Total : 58 pages , Total amount : 1,845 Records , Total amount : 2 Resources.
Advance Search
เรื่องย่อยหลายเรื่อง เช่น คาถาร่ายให้คงกระพัน, หัวใจกระสัตรี, หัวใจบุรุษ, คาถากล่อมหัวใจ, คาถาคุมขวัญ, ยาถอนคุณ, ยาอุทัย
สมุดไทยขาวเรื่อง ตำราคณิตศาสตร์ ฉบับวัดบางช้างเหนือ ต.คลองใหม่ อ.สามพราน จ.นครปฐม รหัสเอกสาร NPT006-012 ต้นฉบับเรื่องนี้อยู่ในสภาพไม่ครบฉบับ, รอยแมลงแทะ, ขาดแหว่ง เขียนด้วยอักษรไทย ภาษาไทย ต้นฉบับมีทั้งเส้นหมึก หมึกแดง และดินสอ มีหลายลายมือในการเขียนทั้งตัวบรรจงและหวัด เนื้อหาที่บันทึกไว้มีสองเรื่อง คือ ตำราคณิตศาสตร์ และตำรายา หน้าต้นกล่าวถึง แบบคิดหน้าไม้ วิธีคิดหน้าไม้ มาตราเงินไทยโบราณ การบวกลบคูณหารทั่วไป บวกลบคูณหารของเงินไทยโบราณ การซื้อของแลกเปลี่ยนด้วยเงินไทยโบราณ หน้าปลายกล่าวถึง ยาแก้อาการเจ็บป่วย และสูตรยาสำหรับรักษาโรคนั้นๆ อาทิ ยาแก้ไข้บำบัดไข้กำเดา ยาต้มแก้ไขเนื้อสันนิบาต ยาแก้ไขจับสันนิบาตไข้เหนือ ยาแก้เนื้อสันนิบาตรากสาด ยาแก้กษัย ยาแก้กษัยกษัยเส้นกษัยกล่อนกษัยเลือดลมแก้ริดสีดวง ฯลฯ หมายเหตุ น่าสังเกตว่าสมุดไทยเล่มนี้จะเป็นเล่มเดียวกับ NPT006-011 ตำราวัดที่นา แต่ขาดออกจากกัน เนื่องจากลายมือการเขียนตำราคณิตศาสตร์ และตำรับยาด้านหลังค่อนข้างจะเหมือนกัน
หน้าปลายบางส่วนกลับหัว
สมุดไทยเรื่อง NPT010-016 ตำราคาถาและตำรายา ฉบับวัดสำโรง จ.นครปฐม เป็นสมุดไทยขาวตัวอักษรขอมไทย, ไทย ภาษาบาลีและภาษาไทย เขียนด้วยเส้นหมึกสีดำ ลายมือที่ปรากฏในสมุดไทยมี ๒ ลายมือแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด ลายมือแรกเขียนตัวอักษรขอมไทยได้บรรจง สวยงาม ส่วนลายมือที่สองค่อนข้างหวัด สันนิษฐานว่าในหน้าต้นที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องตำราคาถานั้นถูกเขียนขึ้นมาก่อนซึ่งไม่ได้เขียนจนหมดฉบับ จากนั้นถูกนำไปเขียนเรื่องตำรายาภายหลัง สมุดไทยขาวฉบับนี้ไม่ครบฉบับ หน้าต้นและหน้าปลายขาดหายไปเป็นที่น่าเสียดายมาก บางตำแหน่งมีรอยน้ำซึมทำให้ตัวอักษรลบเลือนไปเล็กน้อย หน้าต้นกล่าวถึง คาถาปถมํ คือ การอุบัติของพระเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ การบำเพ็ญบารมีจนถึงสูญนิพพาน