“แมวนิลรัตน์” ฟังจากชื่อก็ให้นึกถึง แก้วสีดำ (นิล = ดำ, รัตนะ =แก้ว) ถ้าเป็นแมวชื่อนี้ก็คงไม่แคล้วเป็นแมวดำแน่ ๆ จะดำมาก ดำน้อย แค่ไหน ต้องอ่านในตำราแมวว่าดั้งเดิมเขากำหนดไว้ว่าอย่างไรบ้าง ^^
บทที่ 3 แมวนิลรัตน์
คำถ่ายถอดจากสมุดไทย (ตามอักขรวิธีเดิม)
ฯ|3 หนืงนามนีน - - - - - - - เลับลิ้นก็ดำอำไภ
แม้นส‟บภ‟บแมัวตัวได คำดุจ่ท่ารไฃั ดังนี้จ‟งเลี้ยงรักสา
ย่อมจักไห้คูนอ่เนก ศฤงฆานโภคา จักเนืองเปนนีดบ‟อรีบูน
กอปด้วยโภไคไอย่สูรยั แสนสูด*เพิ่มภูน เจ่รีญส่วัสดีกำจัดไภั ฯ|
คำปริวรรตเป็นภาษาไทยปัจจุบัน
หนึ่งนามนิล(รัตน์โสภณ ทั่วทั้งสกนธ์) เล็บลิ้นก็ดำอำไพ
แม้นสบพบแมวตัวใด คำดุจท่านไข ดังนี้จงเลี้ยงรักษา
ย่อมจักให้คุณเอนกนา ศฤงคารโภคา จักเนื่องเป็นนิจบริบูรณ์
กอร์ปด้วยโภไคไอศูรย์ แสนสุขเพิ่มพูน เจริญสวัสดิ์กำจัดภัย ฯ|
*ควรจะเขียนเป็น “สูค” หรือ “สูก” จึงจะได้ความหมายที่ถูกต้อง แต่เมื่อดูจากรูปอักษรในต้นฉบับแล้ว เห็นเป็น “สูด” ชัดเจน จึงคงคำอ่านไว้ตามนั้น
**ข้อความส่วนที่อยู่ในวงเล็บเป็นข้อความที่ไม่พบในเอกสารสมุดไทยฉบับ หมอเหฯ แต่หามาจากเอกสารเรื่องเดียวกันแต่เป็นฉบับอื่น ๆ จากแหล่งอื่น ๆ ที่มีเนื้อความ(อันคาดว่า)จะคัดลอกมาจากแหล่งเดียวกัน ซึ่งมีความใกล้เคียงกันมากและสามารถนำมาเติมส่วนที่ขาดหายไปให้ได้ใจความสมบูรณ์ขึ้น
สรุปรูปพรรณของแมวนิลรัตน์ - เป็นแมวดำสนิทตลอดตัว แม้กระทั่งเล็บและลิ้นยังเป็นสีดำ หากเลี้ยงให้ดี จะนำมาซึ่งความยิ่งใหญ่ ความสุข สมบูรณ์ เพิ่มพูนด้วยโภคทรัพย์
บางตำราระบุด้วยว่ามีนัยน์ตาสีดำสนิท ซึ่งลักษณะนี้น่าจะเป็นลักษณะเด่นซึ่งต่างกับแมวดำพันธุ์อื่น ๆ ซึ่งมักจะมีนัยน์ตาสีเหลืองอำพัน เช่น แมวโกนจา เป็นต้น อย่างไรก็ดี จากข้อมูลแหล่งอื่น ๆ พบว่า แมวนิลรัตน์นี้เป็นหนึ่งในแมวพันธุ์หายากและเข้าใจว่าสูญพันธุ์ไปแล้วในปัจจุบัน
จบตอนที่ 3
ผู้เขียน : นวพรรณ ภัทรมูล
คำสำคัญ :
ตำราแมว
ตำราแมวไทย ฉบับ หมอเห ณ วัดท่าพูด
วรรณกรรมวัดท่าพูด