อาจารย์สุริยา สมุทคุปติ์ ถือกำเนิดและเติบโตในจ.เชียงใหม่ ในช่วงต้นทศวรรษที่ 2490 เชียงใหม่ในยุคนั้นนับเป็นเมืองที่กำลังเติบโตจากการค้าแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างล้านนากับกรุงเทพฯ ประกอบกับการเดินทางเข้ามาของมิชชันนารีจากต่างประเทศ อาจารย์สุริยาจึงมีความรู้สึกคุ้นเคยกับวัฒนธรรมท้องถิ่นและความเป็นนานาชาติตั้งแต่เล็ก ในวัยเด็กอาจารย์สุริยาเรียนหนังสือที่ปรินส์รอแยลวิทยาลัย ควบคู่กับการเข้าไปเรียนพิเศษภาษาอังกฤษที่ AUA ทำให้อาจารย์สุริยามีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษที่คล่องแคล่วและมีความรักในการเรียนรู้ภาษา ประกอบกับการชอบออกเดินทางติดตามบิดาซึ่งเป็นข้าราชการท้องถิ่นไปยังสถานที่ต่างๆ ส่งผลให้อาจารย์สุริยามีนิสัยช่างสังเกตและจดบันทึกรายละเอียดต่างๆ ที่พบเห็นเป็นกิจวัตร
เมื่อจบการศึกษาในระบบมัธยมศึกษา อาจารย์สุริยาได้สมัครเป็นผู้ช่วยนักวิจัยให้กับนักมานุษยวิทยาอเมริกาหลายท่าน อาทิ ดอนนา มาลคัม และปีเตอร์ กุนสตัตเตอร์ ทำให้อาจารย์สุริยาต้องทำหน้าที่ออกสำรวจเก็บข้อมูลทางมานุษยวิทยา จดบันทึก และทำหน้าที่ล่ามแปลภาษา โดยระหว่างรับหน้าที่นี้ อาจารย์สุริยาก็ได้เรียนรู้วิธีการทำงานภาคสนามไปโดยปริยาย
ช่วงต้นทศวรรษที่ 2510 ซึ่งอยู่ในช่วงของสงครามเย็น หลังจากที่อาจารย์สุริยา เสร็จภาระกิจการเป็นผู้ช่วยนักวิจัยรวมไปถึงการทำหน้าที่เป็นล่ามในค่ายทหารอเมริกา อาจารย์สุริยาได้สมัครเรียนต่อในระดับปริญญาตรีและโทที่สหรัฐอเมริกา โดยเลือกเรียนในสาขามานุษยวิทยา ที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน เมืองซีแอตเติล ณ. เมืองนี้เอง อาจารย์สุริยาได้ลงเรียนและเป็นทั้งลูกศิษย์และเพื่อนร่วมงานของ ศ.ดร. ชาลส์ คายส์ นักมานุษยวิทยาคนสำคัญของอเมริกาต่อการศึกษาประเทศไทยและวัฒนธรรมของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ศ.ดร.คายส์ มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการศึกษาชาวนาในภาคอีสาน บทบาทของภูมิภาคนิยมกับการสร้างรัฐชาติไทย รวมไปถึงการศึกษาอุดมการณ์และปฏิบัติการณ์ในระดับชีวิตประจำวันของชาวนา
อาจารย์สุริยา กลับมาทำงานในประเทศไทยครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยใช้วุฒิปริญญาโทเข้าบรรจุ งานวิจัยของอาจารย์สุริยาที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงมักเป็นการศึกษาสังคมชนบทและความเปลี่ยนแปลงเป็นหลักด้วยอิทธิพลทางความคิดจาก ศ.ดร. คายส์ อาจารย์สุริยานับเป็นนักมานุษยวิทยารุ่นบุกเบิกของภาคอีสาน เป็นทั้งแรงบันดาลใจและผู้อบรมสั่งสอนนักมานุษยวิทยาในภาคอีสานรุ่นหลัง โดยเฉพาะการเก็บข้อมูลภาคสนาม การสัมภาษณ์บุคคล รวมไปถึงการใช้แนวคิดทางมานุษยวิทยามาใช้ร่วมกับการทำงานวิจัยเชิงคุณภาพ
อาจารย์สุริยาสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นเกือบสองทศวรรษ และย้ายมาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จนกระทั่งเกษียณอายุราชการ ที่มหาวิทยาลัยแห่งใหม่นี้อาจารย์สุริยาได้ทำหน้าที่ทั้งสอนและบุกเบิกงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการแสดงพื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ ผ้า วัตถุทางวัฒนธรรม รวมไปถึงประเด็นสำคัญอันเกี่ยวข้องกับโลกาภิวัตน์ เช่น แรงงานและการย้ายถิ่น ร่วมกับ ดร. พัฒนา กิติอาษา (ปัจจุบันเสียชีวิตในขณะที่ดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงค์โปร์)
หลังเกษียณอายุราชการ อาจารย์สุริยากลับมาพำนักอยู่ที่จ.เชียงใหม่บ้านเกิด ยังคงเขียนงานวิชาการและเข้าร่วมฟังและเสนอบทความวิชาการอย่างต่อเนื่อง
ภาพถ่ายจากทำงานภาคสนามของอาจารย์สุริยา สมุทคุปติ์ ช่วงปี พ.ศ. 2529-2539 จำนวน 813 ภาพ เป็นภาพจากการทำงานภาคสนามในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคอีสาน กลุ่มภาพแบ่งเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ 1).กลุ่มภาพก่อนปี 2535 จำนวน 110 ระเบียน ที่แสดงให้เห็นถึงกระบวนการทำงานและเก็บข้อมูลทางมานุษยวิทยาในลักษณะที่เรียกว่า ชาติพันธุ์วรรณนาแบบองค์รวม ซึ่งเน้นการเก็บข้อมูลชุมชนแบบรอบด้านและหลายแง่มุม เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปตอบโจทย์ปัญหา 2). กลุ่มภาพหลังปี 2535 จำนวน 703 ระเบียน เกิดขึ้นหลังจากที่อาจารย์สุริยkทำงานสอนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมาเป็นสำคัญ ภาพถ่ายต่างๆ เกิดขึ้นจากการวิจัยและการเก็บข้อมูลที่สะท้อนลักษณะที่เรียกว่า การตอบโจทย์เฉพาะ