คาถาต่างๆ ทั้งคาถาเมตตามหายนิยม คาถาอยู่ยงคงกระพัน คาถาต่อกระดูก เป็นต้น หน้าปลายเป็นตำรายา กล่าวถึง คัมภีร์โรคนิทาน เป็นชื่อของคัมภีร์ที่ว่าด้วยเหตุและสมุฏฐานของโรค โรคที่เกิดจากธาตุทั้งสี่พิการ (ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ อาโปธาตุ) และสูตรยารักษาโรคนั้นๆ เช่น อาโปพิการ ร่างกายขาวซีด ง่วงซึม รักษาด้วย เจตมูลเพลิงแดง ๑ ลูกผักชี ๑ เปลือกมูกมัน ๑ ก็ทำเป็นผงละเอียดละลายน้ำร้อนกินแก้โรค เป็นต้น
หน้าต้นเป็นเรื่องคาถาอาคมต่างๆ, หน้าปลายเป็นหน้าเปล่ามีภาพลายเส้นเป็นรูปยักษ์ รูปผู้หญิง
ฉลากเดิมระบุ “คาถาอาคมผู้หญิง” คาถามนต์ข้าวกินมนต์น้ำกิน, มนต์ส้มป่อย, ตั้งสวดเสื้อผ้า, คาถาแก้เลือดแก้ลม, สลูบน้ำมันพริกน้อยหมากพลู, สลูบข้าวกิน, สลูบโจงผ้าอิตถี, คาถามนต์สวดให้คนรัก, คาถากั้งบัง, ยันต์ ฯลฯ
สมุนไทยขาวฉบับนี้ บันทึกด้วยอักษรขอมไทย อักษรธรรมล้านนา และมีอักษรไทยปะปนเพียงเล็กน้อย เนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องไสยศาสตร์ ยันต์ต่างๆ เช่น ยันต์ลงเสื้อ เป็นต้น นอกจากนี้ยังบันทึกเกี่ยวกับตำรายา เช่น ยาหยอดตา, ยาสะกดไข้, ยาไข้รากสาด, ยาเอ็นหด เป็นต้น และพบว่าระบุศักราช จ.ศ.1173 ตรงกับ พ.ศ. 2354 ในชะตาปีเกิด “นางอุ่นเรือน”
ยันต์ปิดเรือน, ยันต์ 8 ทิศ, ยันต์พระเจ้า 5 พระองค์, ยันต์อิติปิโส 8 ด้าน, ตำรายา, คำหุงข้าว, คำไหว้พระรัตนตรัย ฯลฯ
ตอนต้นเป็นภาพยันต์ และคาถาอาคมต่างๆ ตอนท้ายเขียนด้วยดินสอ เกี่ยวกับกฏหมายลักษณะอุทธรณ์ 12 ประการ อุตริอุทธรณ์ 21 ประการ ลักษณะนานาอุทธรณ์ 22 ประการ ลักษณะอาสาชนะอุทธรณ์ 5 ประการ ลักษณะตัดฟ้อง 20 ประการ ลักษณะตัดสำนวน 10 ประการ
ตอนแรกเป็นโองการอัญเชิญเทพยดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ต่อมาเป็นคาถาอาคม เสกผงและเทียน ด้านท้ายมีภาพยันต์
ตอนต้นเป็นเรื่องคาถาอาคมเช่น คาถาเสกน้ำประหลังคาเรือนไฟไม่ไฟม้ คาถาหัวใจอิติปิโส คาถาหัวใจปัตถะมัง ทำตะกรุด ยันต์ภควัม เป็นต้น ตอนท้ายเป็นตำรายาขนานต่างๆ เช่น ยาแก้มดลูกไม่เข้าอู่ ยาพอกเสี้ยนหนามตำ ฯลฯ
