรรมฝาผนังที่แบ่งสีผิวคนขาวกับคนดำอย่างชัดเจน)  แต่หมายรวมถึงฐานะ ชาติกำเนิด อุปนิสัยใจคอ ซึ่งก็มีทั้งขาว-ดำ หรือ ดี-เลว ปะปนกันไป ที่เกิดมาดีประพฤติดีก็มี ประพฤติไม่ดีก็มาก เกิดมาทุกข์ยากแต่ใฝ่ดีก็มีไม่น้อย นับเป็นปริศนาธรรมที่เท่าทันต่อโลกสมัย สามารถนำมาปรับใช้และเตือนใจให้ตระหนักถึงได้อยู่


-------------------------------------------------------
 
เรียบเรียงและเก็บความส่วนหนึ่งจาก :
พัสวีศิริ เปรมกุลนันท์, จิตรกรรมฝาผนัง : พระราชประสงค์รัชกาลที่ 4 เรื่องจริยวัตรสงฆ์(กรุงเทพฯ : บัณฑิตมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2552), 91-96.
 
ภาพประกอบจาก :
สำนักราชเลขาธิการ, ศิลปกรรมวัดบวรนิเวศวิหาร (กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์, 2528), 46-51.

ผู้เขียน : นวพรรณ ภัทรมูล

คำสำคัญ : ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดบวรนิเวศวิหาร ฉฬาภิชาติยสูตร