ตำรายาเรื่องชวดารและอติสาร หน้าต้นกล่าวถึงคัมภีร์ชวดาร โรคลม ลมมีพิษ ลมมีพิษมาก และตำรับยาที่ใช้แก้ และหน้าปลายเป็นคัมภีร์อติสาร โรคที่ผู้ป่วยมีอาการท้องเสียอย่าง รุนแรง ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ เป็นมูก เป็นเลือด อุจจาระมีกลิ่น ผิดปรกติ (อ้างอิงจาก https://ttdkl.dtam.moph.go.th/Dic_thai/frmc_dictionnary.aspx) วิธีการเขียนของเล่มนี้คือเขียนบนเส้นบรรทัดทั้งเล่ม
ตำราดูไข้เป็นเรื่องหลัก มีเนื้อความครบ ต้นเรื่องมีภาพแสดงจุดต่างๆบนร่างกาย แก้โรคต่างๆ เข้าใจว่าเป็นส่วนปลายของตำรานวดกดจุดที่ขาดหายไป นอกจากนี้ยังมีเรื่องคาถาคงกระพัน หน้าปลายมีคาถาไสยศาสตร์
สมุดไทยขาวไม่ครบฉบับ หน้าต้นและหน้าปลายบางส่วนหายไป บันทึกด้วยอักษรไทย ภาษาไทย ตัวอักษรอ่านได้ชัดเจน หน้าต้นเกี่ยวกับโหราศาสตร์ เช่น ตำราห่วง ตำราดูโฉลก การทำนายทายทัก ส่วนหน้าปลายเกี่ยวกับเวชศาสตร์ เป็นตำรายารักษาธาตุพิการ
สมุดไทยขาว เนื้อหากล่าวถึงตำราห่วง และตำราดูธาตุชายหญิง
สมุดไทยฉบับนี้เป็นเรื่องโหราศาสตร์ทั้งฉบับ กล่าวถึง ชายหญิงธาตุใดอยู่ด้วยกันแล้วส่งเสริมซึ่งกันและกัน หรือธาตุใดไม่เหมาะที่จะเป็นคู่ครองกัน วันที่เป็นมงคลในการให้หยิบยืมเงิน หรือรับคืนเงิน การตัดผม การทาน้ำมัน การแรกนา วิวาหะมงคล การทำการใดๆ หน้าปลายของสมุดไทยกล่าวถึง เรื่องดำเนินพระราม เป็นบทร้อยกรอง
สมุดไทยบันทึกตำราโหราศาสตร์ ดูฤกษ์ยามต่าง ๆ เช่น คำบูชาท้าวทั้ง ๔, ตำราทิพย์จรเทียวทางตามเดือนขึ้นเดือนแรม, ตำรายามแพ้วัน, ตำราแรกนา, ตำราวันจมวันฟู, ตำราห่วง, ตำราหันหน้ากระทำการมงคลตามวันราศี, ตำราวันตัดผม, ตำราวันดำหัว, ตำราวันให้ของท่าน ฯลฯ ด้านในมีบันทึกววววันเดือนปีเกิดของคนในสมัยนั้น “อียอด ปีฉลู เดือน ๔ ขึ้นค่ำ ๑ วันอาทิตย์”, “อีทองย้อย ปีเถาะ เดือน ๑ ขึ้นเก้าค่ำ วันอาทิตย์”, “บาผู้ชาย เกิดปีมะเมีย เดือนอ้าย ขึ้นเก้าค่ำ วันเสาร์”
ตำรามหาฤกษ์ ถ้าจะดูฤกษ์งามยามดี ให้ดูมหาฤกษ์ หรือฤกษ์ใหญ่ โดยถือฤกษ์ตามวันขึ้นแรมในเดือนหนึ่งๆ แบ่งเป็นสองส่วน กล่าวคือ ส่วนข้างขึ้นนับตั้งแต่ขึ้น 1 ค่ำถึง 15 ค่ำ และส่วนข้างแรม ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ ถึง 14 ค่ำ แล้วกำหนดดูว่า วันขึ้น-แรมไหนจะดีก็ให้ถือฤกษ์ตามนั้น